ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า "ปัญญา ควรตระกูล" จะตัดสินใจขายทิ้งสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ท
และปัญญาฮิลล์ที่เขารักมากที่สุด แต่การตัดสินใจครั้งนี้ก็นำไปสู่การเป็นพันธมิตรกับ
"ทวีพงศ์ จารุทวี" แห่งแนเชอรัลพาร์ค ผู้เทกโอเวอร์ทั้งสองสนามอย่างแนบแน่น
ทำไมปัญญาจึงตัดสินใจเช่นนั้น? นั่นเท่ากับว่าปัญญาได้ลบภาพการเป็น "เจ้าพ่อสนามกอล์ฟ"
ไปโดยสิ้นเชิงกระนั้นหรือ? ปัญญาจะกลับมาสู่ธุรกิจบ้านจัดสรรอีกครั้งท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดได้หรือไม่?
งานนี้ปัญญากับทวีพงศ์ ใครจะเหนื่อยกว่ากัน ?
ครั้งหนึ่ง "ปัญญา ควรตระกูล" ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทปัญญากรุ๊ป
ได้กล่าวถึงการทำธุรกิจสนามกอล์ฟว่าไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเงินให้มากมายนักแถมยังต้องเหนื่อยกับการให้บริการ
ถูกด่า ถูกต่อว่าทุกวัน แต่เขาทำด้วยใจรักเนื่องจากได้เล่นเองเมื่อมีคนชมก็ชื่นใจว่าได้ทำให้เขาสนุก
มันเป็นความสุขในบั้นปลายชีวิตกับสิ่งเหล่านี้ที่ได้รับ
แต่ทุกวันนี้ธุรกิจที่เปรียบเสมือนลมหายใจเข้าออกของเขามาตลอดชีวิตกำลังอาจมีปัญหา
การขายโครงการสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทสนามกอล์ฟแห่งแรก ที่เขารักและทุ่มเทอย่างมากให้กับ
"ทศพงศ์ จารุทวี" แห่งบริษัทเนเชอรัล พาร์ค จำกัด(มหาชน) และการประกาศหยุดทำธุรกิจสนามกอล์ฟหันกลับมาทำโครงการบ้านจัดสรรขายอีกครั้งหนึ่ง
รวมทั้งการชะลอตัวในการเข้าตลาดหลักทรัพย์นับเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ภาพของเขาชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่งเหมือนกัน
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ปัญญาจะขายสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทแต่ไม่มีการยืนยัน
และข่าวก็เงียบหายไป เพราะหลายคนเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้
วันที่ 13 กันยายน 2538 มีดีลธุรกิจที่น่าสนใจ 3 ดีล ซึ่งบริษัทแนเชอรัลพาร์ค
จำกัด(มหาชน) เป็นผู้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กรณีแรกคือ การร่วมลงทุนในบริษัทปัญญาโฮล ดิ้ง จำกัดกับปัญญา ควรตระกูล
ฝ่ายละ 50% เพื่อร่วมกันทำธุรกิจอสังหริมทรัพย์
กรณีที่สองคือ บริษัทแนเชอรัลพาร์คเข้าซื้อหุ้นในบริษัทเอ็มแอนด์ซี พร็อพเพอร์ตี้
เซอร์วิส จำกัดในสัดส่วน 99.94% ในมูลค่าเพียง 99,940 บาท
กรณีที่สามคือ บริษัทแนเชอรัลพาร์คขายหุ้น 50%ในบริษัทสันติสิน ให้กับปัญญา
ควรตระกูล
ทั้งสามดีลมีความหมายและเชื่อมต่อกันอย่างลึกซึ้งและนี่คือจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของปัญญา
ควรตระกูล
ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระหว่างแนเชอรัลพาร์คกับปัญญา
แต่ที่น่าสนใจจริง ๆ อยู่ที่การเทกโอเวอร์บริษัทเอ็มแอนด์ซีของแนเชอรัลพาร์คในมูลค่าไม่ถึง
1 แสนบาท
ทศพงศ์ จารุทวี กรรมการผู้จัดการบริษัทแนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) ผู้ซึ่งเคยเข้าไปซื้อสนามกอล์ฟวินสัน
จากอุกฤษ มงคลนาวิน และสันติ ภิรมย์ภักดี เมื่อต้นปี 2538 ที่ผ่านมา คือผู้ที่เข้าไปซื้อบริษัท
เอ็มแอนด์ซี พร็อพเพอตี้ เซอร์วิส บริษัทนี้เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
แต่มีทรัพย์สินกว่า 5,000 ล้านบาท !
ทรัพย์สินของบริษัทเอ็มแอนด์ซีก็คือ สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ท สนามกอล์ฟปัญญาฮิลล์
คลับเฮ้าส์ คอนโดมิเนียมจำนวน 81 ยูนิต บ้านพักรับรอง 5หลัง และที่ดินรอบ
ๆ สนามกอล์ฟ และที่ดินในส่วนที่เป็นสาธารณูปโภครวมทั้งหมดประมาณ 2,500 ไร่
รวมทั้งที่ดินอีกประมาณ 421 ไร่ ที่ตั้งอยู่ในตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี
รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดเป็นเงิน 5,279,194,675 บาท
นั่นก็คือ การซื้อบริษัทเอ็มแอนด์ซีเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งในเชิงภาษีในการเทกโอเวอร์สนามกอลฟปัญญารีสอร์ท
และปัญญาฮิลล์เต็ม 100%
"ผมถือหุ้นทั้งหมดในโครงการสนามกอล์ฟทั้งสองแห่ง" ทศพงศ์ยืนยันกับ
"ผู้จัดการ"
เมื่อถามใครต่อใครในวงการธุรกิจกอล์ฟ แทบไม่มีใครเชื่อว่า ปัญญา ขายสนามกอล์ฟทั้งสองแห่งนี้ไปแล้ว
แม้แต่พนักงานของปัญญากอล์ฟเองก็ยังไม่ทราบว่า เจ้าของสนามเปลี่ยนไปแล้ว
ทศพงศ์เทกโอเวอร์โครงการสนามกอล์ฟสองแห่งในมูลค่า 4,974 ล้านบาท โดยให้บริษัทเอ็มแอนด์ซีเข้าไปซื้อก่อน
แล้วแนเชอรัลพาร์คซื้อเอ็มแอนด์ซีทีหลัง
แต่การเจรจาซื้อขายระหว่างทศพงศ์กับปัญญาไม่ได้จบลงเพียงแค่สนามกอล์ฟ 2
แห่งและที่ดินที่มีนบุรี เพราะมีดีลที่เกี่ยวเนื่องต่อมาอีก 2 ดีล ซึ่งนำไปสู่การเป็นพันธมิตรระหว่าง
2 ฝ่ายที่ใคร ๆ ต่อใครให้ความสนใจ
แต่คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับปัญญากรุ๊ป ?
ทำไมปัญญา ควรตระกูลจึงตัดสินใจขายธุรกิจที่เขารักมาก และเป็นสนามกอล์ฟที่เป็นจุดที่สร้างชื่อเสียงให้กับ
"ปัญญากรุ๊ป" มากที่สุด อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการพยายามแผ่อาณาจักรสนามกอล์ฟจนใครต่อใครเชื่อว่าปัญญาคือผู้ครอบครองสนามกอล์ฟมากที่สุดในประเทศไทย
ทศพงศ์ไม่ยอมอธิบายถึงสาเหตุการขายสนามกอล์ฟของปัญญา เขาเพียงแต่เล่าว่าเป็น
"การตกลงร่วมกันระหว่างสองฝ่าย"
"ถ้าคุณปัญญาขายสนามกอล์ฟให้ผม ผมก็จะขายหุ้นในบริษัทสันติสินให้ท่าน
3,500,000 หุ้น หรือ 50% เป็นเงิน 350 ล้านบาท นี่คือข้อตกลงระหว่างเรา"
บริษัทสันติสินเป็นเจ้าของที่ดินประมาณพันไร่บนถนนรามอินทรา ซึ่งที่ดินติดกับโครงการปัญญารามอินทรา
ที่ปัญญาพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟและที่ดินรอบสนามกอล์ฟไว้ขาย
ปัญญาต้องการที่ดินของบริษัทสันติสินนี้มาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยควบกับโครงการปัญญารามอินทราอย่างมาก
ส่วนอนาคตสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทกับปัญญาฮิลล์ ทศพงศ์มีแผนการณ์อยู่แล้ว
บริษัทแนเชอรัลพาร์คแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าแนเชอรัลพาร์คจะเพิ่มทุนอีกประมาณ
2,500 ล้านบาทจากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 1,360 ล้านบาท
เงินเพิ่มทุนจำนวน 1,000 ล้านใช้เป็นเงินทุนหมุนในโครงการอื่น และอีก 1,500
ล้านเพื่อใช้ในการลงทุนในบริษัท เอ็ม แอนดีซีพร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งโครงการหลักคือการสร้าง
มหาวิทยาลัยนานาชาติ
ส่วนแผนการทำเงินที่ทศพงศ์กำหนดไว้ก็คือระยะแรกจะเอาที่ดินส่วนหนึ่งที่ติดสนามกอล์ฟมาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติที่มีมูลค่าประมาณ
2,500 ล้านบาท ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 8 ปี
เมื่อถึงเวลานั้นผลพวงที่เขาได้รับโดยตรงก็คือเมื่อมหาวิทยาลัยสร้างเสร็จที่ดินส่วนที่เหลือจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
ในเมื่อเป็นที่ดินที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมสนามกอล์ฟครบครัน
แน่นอนทศพงศ์ได้ดีดลูกคิดคำนวณไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่กว่าจะถึงเวลานั้น
เขาก็ได้เตรียมแผนระยะสั้นไว้เช่นกัน คือการทำบ้านพร้อมที่ดินรอบ ๆ สนามกอล์ฟ
และทำโครงการบ้านจัดสรร ในที่ดินซึ่งได้มาไปก่อน
จากการซื้อทรัพย์สินของปัญญา ครั้งนี้ ทำให้สินทรัพย์รวมของแนเชอรัล พาร์คก้าวกระโดดขึ้นเป็นทุน
20,000 ล้านบาท
"ถ้าไม่ใช่คุณอนันต์ อนันตกูล หรือผม และโครงการมหาวิทยาลัยนานาชาติ
คุณปัญญาคงไม่ขาย แต่นี่ท่านก็เชื่อมั่นว่าผมมีความตั้งใจจริงคงไม่ทำให้โครงการที่ท่านรักเสียหายแน่"
อนันต์ อนันตกูลคือเพื่อนคนหนึ่งของปัญญาและเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับถือของทศพงศ์
ว่ากันว่าไอเดียเรื่องมหาวิทยาลัยนานาชาติที่สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทก็เกิดขึ้นเพราะเขา
ดังนั้นวันนี้สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ท ประธานกรรมการบริหารของบริษัทจึงได้เปลี่ยนจากปัญญาเป็นอนันต์ไปเรียบร้อยแล้ว
โดยที่ปัญญาเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น
สำหรับตัวปัญญานั้น เขามองว่าตัวของมหาวิทยาลัยจะเป็นตัวที่คอยเสริมสนามกอล์ฟตัวนี้ได้อย่างดีในระยะยาว
ในขณะเดียวกันปัญญาก็ไม่อยากที่จะทำกิจการมหาวิทยาลัยเอง
การมอบหมายให้แนเชอรัลพาร์ค ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าจึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมระหว่าง
2 ฝ่าย
เป็นประเด็นหนึ่งที่อธิบายถึงสาเหตุการขายสนามกอล์ฟของปัญญาในมุมมองของทศพงศ์
จารุทวี
แต่สำหรับตัวปัญญาเอง ยังมีแง่มุมอื่นๆ ให้ขบคิด หลายฝ่ายยืนยันว่า สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทและปัญญาฮิลล์ไม่มีปัญหาการเงิน
ตัวปัญญาเองทำกำไรจากสนามกอล์ฟสองแห่งนี้มานานแล้ว
หรืออาจจะเป็นเพราะปัญญาไม่ต้องการที่จะเหนื่อยกับการบริหารสนามกอล์ฟใหญ่
ๆ อย่างนั้นในขณะที่สนามกอล์ฟตัวอื่น ๆ ก็มี ที่สำคัญในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้การมีเงินกองสำรองไว้เป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่า
ปัญญากำลังกลับมาสู่กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาโครงการบ้านอย่างเต็มตัวกระนั้นหรือ
หรือไม่การตีกอล์ฟในกรุงเทพฯ น่าจะสบายกว่าต้องนั่งรถติดไปชลบุรี ?
ในธุรกิจสนามกอล์ฟที่ฟูเฟื่องมาตลอดช่วงเวลาหนึ่งนั้น ได้พัดพาปัญญาออกไปห่างจุดเริ่มต้นเสียแล้ว
การขายสนามกอล์ฟและกลับเข้าสู่สนามของการแข่งขันที่อยู่อาศัยครั้งใหม่คราวนี้มันช้าเกิดไปหรือไม่
และจะสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับปัญญาแค่ไหนนั้นยังไม่มีใครตอบได้
ปัญญาเริ่มทำธุรกิจซื้อขายที่ดินมาตั้งแต่วัยหนุ่มและก้าวสู่โครงการบ้านจัดสรรเป็นโครงการแรกเมื่อประมาณปี
2517 คือโครงการปัญญาพัฒนาการ หมู่บ้านจัดสรรที่คนวัยอายุ 30 ปีขึ้นไปรู้จักกันดี
และยอมรับกันว่าเป็นหมู่บ้านเศรษฐีที่มีจุดเด่นในเรื่องการรักษาความปลอดภัย
ที่เจ้าของได้แนวความคิดมาจากโครงการหมู่บ้านจัดสรรโครงการหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์
เมื่อประสบความสำเร็จในโครงการหมู่บ้านแรกปัญญาก็ได้ขยายกิจการมาตั้งบริษัทบริพัชรที่ดินด้วยทุนจดทะเบียน
30 ล้านบาทเพื่อทำธุรกิจขายและให้เช่าอาคารชุดคือโครงการราชเทวีทาวเวอร์และห้างสรรพสินค้าไทยไดมารูพระโขนง
หลังจากนั้นปัญญาก็ลงมาคลุกคลีในธุรกิจสนามกอล์ฟ และการขายที่ดินรอบ ๆ สนามกอล์ฟมาโดยตลอดนับตั้งแต่ประมาณปี
2529 เป็นต้นมา
ด้วยความที่เป็นคนที่รักกีฬากอล์ฟมาก เวลาว่างส่วนใหญ่ของเขาจะอยู่ที่สนามกอล์ฟ
สนามที่เล่นกันส่วนใหญ่ในช่วงนั้นคือสนามหัวหมาก สนามกอล์ฟกองทัพบก และสนามกอล์ฟที่หัวหิน
ปัญญาเองเคยพูดกับผู้ใกล้ชิดว่าเขาไม่เพียงแต่หลงรักกีฬาประเภทนี้อย่างเดียว
แต่บ้ามันเลยเชียวล่ะ ดังนั้นความผันในชีวิตของเขาก็คือต้องได้เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟ
และโครงการแรกของเขาคือปัญญารีสอร์ท ในอำเภอบางพระ จังหวัดชลบุรี จึงได้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี
2530
สนามกอล์ฟแห่งแรกของปัญญาเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของประเทศไทยด้วยที่มีขนาดใหญ่ถึง
27 หลุมในเนื้อที่ 2,150 ไร่ และประกอบไปด้วยโครงการจัดสรรที่ดิน อาคารชุด
และคันทรีคลับสมบูรณ์แบบ
ว่ากันว่าปัญญารักสนามกอล์ฟแห่งนี้มาก ช่วงหนึ่งของชีวิตเขาจะคลุกคลีอยู่ในสนามกอล์ฟตัวนี้แทบทุกวันตลอดเวลา
ในขณะที่ในจังหวัดชลบุรีครั้งนั้นมีสนามกอล์ฟ 2 แห่งเท่านั้นคือสนามภูตาหลวง
และสนามกอล์ฟบางพระ ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟปิด โครงการใหม่ของปัญญาจึงเป็นที่นิยมกันอย่างมากของนักเล่นกอล์ฟเรียกว่าถ้าจะให้ทันสมัยก็ต้องไปออกรอบกันที่นั่น
ราคาสมาชิกในช่วงแรก ๆ สูงถึง 600,000-700,000 บาท
จากสาเหตุดังกล่าวเมื่อช่วงสนามกอล์ฟบูมเมื่อประมาณปี 2532 มีโครงการสนามกอล์ฟเกิดใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน
โครงการที่สร้างเสร็จแล้วล่าสุดอย่างสนามกอล์ฟปัญญาจึงกอบโกยเม็ดเงินไปแล้วเป็นจำนวนมาก
และรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ไปได้
และที่สำคัญมันได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ปัญญากล้าตัดสินใจเปิดโครงการใหม่
ๆ อย่างต่อเนื่องเมื่อปี 2532 จึงได้จัดตั้งบริษัทปัญญากอล์ฟเงินทุนจดทะเบียน
500 ล้านบาทเพื่อสร้างโครงการสนามกอล์ฟปัญญารามอินทรา ซึ่งเป็นสนามใหญ่ขนาด
27 หลุมบนถนนรามอินทรากิโลเมตรที่ 9 ใกล้ ๆ สวนสัตว์เปิดซาฟารีเวิลด์ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันสนามกอล์ฟแห่งที่
3 และแห่งที่ 4 คือปัญญาฮิลล์และสนามกอล์ฟปัญญาปาร์ค ก็ถูกพัฒนาขึ้นพร้อม
ๆ กัน
ปัญญาฮิลล์ เป็นสนามขนาด 18 หลุม เนื้อที่ 490 ไร่ ตั้งอยู่ด้านหลังโครงการปัญญารีสอร์ทส่วนสนามกอล์ฟปัญญาปาร์คมีขนาด
27 หลุม เนื้อที่ 1,700 ไร่ ย่านสุวินทวงศ์ เปิดบริการเมื่อปลายปี 2536 ที่ผ่านมา
สนามกอล์ฟ 2 โครงการหลัง ปัญญาเริ่มทำเมื่อตลาดสนามกอล์ฟบูมเต็มที่ มีโครงการใหม่
ๆ สร้างเสร็จเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยความมั่นใจจากความสำเร็จของโครงการสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ททำให้เขาไม่หวั่นเกรงต่อภาวะการแข่งขันของตลาดที่กำลังเกิดขึ้น
เขามั่นใจถึงขนาดที่ว่าได้หว่านเม็ดเงินเป็นจำนวนมากกว้านซื้อที่ดินในพัทยา
และจังหวัดระยอง อีกหลายพันไร่เพื่อเตรียมไว้บุกตะลุยทำโครงการสนามกอล์ฟต่อไป
4 โครงการสนามกอล์ฟจำนวน 99 หลุมที่เขาสร้างอย่างต่อเนื่องนั้น ได้สร้างภาพให้เขาเป็น
"เจ้าพ่อสนามกอล์ฟ" เฉกเช่นเดียวกับ ถาวร ตรีศิริพิศาล ที่ได้รับสมญาว่าเป็นเจ้าพ่อคอนโดมิเนียมตากอากาศ
ในยุคที่คอนโดชายทะเลกำลังบูม
ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้นปัญญามั่นใจในตลาดสนามกอล์ฟ และภาวะเศรษฐกิจอย่างมากจนกล้าประกาศว่า
เพียงระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้เขาต้องได้เป็นเจ้าของโครงการสนามกอล์ฟถึง
9 แห่งด้วยกันให้ได้
แล้วความฝันของปัญญาก็สะดุดลงเขาเลื่อนเปิดตัวโครงการสนามกอล์ฟใหม่ ๆ ที่ตั้งใจออกไปตั้งแต่ปี
2539 ที่ผ่านมาในขณะที่สถานการณ์ทางด้านตลาดสนามกอล์ฟก็กำลังทรุดหนักจนถึงปัจจุบัน
ย้อนหลังไปดูเหตุการณ์ในปี 2535 การเล่นกอล์ฟได้กลายเป็นลัทธิเอาอย่างที่นักธุรกิจรุ่นใหม่บ้าคลั่ง
จากความคิดที่ว่าสนามกอล์ฟเป็นที่ชุมนุมของบรรดานักการเงิน นายธนาคาร และเจ้าของโครงการ
การพูดคุยธุรกิจอาจจะจบได้ในเกม สนามฝึกซ้อมกอล์ฟจึงเกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมืองพร้อม
ๆ กับสนามใหม่ที่สร้างเสร็จเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากบริษัทศูนย์ซื้อขายสมาชิกกอล์ฟได้ระบุไว้ว่าในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้นจากที่เคยมีสนามเอกชนเพียง
30 สนามจะเพิ่มขึ้นอีก 70 กว่าสนาม พร้อม ๆ กับตัวเลขของนักเล่นกอล์ฟก็เพิ่มขึ้นและประเมินกันว่าหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นเมื่อไหร่
โอกาสของนักกอล์ฟต่างชาติที่เข้ามาจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
แต่ภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อสนามกอล์ฟสร้างเสร็จตั้งแต่ปี
2536 ถึงทุกวันนี้ภาวะเศรษฐกิจบ้านเราก็ยังซบเซาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การแข่งขันกันขายเมมเบอร์สนามกอล์ฟก็เลยเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
การลดแลกแจกแถมต่าง ๆ ในการซื้อเมมเบอร์เกิดขึ้นกับทุกสนามอย่างทั่วถึงทั้งราคาเมมเบอร์สนามกอล์ฟเริ่มลดต่ำลง
บนถนนบางนา-ตราด ก่อนถึงสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ททุกวันนี้มีสนามกอล์ฟใหม่ประมาณ
12 สนาม หลายสนามได้ดึงนักออกแบบสนามระดับแนวหน้าของโลกมาเป็นจุดขาย การออกแบบสนามที่ท้าทาย
สวยงาม และมีการบริหารที่ดี ก่อให้เกิดผลกระทบกับสนามยอดนิยมรายเก่าเช่นโครงการปัญญารีสอร์ทอย่างหนีไม่พ้น
จากราคาค่าเมมเบอร์เมื่อแรกเปิดโครงการประมาณ 500,000-600,000 บาทเสนอขายกันเพียงประมาณ
300,000 บาทในปี 2535 และล่าสุดข้อมูลจากบริษัทบางกอกกอล์ฟเมื่อวันที่ 8
พฤศจิกายน พบว่าเสนอขายกันเพียง 200,000 บาท ในขณะที่ราคาเสนอซื้อเพียง 150,000
บาทเท่านั้น
"สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ท ช่วงหลัง ๆ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของนักกอล์ฟคงเป็นเพราะเบื่อกันแล้วทุกคนอยากลองสนามใหม่
ๆ ที่น่าท้าทายกว่า" นักกอล์ฟคนหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"
สนามตัวอื่นของปัญญาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ปัญญา รามอินทรา เมื่อเปิดตัวใหม่
ๆ ราคาเมมเบอร์ ประมาณ 600,000 บาท ตอนนี้เหลือเพียง 300,000-400,000 บาท
ปัญญาพาร์คค่าเมมเบอร์ ขายกันที่ราคาประมาณ 250,000 บาทส่วนปัญญาฮิลล์โครงการล่าสุดเหลือเพียง
80,000-100,000 บาทเท่านั้น
การกลับมาสู่ธุรกิจบ้านจัดสรร ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทเป็นเรื่องที่จำเป็น
แต่คราวนี้ปัญญากรุ๊ปต้องศึกษาตลาดให้ชัดเจนขึ้น เพราะช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่เขามุ่งมั่นทำเฉพาะโครงการขายบ้านและที่ดินในสนามกอล์ฟ
และการบริหารธุรกิจสนามกอล์ฟนั้น ได้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในเส้นทางนี้มากมายและหลายบริษัทมีกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่
ๆ ที่น่ากลัว
ในที่สุดปัญญาเลคโฮมบนถนนนิมิตรใหม่ โครงการบ้านจัดสรรของผู้มีรายได้ปานกลางโครงการแรกของปัญญากรุ๊ปก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเมื่อกลางเดือนมกราคม
2538 นี่เอง เป็นโครงการล่าสุดที่ต้องใช้เงินในการพัฒนา และเป็นโครงการที่จะทำเม็ดเงินก้อนใหญ่ให้กับปัญญากรุ๊ปในปี
2539 ในขณะที่โครงการบ้านและที่ดินริมสนามกอล์ฟในปัญญาปาร์คและปัญญารามอินทราที่เปิดขายมานานแล้วเหลือเพียงไม่มากนัก
จุดขายของปัญญาเลคโฮมคือความสวยงามเพราะเป็นโครงการในพื้นที่ 500 กว่าไร่และเป็นพื้นที่จำนวนมากเป็นทะเลสาบ
ซึ่งเกิดจากการขุดดินไปทำโครงการสนามกอล์ฟต่าง ๆ อีกจุดหนึ่งก็คือราคาซึ่งเริ่มที่
2.1 ล้านบาทขึ้นไป ในที่ดิน 50 ตารางวาซึ่งในเฟสแรกนี้จะมีประมาณ 400 หลังและมีบ้านริมทะเลสาบอีก
12 หลัง
แหล่งข่าวจากปัญญากรุ๊ปยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าบ้านริมน้ำนั้นขณะนี้ขายหมดแล้ว
และมีลูกค้าหลายรายจองเข้ามาในเฟสต่อไปที่ยังไม่เปิดขายส่วนหลังที่ไม่ติดน้ำนั้นก็ขายได้เรื่อย
ๆ
นั่นหมายความว่าวันนี้ปัญญากำลังเจอศึกหนัก 2 ด้านจากสถานการณ์ซบเซาต่อเนื่องของธุรกิจสนามกอล์ฟ
และการสร้างยอดขายในโครงการบ้านจัดสรรโครงการใหม่
ปัญหาสำคัญอีกเรื่องของปัญญาก็คือเรื่องคน ปัญญาพยายามสลัดคราบของการบริหารแบบครอบครัวออกไป
และปรับปรุงองค์กรใหม่เมื่อประมาณปี 2537 ซึ่งเป็นช่วงที่เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์
แต่ ณ วันนี้ปัญญายังไม่สามารถสลัดภาพนั้นออกไปพ้น
การเชิญอนันต์ อนันตกูล เพื่อนร่วมก๊วนในการเล่นกอล์ฟ และชาตรี โสภณพานิช
แหล่งเงินรายใหญ่มาเป็นกรรมการบริหารนั้นเป็นการช่วยเสริมภาพพจน์ของบริษัทได้ก็จริง
แต่ในแง่การบริหารทั้งอนันต์และชาตรี คงไม่มีเวลามานั่งบริหารปัญญากรุ๊ปแน่นอน
ผู้ที่บริหารจริง ๆ ขณะนี้ยังคงเป็นปัญญาซึ่งนั่งเก้าอี้ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารมีภรรยา
คือ พวงเพชร เป็นรองประธานโดยมีลูก ๆ 3 คนคือ บริพัชร อรนภา และปฏิญญา เป็นกรรมการบริหารร่วมกับน้องชายของภรรยาคือต่อพงษ์
ต่อสุวรรณ โดยมีคนนอกเพียงคนเดียวคืออุดม วัธนนัย
ในวัย 65 ปีนี้ปัญญายังไม่เกษียณตัวเอง แต่อำนาจในการบริหารของเขากำลังถูกผ่องถ่ายไปยัง
"บริพัชร" ลูกชายคนโต อรนภาถูกกำหนดให้ดูแลงานทางด้านประชาสัมพันธ์
ส่วนปฏิญญาลูกสาวคนเล็ก รับผิดชอบงานด้านการขาย
ต่อพงศ์ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทปัญญาพร็อพเพอร์ตี้ส์ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินในโครงการปัญญารามอินทรา
ในขณะที่อุดมจะเป็น กรรมการผู้จัดการในบริษัทปัญญาปาร์ค
กำลังสำคัญของปัญญาอีกคนที่เคยช่วยในการบริหารโครงการคือ พวงเพ็ญ วิบูลย์สวัสดิ์
แต่เมื่อช่วงต้นปี 2537 เมื่อรังสรรค์ ต่อสุวรรณผู้เป็นพี่ชายของพวงเพชร
พวงเพ็ญและต่อพงศ์ ประสบปัญหาเรื่องคดีพยายามฆ่าประธานศาลฎีกา ประมาณ ชันซื่อ
พวงเพ็ญเลยต้องไปช่วยงานด้านพัฒนาที่ดินในโครงการบ้านฉัตรเพชรแทน
ทีมงานของปัญญาแม้จะขาดพวงเพ็ญไปก็ตามการบริหารก็อาจจะลงตัว แต่ในสถานการณ์
ตลาดที่เข้มข้นดุเดือนต้องการมืออาชีพรายอื่นเข้ามาช่วยแน่นอน
จากการที่ทายาทของปัญญามักจะเป็นผู้ที่เก็บตัวเงียบ ๆ ปัญญากรุ๊ป จึงมีแต่ปัญญาคนเดียวเท่านั้นที่เป็นที่รู้จักโดดเด่นออกมา
"ปัญญา" เป็นภาพพจน์ของ "ปัญญากรุ๊ป" เช่นเดียวกับพิชัย
วาศนาส่งคือภาพพจน์ของหมู่บ้านเมืองเอกของกลุ่มยูนิเวสท์แลนด์
ภาพยนต์ชื่อชุด "คุณปัญญา" ซึ่งมีเนื้อหาในการถ่ายทอดภาพของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สะท้อนถึงบุคลิกของความตั้งใจจริง
ความเชื่อมั่น แน่วแน่และทุ่มเท ที่ถือเป็นปรัชญาของการดำเนินงานที่ยึดมั่นในคำสัญญาต่อลูกค้า
ดังคำสัญญาของดวงตะวันที่เริ่มต้นในวันใหม่ไม่เปลี่ยนแปลง และเกลียวคลื่นที่เหมือนกับพลังที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคโขดหินที่แข็งแกร่งทนทาน
จึงเป็นจุดขายที่บริษัทเจ วอลเตอร์ ธอมสัน นำมาทำเป็นภาพยนต์โฆษณาของปัญญากรุ๊ปเมื่อกลางปี
2537
แต่ในสนามการแข่งขันที่ดุเดือนรุนแรงจะอาศัยภาพพจน์ปัญญาคนเดียวไม่ได้แน่นอน
ปัญญากรุ๊ปปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งด้วยการผสาน พันธมิตรกับบริษัทแนเชอรัลพาร์ค
จำกัด(มหาชน) และจัดตั้งบริษัทใหม่ว่า กลุ่มปัญญาแนเชอรัลพาร์ค
ปัญญา และแนเชอรัล พาร์คคือเจ้าที่ดินยักษ์ใหญ่บนถนนรามอินทราการจับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อทำโครงการแทนที่แข่งขันกันเลยเกิดขึ้น
เดิมกลุ่มแนเชอรัลพาร์คมีที่ดินอยู่แล้วบนถนนเส้นนี้ประมาณ 700 ไร่ ได้เพิ่มจากการซื้อโครงการสนาม
กอล์ฟ วินสัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2538 อีกประมาณ 300 ไร่ และที่ดินบริเวณนี้เองที่เป็นของบริษัทสันติสิน
ซึ่งทศพงศ์ได้ขายหุ้นให้กับปัญญา
บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นคือบริษัทปัญญา แนเชอรัลพาร์ค ซึ่งมีทุนจดทะเบียน
1.2 พันล้านบาทมีสัดส่วนการร่วมทุนฝ่ายละ 50% เท่ากัน โดยโครงการแรกที่จะเปิดตัวเร็ว
ๆ นี้จะเป็นโครงการที่อยู่อาศัยราคาแพง ในพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ราคาบ้านหลังละ
50 ล้านบาทขึ้นไป ในที่ดินเริ่มต้นที่ 1 ไร่จำนวน 300 ยูนิต โครงการนี้มีสนามกอล์ฟ
ขนาด 18 หลุมด้วย แต่ไม่มีการขายเมมเบอร์ หรือ เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปเล่น
แต่เมมเบอร์จะได้กับคนที่ซื้อที่ดินสร้างบ้านเท่านั้น
เป็นโครงการบ้านราคาแพงที่ท้าทายตลาดอีกโครงการหนึ่งในปี 2539 ที่ต้องคอยจับตามองกันต่อไป
จะเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเศรษฐกิจซบเซาอย่างนี้ตลาดบ้านราคาแพงยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย
ๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการของนักพัฒนาที่ดินมืออาชีพที่มีชื่อเสียงสะสมมานาน
ที่มีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นอยู่กลุ่มหนึ่ง
โครงการของบริษัทปัญญา แนเชอรัลพาร์คก็เช่นกัน ลูกค้าเก่าแก่ของปัญญากรุ๊ปคือความหวังที่สำคัญ
"โครงการนี้ถ้าไม่ใช่คุณปัญญาผมก็ทำไม่ได้แต่นี่เป็นเพราะผมมั่นใจกลุ่มลูกค้าเดิมของท่านมาก"
ทศพงศ์ยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
ไม่ว่าปัญญาจะตัดสินใจด้วยเหตุผลใดเป็นใหญ่ในเรื่องการขายสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทและปัญญาฮิลล์
และปัญญากำลังเผชิญแรงกดดันในธุรกิจหรือไม่ แต่การเป็นพันธมิตรกับแนเชอรัลพาร์คครั้งนี้ได้ปลดภาระที่หนักอื้งออกไปจากบ่าของปัญญาหลายประการ
ปัญญาไม่ต้องมา นั่งปวดหัวกับการแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะพันธมิตรอยู่ในตลาดอยู่แล้ว
ลดภาระการบริหารสนามกอล์ฟที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นสนามที่อยู่นอกกรุงเทพฯ
สู้คอยดูแลสนามที่อยู่ใกล้ๆ ไม่ได้
อย่างน้อยๆ ปัญญาก็ได้พันธมิตรในการช่วยบริหารโครงการใหม่ ที่นับวันจะต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น
ขณะเดียวกันปัญญาก็มีที่ดินแห่งใหม่มาพัฒนาโครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
โดยการร่วมมือของแนเชอรัลพาร์คที่มีแลนด์แบงก์และพร้อมที่จะรุกเพื่อแสวงหาที่ดินใหม่
ๆ
ปัญญาคงนึกตรึกตรองแล้วว่า เขายอมสูญเสียสนามกอล์ฟสองสนามที่เขาเคยรักมาก
แต่ปลดภาระและเพิ่มโอกาสใหม่ขึ้นอีกมาก
แถมยังได้เงินอีก 5,000 ล้านจากค่าที่ดินและค่าสนามกอล์ฟ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
ๆ
การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของปัญญาอาจมีหลายคนคาดไม่ถึง แต่สำหรับวันนี้ของปัญญาเขาอาจจะเหนื่อยในการกลับมาสู่ธุรกิจบ้านจัดสรรก็จริงแต่โอกาสในการแข่งขันของเขายังมี
ทุกวันนี้ปัญญายังคงเล่นกอล์ฟโดยช่วงเช้ามาทำงานที่ออฟฟิศในโครงการปัญญารามอินทรา
ส่วนบ่ายออกไปเล่นกอล์ฟ ทุกวันพฤหัสจะมีการออกรอบเป็นประจำกับเพื่อนในชมรม
"ปัญญา 99" ที่สนามกอล์ฟปัญญารามอินทรา
กอล์ฟยังเป็นชีวิตจิตใจของเขา เพียงแต่เปลี่ยนสนามไปเท่านั้น !