ซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่เชียงใหม่หนนี้เป็นสนามของความขัดแย้งระหว่าง 2
หน่วยงานที่มีบทบาทและอำนาจควบคุมกีฬาของไทยอีกเช่นเคย
ฝ่ายแรกการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหาผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ
(MAJOR OFFICIAL SPONSOR) ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือหาสปอนเซอร์นั่นเอง
โดยมติ ครม. ได้ตั้งคณะกรรมการธุรกิจและสิทธิประโยชน์ขึ้นมาดูแลโดยมีสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการแล้วคือ
คาร์ลสเบอร์ก บริวเอรี่ (ประเทศไทย) ซึ่งจ่ายเงินสนับสนุนการแข่งขันมากที่สุด
59.99 ล้านบาท, โคนิก้า 35 ล้านบาท, ซิว-เนชั่นแนลจำกัดและ เอ. พี. เนชั่นแนล
จำกัด 30 ล้านบาท, แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส 28 ล้านบาท, ไมโล 27 ล้านบาท,
โคคาโคล่า, ธนาคารกรุงไทย, พานาโซนิค, FBT, นิคอน, ไทย. เจเพรส, สบู่โปรเท็กซ์,
ROCHE, OCEANCLASS, การปิโตรเลียม, การบินไทย, โซโก้, สยามกลการ, เคเอฟซี,
มิคาซ่า, มาราธอน, และโรงแรมเวสติน ทั้งหมด 22 ราย
ซีเกมส์ครั้งที่ 18 นี้คณะกรรมการธุรกิจและสิทธิประโยชน์ตั้งเป้ารายได้จากสปอนเซอร์ไว้เป็นเงินสดกว่า
400 ล้านบาทและเป็นสิ่งของอีกกว่า 400 ล้านบาทเช่นกัน ซึ่งสามารถทำได้ทะลุเป้า
400 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ยังไม่นับรายได้จากการออกสลากการแข่งขันอีกประมาณ
150 บาท จากเดิมเมื่อครั้งที่ 13 ปี 2528 ที่หาสปอนเซอร์ได้เพียง 20 ล้านเท่านั้น
อีกฝ่ายหนึ่งคือคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย (โอซีที) ด้วยความหวังดีหรืออย่างไรไม่ทราบได้ตั้งคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ของตัวเองขึ้นมาบ้าง
ในโครงการ "เจ้าซีเกมส์" โดยมีเป้าหมายจัดหารายได้ 12 ล้านบาท
เพื่อมาเป็นเงินสนับสนุนการเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาไทย ซึ่ง 12 ล้านนี้ก็ต้องหาสปอนเซอร์เช่นกัน
โดยที่โอซีทีติดต่อได้แล้วก็มีเช่น เบียร์คาร์ลสเบอร์ก, เชลล์, โอสถสภา(เต็กเฮงหยู),
สหพัฒนพิบูล, นมตรามะลิ, โกดัก, ไฟวสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้, พานาโซนิค, โอวันตินและปูนซีเมนต์ทีพีไอ
ทั้งนี้ไม่มีข่าวยืนยันว่าแต่ละเจ้าจะเป็นสปอนเซอร์ให้จริงหรือเปล่าหรือเป็นแล้วจะนานแค่ไหน
มีเพียงโกดัก และโอวัลตินเท่านั้นที่ออกมายืนยันจนเป็นข่าวฟ้องร้องกัน
เมื่อตรวจดูรายชื่อสปอนเซอร์ทั้งสองค่ายจะเห็นว่ามีซ้ำกันด้วยแต่ก็ยังไม่ยืนยันกันว่าจะเป็นสปอนเซอร์
บางค่ายยืนยันมาบ้างแต่ยังไม่มีปัญหาถกเถียงกันมากเท่ากรณีของ ไมโล จากบริษัทเนสท์เล่
โปรดักส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และโอวัลตินของบริษัทวานเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ที่ต่างคนต่างขึ้นป้ายคัตเอ้าท์ติด ๆ เลยในพื้นที่เชียงใหม่
กรณีนี้โอซีที อ้างตัวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คำว่า "ซีเกมส์" กับคณะกรรมการผู้จัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่
18 และชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการธุรกิจและสิทธิประโยชน์อย่างแน่นอน
เพราะมีการกำหนดขอบเขตและสิทธิจากการเป็นสปอนเซอร์ไว้อย่างแน่ชัด
ทั้งนี้ในส่วนการโฆษณาของโอวัลติน ใช้คำว่า "เครื่องดื่มเพื่อบำรุงนักกีฬาในซีเกมส์ไทยอย่างเป็นทางการ"
ผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย ในส่วนของโกดักส์นั้นก็มีคำว่า "โกดัก"
ผู้สนับสนุนนักกีฬาซีเกมส์ไทยอย่างเป็นทางการ" เช่นกัน
จนกระทั่งกรกฎาคม 2538 คณะกรรมการธุรกิจและสิทธิประโยชน์ที่มี ดร. ณัฐ
หอกข้างแคร่ของบ้านอัมพวันดูแล ก็ได้ทำการฟ้องร้องเอกชนทุกรายที่ไม่ได้ลงนามในสัญญาในการเป็นสปอนเซอร์หลักในกีฬาซีเกมส์ต่อศาล
อาทิโฆษณาของโกดัก/โอวัลตินให้เลิกใช้โลโกเกี่ยวกับซีเกมส์ แต่ทั้งโกดักและโอวัลตินไม่สนใจ
โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาไว้กับโอทีซีอย่างถูกต้องแล้ว โดยโกดักให้โอซีทีปีละ
2.5 ล้านบาท 4 ปี ซึ่งทั้งคู่พร้อมสู้กันถึงศาล
ร้อนอาสน์ถึง เสธ. ทวี ต้องออกมาตอกกลับบ้างโดยทำเรื่องถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนชื่อตราซีเกมส์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่คณะกรรมการธุรกิจและสิทธิประโยชน์ขอไว้กับกระทรวงพาณิชย์
โดยอ้างว่าคณะกรรมการนี้ไม่มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนชื่อตราซีเกมส์และไม่มีหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์
ผู้มีอำนาจตรงนี้คือ โอซีที โดยอ้างอำนาจหน้าที่ตามกฎบัตรโอลิมปิก
7 ก.ค. นายบดี จุณณานนท์ ผอ. สำนักงบประมาณ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการได้ทำจดหมายคัดค้านคำขอเพิกถอนไปยังกระทรวงพาณิชย์
โดยยืนยันว่าคณะกรรมการธุรกิจและสิทธิประโยชน์เป็นผู้มีสิทธิ์ดำเนินการเพราะคณะกรรมการนี้ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี
ให้เป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐบาลไทยนั่นหมายถึงว่าคณะกรรมการนี้มีสิทธิ์ใช้ชื่อตราซีเกมส์นี้ได้
เรื่องจึงได้เงียบไปทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ ดร. ณัฐ อินทรปาณ รองผู้ว่าการ กกท. และหนึ่งในกรรมการโอลิมปิกสากล
กล่าวถึงเรื่องโอวัลตินกับไมโลที่เขาเข้าไปเป็นหอกข้างแคร่ของฝ่ายโอซีเอว่า
"ผมทำเพื่อชาตินะครับ กกท. เป็นองค์กรของรัฐ ขณะที่ผมเจรจากับไมโลที่เขาจะให้
28 ล้าน โอลิมปิกกลับคิดไปทำกับโอวัลติน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นผมบอกว่าอย่าเซ็นสัญญา
ผมบอกในฐานะรองประธานคณะกรรมการธุรกิจและสิทธิประโยชน์นะครับ แต่สุดท้ายเขาก็ไปเซ็นสัญญากัน
ใครทำเพื่อชาติ ใครเป็นคณะ กก. จัดการแข่งขัน รัฐบาลใช่ไหม"
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะกล่าวเช่นไรไป จนวันนี้ก็ยังไม่มีคำยืนยันที่ชัดเจนถึงแนวทางการคลี่คลายปัญหาเหล่านี้เลยว่าจะออกมาในรูปแบบใด
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ความเป็นอมตะนิรันดร์กาลของคู่กัดระหว่าง
กกท. และโอซีที อยากคงจะดำรงอยู่ไปอีกนานเชื่อได้เลย