Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2538
60 ปี "ไทยวัฒนาพานิช" ถึงคราวต้อง "รุก-อะเฮด" กันบ้าง             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด

   
search resources

สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, บจก.
ธีระ ต. สุวรรณ
Printing & Publishing




วันที่ 19 ตุลาคม 2538 บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด จัดงานแถลงข่าวแนะนำ "Look Ahead" ชุดการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองชุดใหม่ซึ่งบีบีซีร่วมสร้างกับลองแมน, บริติช เคาน์ซิล และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อย่างเป็นทางการ

งานนี้คงไม่น่าตื่นเต้นอะไร ถ้าผู้ทำตลาดไม่ใช่ ท.ว.พ. ที่มีประสบการณ์ในการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแบบเรียนมานาน 60 ปี ซึ่งไม่เคยโดดเข้ามาขายสินค้าคอนซูเมอร์ โพรดักท์ที่ต้องมีการโฆษณา การส่งเสริมการขายถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างอย่างถึงลูกถึงคนเช่นนี้มาก่อน

ธีระ ต. สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด ทายาทคนสุดท้องของคุณนายบุญพริ้ง ผู้ก่อตั้ง ท.ว.พ. เล่าถึงที่มาให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่านอกจากแบบเรียนภาษาไทยแล้ว ท.ว.พ. ยังเป็นผู้นำในการผลิตแบบเรียนวิชาภาษาอังกฤษ รวมทั้งยังสั่งหนังสือภาษาอังกฤษจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในโรงเรียนอีกด้วย

ประกอบกับความที่อยู่ในวงการศึกษามานาน ท.ว.พ. จึงรู้ดีว่าชุดเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองมีตลาดมากพอสมควร ดังนั้นหลังจากได้ศึกษาแบบเรียนที่บีบีซีส่งมาให้ ท.ว.พ. จึงตัดสินใจเซ็นสัญญาเป็นผู้แทนจำหน่ายเมื่อปลายปี 2537 ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าเป็นชุดการเรียนที่มีเนื้อหาทันสมัย สนุกสนานและผลิตอย่างพิถีพิถัน

นอกจากนี้การทำตลาดของ "Follow Me" ชุดเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองของบีบีซี ซึ่งเข้าสู่ตลาดเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ทำตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยังมียอดขายที่สูงพอใช้ได้

ธีระจึงมองว่า หาก ท.ว.พ. ทำตลาดลุค อะเฮดอย่างเต็มรูปแบบน่าจะได้รับการยอมรับอย่างดีแน่ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหลักที่ ท.ว.พ. ยอมควักกระเป๋าทุ่มงบในการโฆษณาและส่งเสริมการขายให้ลุค อะเฮดถึง 60 ล้านบาทตามที่ลีโอเบอร์เนท์ได้วางแผนให้ ซึ่งธีระเองยอมรับตรง ๆ ว่าออกจะตกใจกับจำนวนเงินที่ต้องใช้อยู่เหมือนกัน แต่เมื่อทราบถึงความจำเป็นก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

การเป็นผู้แทนจำหน่ายลุค อะเฮด ทำให้ ท.ว.พ. ต้องทำอะไรแปลก ๆ อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนหลายอย่าง นอกจากการจัดงานแถลงข่าวแล้วตัวธีระเองยังต้องเปิดตัวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เขาทำ เช่นนี้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ออกจะขัดกับบุคลิกของเขาที่ชอบทำงานเงียบ ๆ มากกว่า

นอกจากนี้ยังเป็นการเปลี่ยนภาพของบริษัท โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จากที่เคยเป็นเพียงผู้รับพิมพ์แบบเรียนและรับพิมพ์งานให้กับผู้ว่าจ้าง มาเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

เพราะแม้ว่า ท.ว.พ. จะได้รับฟิล์มหนังสือ มาสเตอร์ของคาสเชตเทปและวิดีโอเทปจากบีบีซีมาผลิตก็ตาม แต่บริษัทก็ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาชุดการเรียนบางส่วนให้เหมาะกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเนื้อหาภาษาไทย เพื่อผู้เรียนจะทำความเข้าใจกับบทเรียนได้สะดวกขึ้น โดยในส่วนของวิดีโอเทปนั้น ท.ว.พ. ลงทุนจ้าง "พี่ตู้และน้องปู" มาเป็นพรีเซนเตอร์คนไทย ร่วมกับนักแสดงอีกหลาย ๆ คน เช่น ช่อผกา วิริยานนท์, ใหม่ (นัฐฐา ลอยด์) เป็นต้น

รวมทั้งยังว่าจ้างอาจารย์ชาวไทยและชาวต่างประเทศมาประจำที่สำนักงาน สำหรับตอบคำถามข้อสงสัยในบทเรียนแก่ลูกค้าที่ซื้อชุดการเรียนไปศึกษาเองด้วย ซึ่งในช่วงแรกจะมี 3 คน และจะเพิ่มขึ้นอีกถ้าลูกค้าใช้บริการมาก เนื่องจาก ท.ว.พ. ต้องการให้ ลุค อะเฮดเป็นชุดเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเองแบบอินเตอร์แอคทีฟ คือมีการสื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้ตลอดเวลา

ที่สำคัญ ท.ว.พ. ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในการจัดการทดสอบความรู้แก่ผู้เรียน กล่าวคือ ผู้เรียนจบระดับ 1-2 สามารถสอบ Key English Test (KET) และ Premilinary English Test (PET) สำหรับผู้เรียนจบชั้น 3-4 ด้วย

เมื่อทุ่มเทกันถึงขนาดนี้จึงไม่น่าแปลกที่บีบีซีจะออกปากว่า ท.ว.พ. เป็นผู้แทนจำหน่ายที่น่าประทับใจที่สุดในบรรดาผู้แทนจำหน่ายเกือบ 10 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหนังสือ คาสเซตเทป วิดีโอเทป การโฆษณา ตลอดจนการส่งเสริมการขาย ซึ่งทั้งลดและแถม น่าที่ตัวแทนจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ จะนำไปเป็นตัวอย่าง

ในส่วนของการขายของลุค อะเฮดนั้น โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชต้องสร้างทีมขายขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งประกอบไปด้วยทีมไดเร็กต์เซลขายเข้าโรงเรียน บริษัท ห้างร้าน สถาบัน หน่วยราชการ ทีมเทเลเซล ซึ่งจะติดต่อขายทางโทรศัพท์และทีมขายให้กับร้านหนังสือใหญ่และห้างสรรพสินค้าทุกแห่งทั่วประเทศ

หากรวมพนักงานทุกฝ่ายที่เข้ามารับผิดชอบลุค อะเฮดแล้ว จะมีทั้งสิ้นเกือบ 100 คน

เหตุที่ ท.ว.พ. ต้องทำตลาดเชิงรุกขนาดนี้ส่วนหนึ่งคงมาจากต้องแข่งกับ "English For you" ของเครือเดอะเนชั่นซึ่งเป็นรายแรกที่นำกลยุทธ์การโฆษณามาใช้ในการทำตลาดอย่างได้ผล แม้ว่าลักษณะของสินค้าค่อนข้างจะมีข้อแตกต่างกันพอสมควรแต่ก็ถือว่าเป็นคู่แข่งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คืออิงลิช ฟอร์ ยู เป็นบทเรียนแบบที่เรียกว่าพาร์ต เวิร์ก ออกสัปดาห์ละชุด ชุดละ 95 บาท มีจำนวนทั้งสิ้น 96 ชุด กว่าจะครบชุดผู้เรียนต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ที่สามารถเรียนรู้เร็วรู้สึกว่าเรียนได้ไม่ทันใจและเบื่อหน่ายที่จะติดตาม

ขณะที่ลุค อะเฮด เป็นชุดการเรียนด้วยตนเองโดยเฉพาะ มีทั้งสิ้น 4 ระดับทั้งชุดออดิโอหรือชุดวีดีโอ ชุดออดิโอแต่ละระดับประกอบไปด้วย หนังสือ 1 เล่มและคาสเซตเทป 4 ตลับ ราคา 750 บาท ขณะที่ชุดออดิโอแต่ละระดับจะประกอบไปด้วยหนังสือ 2 เล่ม คาสเซตเทป 4 ม้วนและวิดีโอเทป 8 ม้วน ราคา 4,400 บาท ซึ่งผู้เรียนอาจจะต้องลงทุนด้วยเงินเป็นก้อน แต่ก็สามารถเรียนจบได้ไวถ้าเรียนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยก่อนที่จะเลือกซื้อชุดการเรียน ผู้ซื้อสามารถทดสอบวัดระดับความรู้ได้ด้วยตัวเอง (Self Test) จากโฆษณาในหน้าหนังสือและโบรชัวร์ที่ ท.ว.พ. ทำขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อที่ผู้เรียนจะสามารถเลือกชุดการเรียนได้เหมาะสมกับพื้นฐานความรู้

นอกจากจะเป็นผู้ทำตลาด "ลุค อะเฮด" ของบีบีซีแล้ว ท.ว.พ. ยังได้ลิขสิทธิ์การทำตลาดชุด "ลุค อะเฮด" ของลองแมนอีกด้วย ซึ่งเป็นชุดการเรียนภาษาอังกฤษที่เหมาะสำหรับใช้ในโรงเรียนเพราะต้องมีครู อาจารย์เป็นคนสอน โดยจะเริ่มทำตลาดช่วงใกล้ ๆ โรงเรียนเปิดในปีการศึกษา 2539

เรียกว่างาน ท.ว.พ. กินรวบทั้งตลาดในและนอกโรงเรียนทีเดียว

อย่างไรก็ดี โดยปกตินั้น ท.ว.พ. จะแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนสำนักพิมพ์กับส่วนโรงพิมพ์ ซึ่งสำนักพิมพ์จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างหนังสือและจัดจำหน่ายมากกว่า และโรงพิมพ์จะรับพิมพ์อย่างเดียว แต่ครั้งนี้ ฝ่ายโรงพิมพ์เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด

"บังเอิญเป็นสินค้าที่ผมสนใจ และผมก็รับผิดชอบโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชอยู่ ซึ่งผมว่าใครจะทำก็เหมือนกันเพราะไม่ได้เน้นว่าเป็นของโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ เราใช้ชื่อไทยวัฒนาพานิชในการโปรโมต และสำนักพิมพ์ก็จะช่วยเราขายด้วย เรียกว่าเป็นการลองดู" ธีระชี้แจง

"ลองดู" ที่ธีระพูดถึงถือว่ามีนัยสำคัญต่อไทยวัฒนาพานิชไม่น้อย เพราะประสบการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญที่ไทยวัฒนาพานิชจะต้องนำมาใช้ในการทำธุรกิจในอนาคต

"นอกจากลุค อะเฮด แล้ว ถ้ามีโอกาสขยายไปสู่ทำการตลาดคอนซูเมอร์ โพรดักท์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเราคงจะทำ เราคงมองเฉพาะตลาดโรงเรียนอย่างอดีตที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องมองแมสมาร์เก็ตด้วย ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสูงเพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะจบการศึกษาในรั้วโรงเรียนไปแล้วก็ตาม" ธีระให้ภาพอนาคตของ ท.ว.พ.ไว้ค่อนข้างชัด

ขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่า นอกจากที่ตลาดโตขึ้นอย่างมากแล้ว ยังเป็นเพราะมีคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตลาดของ ท.ว.พ. เล็กลงเรื่อย ๆ ก็ได้

"พวกเราทำธุรกิจแบบเรื่อย ๆ ไม่ก้าวกระโดด คุณแม่ของผม (คุณนายบุญพริ้ง) ท่านพอใจเท่าที่เป็นอยู่" ธีระกล่าว ซึ่งแสดงถึงสไตล์การทำงานของตระกูล ต. สุวรรณ" อย่างชัดเจน

สำหรับธุรกิจหลักของโรงพิมพ์ คือ การรับจ้างพิมพ์งานให้สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชและผู้ว่าจ้างรายอื่นนั้น ธีระกล่าวว่า ก็จะยังคงเป็นธุรกิจหลักของไทยวัฒนาพานิชต่อไป เช่นเดียวกับธุรกิจการสร้างและจำหน่ายแบบเรียนของสำนักพิมพ์ฯ

โดยขณะนี้ ท.ว.พ. มีโครงการที่จะลงทุนสร้างโรงพิมพ์แห่งใหม่บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่บริษัทเพิ่งตกลงซื้อไว้ในราคา 3 ล้านบาทเมื่อต้อนปี 2538 เนื่องจากโรงพิมพ์ปัจจุบันซึ่งอยู่ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติบนพื้นที่ 4 ไร่ คับแคบจนไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้คาดว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นภายใน 3 ปี

ส่วนที่ดิน 4 ไร่ที่เป็นที่ตั้งโรงพิมพ์เดิม จะนำไปทำอะไรนั้น คงต้องดูบรรยากาศการลงทุนและสภาพเศรษฐกิจในอนาคตอีกครั้ง

การขยายธุรกิจในเชิงรุกของ ท.ว.พ. วันนี้และที่จะเกิดขึ้นต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นแรงผลักดันอย่างเงียบ ๆ ของเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูล ต. สุวรรณ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อไปในวันข้างหน้า และคนกลุ่มนี้เองที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ ท.ว.พ. มีภาพเชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง และได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น


ปัจจุบันโครงสร้างการบริหารงานของไทยวัฒนาพานิชยังเป็นแบบครอบครัวอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะถึงวันนี้คุณนายบุญพริ้ง ต. ตระกูล ผู้ก่อตั้งไทยวัฒนาพานิช ก็ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักอยู่ที่สำนักพิมพ์ โดยมีวีระ ต. ตระกูล ลูกชายคนโตในจำนวน 3 คนของท่านเป็นหลักอยู่ด้วย

ส่วนที่โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชนั้นนอกจากธีระซึ่งเป็นลูกชายคนสุดท้องจะรับผิดชอบการบริหารงานอยู่แล้วยังมี "ดนัย ต. สุวรรณ" ลูกชายของธีระเข้ามาช่วยทำงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอีกคน

ดนัยนับเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 คนแรกที่เข้ามาช่วยบริหารงานให้กับไทยวัฒนาพานิช หลังจากที่จบการศึกษาด้านการบริหารงานพิมพ์มาจากสหรัฐอเมริกา

คนที่ 2 คืน ลูกชายของวีระที่ชื่อ "นักรบ ต. สุวรรณ" ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านจิตวิทยาและปริญญาโทด้านการบริหารมาจากสหรัฐอเมริกา ช่วงแรกนักรบช่วยคุณย่าและคุณพ่ออยู่ที่สำนักพิมพ์ฯ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ แต่ตอนนี้ถูกดึงตัวมาช่วยดูลุค อะเฮดที่โรงพิมพ์ฯ คาดว่าอีกไม่นานอาจจะกลับไปดูงานที่สำนักพิมพ์ฯ อีกครั้ง

คนที่ 3 เป็นลูกสาวคนเล็กของธีระ ชื่อ "โชติกา" ซึ่งเรียนจบทางด้านกราฟิก ดีไซน์มาหมาดๆ คนนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้ามาช่วยทางด้านใด แต่ดูแล้วน่าจะเหมาะกับงานโรงพิมพ์ไม่น้อย และอีกไม่นานจะมีลูกสาวของวีระมาช่วยทำงานเพิ่มอีกคน หลังจากทำปริญญาโทที่อเมริกาสำเร็จ

"ยังดีที่เจนเนอเรชั่นที่ 3 ของเรา เขาสนใจในธุรกิจที่คุณปู่ คุณย่าสร้างกันมา ยังไม่มีใครคิดจะฉีกไปทำอย่างอื่น ยกเว้นคุณพีระ ในอนาคต ท.ว.พ. คงมีลูกๆ หลานๆ เข้ามาสานงานต่อและช่วยปรับปรุงสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ดีขึ้นแน่ เพราะงานสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์นั้นดูเผิน ๆ อาจจะไม่มีอะไรมาก แต่จริง ๆ แล้วค่อนข้างลำบาก คนทำจะรู้ว่าปัญหาเยอะมาก ต้องใช้ประสบการณ์สูงที่จะทำให้งานสำเร็จได้ ดังนั้นเมื่อเราทำมาถึง 60 ปีแล้ว ก็น่าจะขยายให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป" น้ำเสียงของธีระแม้จะไม่แสดงออกชัดเจน แต่ก็พอฟังรู้ว่า เขาดีใจที่อนาคตของ ท.ว.พ. จะมีคนที่เขาไว้วางใจเข้ามาช่วยกันสานต่อ

สำหรับ "พีระ ต. สุวรรณ" ที่ธีระพูดถึงนั้นเป็นลูกชายคนกลางของตระกูล ซึ่งในอดีตเคยดูแลรับผิดชอบสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช แต่ขณะนี้ได้แยกไปทำกิจการอื่น เช่น การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการพิมพ์โรงงานทำถุงมือลาเท็กซ์ นับว่าเป็นลูกชายคนเดียวของคุณนายบุญพริ้งที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจไทยวัฒนาพานิชอีกต่อไป

"เขาคงเบื่อมั้ง" เป็นเหตุผลที่ธีระตอบแทนพี่ชาย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us