แบงก์กสิกรฯเดินหน้ารุกธุรกิจเอสเอ็มอีเต็มสูบ เปิดโครงการ K SME Care ดูแลเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน-ครบวงจร พร้อมจัดตั้งกองทุนรวมเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจเอ็มเอสอีเพื่อเป็นอีกทางเลือกของแหล่งเงินทุน ตั้งเป้าปีหน้าปล่อยกู้เพิ่มอีก 20% หรือคิดเป็น 50,000 ล้าน จากยอดสินเชื่อปัจจุบัน 256,000 ล้าน และขยายมาเก็ตแชร์เป็น 30%ในปี 51 จากปีนี้ที่อยู่ในระดับ 21%
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2550 ธนาคารกสิกรไทยจะยังให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการร่วมลงทุน ซึ่งจะให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทยถือหุ้น 100% เพื่อบริหารกองทุน K SME Venture Capital Fund ที่มีนโยบายเข้าไปร่วมถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกองทุนดังกล่าวจะถือหุ้นในธุรกิจเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 5 ปี สำหรับเงินลงทุนขั้นต้นของกองทุนอยู่ที่ 200 ล้านบาท ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะเป็นแหล่งเงินทุนนอกเหนือจากสินเชื่อของธนาคาร และเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งถือเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการเพื่อขยายธุรกิจในระยะยาว
"ธุรกิจเอสเอ็มอีมีเป็นธุรกิจที่ยังมีความต้องการด้านเงินทุน แต่เอสเอ็มอีบางแห่งก็ไม่สามารถพึ่งพิงแหล่งเงินทุนในด้านของสินเชื่อจากธนาคารเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุน ซึ่งหากมีเงินเงินทุนในรูปแบบของผู้ถือหุ้นจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง"รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นตามนโยบายของธนาคารที่ได้จัดตั้งโครงการ K SME Care ที่เป็นความตั้งใจที่จะใช้ทรัพยากรของธนาคารกลับเข้าไปพัฒนาธุรกิจ SMEs ของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งกองทุนที่เข้าไปร่วมทุนกับลูกค้าเอสเอ็มอีจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนของธนาคารน่าจะอยู่ในระดับที่เหมือนกับการลงทุนในหุ้น
นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2550 ธนาคารกสิกรไทยและพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้ตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consulting) แก่เอสเอ็มอีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยจะมีการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง โครงการต่างๆ จะครอบคลุมด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการธุรกิจ การจัดการกระบวนการ การบริหารทรัพยากรบุคคล โดยเบื้องต้นได้ร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ที่มีโครงการระบบวินิจฉัยธุรกิจ (Business Competitiveness Diagnosis) เพื่อช่วยผู้ประกอบการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของธุรกิจ เพื่อให้ทราบถึงจุดแข็ง และจุดอ่อนของธุรกิจ เพื่อใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
รวมถึง การให้ข้อมูล ความรู้ ตลอดจนข่าวสารใหม่ๆ แก่ลูกค้าผู้ประกอบการของธนาคาร เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจ รวมทั้งเพื่อเพิ่มความรอบรู้ และสามารถพัฒนาธุรกิจให้สำเร็จได้ โดยลูกค้าของธนาคารจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านธุรกิจ และเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมรอบด้าน
ทั้งนี้ ภายใต้โครงการ K SME Care นี้ ธนาคารจะมีโปรแกรมออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยโปรแกรมแรกๆ ที่จะออกมาในไตรมาสแรก คือ K SME Venture Capital Fund ซึ่งธนาคารมีความมั่นใจว่าโครงการ K SME Care จะทำให้ SMEs มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี คาดว่าปี 2550 ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีประมาณ 50,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากที่ผ่านมาธนาคารมีลูกค้าเอสเอ็มอีแล้ว 120,000 ราย วงเงินกู้ทั้งหมด 256,000 ล้านบาท ขณะที่ตั้งเป้าจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นประมาณ 40% หรือคิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่มีการเติบโตประมาณ 20% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2,800 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารจะมีการให้บริการทางการเงินที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า เชื่อว่าจะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารจากกลุ่มเอสเอ็มอีเติบโตได้ ส่วนในปีนี้สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% จากรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด และในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 22% ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดจากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 21% ซึ่งเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในอุตสาหกรรมรวม โดยมีเป้าหมายที่จะให้ปี 2551 ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 30%
"เป้าหมายมาเก็ตแชร์ที่ตั้งไว้ระดับ 30% ในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น เป็นต้วเลขที่มีความเป็นไปได้ เพราะธนาคารได้ให้บริการที่มีคุณภาพกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีผลทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคารเพิ่มขึ้นด้วย"นายบุญทักษ์กล่าว
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีหน้านั้น รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า แนวโน้มน่าจะปรับลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะปรับลดลงรวมประมาณ 1% ซึ่งดอกเบี้ยที่ปรับลดลงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจทุกประเภทรวมถึงเอสเอ็มอี
"แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญของธุรกิจเอสเอ็มอีเท่ากับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการขยายธุรกิจ สำหรับหนี้เอ็นพีแอล จากกลุ่มเอสเอ็มอี ปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ถึง 2% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่ธนาคารมีอยู่ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท"นายบุญทักษ์กล่าว
|