แม้ "กมลวิศิษฐ์" จะตระหนักว่า พวกเขาเป็นเพียง "รายเล็ก"
ในสนามค้าปลีกที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย พวกเขาก็สร้าง
"ห้างคาเธ่ย์" ให้เป็นห้างเล็ก ๆ ที่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยปัจจัยเฉพาะตัวมาถึง
15 ปี แต่ในที่สุด "กมลวิศิษฐ์" ก็หลีกเลี่ยงความจริงไปไม่พ้น
เมื่อ 4 สาขาจำเป็นต้องยุบเหลือเพียงสาขาเดียว นี่คือบทเรียนของรายเล็กที่ไม่ทันกับการปรับตัว
หรือมิฉะนั้นต่อให้ปรับตัวแล้วก็ไม่ทันกับการรุกอย่างถล่มทลายของรายใหญ่อยู่ดี
!
ก่อนที่เจนเนอเรชั่นที่ 2 ของ "กมลวิศิษฐ์" จะเริ่มทำธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่แบบ
"ห้างสรรพสินค้า" เต็มรูปเมื่อสิบกว่าปีก่อน "เจริญ กมลวิศิษฐ์"
ซึ่งเป็นต้นตระกูลได้เปิดร้านขายปลีก "คลังภูษา" ของเขาขึ้นเมื่อ
30-40 ปีที่แล้วในย่านเยาวราช ที่นี่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิตที่ทำให้วิโรจน์และชูชาติ
บุตรชายคนที่ 4 และ 6 ของเขา หันเหเส้นทางชีวิตเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกในชื่อ
"คาเธ่ย์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์" ในเวลาต่อมา
ธุรกิจดั้งเดิมของตระกูล "กมลวิศิษฐ์" คือธุรกิจเสื้อผ้า พวกเขาเติบใหญ่จนกลายเป็นผู้ค้าปลีกยีนส์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในนามบริษัท
ฮาร่า ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกางเกงยีนส์ฮาร่า, บิ๊กจอนห์,
จอร์แดช
เส้นทางการเริ่มต้นของ "กมลวิศิษฐ์" อาจไม่แตกต่างจากลุ่มโรบินสันที่มีรากฐานมาจากธุรกิจเสื้อผ้าเหมือนกัน
แต่บทสรุปในธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้ากลับแตกต่างกันสิ้นเชิง
คาเธ่ย์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ สาขาแรก คือ สาขาเยาวราช เปิดดำเนินการเมื่อปี
2523 หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี สาขาวงเวียนใหญ่ก็เปิดดำเนินการ ติดตามมาด้วย
สาขาบางแค และสาขาหลักสี่ ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการหลักสี่พลาซ่า เมื่อกลางปี
2534
แต่ละสาขาที่ "กมลวิศิษฐ์" ไปเปิดห้างคาเธ่ย์นั้น ล้วนมีจุดขายของตัวเองทั้งสิ้น
โดยคาเธ่ย์จะเน้นกลุ่มลูกค้าจากกลางลงล่าง และเน้นความเป็นห้างขนาดเล็กที่เจาะเข้าไปยังพื้นที่ชุมชนที่ยังไม่มีห้างอื่น
ๆ เข้าไป ซึ่งนับเป็นจุดเด่นในการขยายตัวของคาเธ่ย์
คาเธ่ย์ สาขาเยาวราชถือเป็นสาขาที่ประสบความสำเร็จมากของ "กมลวิศิษฐ์"
และเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดสำหรับสาขาอื่น ๆ ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในย่านเยาวราชนั้นแทบจะไม่มีห้างสรรพสินค้าอยู่เลย
และโอกาสที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จะเข้าไปลงนั้นยากเต็มที
ขณะที่สาขาวงเวียนใหญ่ "กมลวิศษฐ์" ก็เข้าไปบุกเบิก โดยอาศัยที่ช่วงนั้นวงเวียนใหญ่ถือได้ว่าเป็นย่านขายยีนส์ราคาถูกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นตลาดที่ "กมลวิศิษฐ์" ชำนาญอยู่แล้ว อีกทั้งด้านบนของห้างก็เป็นโรงภาพยนตร์ที่มีชื่อและใหญ่แห่งหนึ่งในย่านฝั่งธนฯ
และมีกลุ่มเป้าหมาย เดียวกับห้างคาเธ่ย์พอดี
2 สาขานี้มีอายุยืนยาวและเป็นสาขาที่ทำรายได้ให้กับตระกูล แต่สำหรับ 2
สาขาหลังกลับกลายเป็นความผิดพลาด
ถ้าดูจำนวนการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กอย่างคาเธ่ย์ ที่สามารถขยายได้
4 สาขาภายใน 11 ปี ก็ต้องถือได้ว่าทำได้ดีพอสมควรทีเดียว ถ้าไม่ล้มเหลวในแง่ของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเสียก่อนในช่วง
2 ปีหลัง คาเธ่ย์คงไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่เมื่อวัย 15 ขวบอย่างทุกวันนี้
ไฟไหม้หลักสี่ จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์
คาเธ่ย์ ที่หลักสี่พลาซ่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเครือ เมื่อเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่และเริ่มปรับภาพพจน์ให้อยู่ในระดับกลางไม่ลงตลาดล่างมากเกินไป
ว่ากันว่าคาเธ่ย์ที่หลักสี่พลาซ่ากำลังเริ่มไปได้ ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุเสียก่อน
ปลายเดือนเมษายน 2536 คาเธ่ย์สาขาหลักสี่ ซึ่งเป็นสาขาที่เกิดจากการร่วมลงทุนระหว่างคาเธ่ย์
ดีพาร์ทเมนท์สโตร์และบริษัท บูรณะ(กรุงเทพฯ) จำกัด เจ้าของโครงการหลักสี่
พลาซ่า ในสัดส่วน 50 : 50 ของเงินลงทุน 400 ล้านบาท ต้องหยุดกิจการลงชั่วคราว
เพราะถูกไฟไหม้ ทั้ง ๆ ที่ยังเปิดดำเนินการได้ไม่ครบ 2 ปี
คงไม่มีใครคิดมาก่อนว่า ผลพวงของไฟไหม้จะทำให้คาเธ่ย์สาขานี้ต้องปิดดำเนินการอย่างถาวรในที่สุด
หลังจากไฟไหม้ คาเธ่ย์ประกาศว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้อีกครั้งในวันที่
1 มิถุนายน 2536 ทั้งยังถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำการปรับพื้นที่ในห้างบางส่วนไปในตัว
ด้วยการยกสินค้าตัวที่รายได้ให้ห้างน้อยออกไป (ซึ่งมีประมาณ 10%) เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับสินค้าที่ทำรายได้ให้ห้างสูงแทน
ปลายเดือนกันยายน 2536 คาเธ่ย์หลักสี่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดให้บริการ
ถึงตอนนี้ผู้บริหารของศูนย์การค้าหลักสี่ พลาซ่าเริ่มมีความคิดที่จะเจรจาขอพื้นที่คืน
เพื่อให้ห้างสรรพสินค้ารายอื่นมาเปิดดำเนินการแทน แต่ฝ่ายคาเธ่ย์ไม่ยอม โดยอ้างว่าที่ยังไม่สามารถเปิดบริการได้เนื่องจากยังเคลียร์เรื่องประกันไม่เรียบร้อย
ต้นปี 2537 หลังจากขู่ตัดขาดคาเธ่ย์มานาน บริษัท บูรณะ(กรุงเทพฯ) ได้กำหนดเส้นตายให้คาเธ่ย์เปิดดำเนินการในไตรมาสแรก
ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดที่จะยุติความสัมพันธ์กับคาเธ่ย์ แต่ติดปัญหาที่คาเธ่ย์ทำสัญญาการเช่าพื้นที่กับหลักสี่พลาซ่าไว้นานถึง
20 ปี
ถึงวันนี้คาเธ่ย์ หลักสี่ก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าต้องยุติการดำเนินงานตลอดไป
เพราะเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายชัยณรงค์ ธนสถิตยกุล กรรมการผู้จัดการ
บริษัท บูรณะ(กรุงเทพฯ) ได้ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมการบริษัทได้ตัดสินใจปิดกิจการห้างสรรพสินค้าคาเธ่ย์ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าหลักสี่พลาซ่า
โดยจะเร่งรัดจัดการสะสางหนี้สินของห้างคาเธ่ย์สาขานี้ ซึ่งใช้ชื่อบริษัท
หลักสี่ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด ที่มีอยู่ประมาณ 110 ล้านบาท ให้เรียบร้อยโดยเร็ว
หนี้สินจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นหนี้สินจากเงินที่กู้กับบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์
อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ประมาณ 70 ล้านบาท และหนี้สินจากค่าเสียหายของสินค้าที่ถูกไฟไหม้
ซึ่งติดค้างซัพพลายเออร์อยู่ประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันภัยได้ชดใช้มาให้แล้ว
70 ล้านบาท
"บริษัทมีความพร้อมที่จะสะสางหนี้แล้ว รอเพียงกลุ่มห้างคาเธ่ย์เท่านั้น
แต่คาดว่าไม่เกินต้นปีหน้าจะจัดการได้เสร็จสิ้นหลังจากนั้นจะจดทะเบียนล้มเลิกบริษัทหลักสี่ต่อไป"
นายชัยณรงค์กล่าว
งานนี้ไม่มีคำอธิบายจากปากชูชาติ กมลวิศิษฐ์ กรรมการผู้จัดการของกลุ่มคาเธ่ย์แต่อย่างใดว่า
ทำไมคาเธ่ย์ หลักสี่จึงประสบชะตากรรมเช่นนี้
"ผมว่าคาเธ่ย์ค่อนข้างโชคร้าย เพราะช่างที่สาขาหลักสี่ ซึ่งเป็นสาขาที่ทำยอดขายได้ในระดับที่น่าพอใจถูกไฟไหม้เป็นช่วงเดียวกับที่ชูชาติ
กรรมการผู้จัดการบริษัทกำลังพยายามปรับปรุงตัวเพื่อกู้สถานการณ์ของคาเธ่ย์บางแค
ซึ่งเริ่มมีคู่แข่งรายใหม่ ๆ เปิดดำเนินการมากขึ้นคืน เพราะสาขานี้เป็นการลงทุนของชูชาติและคนในตระกูลกมลวิศษฐ์เองจึงปล่อยปัญหาของคาเธ่ย์
หลักสี่ไว้จนเรื้อรัง" คนใกล้ชิดกับตระกูลกมลวิศิษฐ์วิเคราะห์ให้ฟัง
คาเธ่ย์ บางแค พบจุดจบ ชูชาติยกธงขาว
แต่ความตั้งใจของชูชาติที่จะรักษาคาเธ่ย์ บางแคไว้ก็ไม่เป็นผล เพราะในที่สุดก็ต้องปล่อยให้พี่สาวและพี่เขย
คือนางศรีจันทร์ และนายกัมพล ชาติธรรมรักษ์ เจ้าของบริษัท รอซโซ่ จำกัด เข้ามาเทคโอเวอร์ไปในราคา
200 ล้านบาท
หลังจากที่ต้องแบกรับภาระการขาดทุนมา 2-3 ปี !
คาเธ่ย์ บางแค เปิดให้บริการในช่วงปี 2532 ภายใต้การบริหารงานของบริษัท
บางแค ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ที่นี่ถือว่าเป็นห้างสรรพสินค้าที่สมบูรณ์แบบที่สุดของตระกูล
"กมลวิศิษฐ์" และเป็นสาขาเดียวที่เป็นสินทรัพย์ของคาเธ่ย์เองทั้งหมด
ในช่วงแรกที่เปิดดำเนินการคาเธ่ย์บางแคประสบความสำเร็จ จนเรียกได้ว่าเป็นสาขาที่ทำรายได้ให้กับคาเธ่ย์มากที่สุด
เพราะอยู่บนทำเลที่ไม่มีคู่แข่ง
แต่ต่อมาเมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันกับเดอะ มอลล์ บางแค, ฟิวเจอร์ ปาร์ค
และเซฟโก้ ซึ่งทะยอยกันเปิดในละแวกเดียวกันในช่วงหลัง สภาพการค้าปลีกในย่านบางแคเริ่มเปลี่ยนไป
เช่นเดียวกับสถานการณ์ของคาเธ่ย์ บางแคก็มาถึงจุดพลิกผัน เมื่อลูกค้าของคาเธ่ย์ถูกห้างอื่น
ๆ ดึงดูดไปตลอดเวลา
อย่างไรก็ดีคาเธ่ย์พยายามปรับตัวสู้ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากที่มุ่งลูกค้าระดับสูงเบนเข็มลงมาที่กลางและล่าง
พร้อมกับยกสินค้าที่เป็นแบรนด์อินเตอร์ออกไป แล้วปรับพื้นที่ชั้น 2 เป็นมินิพลาซ่าให้ร้านค้าย่อยเช่าและเซ้ง
ในขณะเดียวกันก็ขยับส่วนของสำนักงานคาเธ่ย์ที่ตั้งอยู่บนชั้น 5 ขึ้นไปชั้น
6 เพื่อเปิดที่ว่าง 1,200 ตารางเมตรเป็นพื้นที่ให้เช่า
นอกจากนี้ยังใช้วิธีดึงลูกค้าด้วยการทำบัตรสมาชิก บริการส่งสินค้าถึงบ้านเมื่อซึ้อครบ
1,000 บาท รวมทั้งพยายามขยายพื้นที่ห้าง โดยเจรจาซื้อที่บริเวณด้านข้างซึ่งบดบังหน้าห้างให้ดูคับแคบและบริเวณทางเข้าไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร
แต่ความพยายามของคาเธ่ย์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องมาจาก หนึ่ง-ศูนย์การค้าและห้างใหญ่
ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ดึงลูกค้ากลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นและเคยเป็นลูกค่าของคาเธ่ย์ไปเกือบหมด
สอง-แม้ว่าจะมีความพยายามปรับรูปแบบใหม่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะการเจรจาให้ซัพพลายเออร์ถอนสินค้าออกไปมีความยุ่งยาก
ประกอบกับการเปลี่ยนห้างมาเป็นพลาซ่าทำให้คาเธ่ย์กลายเป็นหลายห้างที่ไม่มีจุดเด่นพอที่จะดึงดูดลูกค้ากลุ่มใด
ๆ เลย
ที่สำคัญ คือ คาเธ่ย์ต้องใช้เม็ดเงินอีกหลายสิบล้านเข้ามาใช้ในการเปลี่ยนแปลงซึ่งหากอยู่ในช่วงปกติก็คงไม่มีปัญหา
แต่เหตุการณ์นี้มาเกิดขึ้นในช่วงที่เป็นวิกฤตการณ์ของคาเธ่ย์พอดี
เพราะนอกจากคาเธ่ย์ หลักสี่จะต้องปิดกิจการ เนื่องจากไฟไหม้แล้ว สาขาที่วงเวียนใหญ่ก็ประสบมรสุม
เพราะที่นี่ค่าเธ่ย์ต้องเผชิญกับการแข่งขันกับเมอรี่คิงส์วงเวียนใหญ่และเซ็นทรัล
ลาดหญ้า ที่มาอย่างใหญ่กว่า สมบูรณ์กว่ามาก นอกจากนี้ยังมีแผงลอยขายเสื้อผ้าริมถนนคอยแย่งลูกค้ากำลังซื้อต่ำในย่านนั้นอีกด้วย
จนคาเธ่ย์ สาขาวงเวียนใหญ่ต้องปิดกิจการลงในปลายปี 2537 เพราะผลที่ได้รับไม่คุ้มกับการลงทุน
ต้องปล่อยให้ เอดิสัน ซูเปอร์สโตร์เข้ามาเปิดดำเนินการแทน
เรียกว่าช่วงนั้น รายได้หลักด้านค้าปลีกของคาเธ่ย์มาจากสาขาเยาวราช ซึ่ง
วิโรจน์ กมลวิศิษฐ์ พี่ชายเป็นผู้ดูแลเพียงแห่งเดียว ชูชาติจึงไม่พร้อมที่จะลงทุนกับบางแคต่อ
"กลยุทธ์การตลาดที่ทุกห้างนำมาแข่งขันกันจะเป็นเรื่องของราคาป็นหลักใหญ่
ห้างเล็กอย่างคาเธ่ย์ไม่มีงบประมาณพอเพียงที่จะใช้แคมเปญนี้ได้ตลอดเวลา เป็นผลให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย"
นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คาเธ่ย์ บางแคอยู่ไม่ได้"
"กางเกงในรอซโซ่ ผู้ขี่ม้าขาวมาช่วย"
ในที่สุด ชูชาติ กมลวิศิษฐ์ ซึ่งรับผิดชอบห้างคาเธ่ย์ บางแคและมีบทบาทในการขยายตัวมากที่สุดก็ต้องถอยร่นและปิดกิจการห้างคาเธ่ย์
บางแค
ผู้มาช่วงเหลือชูชาติก็คือ พี่สาวและพี่เขยของเขานั่นเอง ซึ่งทั้งคู่ก็อยู่ในธุรกิจเสื้อผ้าเช่นเดียวกัน
เครื่องแต่งกายที่มีชื่อของเขาทั้งสองคือกางเกงใน "รอซโซ่"
นายกัมพล ชาติธรรมรักษ์ ประธานกรรมการบริษัท รอซโซ่ จำกัด เปิดเผยว่าเมื่อต้นปี
2538 บริษัทได้รับการทาบทามจากเจ้าของคาเธ่ย์ให้ช่วยซื้อกิจการห้างคาเธ่ย์
บางแค ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด 2-3 ปี เนื่องจากภาวะการแข่งขันของห้างสรรพสินค้ามีความรุนแรงมากขึ้น
แต่บริษัทขอเวลาทำการศึกษาและวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในย่านบางแคและบริเวณใกล้เคียง
3 เดือน
จากการศึกษาวิจัยทุกแง่มุมสรุปได้ว่าบางแคเป็นแหล่งชุมชนที่หนาแน่นในย่านฝั่งธน
ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นระดับกลางล่าง ที่จะมาใช้บริการตลาดสดในวันธรรมดาและมากเป็นพิเศษในวันหยุด
นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นย่านที่มีร้านขายอาหารอร่อย ๆ และมีคุณภาพไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแหลงรูปแบบห้างสรรพสินค้ามาเป็นศูนย์อาหารและพลาซ่าน่าจะมีความเป็นไปได้
ในที่สุดรอซโซ่จึงตัดสินใจซื้อกิจการห้างคาเธ่ย์ บางแค ในราคาประมาณ 200
ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าปรับปรุง ตกแต่งภายในบริษัทต้องใช้เงินลงทุนในการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกครั้งนี้กว่า
300 ล้านบาท โดยได้ทำการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็นเดอะแกรนด์ 2000 (เพื่อให้ฟังดูทันสมัยที่ใคร
ๆ ก็มักออกมาพูดถึงวิสัยทัศน์ในปี 2000) พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่
ให้สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โครงการ ทำเลที่ตั้ง กลุ่มเป้าหมาย การจัดการและการแข่งขันทางธุรกิจ
เดอะแกรนด์ 2000 มีกำหนดเปิดในต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท
เอ บี เอ เทรดเซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาทและเป็นการถือหุ้นของคนในตระกูล
"ชาติธรรมรักษ์" ทั้งสิ้น
"ความจริงเราสนใจธุรกิจค้าปลีกมานาน แต่ไม่สามารถหาทำเลที่น่าสนใจได้เมื่อคุณชูชาติซึ่งเป็นน้องชายมาเสนอขายเพราะทำไม่ไหว
และหลังจากที่ได้ศึกษาแล้วว่าน่าจะฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ในรูปแบบของพลาซ่า จึงตัดสินใจซื้อมาทำเสียเอง
เรียกว่าได้ช่วยน้องด้วยได้ขยายธุรกิจด้วย" ศรีจันทร์เล่าให้ฟัง
อย่างไรก็ดีศรีจันทร์ยอมรับว่า แม้ว่ารอซโซ่จะสนใจทำธุรกิจค้าปลีกมานานแต่การเทคโอเวอร์คาเธ่ย์
บางแคก็ถือว่าเป็นอุบัติเหตุทางธุรกิจที่ไม่คาดฝันได้เหมือนกัน เพราะถ้าคาเธ่ย์
บางแคไม่ใช่ธุรกิจของคนในตระกูลกมลวิศษฐ์ เธอคงไม่ซื้อไว้เพราะช่วงนี้ยังไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมในการลงทุนทำค้าปลีก
"แม้แต่ตัวชูชาติเองก็เป็นไปได้สูงที่จะวางมือจากธุรกิจค้าปลีก แล้วเบนเข็มไปทำธุรกิจอื่นที่ตรงกับที่ร่ำเรียนมา
เพราะชูชาตินั้นจบเภสัชกรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล ขณะที่สาขาเยาวราชนั้น วิโรจน์
รับหน้าที่บริหารต่อไป" ศรีจันทร์กล่าว
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แผนการขยายคาเธ่ย์ออกไปแถบชานเมืองหรือเขตปริมณฑล
เช่นย่านรัตนาธิเบศร์และมีนบุรีก็คงต้องยกเลิกไปโดยปริยาย
สำหรับโฉมหน้าของเดอะแกรนด์ 2000 ซึ่งประกอบไปด้วยอาคาร 2 หลังบนพื้นที่
3 ไร่นั้น อาคารแรกสูง 7 ชั้น มีพื้นที่ชั้นละ 1,200 ตารางเมตร ชั้นใต้ดินจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต
อาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่
"จุดเด่นของซูเปอร์มาร์เก็ตของเราคือ จะทำทั้งค้าส่งและค้าปลีก ช่วงแรกคาดว่าจะมียอดขายเดือนละกว่า
10 ล้านบาท โดยจะเป็นส่วนของการค้าส่ง 30% ค้าปลีก 70% ซึ่งในอนาคตเรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการค้าส่งเป็น
70% ด้วยกลยุทธ์ราคา"
ชั้น 1-2 เป็นศูนย์รวมอาหารและร้านค้าประกอบด้วยเคเอฟซี แพนตันสุกี้ ศูนย์อาหารทั่วไป
เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องหนัง
ชั้น 3-4 เป็นพื้นที่ให้เช่า-เซ้ง สำหรับขายสินค้าทั่วไป เช่น เสื้อผ้า
กิ๊ฟชอป วิดีโอเทป ของเด็กเล่น รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า วิดีโอเกม นอกจากนี้ในชั้นที่
4 ยังมีบริเวณสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงคนเข้ามาใช้บริการในศูนย์ด้วย
ชั้น 5 ขึ้นไปเป็นสำนักงานบริษัทและสำนักงานให้เช่า
ส่วนอีกอาคารเป็นอาคารจอดรถ 5 ชั้น ซึ่งสามารถจอดรถได้ประมาณ 200 คันและมีลานเอนกประสงค์ขนาด
300 กว่าตารางเมตร สำหรับจัดกิจกรรมเสริมในวันหยุดหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ
"เราคาดว่าในวันธรรมดาจะมีคนมาใช้บริการวันละหลายพันคน และเพิ่มเป็น
20,000-30,000 คนในวันหยุด เรามั่นใจว่าที่นี่ 3 ปีก็จะคืนทุน" นี่เป็นความหวังของกัมพลที่กำลังรอการพิสูจน์
คาเธ่ย์ เยาวราช อนาคตอยู่ที่ "ไพบูลย์สมบัติ"
ที่ผ่านมา คาเธ่ย์ เยาวราช อยู่ในสภาพที่มีคู่แข่งก็เหมือนกับไม่มี เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของที่นี่จะเป็นคนอยู่อาศัยและทำมาหากินในย่านเยาวราชจริง
ๆ ไม่ใช่ลูกค้าขาจรย่านอื่น ดังนั้นคู่แข่งอย่างเมอรี่คิงส์และเซ็นทรัล ซึ่งตั้งอยู่เลยไปทางด้านวังบูรพา
แม้จะมีขนาดใหญ่กว่ากไม่สร้างผลกระทบให้คาเธ่ย์ และ 2 รายนี้ก็มัวแต่แข่งกันเองมากกว่าที่จะคิดแข่งกับห้างเล็ก
ๆ อย่างคาเธ่ย์
อย่างไรก็ดีคาเธ่ย์ก็มีการปรับปรุงสาขาเยาวราชให้ดูทันสมัยและน่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยการทาบทามฟาสต์ฟูดยอดนิยมให้เข้ามาเปิดบริการ
ทั้งเคเอฟซีและเอสแอนด์พีเพราะย่านเยาวราชยังไม่มีร้านอาหารพวกนี้อยู่เลย
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่จำนวน 100 ตารางเมตร บริเวณชั้น
1 ให้เป็นศูนย์จำหน่ายอัญมณีและทองอีกด้วย
"สาเหตุหนึ่งที่คาเธ่ย์ปรับโฉมที่นี่ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากว่า ศูนย์การค้าดีเอสเยาวราชสแควร์
ของบริษัท ดี . เอส. ดี เวลลอปเมนท์จะเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม ซึ่งจุดเด่นของศูนย์การค้าใหม่คือ
ร้านฟาสต์ฟูดอินเตอร์ อย่างแม็คโดนัลส์ และไก่ทอดป๊อปอายส์ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารจีนและอาหารประเภทอื่น
ๆ รวมทั้งร้านค้าอื่น ๆ อีกด้วย" แหล่งข่าววิเคราะห์ให้ฟัง
ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว สิ่งที่คาเธ่ย์ห่วงที่สุดไม่ใช่คู่แข่งรายไหนทั้งสิ้น
แต่คือ บริษัท ไพบูลย์สมบัติ จำกัด เจ้าของตึกที่บริษัทเช่าอยู่มากกว่า เพราะถ้าอีก
6 ปีข้างหน้า ไพบูลย์สมบัติไม่ต่อสัญญาเช่าครั้งใหม่ให้ คาเธ่ย์ก็จะไม่มีตัวตนไปแข่งกับใคร
ๆ ทั้งสิ้น
หากเป็นเช่นนั้นจริง ตระกูลกมลวิศิษฐ์ก็คงจะเหลือเฉพาะธุรกิจเสื้อผ้าเป็นสายเลือดหลักเพียงสายเดียวเท่านั้น
บทเรียนของ "กมลวิศิษฐ์" นั้น เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เรียกว่า
"รายเล็กย่อมอยู่ไม่ได้" แต่ "กมลวิศิษฐ์" โชคร้ายกว่านั้น
คือ โอกาสที่จะปรับตัวแทบจะไม่มี เพราะการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกเร็วมาก
ๆ จนเหลียวกลับมา ชื่อคาเธ่ย์" ก็แทบหายไปแล้ว !