Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2537
"เสรีภาพในแอฟริกาใต้ โอกาสใหม่ของ "อู"             
 


   
search resources

สวาซิแลนด์ นิตติ้ง
จอห์น ชาง หนาน อู




จอห์น ชาง หนาน อู ชาวไต้หวันวัย 53 ปียืนอยู่ตรงหน้าต่างในห้องสูทโรงแรมหรูในเมืองโยฮันเนสเบอร์ก เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ พร้อมกับกวาดตาสำรวจไปที่ทางเท้าเบื้องล่างที่คับคั่งไปด้วยร้านค้าของคนเอเชีย, คนผิวขาว และคนผิวดำ

"แอฟริกาใต้ยุคใหม่จะสดใส ด้วยศักยภาพในการเติบโตระดับสูงที่แฝงอยู่" เขากล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น

ความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันนี้เองที่จูงใจให้อูเดินทางมาแอฟริกาเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และได้ตั้งโรงงานขึ้นมา 10 แห่ง มีลูกจ้างในสังกัดถึง 5,000 คน ทำการผลิตรองเท้า, เสื้อผ้า, สิ่งทอ และมีด-ช้อน ส้อมสแตนเลส

ทุกวันนี้ อูมีบริษัทอยู่ในแอฟริกาใต้กว่า 10 แห่งนับตั้งแต่ "โกลเดน คัตเติลรี" ในบลูมฟอนทีน, "กาโย ชู แมนูแฟกเจอร์" แยู่ที่ คิง วิลเลี่ยมส์ ทาวน์ไปจนถึง "โกลเดน นิตติ้ง" ในทรานส์กี

"ผมมีบริษัทอยู่ที่นี่หลายแห่ง" อูพูดเสียงใส แต่ไม่ยอมเผยรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัทของเขา และมูลค่าสุทธิเพียงแต่ประเมินให้ฟังคร่าว ๆ ว่า "เป็นล้าน หลาย ๆ ล้าน"

ลูกค้าของอูมีทั้งบริษัทในเยอรมนีและรายใหญ่ ๆ อย่างสายการบินเซาท์ แอฟริกา และกองกำลังป้องกันชาติแอฟริกาใต้

อูเป็นคนไต้หวันโดยกำเนิด และจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจาก "ต้าถุง อินสติติว ออฟ เทคโนโลยี" ในกรุงไทเป หลังจากคว้าปริญญามาได้ในปี 1965 เขาก็ได้เร่ทำงานไปตามที่ต่าง ๆ รวมทั้งเคยทำงานในตำแหน่งควบคุมสินค้าคงคลังและการขายให้กับบริษัทของอเมริกันหลายแห่งในไทเป ในจำนวนบริษัทเหล่านี้ก็มี ทีอาร์ดับบลิว อีเล็กทรอนิก เป็นต้น

เขาเล่าให้ฟังว่า "ไต้หวันตอนนั้นก็เหมือนกับแอฟริกาใต้ตอนนี้ คือจะมีนักธุรกิจจากชาติต่าง ๆ เข้ามาลงทุน และผมก็ได้เรียนรู้ในส่วนนี้มากมาย"

บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ก็คือ จะทำอย่างไรให้บริษัทมีกำไร ถ้าได้เป็นเจ้าของกิจการเสียเอง "ผมจึงตัดสินใจเด็ดขาดว่า ชีวิตนี้ผมจะไม่ทำงานให้ใครอีกแล้ว ผมต้องการสร้างธุรกิจของผมขึ้นมาด้วยมือของผมเอง" เขาเล่า

ตอนนั้น ซึ่งเป็นปี 1974 หลังจากเขาได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจในสหรัฐฯ และแคนาดาแล้ว ก็รู้ว่าคงไม่สามารถทำธุรกิจแข่งกับใครต่อใครได้ในอเมริกาเหนือ เพราะค่าจ้างแรงงานสูงมาก เขาจึงหันไปมองประเทศที่ยังไม่พัฒนาอย่างแอฟริกา

"ผมคิดว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนาคงต้องการผู้เชี่ยวชาญและการลงทุนจากชาวต่างชาติ นอกจากนี้โอกาสที่จะทำกำไรจากประเทศเหล่านี้ก็สูงกว่าในอเมริกาเหนือมาก" อูกล่าว

เริ่มแรกทีเดียวนั้น อูต้องการเข้าไปลงทุนในแอฟริกาใต้ แต่นโยบายกีดกันสีผิวของแอฟริกาใต้กลับทำให้เขาจนใจ เหตุที่เขาลังเลนั้นไม่ใช่ว่าเป็นเพราะความเกลียดชังอย่างรุนแรงที่มีต่อนโยบายกีดกันผิวของแอฟริกาใต้ แต่เป็นเพราะแรงจูงใจในการทำกำไรต่างหาก

เขากล่าวว่า นโยบายกีดกันผิวทำให้แอฟริกาใต้ถูกนานาชาติคว่ำบาตร และไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าทำโครงการที่อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศเสียเปรียบ

ดังนั้น ในปี 1975 อูจึงทุ่มทุน 90,000 ดอลลาร์ ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าแห่งแรกชื่อว่า "สวาซิแลนด์ นิตติ้ง" เพื่อผลิตเสื้อคลุมและสเวตเตอร์ ในสวาซิแลนด์ ประเทศในอารักขาของอังกฤษซึ่งตอนนี้ได้รับเอกราชแล้ว โดยมีที่ตั้งอยู่ระหว่างโมแซมบิก และทรานสวาล จังหวัดภาคเหนือของแอฟริกาใต้

แต่เขามารู้ว่าการทำธุรกิจในสวาซิแลนด์ก็เหมือนกับการเดินเท้าเปล่าย่ำไปบนหนาม กว่าจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการและเอกสารรับรองการเข้าอยู่ของช่างเทคนิคของเขาก็ช่างยากเย็นแสนเข็ญ นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบที่ระบุให้นายจ้างต้องขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างทุก 6 เดือน

"มันค่อนข้างจะไร้เหตุผลสักหน่อย ผมไม่ได้ค้านเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างท้องถิ่นหรอกนะ แต่จะให้ทำทุก 6 เดือนมันเกินไปหน่อย" เขาเล่า "หลังจากจมปลักอยู่ที่นี่ถึง 7 ปี ผมก็ไม่เอาแล้ว และผมก็สั่งปิดโรงงานไปเลย"

ก่อนจะย้ายโรงงานจากสวาซิแลนด์ไปยังทรานกีในปี 1982 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโกลเด้น นิตติ้ง อูได้แสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของสวาซิแลนด์ออกมาให้เป็นที่รับรู้ โดยได้ยื่นหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการไปยังอดีตนายกรัฐมนตรีเบน นิสแบนซี

หลายเดือนต่อมารัฐบาลสวาซิแลนด์ได้เปลี่ยนนโยบายของตน โดยอนุญาตให้ชาวจีนและชาวต่างประเทศอื่น ๆ เข้ามาอยู่อาศัยได้เพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้เดิม แต่สำหรับอูแล้ว มันสายเกินไป

"ผมเป็นนักธุรกิจ" เขาพูดพร้อมกับยักไหล่ "ขณะที่พวกเขาเตรียมที่จะทำการเปลี่ยนแปลง ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะย้ายโรงงาน และผมก็ทำอย่างที่ตั้งใจไว้"

ประสบการณ์ได้สอนบทเรียนบทสำคัญอย่างหนึ่งแก่เขาว่า ถ้าบรรยากาศการลงทุนไม่เอื้อ ก็อย่าฝืนทนทำ แม้ว่าการเข้าไปตั้งโรงงานยังที่แห่งใหม่จะไม่มีอุปสรรคขัดขวาง แต่ถ้าจำเป็น อูบอกว่า เขาก็พร้อมที่จะย้ายโรงงาน "ปัญหาในการตั้งโรงงานแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน" เขาอธิบาย "โรงงานพวกนี้ทำเงินไม่ได้เลย"

พอมาถึงตรงนี้ ทำให้อูเริ่มคิดจะย้ายโรงงานออกจากทรานส์กี และซิสกี ซึ่งเป็นถิ่นคนดำอีกแห่งหนึ่งที่แอฟริกาใต้ได้ให้เอกราชแค่ในนามเมื่อปี 1981 ทั้งนี้ก็เพื่อเลี่ยงปัญหาอาชญากรรม และการเคลื่อนไหวของพวกสหภาพแรงงาน

"ปัญหาสำคัญที่สุดในเขตชนบทของซิสกีคือเรื่องความปลอดภัย" อูกล่าว มักจะมีขโมยงัดเข้ามาลักของในคลังสินค้า ผมจึงคิดจะย้ายโรงงานไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่านี้" และเพื่อเลี่ยงปัญหากับพวกสหภาพแรงงาน เขาจึงตั้งใจหันไปใช้เครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดจำนวนคน

อย่างไรก็ดี ไม่มีปัญหาอะไรที่จะมาบั่นทอนความตั้งใจของอูที่จะเข้ามาลงทุนในแอฟริกาใต้ ในทางกลับกัน เขายิ่งมีขวัญกำลังใจมากขึ้นหลังจากพรรคแอฟริกัน เนชั่นแนล คองเกรสชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

"ความขัดแย้งกำลังลดลง" อูกล่าว "เมื่อประชาชนไม่มาสู้บนถนน พวกเขาอาจจะกลับไปทำงาน และเมื่อพวกเขากลับเข้าทำงาน พวกเขาก็จะมีเงินใช้มากขึ้น และสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไปในตัว และเมื่อความต้องการสินค้ามีเพิ่มขึ้น วัฏจักรเหล่านี้ก็จะหมุนเวียนไป" อูพูดอย่างมีความสุข "สุดท้าย แอฟริกาก็จะรุ่งเรือง"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us