Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2538
"อินเตอร์ฟาร์อีสท์-ตะวันเทเลคอม พันธมิตรกู้วิกฤต !"             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 

 
Charts & Figures

ส่วนแบ่งตลาดเครื่องถ่ายเอกสาร
ผลการดำเนินงานระหว่างปี 2533-2538
บริษัทลงทุนไอเฟค
บริษัทในเครือไอเฟค

   
related stories

"สหกรุ๊ป จะเป็นได้แค่ "ผู้แทนจำหน่ายไอที

   
www resources

โฮมเพจ-สหกรุ๊ป

   
search resources

อินเตอร์ฟาร์อีสท์วิศวการ, บมจ.
ตะวันเทเลคอม
สหกรุ๊ป
เธียร ปฏิเวชวงศ์
Investment
ณรงค์ เตชะไชยวงศ์




เมื่อถึงจุดตกต่ำ "อินเตอร์ฟาร์อีสท์" จำเป็นต้องดิ้นรนหาทางออก หลังจากที่พยายามมาหลายทางแล้ว "ณรงค์ เตชะไชยวงศ์" พบว่า เขาวนกลับมาที่เดิม จนในที่สุดมาพบกับ "ตะวันเทเลคอม" ของ "เธียร ปฏิเวชวงศ์" การเป็นพันธมิตรจึงเริ่มขึ้น สหกรุ๊ปต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองจากอินเตอร์ฟาร์อีสท์ และณรงค์ต้องลงจากบัลลังก์ผู้มีอำนาจเต็มเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี การกู้วิกฤตครั้งนี้จะทำสำเร็จหรือไม่? นี่คือก้าวกระโดดโชคหลายชั้นของคนชื่อ "เธียร" ? สหกรุ๊ปจะหลุดจากทางวิบากเข้าสู่ธุรกิจไอทีเสียที ? หรือในที่สุดพวกเขาต้องกลับไปที่เดิมอีกครั้ง?!

หากนับบรรดาผู้ค้าเครื่องถ่ายเอกสารเกือบ 10 รายที่อยู่ในตลาดเวลานี้ มีเพียงบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด แห่งเดียวเท่านั้น ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นอกเหนือจากเป็นบริษัทขายเครื่องถ่ายเอกสารบริษัทเดียวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว อินเตอร์ฟาร์อีสท์ยังมีกลุ่มสหกรุ๊ปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

แต่หากจัดอันดับของเครื่องถ่ายเอกสารที่มียอดจำหน่ายสูงสุดแล้ว โคนิก้า/ยูบิกซ์ที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์เป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ กลับอยู่ในอันดับที่ 3 หรือ 4 เท่านั้น

ภาวะการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่สำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้หลักมาจากการจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสาร และอุปกรณ์สำนักงานเท่านั้น

อินเตอร์ฟาร์อีสท์นั้นได้ชื่อว่า เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มสหกรุ๊ปไม่กี่แห่งที่ดำเนินธุรกิจค้าขายอุปกรณ์สำนักงาน

จุดกำเนิดของอินเตอร์ฟาร์อีสท์นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญก็ว่าได้ เมื่อบุณย์เอก โชควัฒนา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทซันคัลเลอร์ และเป็นตัวแทนจำหน่ายฟิล์มของโคนิก้า ตอบตกลงเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารให้กับโคนิก้า ซึ่งขณะนั้นผู้บริหารกำลังปวดหัวกับการที่ต้องเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายบ่อย ๆ เพราะแต่ละรายทำได้ไม่ถึงเป้าหมาย

ส่วนทางสหกรุ๊ปเองก็มีการขยายธุรกิจออกไปมากมาย การมีบริษัทค้ามาดูแลเรื่องอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และยังสามารถหารายได้อีกด้วยทุกอย่างจึงลงตัว

บริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์วิศวกิจ ที่บุญชัย โชควัฒนา เป็นผู้ก่อตั้งแต่ปี 2520 เพื่อให้บริการติดตั้งและเครื่องปรับอากาศให้กับบริษัทในเครือ ถูกโอนมาทำตลาดเครื่องถ่ายเอกสารโคนิก้า และต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็นอินเตอร์ฟาร์อีสท์วิสาหกิจ และบุณย์เอกได้ชักชวนณรงค์ เตชะวงศ์ มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

ณรงค์ คลุกคลีกับธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสารมาตลอด เพราะเขาเป็นทายาทคนหนึ่งของบริษัทเอฟเอ็มเอ เป็นธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารให้กับแคนนอน

ปี 2526 จึงเป็นการเปิดฉากธุรกิจค้าเครื่องถ่ายเอกสารของอินเตอร์ฟาร์อีสท์อย่างแท้จริง และมีทีท่าว่าจะไปได้ดี เพราะการแข่งขันยังไม่รุนแรงนัก ลำพังลูกค้าในเครือสหกรุ๊ปก็มีเหลือเฟือ

เมื่อธุรกิจเริ่มไปได้ดี ณรงค์ เริ่มนำสินค้าเครื่องใช้สำนักงานประเภทอื่น ๆ มากขึ้น เช่นเครื่องแฟกซ์ ยี่ห้อ TEC และซันโย และเครื่องเย็บเล่มเอกสาร และเคลือบบัตร ยี่ห้อ GBC เพื่อหวังขยายกิจการ

"น้ำขึ้นในให้รีบตัก" คงใช้ได้ดีกับอินเตอร์ฟาร์อีสท์ในเวลานั้น เพราะหลังจากได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในปี 2531 ในช่วงนี้เองณรงค์ ได้รุกขยายเพิ่มสินค้าเข้ามาจำหน่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร ยี่ห้อ ซันโย ที่ได้จัดตั้งบริษัทแห่งใหม่ คือ รีโปรเมติกขึ้นมารับผิดชอบ และต่อมาเปลี่ยนเป็นยี่ห้อเร็กซ์โรตารี และจำหน่ายแฟกซ์นาชัวร์

พร้อมกับเพิ่มอุปกรณ์สำนักงานประเภทใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นอีกด้วยการเป็นตัวแทนเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอล ยี่ห้อ "ริโซ่" จากญี่ปุ่น การนำเครื่องฟอกอากาศ อินมาร์เฟล็กซ์เข้ามาทำตลาดโดยมอบหมายให้บริษัทไอเฟคเซอร์วิส ทำตลาด

ไม่เท่านั้น เมื่อตลาดพีซีคอมพิวเตอร์เริ่มบูม แม้จะไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ แต่ณรงค์ก็ตัดสินใจไปลงทุนร่วมกับกลุ่ม "ไต้แส" ซึ่งทำธุรกิจเดินเรือ เปิดบริษัทชื่อว่า อินเตอร์คอมไบน์ เพื่อเป็นตัวแทนขายพีซีคอมพิวเตอร์ ฮุนได

ขณะเดียวกัน อินเตอร์ฟาร์อีสท์ได้สร้างอาคารสำนักงานใหญ่ ขึ้นที่แห่งใหม่ในซอยรามคำแหง 22

ภาพอินเตอร์ฟาร์อีสท์ในเวลานั้นจึงดูสวยงามยิ่งนัก แม้ว่าจะยังไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับบริษัทในเครือสหพัฒนฯ แต่ก็นับได้ว่า สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างดี และยังมีเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ไว้ใช้ขยายธุรกิจ

แต่เส้นทางธุรกิจย่อมมีวันเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะธรรมชาติของสินค้าที่ต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงปลายปี 2533 ต่อเนื่องจนถึงปี 2534 ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ของไทยในปี 2535 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างมาก

อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เป็นหนึ่งในบริษัทหลายแห่งที่โดนแรงกระทบเหล่านี้ด้วย เนื่องจากลูกค้าชะลอการตัดสินใจชื้อ จะเห็นได้ว่ารายได้ และผลกำไรของบริษัทตั้งแต่ปี 2534-2535 ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงปี 2535 เกิดเหตุการณ์ค่าเงินเยนแข็งตัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น รวมถึงอินเตอร์ฟาร์อีสท์ด้วยเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะเครื่องถ่ายเอกสาร โคนิก้า ซึ่งเป็นส่วนที่ทำรายได้หลักให้กับอินเตอร์ฟาร์อีสต์มาตลอด จึงมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงอยู่แล้ว เพิ่มสูงขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่างผู้ค้าด้วยกันก็ยิ่งรุนแรงเพราะทุกค่ายต่างต้องการล้างสต็อกออกไปให้เร็วที่สุด กลยุทธ์ทุกรูปแบบต่างถูกงัดมาใช้อย่างเต็มที่ ทั้งตัดราคาและเงินผ่อน

คู่แข่งรายสำคัญ ๆ อย่างซีร็อก ได้เคลื่อนไหวปรับปรุงบริการและเทคโนโลยี อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสาขา หรือการนำระบบคอมพิวเตอร์มาไว้ให้บริการ

"เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยบริการหลังการขายสูงมาก เพราะเป็นสินค้าละเอียดอ่อนต้องซ่อมบำรุงตลอดเวลาไม่เหมือนอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ" ประทิน บูรณบรรพต ประธานกรรมการบริหารของไทยฟูจิซีร็อกส์ ให้ความเห็น

โคนิก้าเอง แม้จะมียอดขายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 4 ในตลาดไม่สามารถแซงหน้าคู่แข่งอีก 3 รายไปได้ ซีร็อกส์ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ตามมาด้วยมิต้าและแคนนอน (ดูส่วนแบ่งประกอบ)

ณรงค์เองรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ดี จึงมีการนำระบบเงินผ่อน และการให้เช่าเครื่อง เพื่อหวังเพิ่มยอดรายได้ แต่การทำตลาดในลักษณะนี้ ต้องใช้ทั้งเงินทุนเป็นจำนวนมาก และเป็นการลงทุนระยะยาว ต้องใช้เวลานานในการรับรู้รายได้

ที่สำคัญการแข่งขันกับผู้ผลิต อย่างซีร็อกส์ แคนนอน หรือ มิต้า ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของเงินทุน และเทคโนโลยีมากกว่า ตัวแทนจำหน่ายมากนักจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่อินเตอร์ฟาร์อีสต์จะขยายตลาดเพิ่มขึ้นได้ง่าย ๆ

ขณะเดียวกันอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานประเภทอื่น ๆ ที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์นำเข้ามาทำตลาด เพื่อหวังจะเพิ่มขอดขายเมื่อหลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะเครื่องแฟ็กซ์หรือ เครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อใหม่ ๆ ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงในเรื่องราคาจนเป็นเหตุให้ณรงค์ต้องตัดสินใจเลิกเป็นตัวแทนขายไปในที่สุด

บริษัทในเครือบางแห่ง ก็ถูกปิดตัวลงในเวลาถัดมา ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์คอมไปน์ ที่จำหน่ายเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ของฮุนได และรีโปรเมติก ที่ทำตลาดเครื่องถ่ายเอกสารซันโย และเร็กซ์โรตารี่ เครื่องแฟกซ์ยี่ห้อนาชัวร์

ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่ไม่ต้องเผชิญกับหน้าคู่แข่งมากนัก เช่น เครื่องฟอกอากาศ อินมาร์เฟล็กซ์ หรือเครื่องพิมพ์สำเนา ริโซ่กราฟ

รวมทั้งบริษัทไอรีส แอนด์ ไอเฟคที่ณรงค์ไปร่วมลงทุนกับกลุ่มธุรกิจคนไทยและสิงคโปร์ เพื่อจำหน่ายและติดตั้งซอฟต์แวร์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม MFG/PRO ที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีอยู่

ณรงค์รู้ดีว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปคงไม่ดีแน่ แม้ว่ารายได้หลักในเวลานี้จะมาจากโคนิก้า แต่ก็เสี่ยงเกินไปที่จะยึดธุรกิจนี้ไว้อย่างเดียวเพราะจะไม่มีวันแข่งขันกันผู้ผลิตทำตลาดเองแน่ และยังไม่รู้ว่าโคนิก้าจะสนใจมาร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ หากวันดีคืนดีโคนิก้ามาบอกยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายของเอฟเอ็มเอ มาแล้ว ก็คงแย่แน่

นอกจากนี้ อินเตอร์ฟาร์อีสท์ ยังเคยได้บทเรียนจากการที่ ริโซ่กราฟ เข้ามาตั้งบริษัทในไทย และทำตลาดเอง ทำให้อินเตอร์ฟาร์อีสท์กลายสภาพเป็น 1 ในดีลเลอร์เท่านั้น

ทางออกที่ณรงค์เลือก คือ การหา "พันธมิตร" เพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาเสริมรายได้ เพราะสิ่งที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์ ขาด คือ ประสบการณ์ ตัวณรงค์ก็เชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องธุรกิจค้าเครื่องใช้สำนักงานเท่านั้น

"ผมไม่อยากเริ่มจากศูนย์ ผมอยากเริ่มจากสิบหรือจากร้อย ดังนั้นสิ่งที่จะไปได้เร็วที่สุด คือ การหาพันธมิตร ผมยอมรับว่าผมไม่มีเวลา" ณรงค์เล่า

ตลอด 2 ปีมานี้ เวลาส่วนใหญ่ของณรงค์ จึงหมดไปกับการแสวงหาพันธมิตรทั้งการหาข้อมูลจากข่าวสาร และการไปติดต่อขอพบกับกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะร่วมมือกันได้

ผลที่เกิดขึ้นคือ อินเตอร์ฟาร์อีสท์มีแผนกอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (ไอที) เกิดขึ้นในบริษัท เพื่อทำธุรกิจวางระบบจัดเก็บเอกสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าอินฟอร์ม่า โดยได้ว่าจ้างทีมงานทั้งหมดของบริษัทยูนิเวอร์แซล อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์อินฟอร์ม่านี้เข้าทำงานในบริษัท

พร้อมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์ ทางด้านโทรคมนาคมมากขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยาอิสึ ระบบเคเบิลรวมสัญญาณ

นอกจากนี้ ณรงค์ยังเข้าไปลงทุนในโครงการผลิตเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงานของ บริษัทยูบี เฮเวิร์ท (ประเทศไทย) และยังได้ลงทุนในบริษัทเอกปกรณ์ ทำธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง

ในปี 2537 ณรงค์ ตัดสินใจไปซื้อหุ้นในบริษัท ซิโนเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการข้อมูลออนไลน์ จากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ ณรงค์ต้องการจะเข้าสู่ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูล (Data Center) รวมทั้งการไปสู่ธุรกิจการผลิต คือการตั้งโรงงานผลิตเครื่องสำรองกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ UTS เพื่อวางตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพราะซิโนเทคมีฐานธุรกิจเหล่านี้ในต่างประเทศอยู่แล้ว

รวมทั้งลงทุนในบริษัทยูไนเต็ด บิสซิเนส เซ็นเตอร์ เพื่อทำธุรกิจให้เช่าสถานประกอบการแก่ลูกค้า และการลงทุนจัดตั้งบริษัทสมาร์ทพรินท์ ทำธุรกิจศูนย์การพิมพ์ ครบวงจร

สังเกตได้ว่า การลงทุนของณรงค์ในครั้งนี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย และมีการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการมากขึ้น เช่น ธุรกิจไอที และการลงทุนร่วมกับซิโนเทค และศูนย์บริการสมาร์ทพรินท์

นอกจากนี้ ณรงค์ยังกระจายความเสี่ยง ด้วยการไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ให้เช่าอุปกรณ์สำนักงาน

ผลลัพธ์ที่เกิดจากการลงทุนครั้งนั้น คือไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่ณรงค์ไม่เคยเชี่ยวชาญมาก่อน ณรงค์ยอมรับว่า ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา อินเตอร์ฟาร์อีสท์ ไม่มีการเติบโตขึ้นเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้

"การลงทุนในครั้งนั้นจึงได้แต่ผลทางอ้อมมากกว่า" ณรงค์ กล่าว

เขาตัดสินใจยกเลิกแผนกอินฟอร์เมชั่น ซึ่งเขาหวังว่าจะเป็นธุรกิจแนวใหม่ลงพร้อมกับทีมงานเดิมของ ยูนิเวอร์แซลอินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ ลาออกไปตั้งบริษัทใหม่

ณรงค์ เล่าถึงสาเหตุการลงทุนในครั้งนั้นว่า เพื่อรองรับกับอนาคต เพราะเขาเชื่อว่า ต่อไปอุปกรณ์สำนักงานจะเชื่อมโยงกัน และระบบจัดเก็บเอกสารจะเป็นทุกอย่างที่จะอยู่ในนั้น

แต่เขาลืมไปว่า การทำธุรกิจไอทีต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยเฉพาะในเรื่องบุคลากร ที่จำเป็นต้องจ้างคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามา ทำให้รายได้ไม่คุ้มกับเงินลงทุนที่ลงไป

พร้อมกันนี้อินเตอร์ฟาร์อีสท์ได้ยกเลิกเป็นตัวแทนขายโทรศัพท์มือถือ ยาอิสึ เพราะการแข่งขันในธุรกิจนี้สูงมาก

ส่วนธุรกิจอื่น ๆ เช่น ซิโนเทคยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และให้เช่าสำนักงาน

แต่จากลองผิดลองถูกในครั้งนั้น แม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่ณรงค์ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีไปกว่า การเดินหน้าหาพันธมิตรต่อไป ซึ่งดีกว่าจะมารอแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า

จากประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้มุมมองของณรงค์ในวันนี้ก็เปลี่ยนไป มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น ณรงค์เล่าว่า สิ่งที่เขาอยากได้จากพันธมิตร คือ มาช่วยเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อรักษาและขยายธุรกิจอุปกรณ์สำนักอันเป็นธุรกิจดั้งเดิมและ ยังเป็นส่วนที่ทำรายได้หลักในเวลาเอาไว้ เพราะจากบทเรียนในอดีต ทำให้เขารู้ว่าหากแข็งแกร่งในด้านนี้เมื่อใด โอกาสที่จะถูกยกเลิกสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายย่อมไม่มี และผู้ผลิตจะเข้ามาหาเอง

เป้าหมายที่สอง คือ การเข้าไปในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีการเติบโตสูง ซึ่งคงหนีไม่พ้นธุรกิจโทรคมนาคม

เธียร ปฏิเวชวงศ์ อดีตมืออาชีพของกลุ่มเลนโซ่ ที่ลาออกมาด้วยความฝันจะเป็นเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมและพลังงานภายใต้ชื่อตะวันกรุ๊ป คือพันธมิตรที่ลงตัวมากที่สุดในสายตาของณรงค์

"ผมยอมรับว่า คุยมากับหลายรายแล้วในวงการไอที แต่บางรายก็ต้องการทำแค่ธุรกิจบางอย่าง หรือ บางรายเขาก็ใหญ่เกินไป ทำให้ขั้นตอนเยอะไม่ลงตัว แต่พอมาเจอคุณเธียร ผมบอกได้เลยว่าเป้าหมายของเราตรงกัน" ณรงค์เล่า

เธียรเคยเป็นมืออาชีพที่เคยทำตลาดวิทยุติดตามตัว "อีซีคอล" จนลือลั่นมาแล้วและยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคมหลายโครงการให้กับกลุ่มเลนโซ่ และเขาก็ให้เลนโซ่ต้องประสบความยากลำบากเพราะขยายธุรกิจแบบอหังการมาแล้ว

ที่สำคัญ เธียรกำลังมุ่งมั่นอยู่กับความฝันในการสร้างอาณาจักรของตัวเองซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการโทรศัพท์มือถือรายที่ 3 โทรศัพท์พื้นฐาน และพลังงาน ซึ่งเขาได้ร่วมกับกลุ่มสยามสตีล กลุ่มเอบีบี เข้าประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอบีบี

ด้วยบุคลิกเช่นนี้ ทำให้ณรงค์เชื่อว่าเธียรจะมาช่วยเติมส่วนที่ขาดให้เต็ม เพราะอินเตอร์ฟาร์อีสท์มีเงินแต่ขาดประสบการณ์และบุคลากร ในขณะที่เธียรมีประสบการณ์และทีมงาน และความทะเยอทะยาน แต่ขาดแหล่งเงินทุน

ข้อตกลงของการร่วมมือระหว่างบริษัททั้งสองในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันเท่านั้น แต่หมายถึงการ "ผนึก" บริษัททั้งสองรวมกัน

ตะวันเทเลคอมได้เข้าไปถือหุ้น ในบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ ด้วยสัดส่วน 24% ของทุนจดทะเบียน ส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มสหกรุ๊ปที่ถือครองอยู่ 51% ลดลงเหลือ 40 กว่า % และหุ้นที่เหลืออีกประมาณ 40% เป็นของนักลงทุนรายเก่าและใหม่

เธียรพร้อมผู้บริหารจากตะวันเทเลคอมอีก 2 คน คือ อนุวัฒน์ หลายกิจรุ่งและศุขโต พุ่มมาลี จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดใหญ่ แทน บุญชัยโชควัฒนา, สมศักดิ์ ธนสารศิลป์ และมงคล ศีธนาบุตร ซึ่งคณะกรรมการเดิมที่ลาออกไป

อินเตอร์ฟาร์อีสต์จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยตัวบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสต์จะกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งกึ่งอินเวสเม้นท์ ที่ประกอบธุรกิจค้าเครื่องใช้สำนักงาน และจะเข้าไปลงทุนในบริษัทลูกที่ทำธุรกิจโทรคมนาคม 2 แห่ง คือตะวันฟาร์อีสท์เทเลคอม และบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์เทเลคอม

บริษัทตะวันฟาร์อีสท์ เทเลคอม หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ตะวันเทเลคอม ที่ยุบมารวมอยู่ในบริษัทแห่งนี้ จะทำธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์มือถือ ตู้โทรศัพท์สาขาอัตโนมัติ รวมทั้งจะเข้าประมูลโทรศัพท์มือถือรายที่ 3 ซึ่งจะมอบหมายให้อนุวัฒน์ หลายกิจรุ่ง อดีตมือการตลาดของซีร็อกส์ และกรรมการผู้จัดการเลนโซ่ เพจจิ้ง ซึ่งสนิทสนมกับเธียรมานานนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

เธียรชี้แจงว่า ในช่วงแรกนี้ ตะวันฟาร์อีสท์เทเลคอม อาจจะเริ่มด้วยเป็นผู้ให้บริการหรือเซอร์วิส โพรไวเดอร์โทรศัพท์มือถือระบบพีซีเอ็น 1800 ให้กับแทคก่อนเพราะได้มีการเจรจากับผู้บริหารของแทคไปแล้ว

ส่วนบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์เทเลคอมเป็นบริษัทลูกอีกแห่งที่ตั้งขึ้นเพื่อเข้าประมูลโครงการโทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมาย ที่จะมีการแบ่งออกเป็น 6 โซนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

อินเตอร์ฟาร์อีสท์ จะเข้าร่วมทุนกับโอปะเรเตอร์จากต่างประเทศอีก 2-3 ราย จะมอบหมายให้ดำริห์ เอมมาโนชญ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ เลนโซ่เทเลคอมมิวนิเคชั่น ซึ่งสนิทสนมกับเธียรมานานนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

ตามข้อตกลงที่ทั้งสองบริษัททำร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้ อินเตอร์ฟาร์อีสท์จะต้องเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทตะวันเอ็นเนอยี่ซึ่งทำธุรกิจพลังงาน เพื่อยุบมาเป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งของอินเตอร์ฟาร์อีสท์

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าธุรกิจของกลุ่มตะวันจะถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้อินเตอร์ฟาร์อีสท์ทั้งหมดก็ตาม แต่ก็เป็นโครงสร้างธุรกิจของอินเตอร์ฟาร์อีสต์ ก็คือ โครงสร้างธุรกิจของตะวันเทเลคอมที่เธียรได้กำหนดเอาไว้ทั้งสิ้น

ไม่เท่านั้นโครงสร้างการบริหารจะถูกปรับใหม่หมด เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจแนวใหม่ เธียรเล่าว่า จะมีการจัดต้องคณะกรรมการบริหาร (EXCUTIVE COMMITTEE) ขึ้น เพื่อรับผิดชอบการบริหารงานทั้งหมดของอินเตอร์ฟาร์อีสท์ และเธียรจะนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารของบอร์ดชุดนี้ และมีณรงค์ ซึ่งยังคงรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ในบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ มาเป็นรองประธานกรรมการบริหาร

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานในลักษณะนี้ เท่ากับว่า เธียร จะเข้ามีบทบาทในการบริหารงานทั้งหมดของบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารของบอร์ดบริหาร ซึ่งแม้ว่าณรงค์จะยังคงร่วมบริหารงานเช่นเดิมก็ตาม แต่โดยตำแหน่งแล้วเธียรมีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าณรงค์ และการดำเนินงานของณรงค์ในธุรกิจโอเอ จะต้องรายงานให้เธียรรับรู้ด้วย ในฐานะประธานบอร์ด

เธียรกล่าวว่า สาเหตุที่เขาต้องไปมีบทบาทในการบริหารงานในลักษณะนี้เพราะบทเรียนในสมัยที่ทำงานกับเลนโซ่ที่ไม่ได้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจตัดสินใจ ทำให้การบริหารงานไม่คล่องตัว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาต้องลาออกจากเลนโซ่

"ผมบอกเขาแต่แรกเลยว่า ผมจะต้องเป็นประธานกรรมการบริหาร ซึ่งตอนที่บอกเขาอื้งไป แต่พออธิบายให้ทางผู้บริหารของสหพัฒนฯ ฟังเขาก็เข้าใจ เพราะสหพัฒน์เองก็รู้ว่าเขาจะต้องปรับอย่างไร" เธียรเล่า

กระนั้นก็ตาม แม้ว่าณรงค์ จะยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องให้มีผู้บริหารใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ซึ่งเปรียบแล้วก็เหมือนกับการมอบ "อาวุธ" ในการต่อกรกับศัตรู ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็ตาม

แต่ณรงค์ ก็ยืนยันถึงตำแหน่งของเธียรในครั้งนี้ว่าเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของ ตะวันฟาร์อีสท์เทเลคอม และกรรมการของบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์เท่านั้น ไม่ได้มีการแต่งตั้งบอร์ดบริหารแต่อย่างใด ซึ่งเขาจึงเสนอให้เธียรเป็นรองประธานกรรมการของบอร์ดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกตำแหน่ง

คำกล่าวเช่นนี้ของณรงค์ ไม่แน่ว่าเขาอาจยังไม่อาจรับข้อเสนอของเธียรก็เป็นได้และไม่แน่ว่าการเจรจาอาจยืดเยื้อออกไปอีก

แต่ที่แน่ ๆ การแสวงหาธุรกิจใหม่ของอินเตอร์ฟาร์อีสท์ในครั้งนี้ หากเปรียบเป็นเงินแล้ว ต้องแลกด้วยราคาค่างวดที่ค่อนข้างสูง เพราะเป็นครั้งแรกที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์ยอมเปิดทางให้มีผู้ถือหุ้น และผู้บริหารกลุ่มใหม่เข้ามานั่งในองค์กร ซึ่งณรงค์ เองยอมรับว่า ต้องใช้เวลาอธิบายให้กับผู้ใหญ่ในสหกรุ๊ป ซึ่งมีบางคนที่เข้าใจ และบางคนที่ยังไม่เข้าใจ

แต่ณรงค์ยังเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์ต้องเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เขาทำในวันนี้ จะคุ้มค่าแน่ กับบุคลากรและประสบการณ์ที่จะได้จากตะวันเทเลคอม ในการจะก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในวันข้างหน้า

"ที่ผ่านมาอินเตอร์ฟาร์อีสท์ ทำได้แค่การขายอุปกรณ์เท่านั้น และในอนาคตนี้เมื่อรัฐเปิดเสรีโทรคมนาคม เราก็พร้อมที่จะเข้าไปได้ทันที และคุณเธียรเขาก็มีความพร้อมในเรื่องประสบการณ์ และเราก็มีความพร้อมในเรื่องของเงินทุน การร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการลงตัวที่สุด" ณรงค์กล่าว

แน่นอนว่า นับจากอินเตอร์ฟาร์อีสท์ จะต้องเป็นบริษัทที่ต้องถูกจับตามอง ในฐานะของบริษัทในเครือของสหพัฒนฯ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งในฐานะของบริษัทผู้ค้าอุปกรณ์สำนักงานคิดจะพลิกผันธุรกิจ

หากสำเร็จ ไม่เพียงแต่อินเตอร์ฟาร์อีสท์ จะหนีวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นมาในบริษัทเท่านั้น แต่กลายเป็นบริษัทหัวหอกของสหกรุ๊ปที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมได้เจตนารมณ์ แต่หากพลาด ณรงค์อาจต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการหา "พันธมิตร" ใหม่อีกครั้งก็เป็นได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us