* ทายาท "เสี่ยเจริญ"สร้างปรากฏการณ์ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น!
* เปิดแผนปั้นธุรกิจที่ดินหลังร่วมทุนสิงคโปร์ให้ยิ่งใหญ่เทียบชั้นธุรกิจน้ำเมาที่ตอบสนองได้ทุกชนชั้น
* ลั่นจะก้าวเป็น "พี่เบิ้ม"วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เพียบพร้อมทั้งแลนด์แบงก์ ทุน...โนฮาว และแรงหนุน จนคู่แข่งต่อกรได้ยาก ......
ชื่อของ“เจริญ สิริวัฒนภักดี”ราชันย์น้ำเมาโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมๆกับบริษัท ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ ซึ่งดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่ราชันย์น้ำเมาประกาศรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในทั้งในและต่างประเทศอย่างจริงจัง ด้วยการร่วมมือกับ “แคปปิตอลแลนด์” ดีเวลลอปเปอร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของเอเชีย และสิงคโปร์ โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน“ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์” เมื่อราว ๆ 2 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2547
การจับมือกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ย่อมทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์สั่นสะเทือนเป็นธรรมดา เพราะลำพังด้วยแนวคิดการทำธุรกิจของเจริญ ที่แหลมคม เฉียบขาด ตัดสินใจเร็ว กล้าได้กล้าเสีย และมีวิสัยทัศน์ ก็ทำให้คู่แข่งเกรงขามในระดับหนึ่งแล้ว เห็นได้จากการโค่นบังลังก์กลุ่มบุญรอด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ที่ครองตลาดเบียร์มานานกว่า 60 ปีลง ภายในเวลาไม่กี่ปี หลังจากที่เจริญเข้ามาบุกตลาดเบียร์ โดยใช้เบียร์ช้างเป็นธงนำ
การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจริญ ยึดต้นแบบมาจากความสำเร็จของการทำตลาดสุราขาว สุราสีและเบียร์ ซึ่งเจริญนำมาประยุกต์ใช้ในการทำอสังหาริมทรัพย์ โดยเลือกใช้กลยุทธ์บางอย่างที่เหมาะสมและสอดรับกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งวัลลภา ไตรโสรัส บุตรสาวคนที่ 2 ของเจริญ บอกว่า “ คุณพ่อ(เจริญ) ให้แนวคิดการทำธุรกิจว่า การทำอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้แนวคิดเดียวกับการทำตลาดสุราขาว สุราสีและเบียร์ โดยสินค้าที่ผลิตสู่ตลาด จะต้องเป็นสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ตอบสนองทุกกลุ่มเป้าหมาย ในราคาสมเหตุสมผล และต้องเป็นที่ยอมรับในระดับอินเตอร์ ”
ยึดต้นแบบทำตลาดเหล้า
ความสำเร็จของการทำตลาดเหล้าและเบียร์ เจริญใช้กลยุทธ์ราคาเป็นธงนำ และเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับล่าง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่มาก แต่เป็นกลุ่มใหญ่ และค่อย ๆ ขยับสู่กลุ่มเป้าหมายที่สูงขึ้น โดยในช่วงแรกทำตลาดสุราขาวที่มีราคาถูก และราคาปานกลางก่อน แล้วตามด้วยเบียร์ที่มีราคาสูงกว่าสุราขาวเล็กน้อย
ขณะที่การขยายตลาดสุราขาว และสุราสี จะใช้วิธีการขยายฐานลูกค้าโดยไม่แย่งตลาดกันเอง เพราะหากแย่งตลาดกันเองจะไม่ส่งผลดีต่อทั้งสินค้า และบริษัท ซึ่งเจริญ บอกว่า สินค้าของกลุ่มต้องมีครบทุกเซกเมนท์ ตอบสนองทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญการตั้งราคาต้องให้กลุ่มเป้าหมายทุกรายซื้อหาได้ง่าย
เช่นเดียวกับการทำตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับบนก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งสร้างผลตอบแทนได้มากกว่ากลุ่มเป้าหมายระดับกลางและล่าง หลังจากนั้น จะขยายฐานลูกค้าจากบนสู่กลาง และระดับแมสในที่สุด ซึ่งจะทำให้กลุ่มทีซีซีฯ มีสินค้าครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเช่นเดียวกับการทำตลาดเหล้าและเบียร์ โดยมั่นใจว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้ทีซีซีฯก้าวสู่เป้าหมายผู้นำได้อย่างไม่ยากนัก
อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจริญ มีความได้เปรียบคู่แข่ง เพราะการมีแหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่ง ทั้งเงินสดที่พร้อมนำมาลงทุน และวงเงินสินเชื่อที่สถาบันการเงินทุกแห่งพร้อมที่จะเปิดให้เจริญทันที หากเจริญต้องการใช้สินเชื่อ รวมถึงความเป็นแลนด์ลอร์ดที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีแลนด์แบงก์มากมายจนบางครั้งเจริญเองก็จำไม่ได้ทั้งหมดว่าตัวเองมีที่ดินมากน้อยแค่ไหน กี่แปลง กี่ไร่ และคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ที่สำคัญแลนด์แบงก์จำนวนไม่น้อยตั้งอยู่ในทำเลทอง สามารถนำมาพัฒนาได้ทันที โดยไม่ต้องรอความเจริญพาดผ่าน
รวมถึงการเพิ่มความแข็งแกร่ง ด้วยการจับมือกับยักษ์ใหญ่ทางการเงินและมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอาคารสูง ผสมผสานกับการมี Know-How และประสบการณ์ระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง อย่าง “แคปปิตอลแลนด์” นอกจากนี้ เจริญ ยังมีคอนเน็กชั่นในทุกวงการ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และภาคเอกชน ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือเพื่อเปิดทางให้เจริญเดินได้สะดวกขึ้น
เหตุผลดังกล่าว ยิ่งทำให้กลุ่ม ราชันย์น้ำเมาโดดเด่นขึ้นทันที จนทำให้ดีเวลลอปเปอร์ทุกรายต้องจับตาการก้าวเข้ามาของเจริญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะจะทำให้ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่แข็งแกร่งจนคู่แข่งประมาทไม่ได้
แม้ว่ากลุ่มทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ จะเปิดตัวมานานถึง 2 ปี แต่ในช่วงนั้น เหมือนเป็นช่วงหัดเดินของกลุ่ม และในระหว่างทางจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และทดลองทำโครงการไม่ใหญ่ และจำนวนโครงการไม่มาก เพื่อเพาะบ่มมันสมอง เรียนรู้และสะสมประสบการณ์ และพร้อมที่จะสู้ศึกในตลาดอย่างไม่ต้องเกรงกลัวใคร ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เวทีอสังหาริมทรัพย์จะบรรจุชื่อของเจริญ และทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ ในระดับแนวหน้า
ทั้งนี้โครงการแต่ละแห่งที่เจริญลงทุนต้องยอมรับว่า ไม่ธรรมดาแน่นอน ทั้งในแง่ของความหรูหรา ทันสมัย ขนาดใหญ่ เรียกว่าเป็นอภิมหาโปรเจคก็ว่าได้ ซึ่งใครที่มีเงินทุนไม่หนาพอ คอนเน็กชั่นไม่ถึง Know-How ไม่มีคงจะทำโครงการเช่นนี้ไม่ได้แน่ ดังนั้น การลงทุนโครงการใหม่ของเจริญ จึงไม่ต้องกลัวว่าจะมีคู่แข่งในระดับเดียวกัน
วัลลภา ไตรโสรัส (บุตรสาวเสี่ยเจริญ) โสมพัฒน์(บุตรเขย) พลิกปูมก่อนก้าวสู่ธุรกิจอสังหาฯ
แม้ตัวของ เจริญ จะมีแลนด์แบงก์จำนวนมาก ซึ่งมาจากการทยอยซื้อเก็บสะสมมาหลายสิบปี ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่หยุดซื้อ หากมีที่ดินแปลงงามมาเสนอขาย เพราะเห็นว่า การซื้อที่ดิน คือการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนดี และคิดว่าราคาที่ดินไม่มีลดมีแต่เพิ่ม ที่ผ่านมาจะเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มเจริญในเรื่องการเทคโอเวอร์เป็นหลัก เช่น เทคโอเวอร์กลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล จาก อากร ฮุนตระกูล รวมถึงสนามกอล์ฟ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน เนื่องจากเจริญมีแนวคิดว่าเมื่อตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง จะเลือกลงทุนในธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ได้ทันทีเท่านั้น
ส่วนการพัฒนาที่ดินเพื่อขายเช่นเดียวกับดีเวลลอปเปอร์รายอื่น วัลลภา กล่าวว่า “คุณพ่อ(เจริญ) มองว่าเป็นเรื่องของอนาคต เพราะ ทีซีซี แลนด์ ยังถือว่าเป็นหน้าใหม่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อขายมาก่อน จึงยังไม่พร้อมที่จะลุยตลาดใหญ่ที่ต้องอาศัยทั้งเงินทุน ประสบการณ์ และปัจจัยอีกหลายด้านที่แข็งแกร่งมาเกื้อหนุนให้ประสบความสำเร็จ แม้จะมีความพร้อมอยู่แล้วข้อหนึ่ง คือ เรื่องเงินทุน ที่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ธุรกิจสุรา ในนาม บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ไม่นับรวมธุรกิจอื่นๆ ของเครือในมือ ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้อันมหาศาลของ เจริญ เพียงใด”
จุดเปลี่ยน ทีซีซี แลนด์
สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของ ทีซีซี แลนด์ คือ เจริญ เริ่มมีแนวคิดว่าการพัฒนาโครงการเพื่อขาย จะสามารถสร้างผลกำไรได้เร็วกว่าธุรกิจให้เช่า รวมทั้งลูกๆ ทั้ง 5 คน เริ่มเรียนจบกลับมาจากต่างประเทศ เจริญ จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะส่งผ่านให้เจนเนอเรชั่นที่ 2 ของครอบครัวเข้ามาบริหารจัดการ โดยอาศัยแนวคิดของคนรุ่นใหม่มาผลักดันธุรกิจของเครือให้เติบโตยิ่งขึ้น
ทายาทคนที่เจริญเลือกให้เป็นหัวหอกดูแลพอร์ตที่ดินมูลค่านับแสนล้านของ เจริญ คือ วัลลภา ไตรโสรัส บุตรสาวและโสมพัฒน์ ไตรโสรัส บุตรเขย ทั้งคู่มีดีกรีปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ดินและเศรษฐศาสตร์การวางผังเมืองจากอังกฤษ จึงเหมาะสมที่จะเข้ามาดูแลธุรกิจด้านนี้มากที่สุด
ทั้งคู่ถูกปูทางในระหว่างที่เรียนด้วยการฝึกงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง และเข้ามาเรียนรู้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครืออยู่เป็นระยะๆ บวกกับหาประสบการณ์ด้านการลงทุน ด้วยการเริ่มงานเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนและการเงินของบริษัท เมอร์ริล ลินซ์ (เอเชียแปซิฟิค) ที่ฮ่องกง เป็นการเคี่ยวกรำให้เกิดความชำนาญ ก่อนจะหอบความรู้ที่เรียนพร้อมประสบการณ์มารับตำแหน่งบริหารของ ทีซีซี แลนด์ และทีซีซี โฮลดิ้ง ของครอบครัวที่เมืองไทย
แบ่ง 3 สายงานบริหาร
เมื่อคิดจะดันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตอย่างจริงจัง ทีซีซี จึงแบ่งการบริหารออกเป็น 3 สายงาน ได้แก่ สาย Land Development ภายใต้การบริหารของ ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ พัฒนาโครงการเพื่อขายและให้เช่าระยะยาว สาย TCC Land Leisure ดุแลธุรกิจสายบริการ เช่น โรงแรม ศูนย์การประชุม (บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในนาม บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมเนจเมนท์) เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ สนามกอล์ฟ สปอร์ตคลับ สปา และสุดท้าย สาย Land Commercial ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โดยจะมีการขยายไปยังรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น โกดังสินค้า ศูนย์โลจิสติกส์
แจงเหตุดึง แคปปิตอลฯร่วมทุน
เมื่อ เจริญ ตัดสินใจว่าจะหันมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายอย่างจริงจัง ทำให้ เจริญ ต้องอุดช่องว่างของ ทีซีซี แลนด์ ที่ไร้ประสบการณ์พัฒนาที่ดินด้วยการดึง แคปปิตอลแลนด์ ดีเวลลอปเปอร์ยักษ์ใหญ่แห่งสิงคโปร์ในเครือเทมาเสค เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุน จัดตั้งบริษัท ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ ขึ้นมาพัฒนาแลนด์แบงก์ของเครือทีซีซี แลนด์บริษัทร่วมทุนดังกล่าวถือหุ้นโดยฝ่ายไทย 60% และฝ่ายสิงคโปร์ 40%
โดย ทีซีซี แลนด์ ดูแลด้านการจัดหาที่ดิน ส่วน แคปปิตอลแลนด์ ดูแลด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญเดิมของแคปปิตอลแลนด์ ตั้งแต่ครั้งพัฒนาโครงการอาคารสูงอยู่ที่สิงคโปร์ จนได้รับรางวัลระดับชาติมากมาย
การเลือกกลุ่มทุนจากสิงค์โปร์ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า กลุ่มทุนจากสิงค์โปร์เป็นกลุ่มทุนที่มีความชำนาญด้านการบริหารจัดการที่ดีจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก รวมถึงมีเทคโนโลยีชั้นสูงที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสูงมาก เพราะสิงคโปร์เป็นเกาะ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงต้องทำอาคารสูงเป็นหลัก ที่สำคัญยังเงินทุนหนา ซึ่งคุณสมบัติทุกข้อ ทำให้เจริญ ตัดสินใจเลือกกลุ่มทุนจากสิงคโปร์เช่นเดียวกับ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรที่เลือกกลุ่มเทมาเสคจากสิงคโปร์เป็นพันธมิตรในชินคอร์ป
ด้านผู้บริหาร ยกให้ เฉิน เหลียน ปัง จาก แคปปิตอลแลนด์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพราะมีความรอบรู้เรื่องเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นอย่างดี ขณะที่ โสมพัฒน์ รับตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพราะนอกจากจะมีประสบการณ์ด้านการเงินและจบทางด้านสถาปัตยกรรมมาโดยตรงด้วย ส่วน วัลลภา นั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ เพราะจะเข้าใจวัฒนธรรมของท้องถิ่นดีกว่ากลุ่มทุนข้ามชาติ ซึ่งการจัดโครงสร้างผู้บริหาร เป็นการระดมมันสมองร่วมกัน เพื่อปั้นอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ของเจริญ ให้ยิ่งใหญ่อย่างรวดเร็ว
เน้นกลยุทธ์ Synergy
การลงทุนทั้งหมดที่ผ่านมาของ ทีซีซี จะเน้นการใช้กลยุทธ์ Synergy ทั้งหมด คือ เน้นการรวมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นแง่ของรูปแบบการลงทุนที่จับเอาความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาผนวกกันจนกลายเป็น ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ ดีเวลลอปเปอร์หน้าใหม่ของวงการที่มีความแข็งแกร่งไม่แพ้คู่แข่งหน้าเก่าในตลาด หรือการบริหารจัดการภายในองค์กรที่ดึงเอาผู้บริหารจากทุกสายธุรกิจมานั่งรวมกันเป็นทีมคณะกรรมการบอร์ด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นการเสริมจุดแข็งของแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งการนำเอาหัวกะทิจากทุกสายมารวมกัน จะดึงดูดให้นักบริหารมืออาชีพที่ ทีซีซี จ้างมาจากต่างประเทศ เกิดความมั่นใจและท้าทาย จนอยากที่จะเข้ามาร่วมงานด้วย
สำหรับธุรกิจโรงแรมหลังจากเทคโอเวอร์โรงแรมอิมพีเรียลแล้ว เจริญ ก็เดินหน้าซื้อโรงแรมอีกหลายแห่ง แล้วว่าจ้างให้เชนมืออาชีพเข้ามาบริหาร ปัจจุบันมีโรงแรมในมือ 19 แห่งในไทย และในต่างประเทศ เช่น นิวยอร์ค (พลาซ่า แอทธินี) ลอนดอน สิงคโปร์ มาเลเซีย (เวสทิน) กัมพูชา ลาว เวียดนาม และคุนหมิง ประเทศจีน
สำหรับปีหน้าเป็นต้นไปจะเป็นปีที่ ทีซีซี จะเดินหน้าลงทุนในธุรกิจโรงแรมอย่างเต็มที่ โดยจะดึงหลายเชนเข้ามาบริหาร เพื่อปรับโพสิชันนิ่งของแต่ละโรงแรมให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีแผนจะปรับตึกด้านหน้าของอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ที่สาทร เป็นโรงแรมด้วย เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มาใช้พื้นที่อาคารสำนักงาน
นอกจากนี้ยังมีแผนที่พัฒนาโรงแรมและวิลล่าในเมืองท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง เช่น ภูเก็ต สมุย กระบี่ เชียงใหม่ โดยเริ่มต้นที่สมุยเป็นแห่งแรก
ปูพรมทำคอนโดฯหรู
เร็ว ๆ นี้ ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ กำลังจะเปิดตัว แอทธินี เรสซิเดนท์ คอนโดมิเนียมหรู มูลค่า 4,250 ล้านบาท หลังโรงแรมพลาซ่า แอทธินี บนถนนวิทยุ เป็นโครงการแรก เป็นการต่อยอดนำที่ดินต่อเนื่องกับโรงแรมของเครือมาพัฒนา ลำดับต่อมา คือ วิลล่า ราชครู ในซอยราชครู คอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์
ขณะที่โครงการ ดิ เอ็มไพร์เพลส ซ.นราธิวาสราชนตรินทร์ 4 ย่านสาทร มูลค่า 4,700 ล้านบาท และ ดิ เอ็มโพริโอ ซอยสุขุมวิท 24 มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งชูคอนเซ็ปต์ SOHO หรือ Small Office Home Office คอนโดมิเนียมที่ใช้เป็นสำนักงานขนาดย่อมได้ เป็นการนำแนวคิดมาจากโครงการในสิงคโปร์
พัฒนารูปแบบ Integrated Township
เมื่อประเดิมเปิดคอนโดมิเนียมกลางเมืองไปแล้ว ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ ก็หันมารุกโครงการในแนวราบ โดยปีนี้โดยหยิบแลนด์แบงก์ 77 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 300 ไร่บนถนนเกษตร-นวมินทร์ พัฒนาเป็นโครงการ รอยัล เรสซิเดนท์ บ้านเดี่ยวสไตล์วิคตอเรียน โคโลเนียล ราคา 38-120 ล้านบาทต่อยูนิต เจาะกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ซึ่งในอนาคต ทีซีซี แลนด์มองข้ามช็อตไปจนถึงแผนใหญ่ที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองในรูปแบบของ Integrated Township ที่ครบวงจรทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ โฮมออฟฟิศ พื้นที่รีเทลของธุรกิจเครือ พื้นที่รีเทลให้เช่า คอนโดมิเนียมแบบโลว์ไรส์ ศูนย์อาหารขนาดใหญ่
โดยมองว่าทำเลดังกล่าวมีศักยภาพสูง เป็นย่านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ และมีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกมารองรับในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะมีการเปิดตัวทั้งโครงการในปีหน้า ซึ่ง วัลลภา กล่าวว่า “โครงการสร้างเมืองใหม่นี้ว่าจะช่วยฉายภาพของบริษัทให้คนภายนอกเห็นตัวตนได้ชัดเจนขึ้น”
ขณะที่ก่อนสิ้นปี 2549 ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ จะเปิดตัว วิลล่าราชเทวี บนพื้นที่ 4 ไร่ บนถนนพญาไท เป็นคอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ และพื้นที่สำนักงานให้เช่า
เล็งเนรมิต เมืองใหม่
นอกจากโครงการสร้างเมืองใหม่บนแลนด์แบงก์ที่เกษตร-นวมินทร์แล้ว ทีซีซี ยังมีแผนต่อไปที่จะพัฒนาแลนด์แบงก์อีก 3 แห่งในลักษณะเดียวกันด้วย โดยจะต้องเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ โดยพื้นที่ในเมืองต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 200-300 ไร่ ส่วนพื้นที่นอกเมืองหรือต่างจังหวัดต้องมีพื้นที่ราว ๆ 10,000 ไร่ขึ้นไป เช่น ที่ดินบริเวณนอร์ธปาร์ค ที่มีพื้นที่เหลือเกือบ 300 ไร่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา ซึ่งมีศักยภาพสูงใกล้จุดขึ้นลงทางด่วน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะที่กำลังก่อสร้าง สามารถรองรับธุรกิจโลจิสติกส์ ตลาดที่อยู่อาศัยเจาะกลุ่ม Retirement เนื่องจากมีสนามกอล์ฟรองรับภายในโครงการ
โดยจะนำร่องด้วยโครงการคอนโดมิเนียมก่อน เพื่อจุดพลุให้คนเห็นศักยภาพของโครงการ นอกจากนี้ยังมีที่ดินย่านบางไทร และที่ดินติดชายหาดที่ชะอำ ซึ่งต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลก่อนนำมาพัฒนา ซึ่งแต่ละแห่งมีพื้นที่หลักหมื่นไร่ โดยที่ดินที่อยุธยา มีศักยภาพมากสำหรับพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม โกดัง และศูนย์โลจิสติกส์
โสมพัฒน์ ฉายภาพอนาคตให้เห็นว่า “จะพัฒนาที่ดินส่วนนี้ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม และจะมีความสำคัญมากจนต้องแยกสายออกเป็นอีกธุรกิจเฉพาะ สำหรับที่อยุธยาเรามีแต่ที่ดิน แต่ยังขาด Know-How ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับนักลงทุนต่างชาติที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการนิคมอุคสาหกรรม เพราะอยากให้โครงการที่ออกมามีมาตรฐาน คาดว่าจะได้เห็นภายใน 5 ปี”
“ในภาพรวมอยากให้การพัฒนาที่ดินในต่างจังหวัดที่เราทำมีลักษณะเป็นศูนย์กลาง เป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นแหล่งรองรับอุตสาหกรรมการเกษตร มีโรงแรมริมทาง พื้นที่รีเทล มีทุกอย่างที่ครบวงจร สามารถสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นได้ ซึ่งเมืองไทยเป็นทำเลที่เหมาะสม เพราะอยู่ในศูนย์กลางของเอเซียตะวันออก” โสมพัฒน์ กล่าวเสริม
ฉายภาพความยิ่งใหญ่
จากเส้นทางชีวิตของ เจริญ ที่เริ่มต้นในเส้นทางธุรกิจน้ำเมา ปัจจุบัน เจริญ กลายเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีพอร์ตการลงทุนไม่ต่ำกว่าแสนล้าน ที่มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางและครอบคลุมหลายตลาด เช่น เครื่องดื่ม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่รู้กันดีในนามบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตเบียร์ช้าง ,คอนซูเมอร์โปรดักส์, ธุรกิจประกันภัย ลีสซิ่ง, ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา น้ำตาล และธุรกิจด้านเทคโนโลยี ในนาม ทีซีซี เทคโนโลยี
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ เจริญ เพิ่งจะมอบหมายให้ทายาทเข้ามาดูแลอย่างจริงจังได้เพียง 2 ปี และตั้งเป้าจะเป็นผู้นำให้ได้ภายใน 5 ปี แต่ความยิ่งใหญ่ในแง่ทุนหนาและแลนด์แบงก์เก่าจำนวนมาก คงจะทำให้คู่แข่งหนาวๆ ร้อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เจ้าตลาดบ้านเดี่ยวที่ใครๆ ก็ยกให้เป็นอันดับ 1 เพราะแลนด์ฯ มาแบบเดี่ยวๆ ลุยตลาดที่อยู่อาศัยเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ ทีซีซี แม้จะลุยทีหลัง แต่ก็มาแบบครบวงจร ต่อไปคงไม่ต้องเดาว่าอันดับ 1 ที่ครองแชร์ตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์จะตกอยู่ที่ใคร ซึ่งในอนาคต วัลลภา กล่าวว่า “เมื่อบริษัทมีความพร้อมมากขึ้นจะค่อยรุกเข้ามาทำตลาดนี้ โดยจะทำให้ทุกคนเห็นว่าโครงการปัจจุบันที่ทำ เราเน้นคุณภาพจริงๆ ซึ่งเมื่อรุกตลาดแมสในอนาคตจะทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นได้”
ทายาทผู้สืบทอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ เจริญ ทิ้งท้ายว่า “เป้าหมายของเรา คือ อยากพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพ ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต หรือความสำเร็จของการทำธุรกิจ สิ่งนี้หาก ทีซีซี ทำได้จริง ไม่ใช่เพียงเปิดบันทึกหน้าใหม่ของวงการเท่านั้น แต่จะกลายเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ทุกคนรู้ว่า ไม่มีอะไรที่คนอย่างเจริญทำไม่ได้
*************
ทีซีซี เข็นกองทุนขนาดยักษ์ เล็งขายนักลงทุนข้ามชาติ
"เจริญ สิริวัฒนภักดี"เตรียมตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 40,000 ล้านบาท เจาะตลาดข้ามชาติ หวังนำเงินต่อยอดธุรกิจในเครือ ตั้งเป้าเบอร์ 1 กองทุนอสังหาริมทรัพย์
กระแสการตั้งกองทุน กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่แน่นอนแล้ว ยังลดต้นทุนด้านดอกเบี้ยจ่ายด้วย ขณะที่เรายังเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ขายเข้ากองทุน แต่ลดลงในสัดส่วนที่ขายออกไปเท่านั้น
กลุ่มทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องการระดมทุนด้วยช่องทางดังกล่าว แต่การระดมทุนของกลุ่มนี้จะแตกต่างจากกลุ่มอื่น ที่ต้องการรวบรวมทรัพย์สินให้มีมูลค่ามหาศาลก่อนที่จะจัดตั้งกองทุน โดยมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนดังกล่าวเป็นที่เตะตากลุ่มนักลงทุนข้ามชาติด้วย เพราะเป้าหมายของการจัดตั้งกองทุนของกลุ่มทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ ไม่ได้ต้องการขายเฉพาะกลุ่มนักลงทุนชาวไทยเท่านั้น แต่ต้องการให้กองทุนเป็นกองทุนขนาดใหญ่ ระดับอินเตอร์
ด้วยแนวคิดของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่สร้างกรอบให้กับทายาทคือ "หากคิดจะทำอะไร ต้องทำให้ดี มีคุณภาพ และสินค้าที่จะขายออกไป จะต้องขายได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาการพัฒนาสินค้าให้ดี ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งไทยและข้ามชาติ"
การจัดตั้งกองทุนของกลุ่มทีซีซีฯจะแยกธุรกิจแต่ละสายออกจากกัน เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะทุนจากนอกประเทศที่จะเข้ามาถือหน่วยลงทุน ขณะที่เจริญ ย้ำว่าต้องพัฒนาโครงการให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานระดับอินเตอร์ เพื่อให้มูลค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง คือ เกิน 40,000 ล้านบาทก่อนที่จะจัดตั้งกองทุนฯเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน เช่น พวก Private Property Fund มากกว่า
"เป็นช่วงเริ่มต้นของ ทีซีซี ที่มีการลงทุนพัฒนาโครงการ ซึ่งต้องรอให้เวลาผ่านไปอีกหลายปีจะเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวในสิ่งที่ลงทุนไป เช่นปีหน้าจะมีรายได้จากการขายเข้ามา 7,000 ล้านบาท จากเดิมในปีนี้ 2,000 ล้านบาท"
ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนของทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ จึงเป็นเป้าหมายในระยะยาว ที่วัลลภา และโสมพัฒน์ บุตรสาวและบุตรเขย ต้องทำต่อไป
|