Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2537
"72 ปี ไออีซี วิญญาณพ่อค้าและมืออาชีพไม่ได้หายไปไหน"             
 

   
related stories

"เซอร์วิส โพรวายเดอร์ พีซีเอ็น 1800" จุดเปลี่ยนไออีซี

   
search resources

อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง, บมจ.
กนก อภิรดี
กิติรัต ศรีวิสารวาจา




เดือนสิงหาคม 2537 บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเอนจิเนียริ่งจำกัด(มหาชน) หรือ ไออีซี. จะมีอายุครบ 6 รอบ พิธีกรรมและการเฉลิมฉลองคงจะมีเป็นธรรมดาเช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างและทิศทางให้สอดคล้องกับยุคสมัย

ถ้าจะเปรียบ ไออีซี. เป็นดั่งชีวิตคน อายุขัย 72 ปีนับว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายรูปลักษณ์ ถ้าจะแบ่งยุคสมัยของบริษัทแห่งนี้ อาจกล่าวได้ว่ากำลังย่างก้าวเข้าสู่ยุคที่ 5

ยุคแรกนั้น ถือเป็นยุคคอนเนกชั่นต่างประเทศ ที่ธุรกิจได้มาจากฝรั่งในบรรยากาศและสไตล์การทำธุรกิจช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐมีบทบาทในภาคพื้นนี้สูง

ยุคที่สอง เป็นยุคของผู้บริหารคนไทย ที่มีความคิดอนุรักษ์นิยม เน้นสะสมที่ดิน และอาศัยเครือข่ายสายสัมพันธ์ในการได้มาซึ่งธุรกิจ ส่วนราชการคือลูกค้าสำคัญ

ยุคที่สาม ปูนใหญ่ผงาด จะเห็นรอยต่อระหว่างการบริหารแบบเก่า กับการจัดการองค์การแบบสมัยใหม่ที่มีระบบบัญชี และการบริหารชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน เป็นยุคที่เริ่มกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่สินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่จะนำมาซึ่งการถอยห่างของผู้ถือหุ้นดั้งเดิมในกาลต่อมา

ยุคที่สี่ ยุคของการเก็บเกี่ยวผลกำไร หลังจากหลุดจากการเป็นกิจการในเครือปูนซิเมนต์ไทยโดยขายหุ้นให้กับฝ่ายจัดการ และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การคลำหาทิศทาง การปรับตัวมีอยู่ แต่ไม่เห็นผลในทางปฏิบัติในแง่ DIVERSIFICATION ที่แจ่มชัด

และยุคปัจจุบันที่หลายคนกำลังมุ่งเป้าไปสู่ ปี 2000 พร้อมกับการแตกตัวและจัดปรับโครงสร้างครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้น

ไออีซี : บริษัทค้าระหว่างประเทศชั้นนำในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย

หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าบริษัทชั้นนำด้านโทรคมนาคมอย่าง ไออีซี. มีสินค้าเริ่มแรกที่นำเข้ามาคือรถแทรกเตอร์ยี่ห้อ "เบส" สำหรับการสรร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เมื่อปี 2466

เฮอร์แมน เอฟ โชลทซ์ พระสหายสนิทของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ คือผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาที่ฟิลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกาและได้งานสร้างทางรถไฟเชื่อมกรุงเทพกัมพูชา เมื่อปี 2465 ในสมัยที่กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นเสนาบดีกระทรวงคมนาคม

โชลท์ จบปริญญาตรีวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยเคนตัคกี้และปริญญาโทสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล

เขาเข้ามาเปิดสำนักงานในกรุงเทพด้วยทุนเริ่มแรก 2 แสนบาท แต่ผลการดำเนินงานก่อสร้างทางรถไฟที่ประมูลได้นั้นขาดทุน เกือบจะต้องปิดบริษัททิ้งงานไป แต่ความที่เป็นบริษัทอเมริกันรายแรกในไทย สถานฑูตสหรัฐในไทยจึงเจรจากับธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีชาวอเมริกันเป็นผู้จัดการใหญ่ขณะนั้น ขอให้ช่วยปล่อยสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนจนโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ

(เรื่องกลัวเสียหน้านี้จะกลายเป็นเหตุผลในการต่อมาที่จะมีผู้เข้ามาอุ้มบริษัทนี้)

ไออีซี. ยุคนั้นขายสินค้าสารพัดอย่าง สินค้าของเวสติ้งเฮ้าส์ที่ยังอยู่มาจนทุกวันนี้นั้น ไออีซี. เป็นเอเย่นต์มาตั้งแต่ปี 2473 มีทั้งเครื่องทำน้ำแข็ง พัดลม และอุปกรณ์เครี่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในปี 2478 ไออีซี. สั่งสะพานเหล็กจากยูเอสสตีลมาขายให้การรถไฟ และสั่งเรือบินจากยูไนเต็ดแอร์คราฟท์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องชั่งจากแฟร์แบงกค์มอร์ส มาขายในไทยนอกจากนี้ยังมีรถแทรคเตอร์เวสต์ซิกตี้ (ต่อมาเปลี่ยน ชื่อเป็นแคตเตอร์พิลล่า) ปืนยาววินเชสเตอร์ หรือแม้แต่ประกันชีวิต ไออีซี. ก็เคยเป็นตัวแทนให้กับซิกน่าไลฟ์มาแล้ว

ในสมัยก่อนมีบริษัทอเมริกันทำการค้าอยู่ในประเทศไทยเพียง 2 แห่ง คือ ไออีซี (เจ้าแรก) และสแตนดาร์ดแวคคั่มออย แต่ไออีซีนั้นเป็นที่รู้จักกันในวงการค้าระหว่างพ่อค้าจีนว่า มุ่ยก๊กฮั๊ง (บริษัทอเมริกัน)

การที่ไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บริษัทต้องเข้าสู่ยุควิกฤติอีกเช่นกันเมื่อทรัพย์สินต่าง ๆ ถูกญี่ปุ่นโดยผ่านรัฐบาลไทยในตอนนั้นยึดไป

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ของบริษัท 2 คน คือ เทียม กาญจนจารีและประหยัด อังศุสิงห์ ได้ช่วยกันรื้อฟื้นกิจการใหม่ เริ่มจากการเป็นตัวแทนของยูไนเต็ดสเตทชิพปิ้งบอร์ด คุมเรือเดินทะเลของอเมริกันทั้งหมดและของชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาท่าเรือกรุงเทพฯ ระหว่างที่โชลทซ์อยู่ที่สหรัฐเพื่อเจรจาสะสางเรื่องทรัพย์สินที่ถูกญี่ปุ่นยึดไป

เทียมเคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ในตอนนั้นได้ค่าคอมมิชชั่นจากการเป็นเอเยนต์เรือของอิสต์เวสต์ไลน์ ซึ่งหน่วยงานสหประชาชาติเพื่อการฟื้นฟูและบูรณะ (UNRRA) ว่าจ้างให้ขนข้าวจากไทยไปจีน ตันละ 10 เซ็นต์ ทำให้มีเงินก้อนแรก 1,000 เหรียญฝากเข้าบัญชีของโชลทซ์ซึ่งเปิดไว้ที่สิงคโปร์ เป็นการเลี่ยงการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากขณะนั้นค่าเงินบาทอัตราทางการต่างจากตลาดมืดถึงเหรียญละ 8 บาท

ตลอด 9 ปีของการเจรจาขอทรัพย์สินคืนจากทางรัฐบาลไทย ไออีซี. ไม่ได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด ที่สุดเมื่อปี 2496 แกนนำทั้งสองคนของบริษัทสามารถจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทไทยโดยเอากำไรจากธุรกิจนายหน้าเปลี่ยนเป็นทุนเพื่อถือหุ้น 15 % และมี เจ. ดี. เวสเตอร์ตัวแทนของบริษัทไออีซีสหรัฐร่วมด้วยในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จุดหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวของเจ้าของ ผู้บริหารยุคแรก ๆ คือการใช้คนไทยในการทำงานและสร้างประสบการณ์ขึ้นมาจนทุกวันนี้ การประสบความล้มเหลวในการจ้างชาวอเมริกันเข้ามาทำงานในไทย ทำให้โชลทซ์ได้ใช้คนไทย และเปลี่ยนนโยบายส่งคนไทยเหล่านี้ไปฝึกงานกับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวแทนในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไออีซี. จึงเป็นบริษัทที่มีทรัพยากรบุคคลที่มีการศึกษาระดับเทคนิค และมหาวิทยาลัยจากทั้งในและต่างประเทศ

กิติรัต ศรีสารวาจา อดีตกรรมการผู้จัดการ ไออีซี. เป็นกรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งที่เริ่มต้นจากการเข้าไปฝึกอบรมที่เวสติ้งเฮ้าส์ในหลักสูตร GRADUATION APPRENTICESHIP

เขาเป็นบุตรของเทียนเลี้ยง ฮุนตระกูลหรือพระยาศรีวิสารวาจา ศิษย์เก่าดัลลิชจากอังกฤษ ซึ่งเป็นปลัดบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้เข้าไปช่วยเจรจาขอคืนทรัพย์สินให้โชลทซ์ เทียมและประหยัดจึงได้ขอให้กิติรัตเข้ามาทำงานที่นี่

ธุรกิจของ ไออีซี. เดินหน้าอย่างรวดเร็ว มีซัพพลายเออร์รายใหม่ ๆ เข้ามาอย่างโทรศัพท์ไอทีที (ปลายปี 2506) สินค้าของอาลูมิเนียมแห่งอเมริกา บีเอฟกู๊ดริชและสีของบริษัทกลิดเด้น เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือการเป็นเอเย่นต์รถขุดและรถแทรกเตอร์ แคตเตอร์พิลล่า ซึ่งเป็นไฮไลท์ของบริษัทเนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนราชการจึงเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของ ไออีซี. นอกเหนือจากเอกชนรายใหญ่และด้วยประเภทสินค้าที่มีขนาดใหญ่ต้องการพื้นที่เก็บรักษามาก การแสวงหาทำเลตามชานเมืองหรือจังหวัดหัวเมืองของกรุงเทพจึงเป็นการสร้างทรัพย์สินซ่อนรูปที่ส่งผลต่อสถานะของบริษัทในระยะต่อมาด้วย

การดิ้นรนภายในองค์กรมีอยู่ตลอดเวลา จากการผูกติดอยู่กับสินค้าอเมริกันเพียงอย่างเดียวและเจ้าเดิม ๆ ก็เริ่มเผชิญกับการแข่งขันทั้งจากบริษัทสัญชาติเดียวกันและจากที่อื่น ๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตลาดในไทยมากขึ้น อย่างเช่นยีอีซึ่งเข้ามาขายสินค้าแข่งกับเวสติ้งเฮ้าส์โดยตรง ได้กลุ่มกมลสุโกศลเป็นเอเย่นต์ให้ แม้จะขายดีแต่ไม่มีบริการหลังการขาย ยีอีจึงอยากเปลี่ยนให้ไออีซีทำตลาดให้

"คุณกิติรัตมาหารือกับคุณเทียม แต่แกย้อนถามว่าจะให้ผมเปลี่ยนนามสกุลเหรอ คือคุณเทียมรู้สึกว่าซัพพลายเออร์เหล่านั้น ทำให้แกอยู่มาได้จึงผูกพันกันไม่เอาสินค้าคู่แข่งอื่นเข้ามาขณะที่คุณกิติมองว่ายีอีแกรนด์กว่ามีสินค้ามากหมวดกว่า" พนักงานรุ่นแรก ๆ ใน ไออีซี. รายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ยังมีกรณีหลังจากนั้นที่สะท้อนความคอนเซอร์เวทีฟของผู้บริหารยุคแรกอย่างคุณเทียมที่จะว่าไปแล้วก็คือเถ้าแก่

"คุณกิตได้รับติดต่อจากคุณพงส์ สารสินว่าฮิตาชิอยากจะบุกไทย และอยากมาจับมือกับ ไออีซี. ซึ่งคุณกิตเองคิดว่าน่าจะเปลี่ยนไอทีที และขยายเข้าไปในด้านอุตสาหกรรมคือผลิตเองด้วย แต่คุณเทียมไม่เห็นด้วยบอกว่าเป็นสินค้าญี่ปุ่น แกผูกพันกับสินค้าอเมริกันมานาน แต่คุณกิตเห็นว่าอิทธิพลทางญี่ปุ่นในยุคหลังก็มีเหมือนกันจึงอยากกระจายความสัมพันธ์บ้าง แต่เถียงไม่ได้เพราะแกรวมศูนย์การตัดสินใจ" คุณกิตที่พนักงานคนเดิมพูดถึงก็คือกิติรัต

ช่วง เจ. ดี. เวสเตอร์เป็นกรรมการผู้จัดการนั้นเป็นยุคสงครามเย็นที่ความช่วยเหลือจากสหรัฐเข้ามามาก และไออีซี. มักจะได้ขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการประเภทนี้

"แกมีอิทธิพลในวงการอเมริกา สนิทกับพระองค์เจ้าภีศเดช และเป็นเสรีไทยด้วย แต่ต่อมาแกขายหุ้นกลับบ้านไป คุณเทียมกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 50% และที่สุดคุณประหยัดซึ่งร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันก็ต้องแยกตัวออกไปตั้งบริษัทใหม่คือเฮฟวี่ แมชีนเนอรี่ อิควิปเม้นท์ (HEC) มีชาลี โปษจินดาเป็นเจ้าของมาจนทุกวันนี้ เนื่องจากเห็นว่าคุณเทียมปล่อยการบริหารให้ตกอยู่ในมือลูกชายคนโตของแกคือคุณณัฐ (พลศักดิ์ กาญจนจารี) มากเกินไป และปล่อยให้สินค้าหลายตัวหลุดมือให้เจ้าอื่นไป"

เมื่อแนวคิดและแนวทางการบริหาร ไม่สามารถจะลงรอยเป็นที่ยอมรับกันได้แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจึงล่าถอย แยกตัวออกไปตั้งบริษัทใหม่ "ช่วงนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจขาดทุนมาก การก่อสร้างภาครัฐและเอกชนหยุดชะงัก ขายใหม่ก็ไม่ได้ เก็บหนี้เก่าก็ไม่หมด คุณณัฐเป็นต้นเหตุให้แคตเตอร์พิลล่าหลุดมือไปอยู่กับ บ. เมโทรแมชินเนอรีของทองไทรบูรพชัยศรี เมื่อปี 2519 แต่แกก็พยายามหาสินค้าตัวใหม่ ๆ มาแข่งกับแคตฯ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ฮาร์เวสเตอร์ และต่อมาเป็นเฟียตเอลิส แต่มาตรการปล่อยเครดิตและตัดราคากลับทำให้เกิดหนี้สูญนับร้อยล้าน ยิ่งเจอมรสุมน้ำมันแพงและลดค่าเงินบาท บริษัทจึงประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ทางออกทางเดียวคือต้องลดต้นทุนโดยเฉพาะการปลดคนงานซึ่งมีอยู่มาก แต่คุณเทียมไม่กล้าตัดเนื้อร้ายด้วยตัวเอง จึงตัดสินใจขายกิจการให้คนอื่น" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

กิติรัตเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "นโยบายของสำนักงานทรัพย์สินฯ และ ไออีซี. ตรงกันคือ ให้ความสำคัญเรื่องคนด้วย ตอนแรกคุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขณะนั้นยังชวนให้ผมร่วมซื้อกิจการนี้ด้วยคนละครึ่ง ผมเองยังคิดว่าอาจดึงคนอื่นเข้ามาช่วยกันได้ แต่มีข้อแม้ให้คุณพูนเพิ่มส่งลูกชายมาดูแลเป็นรองด้วย 1 คน ซึ่งปรากฏว่ามันเป็นไปไม่ได้ ที่สุดเกือบจะเหลวแล้ว คุณเทียมเอาหนี้สินและทรัพย์สินที่มีมากองดูกันทั้งหมดแล้ว ทางคุณพูนเพิ่มไปคุยกับปูนซิเมนต์ไทยและไทยพาณิชย์ ตอนนั้นมีคุณรัตน์ พานิชพันธ์ และคุณชุมพล ณ ลำเลียงแกดูแล้วบอกว่าน่าซื้อทันทีเพราะมีสินทรัพย์เยอะคุณชุมพลต้องเข้าไปเสนอคุณบุญมา วงศ์สวรรค์ ประธานปูนฯ ขณะนั้น และในที่สุดท่านก็เห็นชอบ"

ต้องไม่ลืมว่ากิติรัตซึ่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ไออีซี. นั้น มีบิดาที่สนิทกับพูนเพิ่มและกรรมการปูนฯ และมีอาที่ชื่อสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตกรรมการผู้จัดการปูนฯ ขณะเดียวกันบุญมา วงศ์สวรรค์นั้นก็รู้จักมักคุ้นกับพระยาศรีวิสารวาจาเช่นกัน

จึงเป็นที่มาของการเทกโอเวอร์ไออีซี. โดยปูนฯ เข้าไปซื้อก่อน 25% ที่เหลือเป็นหุ้นของทรัพย์สินฯ และไทยพาณิชย์ ปูนฯ ค่อย ๆ ทยอยเพิ่มหุ้นจนถึง 42%

"ผมคิดว่าท่านคงคิดว่า ไออีซี. เป็นบริษัทที่มีตราครุฑอยู่ จะปล่อยให้เจ๊งไม่ได้" อดีตคนปูนซิเมนต์ไทยรายหนึ่งที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นประเมินว่า การซื้อ ไออีซี. อาจจะเป็นเรื่องของ "คุณขอมา"

ไออีซี. นั้นได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นบริษัทในพระบรมราชานุญาตตั้งแต่ปี 2508

"ผมขายทรัพย์ของ ไออีซี. ออกไปไม่ถึง 20% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ ไออีซี มีอยู่โดยเงื่อนไขว่าทางปูนต้องรับหนี้สินส่วนตัวของผม 38 ล้านบาทที่ค้ำประกัน ไออีซี. ด้วยสรุปแล้วผมขายถูกมากหุ้นละ 1,200 บาทเท่านั้น" เทียมกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เมื่อหลายปีก่อน

หนี้สิน ไออีซี. มีอยู่ 100 ล้านบาท แต่มีรายการลูกหนี้การค้าที่มีปัญหาการชำระอยู่ถึง 300 ล้าน กระนั้น ไออีซี. ยังมีสินทรัพย์ที่ดีที่สุดคือที่ดิน 13 แปลง

ปูนฯ เทคโอเวอร์ : DIVERSIFICATION ครั้งสำคัญของ ไออีซี.

ปูนซิเมนต์ไทยนั้นเพิ่งจะเริ่มธุรกิจการค้าเมื่อปี 2521 เมื่อตั้งค้าสากลซิเมนต์ไทย ขานรับกับแนวคิดของภาครัฐและเอกชนชั้นนำสมัยนั้นที่หวังให้ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออก ทำการค้าระหว่างประเทศอย่างประเทศพัฒนาแล้ว คนผลักดันสำคัญในยุคนั้นคือสมหมาย ฮุนตระกูล ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยในครั้งกระนั้น แต่ประสบการณ์ตลอดมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก

เอาเข้าจริง หลาย ๆ บริษัทที่เกิดในช่วงหลังที่หวังจะทำให้ครบวงจรคือนอกจากส่งออกแล้วก็นำเข้าด้วย กลับเกิดขึ้นมาในสายการค้าแบบไม่ตั้งใจในลักษณะ "คุณขอมา" มากกว่าความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ตัวอย่างที่ชัดคือ ไออีซี. ที่ปูนซื้อเข้ามาเพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจของคนไทยเก่าแก่ไม่น่าจะปล่อยให้ล้มลงไป

ก่อนหน้าที่ปูนฯ จะรับซื้อกิจการนั้น ไออีซี. มีพนักงานประมาณ 600 คน และแม้จะพยายามลดจำนวนคนลงไปบ้างแล้วเหลือ 400 คน แต่เมื่อปูนฯ เข้ามาก็เอกคนออกเหลือ 100 กว่าคน และมีคนปูนเข้ามากุมการบริหารในส่วนต่าง ๆ

"คนปูนทำงานเป็นระบบ CLAR-CUT คุณเทียมหลุดจากการเป็นผู้บริหารไปดูแลมูลนิธิไออีซีและ เจ. ดี. เวสเตอร์ แต่แกยังมีห้องทำงานใน ไออีซี." คนเก่าแก่ของ ไออีซี. กล่าว

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ประมนต์ สุธีวงศ์ซึ่งได้รับมอบหมายจากปูนฯ ให้ดูแล ไออีซี. ได้ทาบทามกิติรัตให้เป็นเอ็มดี ขณะเดียวกันพารณ อิศรเสนากรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนฯ ขณะนั้นและเป็นศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัยด้วยกันเห็นว่าลูกหม้อ ไออีซี. เพื่อนของตนนี้คงจะช่วยคุมองค์กรในช่วงเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นได้ กิติรัตจึงดูแล ไออีซี. ในฐานะผู้บริหารสูงสุดก่อนที่วีระวัฒน์ ชลวณิชจะถูกส่งมาจากปูนฯ ให้มาคุม ไออีซี.

และในสมัยที่ปูนฯ เข้ามากำหนดทิศทาง ไออีซี. นี้เองได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

"คุณประมนต์ไม่เน้นเรื่องเครื่องจักรขนาดใหญ่หรืออุตสาหกรรมมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับระบบสำนักงานอัตโนมัติ (OA) บังเอิญตอนนั้นรองกรรมการผู้จัดการของผมคือ ดนัยณัฐ พานิชภักดิ์ (น้อง ดร. ศุภชัยรองนายกฯ คนปัจจุบัน) เป็นคนของปูนฯ ที่ส่งมาบริหารได้ไปรู้จักกับผู้บริหารระดับวีพีคนหนึ่งของโมบีร่า (ขณะนั้นยังไม่ถูกเทกโอเวอร์จากโนเกีย) ในชั้นเรียนหลักสูตรเพิ่มเติมที่ฮาร์วาร์ด จึงได้เจรจานำเซลลูลาร์ยี่ห้อดังกล่าวเข้ามา ถือเป็นการเข้าสู่ตลาดรายที่ 2 รองจากอิริคสัน" กิติรัตกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

คุณประโยชน์สำคัญที่ปูนฯ วางรากฐานคือการจัดระบบ ระเบียบองค์กร และการวางรากฐานเรื่องคนและทิศทางขององค์กร แต่ธุรกิจโทรคมนาคมนั้นต้องการความคล่องตัวสูงและการตัดสินใจที่รวดเร็วไม่มากขั้นตอน ปัญหาระบบการตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ไออีซี. พลาดทางยุทธศาสตร์มาแล้ว เช่นเมื่อครั้งที่เริ่มตั้งบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิสหรือเอไอเอสของค่ายชินวัตรนั้น ปูนฯ ควรจะให้ ไออีซี. เข้าไปถือหุ้นประมาณ 20% แต่ก็ไม่ทำ สัมพันธ์ที่หยั่งรากลึกในแง่นี้กับเอไอเอสจึงไม่มีมาตั้งแต่แรก

แต่ปูนฯ ก็ผูกพันกับ ไออีซี. เพียง 7 ปี อาจจะถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องทั้งเพื่ออนาคตของปูนฯ เองและอนาคตของบริษัทเครือปูนที่เฉือนขายออกไป

ความแตกต่างกันในวัฒนธรรมองค์กรเป็นเหตุสำคัญที่จะขวางการเติบโตของธุรกิจการค้า วัฒนธรรมองค์กรการผลิตปูนซีเมนต์ไทยนั้นมีระเบียบแบบแผนชัดเจน มีขั้นตอนของการปฏิบัติ ขณะที่ธุรกิจการค้านั้นแข่งขันสูง ต้องตัดสินใจรวดเร็ว ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ ปูนฯ ที่มีภาพพจน์และความ ใหญ่เป็นจุดแข็ง ไม่เคยต้องแข่งขันกับใครมาก่อน ความพลิกแพลง กลยุทธ์การแข่งขันในทางการค้าจึงเป็นเรื่องที่รับไม่ค่อยได้

โครงสร้างการขายสินค้าของปูนซิเมนต์ไทย เป็นโครงสร้างสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่ปูนซิเมนต์ไทยเป็นผู้ผลิตเองมียี่ห้อสินค้าเป็นจุดแข็งอยู่แล้วเชื่อมั่นได้ในเรื่องคุณภาพ ขณะเดียวกันปูนซิเมนต์ไทยก็มีช่องทางการ จัดจำหน่ายสินค้าที่แข็งแกร่ง ภายใต้โครงสร้างนี้ พนักงานขายไม่ได้มีหน้าที่ขายสินค้าโดยตรง แต่เหมือนกับเป็นผู้ประสานงานการขายเพราะกลไกทุกอย่างถูกวางไว้แล้ว สินค้าดี เอเย่นต์ก็แข็ง ระบบการขายสินค้าในเครือปูนซิเมนต์ จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น

แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องจักร ไม่ใช่สินค้าปูนซิเมนต์หรือวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่ปูนซิเมนต์ไทยผลิตและติดยี่ห้อของตัวเอง ความสำเร็จในการทำตลาดจึงอยู่ที่เทคนิคการขาย และระบบคอมมิชชั่นจะเข้ามาเป็นแรงจูงใจในการขาย ทางเครือปูนฯ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมี นอกจากนี้ยังมีเรื่องของค่าตัวบุคลากรที่สูงกว่าเพราะความต้องการของท้องตลาด เนื่องจากไม่ใช่พนักงานขายธรรมดา แต่ส่วนใหญ่จะต้องมีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมที่เรียกกันว่า SALES ENGINEER ด้วย ครั้นปูนฯ จะขึ้นเงินเดือนให้ไม่กี่บริษัทก็ไม่ได้ ปูนฯ ไม่สามารถจะดูแลคนสองประเภทให้ทัดเทียมกันในนโยบายบุคคลอันเดียวกันได้…นั่นเป็นคำอธิบายของประมนต์ สุธีวงศ์เมื่อครั้งขายกิจการแห่งนี้ออกไปในที่สุด

ปลายเดือนกรกฎาคม 2533 บอร์ดปูนฯ อนุมัติข้อเสนอฝ่ายบริหารให้ขายหุ้น ไออีซี (ปูนฯ ถือหุ้น 42% ทรัพย์สิน 39% ไทยพาณิชย์ 10% ที่เหลืออีก 9% เป็นเครือไทยพาณิชย์ถือ) และเอสซีทีคอมพิวเตอร์ (ปูนฯ ถือ 100%) ทั้งสองบริษัทนี้อยู่ในสังกัดเดียวกับบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย แพนซัพพลายส์และโฮมอิเลคทริคส์

อรรณพ จันทรประภา ศิษย์เก่าวชิราวุธฯ อดีตหัวหน้าส่วนประมวลบัญชี ธ.ไทยพาณิชย์และอดีตผู้จัดการฝ่ายการเงินของ บ. ค้าสากลซิเมนต์ไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อบริษัทจากเทียม กาญจนจารีและเป็นผู้บริหาร ไออีซี.ในขณะนั้น ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการสืบต่อจากวีระวัฒน์ ที่ลาออกไปเมื่อ มิ.ย. 33

ไออีซีมีสินทรัพย์ที่ดีอยู่ 2 อย่างคือ 1. คนในองค์กรที่ดีมีคุณภาพ 2. สายสัมพันธ์ในเชิงการค้าในฐานะเอเยนต์ของซัพพลายเออร์ที่ผลิตสินค้าชั้นนำของโลกหลายแห่ง (เช่นเป็นเอเยนต์อุปกรณ์ไฟฟ้าระบบควบคุมสายการผลิตอัตโนมัติของเวสติ้งเฮ้าส์และซอฟท์แวร์ไอดีของแมคโดนัลดักกลาส ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ในโลก) ดำเนินธุรกิจทางการตลาดที่มีจุดขายอยู่ที่ตัวสินค้าและการบริการหลังการขาย

นอกจากนี้ ไออีซี. ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ซ่อนอยู่อีกส่วนหนึ่ง คือสัญญาการขายอุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์ของไม่โครเนติกส์ให้ตลาดหลักทรัพย์ที่ยังเหลือการจ่ายค่าอุปกรณ์งวดสุดท้ายอีก 40 ล้านบาทเมื่อการติดตั้งเรียบร้อย

ไมโครเนติคซึ่งเป็นตัวแทนของเดคเจ้าของระบบคอมพิวเตอร์ VAX ที่มีชื่อได้ร่วมมือกับมิดเวสต์สต็อกเอ็กซเช้นจ์ในการประมูลติดตั้งระบบการซื้อขายหุ้นด้วยคอมพิวเตอร์ให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมูลค่าเกือบ 300 ล้านบาท

คีย์แมนคนสำคัญคนหนึ่ง ไออีซี. ตั้งข้อสังเกตว่า "ยุคสมัยของอรณพอาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงของการทำกำไร แต่พอรายได้ดี การ DIVERSIFY กลับน้อยลง ได้แต่อาศัยคอนเนกชั่นเก่า ๆ คือซัพพลายเออร์ที่มีอยู่นั่นเอง เป็นช่วงที่ขาด INNOVELTY"

อย่างไรก็ดี ความรู้ ประสบการณ์และความผูกพันที่อรณพมีต่อ ไออีซี. ทำให้เขามองเห็นทิศทางว่า ไออีซี. ต้องกระจายความเสี่ยงของธุรกิจได้แล้วเน้น เขาเห็นว่าอนาคตการขายระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานจะมีความซับซ้อนมากขึ้น การขายคงไม่จบอยู่แค่ตัวอุปกรณ์อย่างเดียวแต่ยังต้องขายความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมติดตั้งวิธีการทำงาน การควบคุมและการบำรุงรักษาด้วย ซึ่งธุรกิจนี้ PROFIT MARGIN สูงมาก

ในแง่เทรดดิ้ง การขยายฐานเข้าร่วมลงทุนกับซัพพลายเออร์ เป็นทางออกที่บริษัทเทรดดิ้งหลายแห่งทำ เพื่อสร้างหลักประกันหรือข้อผูกพันให้ร่วมกันในระยะยาวต่อไป และยังเป็นการขยายฐานรายได้นอกเหนือจากค่าคอมมิชชั่นในฐานะเอเย่นต์ "ตอนนั้นโนเกียสนใจจะถือหุ้น ไออีซี. 5-10% และยังมองไปถึงการร่วมกันตั้งโรงงานประกอบเคเบิลและสวิชชิ่งป้อนโครงการ 3 ล้านหมายด้วย แต่ที่สุดก็ต้องพับไป และการจับมือนั้นหันไปทางชินวัตรโดยตรงมากกว่า" คน ไออีซี. กล่าวอย่างผิดหวัง

อรณพไม่ละความพยายามที่จะพลิกผันตัวเองเข้าสู่อุตสาหกรรมเต็มตัว การเทกโอเวอร์บริษัทศรีอู่ทองที่ ไออีซี. ถือหุ้นอยู่แล้วเพื่อครอบครองกิจการอย่างเบ็ดเสร็จ จึงเกิดขึ้น แม้จะไม่ประสบความสำเร็จอันเนื่องจากปัญหาภาระผูกพันเดิมกับโครงการรัฐที่ไม่อาจตกลงกันได้ และกลุ่มผู้ถือหุ้นของ ไออีซี. มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความล้มเหลวอันนี้ !!

ยกเว้นกรณีของการซื้อบริษัทดาต้าเจเนอรัลที่เป็นประโยชน์ต่อ ไออีซี. โดยตรงในการเป็นเจ้าของบริษัทผู้ผลิต และทุกวันนี้ ไออีซี. ถือหุ้นอยู่ 100%

กรณีศรีอู่ทองนั้น เดิม ไออีซี. เป็นซัพพลายเออร์สินค้าด้านไฟฟ้าอุตสาหกรรมให้และถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าว 10% บริษัทนี้มีศักยภาพในการทำกำไรสูง แต่ ดร. ประจวบ สุวรรณพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งอยากจะเกษียณตัวเองจึงเปิดการเจรจาขายหุ้น 85% ซึ่งถ้าการเจรจาครั้งนั้นสำเร็จ ไออีซี. จะจ่ายเงินเพียง 108 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งคุ้มค่ามากเพราะตามประมาณการศรีอู่ทองจะมียอดขายในปี 2537=1,800 ล้านบาท กำไร 90 ล้านบาท และในปี 2538 ยอดขาย 2,300 ล้านบาท กำไร 117 ล้านบาท

ซึ่งประมาณการดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงเพราะศรีอู่ทองเป็นผู้รับเหมารายใหญ่จาก กฟผ. รวมทั้งกฎหมายใหม่อนุญาตให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดย่อมได้ ซึ่งได้โครงการไปแล้ว 7 แห่ง มูลค่า 1.5 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังได้สัมปทาน 2 โครงการจากศรีลังกา มูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาทแต่ที่สุด ไออีซี. ก็พลาดปล่อยให้กลุ่มธนสยามซื้อบริษัทดังกล่าวไปเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ยุคขยายฐานจากเทรดดิ้งสู่ผู้ให้บริการ+เจ้าของระบบ

จากยุควัฒนธรรมพ่อค้าที่ต้องดิ้นรนหาสินค้าต่าง ๆ มาขายในไทย สู่การบริหารองค์กรแบบมืออาชีพ มาถึงทุกวันนี้กนก อภิรดี ผู้บริหารคนใหม่ของ ไออีซี. ยังเชื่อว่ามรดกที่ตกทอดมาคือวิญญาณของพ่อค้าและมืออาชีพยังไม่หายไปไหนและมีส่วนผสมกันอย่างดี การเปลี่ยนแผ่นดินไม่มีผลในทางลบ----เขาเชื่อเช่นนั้น

และการริเริ่มครั้งสำคัญทางยุทธศาสตร์ได้เริ่มต้นมาก่อนหน้าที่เขาจะเข้ามานั่งที่นี่อย่างเป็นทางการแล้ว !!

ในยุคของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน การเปิดเสรีตามข้อตกลงแกตต์และการพัฒนาตลาดทุนที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของ ไออีซี.

ที่ผ่านมา ไออีซี. ก็ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับชีพจรทางเศรษฐกิจในสายที่ตัวเองถนัดถือวิศวกรรม-โทรคมนาคม ขานรับกับยุคสมัย ENTREPRENEUR ที่เติบโตในเมืองไทยและต้องการสินค้าดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ขา (PORTFOLIO) ที่อิงจากเทรดดิ้งเพียงอย่างเดียวเริ่มจะไม่เพียงพอแล้ว

แม้ ไออีซี. เพลี่ยงพล้ำทางยุทธวิธี ปล่อยให้โมบีร่าผลิตภัณฑ์จากค่ายชินวัตรรูปลักษณ์เดียวกับโนเกียของ ไออีซี. ทำการตลาดเชิงรุกไปอย่างง่ายดายที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อขององค์กร ข่าวลือเรื่องการลาออกของอรณพ ที่ติดตามมาด้วยข่าวการเข้ามาเป็น CEO ของเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ หลังจากออกจากชินวัตรใหม่ ๆ สร้างความระส่ำในองค์อยู่พอควร

นอกจากนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา การแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่มีมาก แม้ยอดขายจะมากขึ้นแต่ส่วนแบ่งการตลาดกลับลดลง ขณะเดียวกันระบบอนาล็อกกำลังจะถูกแทนที่ด้วยระบบดิจิตอล จึงทำให้สถานภาพที่ ไออีซี. ผูกกับชินวัตรซึ่งเริ่มไม่ลงรอยกันนั้น อาจจะมีปัญหาด้วย

แต่ที่สุด ไออีซี. ก็ได้ชัยชนะทางยุทธศาสตร์เมื่อสามารถจับมือกับแทคได้

โบรกเกอร์ชื่อดังอย่างโนมูระก็มองว่าธุรกิจใหม่ของไออีซี. จะช่วยให้ ไออีซี. มีฐานที่มาของรายได้ที่งดงามและแน่นอนมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันโนเกีย สินค้าหลักของ ไออีซี. จะครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 แต่แนวโน้มมาร์จิ้นจะน้อยลงเรื่อย ๆ คาดว่า การเป็น SERVICE PROVIDER ในระบบ PCN ของไออีซี. จะเริ่มทำรายได้ให้ ไออีซี. ในปี 2538

"สามารถเองก็พยายามดิ้นทางธุรกิจเช่นกันจะเห็นได้ว่าเป็นผู้ให้บริการวีแซท แต่ ความได้เปรียบของ ไออีซี. คือมี MARKET COST น้อยกว่าผู้ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน เพราะสามารถแบ่งค่าใช้จ่ายร่วมกับแทค จุดเด่นของ ไออีซี. ที่มีอยู่แล้วคือทีมการตลาดที่แข็งแกร่งจะทำให้ขยายตลาดพีซีเอ็นได้กว้าง และนอกจากค่าแอร์ไทม์แล้วยังสามารถขายเครื่องในระบบนี้ได้อีกด้วย แม้ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ แต่ระดับรองลงไปก็เป็นทีมที่แข็ง ผู้ถือหุ้นแน่นหนา ประวัติบริษัทดีมานานแล้ว ขนาดของบริษัทที่ไม่ใหญ่เกินไป ช่วยให้มีความคล่องตัวในการบริหารด้วย คล้ายกับตอนที่ยูคอมเริ่มระบบ 800 แต่ไออีซี. น่าจะทำได้เร็วกว่า อย่างไรก็ดี ขนาดองค์กรที่เล็กทำให้ความสามารถในการก่อหนี้น้อยกว่ายูคอมเช่นกัน แต่ ณ ปัจจุบัน ไออีซี. ก็สามารถออกหุ้นกู้แปลงสภาพเพื่อไปรองรับการลงทุนในระบบพีซีเอ็นแล้ว"

นักวิเคราะห์จากโนมูระตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าการร่วมมือระหว่าง ไออีซี. และ TAC นั้นไม่น่าจะมี CONFLICT OF INTEREST เพราะการแข่งขันด้านตลาดที่มีอยู่ในระบบเดิม แต่มีความร่วมมือเกิดขึ้นในระบบใหม่ ซึ่งทางเทคนิคตระหนักดีว่าสู้กับจีเอสเอ็มคนเดียวไม่ได้ จากนี้ไปจึงน่าจะได้เห็นการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกลุ่มยูคอมเจ้าของแทคกับกลุ่ม ไออีซี. เพื่อพัฒนาตลาดเซลลูลาร์ในระบบใหม่ต่อไป

ไออีซี. เพิ่มทุนด้วยการออกหุ้นใหม่ 4 ล้านหุ้นให้แทคในราคาหุ้นละ 50 บาทเพื่อเป็นการตอบแทนการที่แทคแต่งตั้งให้ดำเนินการเป็นตัวแทนให้บริการระบบพีซีเอ็น แม้จะมี DILUSION 17% แต่เมื่อธุรกิจมีกำไรสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ กำไรจากราคาหุ้นก็จะทยอยกลับมา COVER มูลค่าที่หายไปในที่สุด โดยคาดว่ากำไรปีนี้จะเพิ่มจากปีก่อน 275 ล้าน เป็น 473 ล้าน

การเพิ่มทุนนี้ยังเป็นการลบจุดอ่อน ไออีซี. ให้มี COMPARATIVE ADVENTAGE เท่ากับหรือใกล้เคียงกับคนอื่น ๆ อย่างสามารถหรือล็อกซเล่ย์ เพราะทุนเดิม 120 ล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้บริษัทสามารถประมูลโครงการใหญ่ ๆ ในภาครัฐได้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีเงินทุนขั้นต่ำ 300 ล้านบาท ปัจจุบัน ไออีซี. มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท

"การได้ธุรกิจใหม่คือพีซีเอ็นไม่ใช่แทคเป็นการ DIVERSIFY เท่านั้น แต่เป็นการสร้าง SYNERGY ด้วยเพราะกลับไปช่วยธุรกิจเทรดดิ้งตัวเก่าคือสามารถขายเครื่องลูกข่ายในระบบ พีซีเอ็นได้อีกด้วย อันนี้คือฐานที่สำคัญด้านโทรคมนาคม ซึ่งเพิ่งขยับจากการขายอุปกรณ์ไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ" กนก อภิรดี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ฐานที่สองคือ สินค้าด้านไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ ทำให้ไออีซีมีข้อได้เปรียบกว่าบริษัทโทรคมนาคมอื่น ๆ ที่อิงรายได้จากธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเดียว "อย่างน้อย ไออีซี. น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าชินวัตรหรือ แทคและเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว จะสร้างรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการมากขึ้น กำไรรวมจากด้านเทรดดิ้งจะเป็น GUARNATEE PROFIT ให้กับส่วนธุรกิจบริการได้ ขณะเดียวกันจะขยายไลน์ธุรกิจ ประเภทสินค้าอุปกรณ์ด้านวิศวกรรมให้มากขึ้นด้วยเช่นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสถานีวิทยุ หรืออุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นตลาดใหม่ ๆ เช่นกัน" ผู้ บริหารอีกท่านหนึ่งของ ไออีซี. กล่าว

กล่าวโดยสรุปเป้าหมายของ ไออีซี. ยุคนี้คือ พยายามขยายฐานธุรกิจให้ตัวเอง พัฒนาระบบบริหารกลุ่มใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้คล่องตัวมากขึ้นในการขยับไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ และไม่เกี่ยงเรื่องธุรกิจสัมปทานอีกด้วย

"ย่างก้าวของ ไออีซี. นั้นคงจะต้องอาศัยสิ่งที่อรณพ วางไว้ด้วยเช่นกันคือ CAUTIOUSLY AGGRESSIVE ต้องหนักแน่น เหมือนวัยคนที่ผ่านมาแล้วหลายพรรษา แต่ก็ต้องรุกเร็วและแรง ความคิดอ่านต้องรอบคอบ สุขุมดุดังพอสมควร สมกับที่เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งแรกของเมืองไทยที่มีตราครุฑเป็นมิ่งขวัญ" นั่นเป็นเสียงสะท้อนของกรรมการ ไออีซี. ท่านหนึ่ง

งานท้าทายของกนก

"โครงสร้างของบริษัทนี้คือเรื่องของคนและสินค้า สิ่งที่ชัดเจนคืออนาคตเราต้องมีวิวัฒนาการอย่างมากเพื่อเท่าทันพัฒนาการทางเทคโนโลยี ความคิดใหม่ ๆ ทักษะใหม่ ๆ ผมเชื่อว่าคนในองค์กรนี้มีความพร้อมที่จะพัฒนาด้วยตัวเองอยู่แล้ว และจะได้รับการสนับสนุนอย่างดี"

สมัยของกนก จึงเป็นยุคของการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรทั้งในแง่ MANAGEMENT SKILLS และ PROFESSIONAL SKILLS เขากำหนดให้แต่ละคนมี TRAINING DAYS 10 วัน/คน/ปี นอกเหนือจากนั้นยังมีโปรแกรมการอบรมแบบให้สมัครใจเข้าร่วมเองอีกด้วย

"ในด้านสินค้านั้น ที่ผ่านมามีการกลั่นกรองมาเป็นยุค ๆ อยู่แล้ว จนเหลือประเภทสินค้าที่เรียกว่าชั้นครีมของแต่ละหมวด ขณะเดียวกันไม่ได้ให้น้ำหนักของธุรกิจที่เกี่ยวกับการประมูล จากนี้ไปจะเพิ่มกลุ่มสินค้าด้าน CONSUMER และเกี่ยวกับการสัมปทาน ประมูลโครงการต่าง ๆ มากขึ้น เป็น OPTION ที่ไม่ได้ปิดตายอย่างแต่ก่อน"

ในกลุ่มสินค้าที่มีอยู่แล้วกนกมีนโยบายว่าให้มีสินค้าครบหมวดมากขึ้นไม่ได้เลือกเฉพาะประเภทสินค้าที่ให้มาร์จิ้นดีเท่านั้น เพราะเชื่อว่าจากนี้ไปต้องขายเป็น BUSINESS SOLUTIONS จึงต้องหาสินค้ามาให้พร้อมทุกอย่าง

ในแง่การบริหารเมื่อธุรกิจอิงกับพาร์ทเนอร์คนละกลุ่ม และลักษณะงานคนละอย่าง จึงมีความคิดที่จะแบ่งทีมงานที่จะดูแลพีซีเอ็นขึ้นมาโดยเฉพาะ แยกจากกลุ่มที่ดีลกับเอไอเอส โดย มีคณะกรรมการที่จะช่วยดูแลการวางแผนด้วย และให้ทั้ง 2 ส่วนนี้เป็น PROFIT CENTER แข่งกันเองด้วย

แต่ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของกนกที่ไม่แข็งกร้าวเกินไปน่าจะช่วยให้การยึนอยู่บนขาทั้งสองฝั่ง (ชินวัตร+ยูคอม) ของไออีซี. เป็นไปอย่างราบรื่นเขาเองคาดหวังว่าจะได้เป็นผู้นำเข้าโนเกียในระบบจีเอสเอ็มในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

กนกเชื่อว่าจากประสบการณ์ที่ตนอยู่ในธุรกิจต่างประเภทกันคือ จากอุตสาหกรรมรถยนต์ (จีเอ็มและกรรณสูต) ซึ่งให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย มาสู่สินค้าอุปโภคบริโภค (โอสถสภาและไอเอ็ม) ที่เน้นตอบสนองความต้องการผุ้บริโภคให้ได้สูงสุดเน้นช่องทางจัดจำหน่าย และการโฆษณาโปรโมชั่นจนมาถึงล่าสุดคือธุรกิจสิ่งพิมพ์ ที่ต้องอาศัยความว่องไวในการทำธุรกิจและการมองในเชิงวิเคราะห์ จะช่วยให้เขาสามารถจะผสานจุดเด่นต่าง ๆ ให้การบริหารงาน ไออีซี. ราบรื่นขึ้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us