เพียงหนึ่งชั่วโมงเศษจากดอนเมือง ล้อเครื่องบินก็เตะพื้นสนามบินโปเชนตงกลางกรุงพนมเปญของกัมพูชา
"ซัวสะได" อันหมายถึงสวัสดี คือคำแรกที่ ศุภชัย วีระภุชงค์ หรืออ๊อด
ทิฟฟี่ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยนครพัฒนา จำกัด กล่าวกับคณะสื่อมวลชนในวันนั้น
คุณอ๊อดจะพาไปชมงานเปิดทีวีช่อง 5 กัมพูชา ที่ไทยนครพัฒนาได้สัมปทานจากกระทรวงกลาโหมกัมพูชา
ในการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์กองยุทธพลเขมะ ภูมินทร์ อายุสัมปทาน 30 ปีนับจากปี
2538 โดยต้องจ่ายให้กระทรวงกลาโหมเป็นเงิน 200 ล้านบาทในอายุสัมปาทานซึ่งต่อมาไทยนครพัฒนาได้ชักชวนกันตนากรุ๊ปร่วมหุ้น
50/50 ตั้ง "บริษัท มิก้า มีเดีย จำกัด" ขึ้นดูแล
แรกเริ่มนั้น บริษัท มิก้า มีเดีย ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการทีวีในกัมพูชาเหมือนกันแต่เป็นช่อง
12 ที่ได้สัมปทานรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2537 และมีกำหนดออกอากาศในกลางปี 2539
ทว่าด้วยโชคเข้าข้างหรืออย่างไรไม่ทราบ ไอบีซีแคมโบเดีย ของกลุ่มชินวัตร
ที่ได้สัมปทานทำทีวีช่อง 5 ประกาศขายเครื่องไม้เครื่องมือของตนหลังจากที่ออกอากาศมาตั้งแต่พฤษภาคม
2536 แต่ยังไม่ยอมขายใบอนุญาตประกอบกิจการแต่อย่างใด
การเริ่มต้นของไอบีซีแคมโบเดียของกลุ่มชินวัตรนั้นมาจากเงื่อนไขทางการเมืองด้วยประการหนึ่ง
โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา ซึ่งไอบีซีถูกกล่าวหาว่า เป็นเครื่องมือของฝ่ายฮุนเซน
จนได้รับสัมปทานถึง 99 ปี ต่อมาฝ่ายเจ้ารณฤทธิ์ก็ออกมาโวยวาย จนอายุสัญญาต้องลดเหลือ
30 ปี
ปัญหาการเมืองที่ตามมาคือ ไอบีซีถูกกล่าวหาอีกว่า มีส่วนรู้เห็นในกรณีความพยายามก่อรัฐประหารในกัมพูชา
ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนไทยถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา
อีกทั้งเป็นประเด็นถกเถียงในความเหมาะสมของการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ
พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตรอีกด้วย
ต่อจากนั้นปัญหาที่ไอบีซีแคมโบเดียต้องประสบคือตัวเลขขาดทุนเดือนละล้านกว่าบาท
เพราะจากเดิมอัตราค่าโฆษณาจากนาทีละ 600 เหรียญสหรัฐ ไม่ถึงปีตกลงมาสู่ 13-30
เหรียญสหรัฐ
ส่วนหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์เผยว่าที่ไอบีซีต้องขายอุปกรณ์สถานีนั้น นอกจากทนขาดทุนต่อเนื่องไม่ไหวแล้ว
ไอบีซียังไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาลกัมพูชาที่จะขอเพิ่มหุ้นเป็น 51%
ได้ จากเดิมไอบีซี 70% และ รัฐบาล 30%
กลุ่มชินวัตรคงประเมินแล้วว่า หากจะลงทุนในกัมพูชาต่อไปก็คงต้องเปลืองตัวและรัฐบาลกัมพูชาก็อาจจะไม่ค่อยไว้ใจการลงทุนของกลุ่มชินวัตรนัก
เพราะมักมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องเนือง ๆ
คำสั่งฟ้าผ่าจากกรุงเทพฯ คือ ไอบีซีต้องถอนตัวจากกัมพูชา
เมื่อเป็นเช่นนี้ มิก้ามีเดียจึงมีทีวี 2 ช่องในกัมพูชาโดยทันที คือช่อง
12 และช่อง 5
จาฤก กัลย์จาฤก กรรมผู้จัดการผู้อำนวยการ บริษัทกันตนากรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า
"เราไม่คิดทำ 2 ช่องพร้อมกันแน่ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผมก็ขอให้กลาโหมเปลี่ยนจากช่อง
12 เป็นช่อง 5 แล้วช่อง 12 เราก็ยกคืนให้เขาไปเหมือนเดิม ทำแค่ช่องเดียวส่วนเรื่องมูลค่าอุปกรณ์เครื่องมือที่เราจ่ายแก่ไอบีซี
ผมบอกไม่ได้เพราะตกลงกันไว้ว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่เผยเรื่องนี้"
หนึ่งเดือนแห่งการตัดสินใจซื้ออุปกรณ์จากไอบีซีแม้จาฤกไม่ยอมปริปากพูดเรื่องจำนวนเงิน
แต่จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีแจ้งว่า ไทยนครพัฒนากับกันตนา ได้เทกโอเวอร์กิจการไอบีซีกัมพูชา
โดยเป็นการซื้ออุปกรณ์ไปแล้วในราคา 8 แสนเหรียญสหรัฐ หรือ 20 กว่าล้านบาท
และจากการที่นิวัฒน์ บุญทรง แห่งค่ายชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ"
ไว้ว่า การลงทุนอุปกรณ์ทั้งหมดของช่อง 5 หมดไปกว่า 70 ล้านบาท
แผนของจาฤกที่คาดว่าจะเริ่มออกอากาศกลางปี 2539 จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทันทีเป็นออกอากาศต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
เพราะงานนี้เพียงแค่เอาเทปรายการของตนที่กันตนาผลิตใส่ภาษาท้องถิ่นแล้วใส่เข้าเครื่องไม้เครื่องมือที่ไอบีซีเซ็ตอัพไว้หมดแล้ว
แค่นี้ก็สามารถทำให้ชาวกัมพูชาในละแวกรัศมีรอบกรุงพนมเปญประมาณ 120 กิโลเมตร
ได้เห็นหน้าน้องเหมียว-ชไมพร จตุรภุช ตัวร้ายจากเรื่อง "ทายาทอสูร"
ได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องไปทำอะไรให้เมื่อยมือ
ขณะนี้กันตนามีซอฟต์แวร์ที่ผลิตเรียบร้อยแล้วอยู่ถึง 10,000 กว่าตอน ละครอีกกว่า
100 เรื่องหรือประมาณ 7,000 ตอน นั่นหมายถึงว่าทั้งจาฤกและอ็อด ทิฟฟี่ก็ไม่ต้องเหนื่อยมากนักกับรูปแบบรายการ
ฉะนั้นงานนี้คงมีเวลาสู้รบในเรื่องการตลาดได้มากขึ้น ต่างจากสถานการณ์ของไอบีซีที่ต้องลงทุนทั้งเรื่องรายการ,และการตลาดรวมไปถึงเรื่องการเมือง
"เราหวังว่าช่วงแรกคงมีรายรับ 2-3 ล้านต่อเดือนขาดทุนน้อยหน่อยก็โอเค
และหากโชคดีคงคืนทุนได้ใน 5 ปีโดยผังรายการที่ออกมาเราคิดร่วมกับกระทรวงกลาโหมออนแอร์ตั้งแต่
17.00-22.00 โดยประมาณ รูปแบบเป็นวาไรตี้เหมือนบ้านเรา เป็นรายการท้องถิ่นที่เราอัดเทปเอาไว้
พอจบรายการก็เป็นรายการข่าว เสร็จแล้วก็ต่อด้วยละคร ต่อด้วยกีฬา สารคดีสรุปก็เป็นวาไรตี้
20% ข่าว 20% นอกนั้นละครและกีฬา" ศุภชัย วีระภุชงค์หรืออ็อด ทิฟฟี่กล่าว
"ผมว่าจริง ๆ มันก็ต้องมีกำไรอย่างน้อยปีหนึ่ง 50 ล้าน" จาฤกพูดเสริมถึงความน่าจะเป็น
โดยคำนวณจากเรตโฆษณาไพรมไทม์ในกัมพูชาขณะนี้ประมาณ 300 กว่าเหรียญสหรัฐ (ของไทย
220,000 บาทหรือประมาณ 360 เหรียญ)
ตามแผนของศุภชัยคาดการณ์ไว้อีกว่า ในระยะแรกแรกประมาณ 50 ล้านบาท อีก 2
ปีหน้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนก็จะทำการขยายไปตามภูมิภาคทั่วประเทศ ปีละไม่น้อยกว่า
4-5 จังหวัด นั่นคือไปตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณที่รับจากพนมเปญอีกที แต่ก็ขึ้นอยู่กับความลงตัว
หากสถานีพอเลี้ยงตัวเองได้ ก็จะเช่าดาวเทียมไทยคม 2 ต่อไป หากเป็นไปไม่ได้
ก็อาจยิงสัญญาณเป็นไมโครเวฟทีละจุด ๆ ทั้งนี้แล้วแต่อัตรากำไร อีกทั้งยังจะขยายสัญญาณเข้าไปที่เสียมราฐ
พระตะบอง และตามจังหวัดที่ติดกับลาวอีกด้วย
ปัจจุบันกัมพูชามีสถานีโทรทัศน์ 3 สถานีที่ดำเนินการอยู่ ได้แก่ ช่อง 5
ของมิก้ามีเดียกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์, ช่อง 7 ของรัฐบาลใช้ภาษาฝรั่งเศสออกอากาศกำลังส่ง
1 กิโลวัตต์ และช่อง 9 ของพรรคฟุนซินเปก (ฝ่ายเจ้ารณฤทธิ์) 0.1 กิโลวัตต์
เน้นแพร่ภาพในบางพื้นที่ที่ฟุนซินเปกมีอำนาจ
ล่าสุดก็เปิดสัมปทานช่อง 3 และช่อง 11 แล้วโดยช่อง 3 มีรัฐบาลรัสเซียได้ไปโดยออกอากาศบ้างแล้ว
และช่อง 11 มีข่าวว่าเทลสตาร์ออสเตรเลียจะได้ดำเนินการไม่นับช่องทีวีของไทยที่รับได้ชัดกว่ากรุงเทพฯ
เสียอีก
จาฤกกล่าวถึงอนาคตของมิก้ามีเดียว่า "ถ้าเกิดมีพ่อค้าหรือผู้มีความสามารถในกัมพูชาประสงค์ที่จะร่วมหุ้นร่วมกันผลิต
ร่วมกันบริหารเราก็ยินดี นี่เป็นนโยบายชัดเจนของเรา แต่เราจะไม่เจรจากับคนไทย
เพราะเราอยากได้เป็นสถานีของเขาจริง ๆ"
ด้วยรากฐานที่ค้าขายยาทิฟฟี่และแอนตาซิลในกัมพูชามากว่า 6 ปี ทำให้วินัย
ศุภชัย วีระภุชงค์ แห่งไทยนครพัฒนาเชื่อมั่นว่า สายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัฐบาลไม่น่าจะมีปัญหาในการลงทุนเช่นเดียวกับไอบีซี
นอกจากนั้นไทยนครพัฒนาก็ไม่บุ่มบ่ามลงทุนเพียงลำพัง พวกเขามีกันตนาเป็นกำลังสำคัญ
อีกทั้งทีวีช่อง 5 ก็จะเป็นเครือข่ายสำคัญในการทำตลาดและโฆษณาให้กับธุรกิจขายยาของไทยนครพัฒนาในกัมพูชาอย่างแน่นอน
และในเวลานี้ธุรกิจขายยาก็น่าจะกำไรมหาศาลมากกว่าธุรกิจโทรทัศน์เป็นไหน ๆ
งานนี้ทั้งวินัยและศุภชัย วีระภุชงค์เข้าใจและฉลาดมากกว่าคู่แข่งหลายขุม