|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
โกลว์ พลังงาน เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปีให้กับกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ และบริษัท ไทยโพลเอททีลีน ทำให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีก 120-140 เมกะวัตต์ และไอน้ำประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ด้านผู้บริหาร ระบุบอร์ดไฟเขียวอนุมัติแผนการเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว คาดได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายใน 3 เดือน
นายปีเตอร์ เทอร์โมท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี จำนวน 2 ฉบับ กับบริษัท มาบตาพุด โอเลฟิน จำกัด (เอ็มโอซี) และ บริษัท ไทยโพลีเอทีลีน จำกัด (ทีพีอี) ซึ่งเป็นบริษัทด้านปิโตรเคมีในกลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
จากการทำสัญญาดังกล่าว รวมกับสัญญาอื่นๆ ที่ได้ทำไว้ในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ ทำให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันของโกลว์ จำเป็นต้องมีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 120-140 เมกะวัตต์และไอน้ำประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งบริษัทจะเริ่มทยอยผลิตให้ระหว่างปี 2548- 2553 นี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการขยายกำลังการผลิตแบบเป็นขั้นตอน โดยส่วนของเทคโนโลยี ระยะเวลา และขนาดของการขยายกำลังการผลิตจะขึ้นอยู่กับราคาสุดท้ายของเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้
"โกลว์ประสบความสำเร็จในการทำสัญญาใหม่กับลูกค้าอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันทางบริษัทได้ทำสัญญาระยะยาวเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 120-140 เมกกะวัตต์ และไอน้ำจำนวน 30 ตันต่อชั่วโมง โดยลูกค้าของบริษัทได้ทยอยเริ่มรับซื้อตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2553 ทั้งนี้ยอดขายดังกล่าวข้างต้นยังไม่รวมถึงยอดขายในอนาคตจากการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง (organic growth) ตามความเติบโตของลูกค้าเดิมที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" นายปีเตอร์ กล่าว
พร้อมกันนี้ กลุ่มบริษัทกำลังวางแผนในการเพิ่มกำลังการผลิตโดยการเพิ่มหน่วยผลิตอีกอย่างน้อย 1 หน่วย เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในการตัดสินใจสำหรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นนั้น กลุ่มบริษัทฯจะพิจารณาจากสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าที่ทางกลุ่มบริษัทฯมีอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในปัจจุบัน รวมทั้งกำลังการผลิตที่มีอยู่และการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องของลูกค้า โดยภาพรวมทั้งหมดน่าจะชัดเจนมากขึ้นภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า
"โกลว์รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนโรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่ของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย และเชื่อว่าเหตุผลสำคัญในการเลือกทางบริษัทนั้นคือ การที่บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงและเชื่อถือได้ ให้กับบริษัทปิโตรเคมีแห่งอื่นๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด"
กลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทยนับเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีความเป็นผู้นำในธุรกิจหลักต่างๆในแต่ละประเภท อาทิเช่น เคมีภัณฑ์ ซิเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และ กระดาษ โรงงานปิโตรเคมีแห่งที่สองของกลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย กำลังจะก่อสร้างขึ้นที่ สถานที่ก่อสร้าง เอสซีจี เลขที่ 7 ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จังหวัดระยอง โรงงานโอเลฟินส์จะดำเนินการโดยบริษัทมาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจัดตั้งขึ้นใหม่ระหว่างบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และ บริษัท ดาว เคมิคอล ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐฯ
บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด จะมีขนาดกำลังการผลิตตามมาตรฐานโลกอยู่ที่ 1.7 ล้านตัน (เอททีลีน 900,000 ตัน และ โพรไพลีน 800,000 ตัน) ความสามารถในการผลิตสินค้าปิโตรเคมีปลายน้ำต่อปีจะมีขนาด 800,000 ตัน (HDPE 400,000 ตัน และ PP 400,000 ตัน) อยู่ภายใต้การจัดการของ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน บริษัทในเครือที่ถือหุ้นทั้งหมดของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย คาดการว่าการผลิตตามจำนวนดังนี้จะสามารถเปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ในกลางปี 2553
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การลงนามในสัญญาดังกล่าวจะส่งผลดีต่อรายได้ในอนาคตให้ปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ได้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะต้องมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับงานขนาดใหญ่ โดยในส่วนของปัจจัยพื้นฐาน ถือว่ายังคงมีความแข็งแกร่ง โดยผลกำไรไตรมาสที่ 4/49 - ปี 50 จะทรงตัว คาดว่าเป็นผลจากมาร์จิ้นโดยรวมที่ทรงตัวเนื่องจากนโยบายการตรึงค่า Ft ของรัฐบาลและไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าครั้งใหญ่ รวมทั้งไม่มีกำลังผลิตใหม่เพิ่มเติม
ขณะที่บล.สินเอเซีย แนะนำ "Trading Buy" GLOW ที่ราคาเป้าหมายปี 50 ที่ 35 บาท จากวิธี DCF หลังจากที่เซ็นสัญญาจำหน่ายไฟฟ้ากับกลุ่มบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ ทำให้ GLOW สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 120-140 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 250 เมกะวัตต์ โดยคาดใช้เงินลงทุนประมาณ 150-350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการขยายกำลังการผลิตนี้ได้ตั้งแต่ปลายปี 53-54 ซึ่งบล.สินเอเซียได้รวมประมาณการกำลังการผลิตส่วนเพิ่มนี้ไว้ในมูลค่าหุ้นแล้ว
|
|
|
|
|