Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2537
"มาเลเซีย ทางสองแพร่งของการพัฒนา"             
 

   
related stories

"กำลังภายในของติง เพค คิง"

   
search resources

Malaysia




ภายใต้นโยบาย "วิชั่น 2020" ของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของมาเลเซียกำลังเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัยในศตวรรษที่ 21 โครงการเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ "บาคุน" ในซาราวัก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะมีผลกระทบต่อชนพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่และสร้างความเสียหายกับสภาพแวดล้อม และโครงการนี้อาจจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า หากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมา ล้นเกิดความต้องการใช้ ถึงอย่างไรการสร้างเขื่อนบาคุมก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นหนึ่งในสัญญลักษณ์รูปธรรมของวิชั่น 2020

ท่ามกลางความมืดมิดของค่ำคืนหนึ่ง ใจกลางเกาะบอร์เนียว เรือยาวลำหนึ่งพาบรรดาผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเคยเป็นนักล่าหัวมนุษย์ในอดีตพุ่งลงสู่กระแสน้ำวนอันเชี่ยวกรากของ "กิแฮม ดาฮา" หรือ "แก่งโลหิต" สายฝนที่เทลงมายิ่งทำให้ทัศนียภาพของโขดหินและวังน้ำวนที่อันตรายพร่าเลือนมากขึ้นในความมืด

ค่ำคืนนี้ควรเป็นเวลาที่เหล่าผู้อาวุโสแห่งเผ่า "ลอง มูรุม" จะได้นั่งล้อมวงดื่มกินอย่างสำราญใจ ภายใต้แสงตะเกียงน้ำมันก๊าดในกระท่อมที่ปลอดภัย แทนที่จะต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงกับการฝ่าสายน้ำเชี่ยวในยามราตรี ถ้าไม่เป็นเพราะนัดหมายที่มีกับหัวหน้าชนเผ่าอื่น ๆ อีก 14 แห่งที่กระจายกันอยู่ในป่าทึบที่โอบล้อมต้นแม่น้ำเรจังอันเป็นแม่น้ำสายสำคัญของซาราวัคในครั้งนี้ มีความสำคัญมากเกินกว่าที่จะผัดผ่อนได้

พวกเขาไปพบกันเพื่อหารือกันว่าจะยอมทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนและละจากวิถีชีวิตปกติเพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่า "ความก้าวหน้า" หรือไม่

คงจะไม่มีที่ใดบนพื้นโลกในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอันน่าตื่นตาตื่นใจ และโดยฉับพลันเท่ากับชุมชนที่ยังคงใช้ไม้ซางเป็นเครื่องยังชีพและประดับร่างกายด้วยหัวกระโหลกมนุษย์ย่อส่วนแห่งนี้

ภายใต้วิสัยทัศน์ของรัฐบาลมาเลเซียที่จะสร้างประเทศให้เป็นชาติที่พัฒนาอย่างเต็มที่ในเวลา 26 ปี พื้นที่ตอนเหนือของป่าราจังถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ โครงการเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ "บาคุน" มูลค่าการลงทุน 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เพียงแต่ใช้ในประเทศเท่านั้น แต่จะขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

เขื่อนบาคุนจะสูงกว่าเขื่อนอัสวานในอียิปต์เกือบสองเท่า กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 2,400 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะถูกจ่ายไปยังภาคตะวันตกของมาเลเซียโดยสายเคเบิลใต้น้ำที่ยาวที่สุดในโลก คือยาวถึง 650 กิโลเมตรที่จะวางข้ามทะเลจีนใต้

ถึงแม้โครงการนี้จะมีขนาดมหึมาและมีอุปสรรคทางธรรมชาติอยู่มาก แต่ผู้รับเหมาก่อสร้างคือ "ติง เพค คิง" ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจป่าไม้ ก็อ้างว่าเขื่อนบาคุนจะเสร็จสมบูรณ์ จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในปี คศ. 2000

สำหรับมาเลเซียซึ่งเศรษฐกิจกำลังขยายตัว การแปรเปลี่ยนความฝันอันยิ่งใหญ่ให้เป็นความจริงไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ เมื่อ 3 ปีก่อนนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดได้ประกาศที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นชาติอุตสาหกรรมทันสมัยภายในปี 2020 ภายใต้นโยบายที่เรียกกันว่า "วิชั่น 2020" นี้ โครงการขนาดใหญ่หลาย ๆ โครงการได้เกิดขึ้นและดำเนินการอยู่ตอนนี้ ตัวอย่างเช่น

โครงการกัวลาลัมเปอร์ ซิตี้ เซ็นเตอร์ เป็นโครงการอาคารแฝดสูง 450 เมตรซึ่งจะเป็นตึกอาคารสำนักงานที่สูงที่สุดในโลก แต่ละตึกมี 85 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณที่ดินที่เคยเป็นสนามแข่งม้าเซลังงอร์ จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 1996 และจะรองรับคนได้ 50,000 คนที่อยู่ใกล้ ๆ กันคือ เมเนร่า กัวลาลัมเปอร์ ความสูง 420 เมตร ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วในปีหน้า จะเป็นหอคอยเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมที่สูงที่สุดของเอเชีย

สนามบินกัวลาลัมเปอร์แห่งใหม่ ซึ่งจะสร้างขึ้นบนพื้นที่ 10,000 เฮคเตาร์ที่เคยเป็นสวนยางและปาล์มน้ำมัน ตั้งอยู่ที่ "เซปัง" ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ 70 กิโลเมตรไปทางตะวันออกเฉียงใต้ โครงการระยะแรกซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 4 พันล้านเหรียญ จะเปิดใช้การได้ทันการเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาเครือจักรภพในปี 1998 แต่เป้าหมายระยะยาวของสนามบินแห่งนี้คือ ช่วงชิงความเป็นหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แข่งกับสนามบินชางกีของสิงคโปร์

โครงการรถไฟความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งระหว่างสนามบินกับเขตดาวทาวน์ของกัวลาลัมเปอร์ และเชื่อมต่อกับระบบรถไฟขนาดเบาในเขตเมืองซึ่งนักวางแผนหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองหลวงได้

โครงการสะพานข้ามช่องแคบยะโฮร์เชื่อมมาเลเซียกับสิงค์โปร์แห่งที่สอง รัฐยะโฮร์ซึ่งอยู่ใต้สุดของมาเลเซีย กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและจะอยู่ในขั้นพัฒนาอย่างเต็มที่เร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของประเทศถึง 10 ปีเต็ม ที่ปลายสะพานฝั่งมาเลเซียจะมีการสร้างเมืองบริวารแห่งใหม่ ส่วนเมืองยะโฮร์ บาห์รูซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ ก็วางแผนสร้างศูนย์กลางเมืองขึ้นด้วยการตอกเสาเข็มลงไปในทะเล ถัดจากถนนเลียบอ่าว

โครงการผลิตรถแห่งชาติคันที่สองหลังจากที่โปรตอน รถแห่งชาติคันแรกประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งไปแล้ว มาเลเซียก็จะเริ่มผลิตรถคันที่สองในไม่ช้านี้ โดยใช้รถ ไดฮัทสุ มิร่าเป็นต้นแบบ ซึ่งจะขายในราคาถูกกว่ารถโปรตอนรุ่นที่มีราคาต่ำสุดถึง 4,000 เหรียญสหรัฐ รถโปรตอนมียอดขายมากกว่า 500,000 คันในมาเลเซีย และมีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในประเทศ 75% อันเนื่องมาจากนโยบายคุ้มครองที่กำหนดกำแพงภาษีรถนำเข้าไว้สูงมาก มาเลเซียยังส่งรถโปรตอนออกไปขายในกลุ่มประเทศอาเซี่ยนและอังกฤษซึ่งขายดีมากในบรรดารถประเภทเดียวกัน

ในขณะที่มาเลเซียกำลังเดินหน้าเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 บรรดานักวิจารณ์ก็พากันตั้งคำถาม โดยเฉพาะกับโครงการเขื่อนบาคุนว่า นายกรัฐมนตรีมหาเธร์และติง ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างเขื่อนกำลังทำในสิ่งที่เกินกำลังความสามารถของตัวเองไปหรือเปล่า

ไม่ต้องสงสัยว่าการพัฒนาในกลุ่มอาเซี่ยนทำให้มีความต้องการพลังงานปริมาณมหาศาล เหตุการณ์ไฟดับทั่วประเทศมาเลเซียเมื่อสองปีก่อน สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมประมาณ 100 ล้านเหรียญ การตัดไฟเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในกัวลาลัมเปอร์ จนถึงเมื่อปีกลายนี้

รัฐบาลมาเลเซียบอกว่า หากมาเลเซียต้องการเป็นชาติพัฒนาภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ จะต้องผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 25,000 เมกะวัตต์ หรือมากกว่ากำลังการผลิตปัจจุบัน 4 เท่าตัว มหาเธร์อ้างว่าเขื่อนบาคุนจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 25% ของความต้องการ โดยไม่ต้องพึ่งพิงแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรอง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนโต้แย้งว่า ในระยะสั้น มาเลเซียจะมีไฟฟ้าเกินความต้องการเพราะว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนบางรายจะเริ่มเดินเครื่องได้ภายในปีนี้ บริษัทพลังงานแห่งชาติของมาเลเซีย "เทนากา เนชั่นแนล" มีสัญญาซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเหล่านี้เป็นเวลา 21 ปี ในขณะที่เขื่อนบาคุนมีอายุการใช้งานเพียง 35 ถึง 50 ปีเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของมาเลเซียถึงจุดสูงสุด เขื่อนบาคุนก็ถึงเวลาปลดระวางแล้ว

"เขื่อนบาคุนทั้งมาก่อนกาล 20 ปี และเกิดขึ้นสายเกินไป 20 ปี" ผู้บริหารกิจการพลังงานชาติตะวันตกรายหนึ่งกล่าว

นอกจากนั้นยังมีคำถามต่อบริษัท "เอคราน" ของติงว่า จะมีเงินทุนและความชำนาญพอที่จะสร้างเขื่อนได้หรือไม่ เพราะเอครานไม่เคยทำโครงการเช่นนี้มาก่อนเลย

เชอร์ลี่ย์ เท นักวิเคราะห์แห่งบริษัทหลักทรัพย์ เอช. จี เอเชีย (มาเลเซีย) บอกว่า "โครงการนี้คงจะเดินหน้าต่อไป เพราะได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีแต่ขนาดของโครงการเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก"

ผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่ง มีคนพื้นเมืองที่เรียกว่า "โอ รัง อูลู" มากกว่า 8,000 คน แยกกันอยู่ตามชุมชน 15 แห่งในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนซึ่งจะต้องอพยพออกไปจากผืนดินที่ใช้เลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคนแล้ว เอครานจะได้เป็นเจ้าของป่าไม้รอบ ๆ ที่สร้างเขื่อนซึ่งมีมูลค่า 400 ล้านเหรียญ นักสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังเสนอว่า น้ำ 44 พันล้านลูกบาศก์เมตร ที่เก็บกักไว้จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ด้วย

ติงโต้กลับว่า พื้นที่ที่น้ำท่วมคิดเป็น 0.01% ของแผ่นดินซาราวักทั้งหมดเท่านั้นเขาเสริมด้วยว่า "แน่นอนว่า เราจะไม่สร้างสิ่งที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์"

เป็นเรื่องตลกที่ โครงการเขื่อนบาคุนซึ่งได้รับการเสนอเป็นครั้งแรกเมื่อ 13 ปีก่อน ถูกสั่งชะลอโครงการโดยตัวมหาเธร์เองในปี 1990 ตอนนั้นมหาเธร์ให้เหตุผลที่สั่งหยุดโครงการนี้ว่า "เพื่อพิสูจน์ว่า มาเลเซียให้ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม" พอมาถึงวันนี้เขาบอกว่า "โครงการนี้ถึงเวลาเกิดแล้ว"

แม้ว่าจะมีข้อถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้มหาเธร์คงจะไม่เปลี่ยนใจ นายกรัฐมนตรีวัย 68 ปีผู้นี้ ไม่ค่อยจะใส่ใจกับฝ่ายค้านทั้งในและนอกประเทศ และไม่เคยกลัวที่จะทำงานที่คนอื่น ๆ คิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ บุคลิกภาพเช่นนี้ทำให้นักให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า มหาเธร์จะทำนโยบาย "วิชั่น 2020" ให้เป็นจริงได้ และถ้าสำเร็จ มาเลเซียก็จะปรับเปลี่ยนตัวเองจากอาณานิคมของอังกฤษที่ถูกคุมคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ มาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายในเวลาเพียง 60 ปีเศษเท่านั้น

อังกฤษแผ่อิทธิพลเข้ามาในคาบสมุทรมาเลย์ครั้งแรกเมื่อ ฟรานซิส ไลท์ควบคุมเกาะปีนังได้ ในปี 1786 อีก 40 ปีต่อมาเขาก็ได้รวมสิงค์โปร์ ปีนัง และมะละกาขึ้นเป็นดินแดนอาณานิคม จนกระทั่งปี 1896 รัฐบาลอังกฤษได้สถาปนาอาณานิคมนี้อย่างเป็นทางการในชื่อว่า "สหพันธรัฐมาเลย์" (FEDERATED MALAY STATES) ส่วนซาราวักอยู่ภายใต้การปกครองของพวก "ราชาผิวขาว" (WHITE RAJAHS) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่นักผจญภัยชาวอังกฤษชื่อ เจมส์ บรู้ค ตั้งขึ้นมา มีอำนาจปกครองในเมืองคูชิง จากปี 1841 จนถูกญี่ปุ่นบุกตอนสงครามโลกครั้งที่สอง

ก่อนหน้าศตวรรษที่ 19 กิจการเหมืองแร่รุ่งเรืองมากที่สุด และโรงถลุงแร่ดีบุกก็เป็นอุตสาหกรรมทันสมัยอย่างแรกของอาณานิคมนี้ คนจีนที่อพยพเข้ามาทุกคนใฝ่ฝันที่จะเลียนแบบความสำเร็จของ "ล้กยิว"ซึ่งมาถึงมาเลเซียในขณะที่มีอายุแค่ 13 ปี โดยไม่มีเงินติดตัวแม้แต่เพนนีเดียว แต่เขาก็ไต่เต้าจากกุลีจนกลายเป็นมหาเศรษฐีในอุตสาหกรรมแร่ดีบุก

อีก 100 ปีถัดมา ในช่วงที่มาเลเซียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 8% ติดต่อกันห้าปี อุตสาหกรรมแร่ดีบุกก็ร่วงโรยจนถึงจุดต่ำสุด ในขณะที่ถนนสำคัญของกัวลาลัมเปอร์มีชื่อว่า ล้ก ยิว เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความยิ่งใหญ่ของเขา แต่ฮีโร่คนใหม่ในวงการธุรกิจมาเลเซียเป็นนักธุรกิจอย่าง "ทาจุดิน แรมไล" อายุ 48 ปี ซึ่งเป็นเด็กมาเลย์ยากจนจากหมู่บ้าน "เคดาห์" แต่ปัจจุบันคือเจ้าของอาณาจักรโทรคมนาคมข้ามชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาเพิ่งตกลงใจซื้อหุ้น 32% ของมาเลเซี่ยน แอร์ไลน์

เส้นทางชีวิตของทาจุดินจากหมู่บ้านชนบท จนถึงห้องทำงานผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี รีซอสเซส อินดัสตรีส์ ในเวลาเพียง 25 ปี ก็คือภาพสะท้อนการพัฒนาของมาเลเซียด้วยเช่นกัน

ในปี 1969 สิบสองปีหลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ความขัดแย้งในเรื่องสีผิวและเผ่าพันธุ์รุนแรงจนกลายเป็นการจลาจล ที่คร่าชีวิตคนนับร้อย สมัยนั้นอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในมือคนจีนขณะที่คนมาเลย์และชนพื้นเมืองอื่น ๆ ที่มีชื่อเรียกว่า "ภูมิปุตรา" หรือ "ลูกชายของแผ่นดิน" มีโอกาสแค่เป็นข้าราชการรายได้ต่ำหรือเกษตรกร

การจราจลที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลมาเลเซียแก้ไขปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่าง คนจีนกับคนพื้นเมือง ด้วยการสร้างนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (NEW ECONOMIC POLICY-NEP) ซึ่งมีเป้าหมายขจัดความยากจน และเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของคนเชื้อสายมาเลย์

นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ต้องการให้คนมาเลย์มีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจ 30% ของกิจการเอกชนในมาเลเซีย ตอนที่ใช้นโยบายใหม่ ๆ นั้น พวก "ภูมิ" มีสัดส่วนความเป็นเจ้าของไม่ถึง 3% ถึงแม้ว่าตอนนี้ พวกเขาจะเป็นเจ้าของกิจการเพียงแค่ 20% คนอย่างเช่นทาจุดินก็พอใจกับความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ เขาบอกว่าทุกวันนี้มีนักธุรกิจชั้นนำที่เป็นพวกภูมิปุตราเกิดขึ้นมากมายราวระลอกคลื่น

ทุนหนทุกแห่งจากโคตา คินาบารูจนถึงเคดาห์ชนชั้นกลางที่ร่ำรวยมีบ้านอยู่ มีรถขับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะแต่คนมาเลย์เชื้อสายจีนหรือคนอินเดียที่เป็นชนกลุ่มน้อยเท่านั้น ยังรวมถึงพวกภูมิปุตราซึ่งในอดีตเคยยากจนด้วย

ฮาโรลด์ เคร้าช์ ผู้ติดตามศึกษามาเลเซียแห่งสถาบันวิจัยแปซิฟิคและเอเชียศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า "ในทศวรรษ 1960 ไม่มีชาวชนบทของมาเลเซียคนไหน ฝันว่าลูกหลานของตนจะได้เป็นข้าราชการหรือหมอ คนมาเลย์ที่มีโอกาสขับรถจะมีก็แต่พวกที่ทำงานเป็นโชเฟอร์เท่านั้น"

แต่ทุกวันนี้ ชนชั้นกลางมาเลย์สามารถจ้างคนขับรถได้ บางคนก็ชอบขับรถด้วยตนเอง รถที่พวกเขานิยมใช้คือ เมอร์ซิเดส เบนซ์, บีเอ็มดับบลิว และฮาร์เลย์-เดวิดสัน

ความมั่งคั่งของคนมาเลเซียรุ่นใหม่จะเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ของมหาเธร์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเริ่มรู้สึกกังวลใจด้วย บางครั้งคนมาเลเซียจะเปรียบเทียบย่านดาวทาวน์ของกัวลาลัมเปอร์ที่เรียกว่า "โกลเด้น ไทนแองเกิ้ล" กับถนนออร์ชาร์ดของสิงค์โปร์ ที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่รอบ ๆ ห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่น ร้านเสื้อผ้าดีไซน์เนอร์และโรงแรมใหญ่ ๆ ปรากฏการณ์ในย่านนี้เองที่เป็นทั้งสิ่งที่ชี้ให้เห็นความมั่นใจของมาเลเซียในการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และภาพสะท้อนทัศนคติในการดำเนินชีวิตที่มหาเธร์เชื่อว่า อาจจะทำให้ย่างก้าวที่ว่านี้ต้องสะดุดลง

ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็คือ การช้อปปิ้งแบบไม่เลิกถ้ายังมีแรงเดินต่อของคนมาเลเซียทั้งที่เป็นพวกภูมิปุตรา คนเชื้อสายจีนและอินเดีย ในขณะที่วัยรุ่นก็จะจับกลุ่มกันอยู่ตามคอฟฟี่ชอปและริมทางเท้า

คนมาเลเซียมีคำพื้นเมืองที่เรียกพฤติกรรมของวัยรุ่นพวกนี้อย่างดูแคลนซึ่งมีความหมายว่า "เถลไถล" แม้ว่าจะไม่เป็นภัยต่อใคร แต่มหาเธร์ก็เป็นห่วงต่อการใช้ชีวิตแบบนี้ เขาเตือนชาวมาเลเซียจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของตัวเองในการ "พลิ้วตัวหลบหมัด ตั้งการ์ดกันคางอย่างรัดกุม และโยกตัวไปข้างหลัง ในสภาพที่พร้อมต่อการต่อสู้มากกว่านี้"

เขากล่าวเสริมว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะความสำเร็จและความมั่นคั่งจะบ่อนทำลายเรา ทำให้เราอ่อนปวกเปียก" มหาเธร์กล่าวว่า หาก "วัฒนธรรมเถลไถล" ยังคงดำเนินต่อไป วิชั่น 2020 จะไม่เป็นจริง

ความกลัวของมหาเธร์เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ ? อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียระหว่าง ค.ศ. 1970-1990 อยู่ในระดับเฉลี่ย 6.7% ต่อปี การจะบรรลุเป้าหมายวิชั่น 2020 จะต้องมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีละ 7% เมื่อเดือนมิถุนายน เมอร์ริลลินช์ คาดการณ์การเติบโตในปี 1994 ว่าเท่ากับ 10% ปัจจัยที่ทำให้เขาขยายตัวมากก็คือ ปริมาณการบริโภคภายในประเทศที่สูงกว่าการคาดหมาย

ไม่มีแผนการระยะยาวใดจะสามารถประเมินความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาของเศรษฐกิจโลกได้ โรเบิร์ต ก๊วก นักธุรกิจน้ำตาล โรงแรมและสื่อที่รวยที่สุดในมาเลเซียกล่าวว่าเขาเชื่อว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจของวิชั่น 2020 เป็นไปได้ แต่ก็เสริมต่อว่า "หนทางข้างหน้าจะยาวไกลและยากลำบาก"

ปัจจุบัน มาเลเซียจัดว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว โดยเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่ใช้ในการแพทย์ ถุงยางอนามัย และผู้ประกอบชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อ 15 ปีก่อน 60% ของสินค้าออกจากมาเลเซียคือสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ทุกวันนี้ 71% เป็นสินค้าอุตสาหกรรม

ทว่ามาเลเซียก็ยังมีปัญหาใหญ่อยู่ การเติบโตที่รวดเร็วและต่อเนื่องทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ เควิน ชิว นักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ เดโซเอต เต เวด ซีเคียวริตีส์ ในกัวลาลัมเปอร์โยนปัญหานี้ให้เป็นความผิดของระบบการศึกษาที่รับมาจากอังกฤษ

"ตอนนี้ระบบการศึกษากำลังเปลี่ยนหันไปทางระบบแบบเยอรมนีมากขึ้น คือเน้นในเรื่องของเทคนิค มากกว่าการฝึกอาชีพ แต่ต้องใช้เวลาสักพักจึงจะเห็นผล" ชิวกล่าว เขายังแสดงความกังวลต่อการที่การส่งออกของมาเลเซียยังพึ่งพิงสินค้าอิเล็คโทรนิคส์ และสิ่งทอถึง 60% มาเลเซียต้องการขยายการลงทุนทางด้านงานวิจัยและพัฒนา แม้จะยังมีความเห็นไม่ตรงกับญี่ปุ่นในเรื่องระยะเวลาและขั้นตอนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี่

ชิวเชื่อว่า อนาคตของมาเลเซียอยู่ที่อุตสาหกรรมไฮเทค ใช้เงินทุนมาก ๆ อย่างสินค้าอิเล็คโทรนิคส์และอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ทันสมัย กับอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในประเทศที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ มาเลเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก และผลิตยางพารามากเป็นอันดับสาม "เราสามารถนำยางพารามาทำอะไรได้เป็นล้าน ๆ อย่าง" ชิวกล่าว

ธุรกิจที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นตัวสร้างรายได้สำคัญอีกธุรกิจหนึ่งคือ การท่องเที่ยว มาเลเซียใช้เงินทุนกว่า 200 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาธุรกิจแขนงนี้ โดยหวังว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวคือมีจำนวนปีละ 20 ล้านคน มาเลเซียเป็นประเทศที่เป็นจุดหมายสำหรับการช้อปปิ้งเป็นอันดับสามของเอเชียรองจากฮ่องกง และสิงคโปร์

ในประเทศซึ่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว การก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มหาศาล ทางหลวงเหนือ-ใต้ (NORTH-SOUTH HIGHWAY) ที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทำให้สามารถขับรถจากสิงคโปร์ไปถึงชายแดนไทยได้ในเวลา 8 ชั่วโมง ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมทางฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย ขณะนี้กำลังมีการพูดถึงการสร้างถนนทางฝั่งตะวันออกซึ่งยังไม่ค่อยจะพัฒนา

ฟรานซิส เยียว วัย 40 เจ้าของบริษัท วายทีแอล และผู้แสดงความนิยมชมชื่นมหาเธร์อย่างออกนอกหน้า ได้ฉกฉวยโอกาสนี้ในกิจการท่องเที่ยวและโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน วายทีแอลเป็นเจ้าของบริการเดินรถไฟท่องเที่ยว "อีสเทอร์น" และ "โอเรียลทัล เอ็กซ์เพรส" ซึ่งวิ่งระหว่างสิงคโปร์กับกรุงเทพ แต่ธุรกิจหลักของการสร้างฐานทัพให้กองทัพอังกฤษเมื่อทศวรรษ 1950 ในปี 1992 วายทีแอลเป็นเอกชนรายแรกที่ได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลในการสร้างและบริหารโรงไฟฟ้า ดูเหมือนว่าเยียวจะไม่ทุกข์ร้อนกับโครงการเขื่อนบาคุนที่จะทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ เขากล่าวว่า "กระแสไฟฟ้าจะทำเงินนับพันล้านดอลลาร์ในศตวรรษหน้า"

วิชั่น 2020 ของมหาเธร์ไม่ได้มีแต่เรื่องเศรษฐกิจและเทคโนโลยี่เท่านั้น เขาบอกว่า มาเลเซียจะต้องพัฒนาในทุกมิติ "ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ"

ในขณะที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศพยายามควบคุมจำนวนประชากร รัฐบาลมาเลเซียกลับสนับสนุนการเพิ่มจำนวนพลเมืองอย่างรวดเร็วเพื่อขยายการพัฒนา รองนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ทายาททางการเมืองของมหาเธร์ ซึ่งอยู่ในวัย 46 ปีมีลูกห้าคน มหาเธร์คาดการณ์ว่าเมื่อถึงกลางศตวรรษหน้า พลเมืองจะเพิ่มจาก 19 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 70 ล้านคน

แม้มาเลเซียจะมีความมั่งคั่งและมีขนาดของประชากรในระดับเดียวกับประเทศในโลกที่หนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรับเอาคุณค่าแบบตะวันตกมาด้วย มหาเธร์นั้นไม่เคยนิยมชมชอบสังคมแบบตะวันตกที่เขาเห็นว่าเต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้าย

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ภาษาอังกฤษถึงแม้ว่าภาษามาเลย์จะยังคงเป็นภาษาทางราชการอยู่ แต่มหาเธร์ใน ค.ศ. นี้ กลับมาย้ำถึงความจำเป็นที่คนมาเลย์จะต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ

และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนของมหาเธร์ มาเลเซียในศตวรรษหน้าจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาสำหรับนักศึกษาจากประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า โดยเฉพาะจากประเทศอิสลาม และเป็นศูนย์กลางธุรกิจสื่อ รองรับกิจการสิ่งตีพิมพ์จากฮ่องกงที่คาดว่าจะถอนตัวออกมาหลังจากฮ่องกงตกเป็นของจีนในปี ค.ศ. 1997

อย่างไรก็ตามความฝันที่จะดึงธุรกิจสื่อมาอยู่ที่นี่คงเป็นจริงยาก เพราะตัวมหาเธร์เองอ่อนไหวมากต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนตะวันตก และยืนยันที่จะคงการเซนเซอร์อย่างเข้มงวด

เมื่อถึงจุดเปลี่ยนศตวรรษ หรือบางทีอาจจะเป็นหลังการเลือกตั้งปีนี้หรือปีหน้าเป็นไปได้ว่ามหาเธร์จะส่งมอบอำนาจให้กับอันวาร์ อันวาร์เคยถูกมองว่าเป็นอิสลามหัวรุนแรง แต่ปัจจุบันภาพของเขาในสายตาคนมากมายกลับเป็นผู้นำที่มีความแข็งกร้าวน้อยกว่ามหาเธร์เสียอีก ถึงแม้จะยึดมั่นต่อนโยบายวิชั่น 2020 แต่อันวาร์ก็แสดงตัวหลังจากที่ขึ้นสู่ตำแหน่งหมายเลขสองเมื่อปีที่แล้วว่า เขาไม่ได้เป็นเพียงมหาเธร์น้อยเท่านั้น เพราะว่า "กาลเวลาได้เปลี่ยนไปแล้ว"

แน่นอนว่ากาลเวลากำลังเปลี่ยนแปลงสำหรับลูกหลานของชนเผ่านักล่าหัวมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนบาคุนพวกเขามีท่าทีที่ต่าง ๆ กันต่อโครงการนี้ บางคนต่อต้านโดยเปิดเผย บางคนคัดค้านการถูกปิดหูปิดตาจากกฎหมายเกี่ยวกับความลับของรัฐบาลที่กีดกันไม่ให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยของโครงการนี้

ขณะที่บางกลุ่มสนับสนุนการสร้างเขื่อน ชนรุ่นใหม่มองเห็นการมีงานทำและโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ "เบลากา" ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้พื้นที่สร้างเขื่อนมากที่สุด จะบูมขึ้นมาทันทีทันใด แต่กระบวนการพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าจะทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมให้สูญหายไป พร้อมกับพื้นที่ป่า 80,000 เฮคตาร์ และสัตว์บางชนิด ไลฮาน อะฮาง หัวหน้าเผ่าลอง มูรุม อายุ 70 ปี กล่าวว่า "เราไปที่หลุมฝังศพและพูดกับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ท่านบอกว่าเป็นสิ่งเลวร้ายมากที่ต้องลงไปอยู่ก้นทะเลสาบ"

ในการเปิดตัวโครงการเขื่อนบาคุนเมื่อเดือนมกราคม มหาเธร์ยอมรับว่า "ความเจริญรุ่งเรืองมีราคาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องจ่ายบ้าง" บางทีความท้าทายในเรื่องเทคนิค ปัญหาด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นการทดสอบครั้งยิ่งใหญ่สำหรับการเริ่มต้นศตวรรษใหม่ของมาเลเซีย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us