|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ไขปมภาษีสรรพสามิต รัฐบาลทักษิณ แฝงวาระซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ธุรกิจมือถือในสังกัด สร้างแต้มต่อให้เหนือรายใหม่ ด้วยระบบภาษี ซ่อนเป้าหมายแปรสัญญาสัมปทาน หรือรัฐถังแตกต้องการหาเงินเข้าคลัง นักวิชาการชี้ภาษีสรรพสามิตผิดตั้งแต่คิด ทางรอดต้องแก้กม.โทรคมนาคม ล้างไพ่ใหม่ โดยเฉพาะควรยุบกทช.และกสช.เหลือองค์กรเดียว เพื่อทำให้สามารถกำกับดูแลและทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้ทันเวลา
จากกรณีที่กระทรวงไอซีที เตรียมเสนอการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตส่วนบริการโทรคมนาคม ตามมติครม.เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ระบุให้บริษัท ทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคม สามารถให้ผู้ประกอบการเอกชนคู่สัญญาหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจาก ส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องนำส่ง ทีโอที และ กสทในอัตราส่วน 10% ของโทรศัพท์มือถือ และ 2% ของโทรศัพท์พื้นฐานโดยจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ โดยเสนอให้เอกชนคู่สัญญาทุกรายเป็นผู้จ่ายภาษีสรรพสามิตเองพร้อมปรับลดอัตราภาษีในกลุ่มโทรศัพท์มือถือจาก 10% ให้ลดน้อยลง และจะไม่ให้ผู้ประกอบการเอกชนนำภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นผลักภาระในรูปการขึ้นค่าบริการกับประชาชนซึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2550 ผู้ประกอบเอกชนทุกราย จะต้องดำเนินตามโครงสร้างรูปแบบภาษีสรรพสามิตใหม่ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดขึ้น
การเก็บภาษีสรรพสามิต ส่วนบริการโทรคมนาคมในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้นท่ามกลางความคลางแคลงใจของคนในสังคม ว่าเป้าหมายหลักเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเป็นเพราะรัฐถังแตกต้องการหาเงินเข้าคลัง หรือใช้เป็นเงื่อนไขสร้างแต้มต่อให้เอกชนรายเดิมที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเหนือกว่าผู้ประกอบการรายใหม่เช่นนั้นหรือ
ถึงแม้เหตุผลเบื้องหน้าจะอธิบายความว่าเป็นเพียงการโอนย้ายการส่งจ่ายเงินเข้ารัฐจากเดิมต้องผ่าน ทีโอที(องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย)หรือกสท(การสื่อสารแห่งประเทศ ไทย) มายังกระทรวงการคลังเหมือนส่งถึงมือโดยตรงในรูปภาษีสรรพสามิตจากเดิมส่งเก็บเข้ากระเป๋าไว้ก่อน แล้วส่งต่อไปให้อีกทอดหนึ่ง
รวมทั้งเป็นการดำเนินการล่วงหน้าไว้เพื่อรอคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยการหักส่วนแบ่งรายได้เอกชนก่อน ก็เพราะลดบทบาทการกำกับดูแลของทีโอทีและกสท ที่เดิมเป็นทั้งผู้เล่นและผู้คุมกฏ ให้เหลือเพียงผู้เล่น ดังนั้นส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับก็ต้องลดลง และกลายเป็นภาษีสรรพสามิตส่งให้รัฐโดยตรง
ในขณะเดียวกันยังมีบางมุมมองของกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักกฎหมาย กลุ่มนักเคลื่อนไหวถึงการออก พรก. แก้ไขภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติม ฉบับนี้ มีเรื่องของการเอื้อผลประโยชน์ ให้กับกลุ่มทุน โดยเฉพาะกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น และเอไอเอส ที่เหมือนเจตนาแอบแฝงในการที่จะแก้ไขสัญญาสัมปทานของรัฐและผลักภาระให้กับประชาชนในการใช้ค่าบริการโทรศัพท์ เหมือนสินค้าฟุ่มเฟือย โดยทุกฝ่ายเห็นว่า การออก พรก.ฉบับนี้อดีตนายกฯทักษิณ และคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบเหมือนมีวาระซ่อนเร้น จากที่ชี้แจงออกมาว่าการเปลี่ยนชำระจ่ายจากค่าสัมปทานเป็นชำระจ่ายในรูปภาษีสรรพสามิต ประเทศชาติหรือรัฐอาจได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีกว่าเดิมก็เป็นได้ เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งรายได้ รวมถึงการเติบโตทางธุรกิจในจำนวนผู้ใช้บริการ
ชี้เลิกกม.โทรคมนาคม
นายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารโทรคมนาคม กล่าวว่า การออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมภาษีสรรพสามิตฯที่ให้มีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตโทรศัพท์มือถือกับโทรศัพท์พื้นฐานที่จะปรับเปลี่ยนการเก็บค่าสัมปทานจากภาคเอกชนที่ได้รับ มาเป็นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบางส่วนถือเป็นแนวทางที่ผิดตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ จะต้องใช้กับบริการที่ฟุ่มเฟือย มีผลกระทบต่อสังคม ไม่ใช่เรื่องของบริการด้านพื้นฐาน ซึ่งไม่รู้ว่า รัฐบาลในช่วงนั้นมีแนวคิดในลักษณะนี้ได้อย่างไร กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดส่งรายได้ให้กับหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับเอกชน
“มันผิดตั้งแต่ที่คิดแล้ว ในการจะเอาเรื่องของบริการที่ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย มาเป็นของฟุ่มเฟือย มันผิดวัตถุประสงค์ในการที่จะเรียกเก็บเป็นภาษีสรรพสามิตถึงแม้จะเป็นเจตนาที่ไม่ให้มีการแปรสัญญาของรัฐกับเอกชนให้เกิดขึ้น หรือ เป็นช่วงสุญญากาศ ในระหว่าง ที่ยังไม่มีกทช.”
ส่วนการที่รัฐบาลในยุคนี้ จะเข้ามาแก้ไข ด้วยการจะยกเลิกเรื่องดังกล่าวเพื่อที่จะช่วยลดข้อกดดันเรียกร้องด้านต้นทุนการแข่งขันการเหลื่อมล้ำในข้อกฎหมายของรัฐ กับ พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม การประกาศใช้ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย(อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ หรือ ไอซี) และ การกำกับดูแลของกทช. ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สามารถดำเนินการได้ในการยกเลิก และเห็นควรด้วยอย่างยิ่ง แต่จะต้องหาทางออกในมุมอื่นๆด้วย โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐ แก่กลุ่มคู่สัญญา และ ปัญหาค่าเชื่อมต่อเลขหมาย กับ ค่าไอซีให้ชัดเจน และ ทุกฝ่ายยอมรับในข้อยุติ
สำหรับทางออกของโดยที่รัฐ ยังคงเป็นเจ้าของสัมปทานและการให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ตามแนวทางกำกับดูแล ของ กทช. คือ การ แก้ไขกฎหมายนอกเหนือจากการยกเลิกภาษีสรรพสามิต เพียงอย่างเดียว
เขากล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้รัฐต้องมีการทบทวนหรือตัดสินใจให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจาก กทช. ที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตในการเข้ามาเป็นผู้กำกับดูแล และความไม่ชัดเจนในการตีความในการกำกับดูแล ของ กทช.จากพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จนส่งผลให้ กทช. มีการใช้อำนาจในการกำกับดูแลเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2541
“เรื่องที่เกิดขึ้นคนที่ผิด คือ กทช. จนรัฐบาลต้องหาทางออกเรื่องนี้จากปมปัญหาที่สลับซับซ้อน และผลข้อกฎหมาย ข้อสัญญารัฐกับเอกชนที่มีต่อกันสิ่งที่คลายปมปัญหาให้ทุกฝ่ายไม่มีข้อพิพาทรัฐบาลจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาให้ไปสอดรับกับการกำกับดูแลของกทช.”
อย่างไรก็ตามหากจะให้ดีที่สุด คือต้องยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และ พ.ร.บ. ประกอบกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์แล้วดำเนินการใหม่ ให้มีพรบ. เพียงฉบับเดียว หรือ มีหน่วยงานกำกับดูแลจากสององค์กรให้เป็นองค์กรเดียว ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและกิจการวิทยุโทรทัศน์ ของประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงรับกับกระแสโลกได้ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกิจการวิทยุ และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ยังไม่มีผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ 7 คน ที่จะต้องมารวมกับ กทช.ในการเป็นคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่แห่งชาติโดยเรื่องนี้มีผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศไทยและประชาชนในการเป็นผู้ใช้ทรัพยากกรของชาติ ได้อย่างไม่เท่าเทียม
“ต่างประเทศ มีองค์กรกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและคลื่นความถี่เพียงหน่วยงานเดียว แต่บ้านเรามีถึง 2 หน่วยงาน ที่ทับซ้อนกัน ซึ่งหากขาดองค์กรหนึ่งไป กลไก ที่จะเข้ามากำกับดูแลก็มีช่องว่างและทำให้ประเทศไม่สามารถขับเคลื่อนไปตามทิศทางของโลกได้ อย่างเรื่องมือถือระบบ 3G การบรอดแคสในลักษณะดิจิตอล การคอนเวอร์เจนเทคโนโลยี บริการโทรคมนาคมกับวิทยุหรือโทรทัศน์”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.ได้ให้ความเห็น ถึงแนวทางที่รัฐบาล ในช่วงที่ได้ออก พ.ร.ก. แก้ไข ภาษีสรรพสามิตในช่วงนั้นพร้อมแยกประเด็นไว้ 4 หัวข้อกล่าวคือ
1.การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการในการจัดหารายได้ให้รัฐ ดังที่กล่าวอ้างไว้ในเหตุผลของการประกาศใช้ พ.ร.ก.เพราะได้มีการอนุญาตให้นำส่วนที่จ่ายเป็นภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมไปหักลดส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้หน่วยงานของรัฐตามสัญญาร่วมการงานถือว่ามิได้เป็นการเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติแต่อย่างใด
2.ภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมก็ไม่ใช่ภาษีสรรพสามิตเพราะมิใช่เจตนาของรัฐในการเรียกเก็บภาษีเพื่อจำกัดการบริโภคที่ไม่จำเป็น ไม่พึงประสงค์หรือก่อภาระแก่สังคม หรือรัฐแต่ประการใด แต่แท้จริงแล้ว รัฐบาลต้องการแปลงส่วนแบ่งรายได้ของรัฐจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยเรียกใหม่ว่า "ภาษี" ยิ่งไปกว่านั้น การเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมนี้ กลับมีลักษณะเป็นการเรียกเก็บค่าอากรตอบแทนการที่รัฐให้บริการหรือสิทธิพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใดจากผู้ได้รับบริการหรือสิทธิพิเศษนั้นซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอนุญาตหรือค่าตอบแทนใบอนุญาตจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอันเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทช.มิใช่รัฐบาล
3.แม้บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จะได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มีอำนาจรักษาการตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแต่โดยหลักการแล้ว ผู้รักษาการย่อมต้องไม่ริเริ่มแนวทางปฏิบัติที่เป็นของใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่สร้างกลไกที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระผู้มีอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงเพราะเมื่อกทช.เริ่มปฏิบัติหน้าที่ย่อมติดขัดไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขส่วนสำคัญได้ไม่สามารถปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้กับรายใหม่เพื่อส่งเสริมการแข่งขันได้เต็มที่เพราะรัฐบาลย่อมอ้างได้ว่าเป็นการเก็บภาษีสรรพสามิตตามประมวลกฎหมาย พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2546การจะปรับเพิ่มหรือลดอัตราภาษีเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารมิใช่ กทช. การตราพ.ร.ก.เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตให้รัฐบาลมีอำนาจจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใบอนุญาตโดยเรียกว่า "ภาษีสรรพสามิต" จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
4.การกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตให้กระทรวงการคลังในอัตราเดียวกันทุกรายทั้งที่ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษใดๆ จากรัฐมาก่อนเลย ในขณะที่ผู้ประกอบการเดิมซึ่งรับสัมปทานจากรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้รับสิทธิพิเศษจากสัญญาร่วมการงานมากมาย เช่น การได้รับคลื่นและเลขหมายโทรคมนาคมโดยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายการได้สิทธิผูกขาดในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งช่วยสร้างฐานลูกค้าขนาดใหญ่พัฒนาเครื่องหมายการค้าและบริการของตน นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายเดิมยังไม่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีที่ตราขึ้นใหม่เพราะสามารถนำไปหักลดจากค่าแบ่งส่วนรายได้ที่ต้องจ่ายให้องค์การโทรศัพท์ฯ ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ซึ่งไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์กลับต้องร่วมรับภาระในการชดเชยส่วนแบ่งรายได้ตามสัมปทานเดิมในรูปภาษีสรรพสามิตและหากในอนาคตมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 50 ตาม
พ.ร.ก.ฉบับนี้ก็จะเท่ากับว่าเป็นการยกเลิกการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาร่วมการงานให้กับบริษัทโทรคมนาคมรายเดิมโดยปริยาย
นางรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนกลุ่มผู้บริโภค กล่าวว่ารัฐบาลจะควรจะหาทางออกให้ดีที่สุด ในเรื่องการแปรสัญญาและการดูแลทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติที่มีผลต่อประชาชน โดยที่ประชาชนยังคงได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมสามารถใช้บริการได้อย่างมีคุณภาพ และไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ ซึ่งบางจุดรัฐบาลควรจะตระหนักถึงประโยชน์ของรัฐที่ยังคงมีสิทธิ และเป็นเจ้าของ
ไม่ใช่ให้กลุ่มผู้ประกอบการ บางรายที่ยังมีความไม่ชัดเจนถึงการเป็นนิติบุคลต่างด้าวหากรัฐบาลหาทางออกยุติปัญหาไม่ถูกทาง ประเทศไทยอาจจะเสียทรัพยากรอันเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ไปยังกลุ่มธุรกิจทุนจากต่างประเทศ
|
|
 |
|
|