วันที่หว่องจงซัน หรือคีรี กาญจนพาสน์เดินทางกลับจากฮ่องกง มาบุกเบิกธุรกิจของตัวเองในเมืองไทยนั้นเขาได้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก
ด้วยสไตล์การทำธุรกิจที่หวือหวา ครึกโครม และใหญ่โต กาลเวลาผ่านไป สรรพสิ่งย่อมได้รับการพิสูจน์
ณ วันนี้ โครงการต่าง ๆ ที่เคยเรียงรายเปิดตัวอย่างงดงาม กลับไม่สดสวยเหมือนภาพที่วาดไว้เมื่อหลายปีก่อน
คนรอบข้างที่เคยเป็นกำลังสำคัญก็หลีกลี้ถอยห่างไปจนหมด โครงการรถไฟลอยฟ้าที่หลุดรอดอุปสรรคสารพันมาได้
ก็ต้องมามีอันเป็นไปในนาทีสุดท้าย
ถ้าหากมีใครถาม คีรี กาญจนพาสน์ตอนนี้ว่า ธนายงจะเดินไปในแนวทางใด คีรีเองก็ได้แต่ส่ายหน้า
เพราะในภาวะที่โครงการใหญ่ที่มีอยู่ในมืออย่างเช่นธนาซิตี้ ที่ยังขายไม่ได้เท่าไร
ธนาเพลสทั้งที่ลาดพร้าวหรือที่กิ่งแก้ว ก็ยังไม่รู้หมู่หรือจ่า
โครงการใหญ่อีก 2 แห่งที่ประกาศตัวอย่างครึกโครมเมื่อสี่ห้าปีก่อนหลังเข้าตลาดหุ้นใหม่
ๆ คือ เอกซเชนจ์ สแควร์ หรือธนามารีน่า ก็ยังไม่ได้ฤกษ์ก่อสร้างเสียที ยังไม่รวมถึงโครงการระดับกลางอีก
4-5 แห่งที่จะทำใหอนาคต ก็ยังไม่รู้ว่าจะล่าช้าด้วยหรือไม่ โครงการไทยสกายทีวีที่มาฟอร์มใหญ่ในตอนเปิดตัวตอนนี้ก็ขายทิ้งไปให้กลุ่มวัฏจักรรับภาระต่อไป
แล้วที่พอจะเป็นเนื้อเป็นหนังก็เห็นจะมีโครงการบริการสื่อสารด้วยจานดาวเทียมขนาดเล็กที่ร่วมทุนกับล็อกซ์เล่ย์ในชื่อไทยสกายคอม
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ากรงเทพมหานคร ที่ดำเนินการในนามบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ
(BANGKOK TRANSIT SYSTEM CO.,- BTSC.) ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเส้นต่อชีวิตของธนายง
มาถึงวันนี้จะเรียกว่าเป็นลูกผีมากกว่าลูกคน ก็คงจะไม่ผิดจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
26 กรกฎาคม 2537 ให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่บีทีเอสซีกำหนดลั่นฆ้องลงมือขุดถนนพหลโยธิน
ประเดิมการก่อสร้างในวันรุ่งขึ้น สำทับด้วยข้อมูลของนักการเมืองฝ่ายค้าน
ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรองนายกรัฐมนตรี บุญชู โรจนเสถียรกลางดึกคืนวันที่
27 ก.ค. หยิบยกเอาสัญญาที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อนชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลเป็นข้อ
ๆ จนแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ต้องฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะเป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน
วันนี้ของคีรี ช่างแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับช่วงแรกที่เขาก้าวสู่วงการ
การประกาศตัวของโครงการ "ธนาซิตี้" อันเป็นโครงการยักษ์ขนาด 1,500
ไร่ ซึ่งมีทุกรูปแบบของการพัฒนาที่ดินอยู่ในที่เดียวกัน ทั้งคอนโดมิเนียมระดับเลิศหรู
บ้านระดับแพง ที่แวดล้อมด้วยสนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำมาตราฐานโอลิมปิค หรือการเปิดกิจการในเครืออย่างไทยสกายทีวี
ในนามบริษัท สยามบรอดคาสติ้งแอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด อย่างใหญ่โต ด้วยการดึงบุคคลากรจากค่ายต่าง
ๆ เข้ามาเสริมทีมจนเป็นที่ฮือฮา
กลยุทธ์ "SHARE MANDATE" อันลือลั่นในอดีต ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่มีใครที่จะไม่รู้จักคีรี
และหุ้นธนายงหรือในชื่อเรียกง่าย ๆ ว่า "ตี๋ย้ง" หลังจากนั้น ก็เกิดกระแสข่าวตลอดเวลาว่า
ทางธนายงจะไป TAKE OVER บริษัทโน้น บริษัทนี้อย่างต่อเนื่อง มีการกระตุ้นกระแสให้หนักข้อขึ้นด้วยข่าวธนายงจะเพิ่มทุน
ส่งผลให้นักลงทุนเกือบทุกคนมองหุ้นธนายงอย่างไม่วางตา หลังจากนำหุ้นที่อยู่ในกองทุนนั้นออกประเมินราคาโดยเทียบกับราคาบนกระดานที่
500 บาทต่อหุ้น และคิดส่วนลด 12% แล้วจึงนำไปขาย
ด้วยกลยุทธ์นี้เอง ทำให้ธนายงมีเงินไปหล่อเลี้ยงให้โครงการธนาซิตี้เดินหน้าไปได้อย่างไม่สะดุด
แต่คนที่ประทับใจกับกลยุทธ์นี้มากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องออกมาตรการมาป้องกันวิธี
"SHARE MANDATE" ของธนายงให้ไม่สามารถทำได้อีก
หรือแม้แต่การ "ล้อบบี้" อย่างเต็มที่ให้มีการจัดประกวดนางงามจักรวาลในเมืองไทย
เพื่อเป็นการโปรโมทไทยสกายทีวีนั้น ก็ได้สร้างภาพพจน์ของคีรีในแง่ดีต่อคนในวงการพอสมควร
น่าเสียดายว่าความชื่นชมอันหอมหวานนั้นได้หดหายไปเสียแล้ว
ถ้าหากจะถามว่า ปัญหาน่าหนักอกหนักใจที่สุดของคีรี ณ วันนี้คือปัญหาอะไร
ก็คงจะหนีไม่พ้นที่คีรีคงจะต้องบอกว่า เรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอสซี ที่จะเป็นจุดกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงของคีรีที่ลบหายไปกลับมาโด่งดังได้อีกครั้ง
แต่หากมองเข้าไปลึกจริง ๆ แล้ว ถ้าคีรีหรือกลุ่มธนายงทุ่มเทความสนใจเข้าไปแก้ปัญหาธุรกิจประเภทหนึ่งของตนให้มากกว่านี้แล้ว
ศักยภาพด้านผลประกอบการและภาพพจน์ของกลุ่ม น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว หรืออาจจะเร็วกว่าที่มัวไปกระตุ้นทางด้านรถไฟฟ้าก็เป็นได้
ธุรกิจนั้นคือ ธุรกิจพัฒนาที่ดิน
โครงการสำคัญที่ธนายงหมายมั่นปั้นมือมาตลอดว่าจะให้เป็น "โครงการเรือธง"
(FLAG SHIPS) นั้นก็คือ ธนาซิตี้ โครงการนี้มีสัดส่วนด้านเงินทุนตอนเริ่มต้นเท่ากับ
45% ของการลงทุนทั้งหมดของธนายงใช้ในปีนั้น เนื่องด้วยความใหญ่ของโครงการซึ่งมีขนาด
1,500 ไร่ มีการแบ่งเป็น 2 เฟส คือเป็นย่านที่พักอาศัย และย่านพาณิชย์ โดยมีรูปแบบโครงการหลากหลายถึง
15 รูปแบบให้เลือก นับแต่บ้านเดี่ยวหรือบ้านเดี่ยวทรงอิสระ ที่เรียกว่า เพรสทีจ
เฮาส์ ฮาบิแทท, ทาวน์เฮ้าส์ริมน้ำ คอนโดมิเนียมก็มีเพรสทีจ คอนโดมีเนียม,
นูเวล คอนโดมิเนียม, เพรสทีจ ไพรม์แลนด์, เพรสทีจ กอล์ฟวิวคอนโดมีเนียม สนามกอล์ฟ
หรือสปอร์ตคลับ
ในส่วนของย่านพาณิชน์นั้นก็จะมี COMMERCIAL COMPLEX สำหรับให้เช่าหรือดำเนินธุรกิจเอง
ซึ่งมีทั้งโรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน โรงภาพยนต์ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน
แม้แต่ร้านค้าแบบธรรมดา
ข้อได้เปรียบประการสำคัญของโครงการธนาซิตี้คือ แลนด์แบงก์จำนวนมากที่รวบรวมมาตั้งแต่ปี
2520 ซึ่งมีราคาระหว่าง 200,000 บาทต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบราคาปัจจุบันซึ่งสูงถึง
10-14 ล้านบาทต่อไร่ ถือเป็นต้นทุนขั้นต่ำที่ทำธนายงค่อนข้างมีความได้เปรียบ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากบริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์เปิดเผยว่า จุดอ่อนประการสำคัญของโครงการนี้ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนของโครงการอื่น
ๆ ต่อมาคือ ทางธนายงได้ใช้นโยบายการรับรู้รายได้ค่อนข้างรุนแรง ด้วยการรับรู้รายได้จากการขายที่ดิน
100% นับแต่วันทำสัญญาจองซื้อ ทำให้รายได้ของบริษัทที่เกิดขึ้นจริงของธนาซิตี้ในปี
2535/36 ได้ถูกบันทึกรวมไว้กับรายได้ในส่วนการก่อสร้างซึ่งมีตามต่อมาในอนาคตแม้จะบันทึกตามส่วนงานที่เสร็จ
แต่ก็ไม่ได้มีการรวมไว้เป็นรายได้ของธนายงแต่อย่างใด
"รายได้จากการขายบ้านได้มีการแบ่งออกเป็นสามส่วน คือที่ดิน ค่าก่อสร้าง
ค่าวัสดุ และค่าแรงงาน ซึ่งหากราคาบ้านเท่ากับ 13 ล้านบาทราคาที่ดิน และก่อสร้างจะเท่ากับ
8 ล้านบาท ในขณะที่ค่าวัสดุ ค่าแรงจะเท่ากับ 5 ล้านบาท ซึ่งธนายงจะได้เฉพาะที่ดิน
ส่วนราคาวัสดุ และค่าแรงจะมีซับคอนแทรคเตอร์คือรัชดา และจุฬาแลนด์ที่จะได้งานไปซึ่งบริษัททั้งสองไม่ได้ติดต่อกับธนายงโดยตรงแต่ด้วยวิธีการรับรู้รายได้แบบนี้
ก็ทำให้ธนายงสามารถได้เงินเข้ามาหมุนเวียนเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว"
วิธีการรับรู้รายได้แบบของธนายงนี้เอง ทำให้ผลประกอบการของธนายง โดยเฉพาะในโครงการธนาซิตี้ในปี
2535 ต่อ 2536 นั้นต่ำกว่าที่น่าจะเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้หุ้นธนายงในตลาดหลักทรัพย์ขาดความน่าเชื่อถือไปมากพอสมควร
ซึ่งจนกระทั่งขณะนี้ทางธนายงก็ยังยืนยันจะใช้วิธีรับรู้รายได้แบบนี้ต่อไป
สาเหตุประการอื่นที่ทำให้ธนาซิตี้ไม่บูมอย่างที่คาดไว้คือ การพลิกผันของตลาดในช่วงที่ผ่านมาทำให้เป้าหมายไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
เนื่องจากธนาซิตี้ได้มีการเน้นจับกลุ่มลูกค้าในระดับกลางถึงสูงแต่ลูกค้าในกลุ่มนี้กลับไม่มีอำนาจซื้อเท่าที่ควร
ในขณะนั้น นอกจากนั้นแล้ว การเปลี่ยนรูปแบบบ้านหรือคอนโดมีเนียมของธนาซิตี้บ่อยครั้งก็ทำให้ความเชื่อมั่นต่อโครงการนี้ลดน้อยลงไปด้วย
จากการวิเคราะห์ของฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ของ SWISS BANK CORPORATION
ได้วิเคราะห์ถึงธนาซิตี้ไว้ว่า มีความหวังว่าภายในครึ่งแรกของปี 1994 นี้
ยูนิตที่เหลืออยู่ทั้งหมดของธนาซิตี้ ที่เป็นบ้านระดับเลิศหรูคือ เพรสทีจ
เฮาส์ 1-4 จะขายได้หมดอย่างแน่นอน ในขณะที่เพรสทีจ 5 จะเริ่มขายในเดือนมีนาคม
1994 ซึ่งคาดหวังว่า 250 ยูนิตของทั้งหมดที่จะขึ้นมาได้นั้น จะขายได้หมดภายใน
3 ปี ในขณะที่โครงการอื่นคือ เพรสทีจ ไพรม์ แลนด์ซึ่งมีสนามกอล์ฟก็คงจะขายได้หมดใน
2 ปี ในขณะที่นูเวลล์ คอนโดมิเนียมซึ่งมี 905 ยูนิต ซึ่งขายไปได้แล้ว 728
ยูนิตในเดือนพฤศจิกายน 1993 ก็คาดหมายว่าจะขายทั้งหมดได้ภายในปี 1995
ส่วนเพรสทีจ คอนโดมีเนียมนั้น ได้ถูกขายออกไปแล้ว 267 ยูนิต มีการขายออกมาอย่างช้า
ๆ และต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะขายทั้งหมดได้ภายในปีครึ่ง ส่วนสนามกอล์ฟธนาซิตี้ซึ่งแจ็ค
นิคลอสเป็นผู้ออกแบบนั้น ยอดการขายสมาชิกตลอดชีพซึ่งมีอยู่ 1,400 ราย ได้ขายออกไปเพียง
281 รายเท่านั้น มีความหวังว่าภายในไตรมาสแรกของปีนี้จะมีจำนวนขายมากขึ้น
และในปี 1996 หลังจากสนามกอล์ฟได้ผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว ยอดขายสมาชิก 600 รายที่เหลืออยู่ก็น่าจะขายออกไปได้
"อย่างไรก็ตาม จุดด้อยทางการตลาดของธนายง ที่ไม่ค่อยโปรโมทสนามกอล์ฟของตัวเองมากนัก
และสถาบันสอนวิชากอล์ฟที่เปิดมาก่อนหน้ารวมถึงค่าสมาชิกตลอดชีพของสนามกอล์ฟธนาซิตี้
ที่จะมีค่าบริการสูงถึง 600,000 บาทและจะปรับขึ้นเป็น 750,000 บาทในช่วงต่อไปนั้น
ก็จะเป็นผลกระทบสำคัญที่ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายได้" แหล่งข่าวบริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ความคิดเห็น
โดยสรุปแล้ว คาดหวังว่ายอดขายที่เหลืออยู่ของธนาซิตี้ ซึ่งได้หยุดนิ่งมานานถึง
2 ปี จะเริ่มกระเตื้องขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า" ซึ่งคาดหวังว่า 87% ของธนาซิตี้จะขายได้หมด
อีกโครงการหนึ่งที่เปิดตัวในเวลาต่อมา และดูเหมือนว่าจะมีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าธนาซิตี้นั้นก็คือโครงการธนาเพลส
ทั้งที่ลาดพร้าว และที่กิ่งแก้วโดยมีเนื้อที่โครงการ 25 ไร่ และ 92 ไร่ตามลำดับ
ลักษณะโครงการนั้นจะเป็นอาคารชุดพักอาศัย
โดยที่ลาดพร้าวนั้นมีมูลค่าโครงการทั้งหมด 650 ล้านบาท มีร้านค้า 135 ร้าน
และเป็นคอนโดมิเนียมเชิงราบ 648 ยูนิต ในช่วงที่มีการ PRE-SALE นั้นการขายเป็นไปได้อย่างดีมาก
คาดหวังว่างานก่อสร้างทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในต้นปี 2538 ซึ่งในช่วงนั้นธนายงก็จะได้เงินยอดขายที่เหลือ
70% คืนมา ส่วนที่กิ่งแก้วแม้ว่ายอดขายในช่วงต้นจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักอย่างน่าผิดหวัง
แต่ก็เชื่อว่า 60% ของทั้งหมดจะขายได้หมดในปลายปี 1996 นี้
ความล่าช้าของโครงการ ดูจะเป็นปัญหาหลักใหญ่ที่สุดของทั้งโครงการธนาเพลสทั้ง
2 ทำเลนี้ โดยที่ลาดพร้าวนั้นหลังจาก PRE-SALE ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
2535 แต่งานก่อสร้างกลับมาเริ่มเอาเมื่อเดือนเมษายน 2536 และจนกระทั่งถึงขณะนี้งานก่อสร้างก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
ส่วนที่กิ่งแก้วนั้น ค่อนข้างจะมีปัญหาหนักกว่าที่ลาดพร้าวเสียอีก เพราะปัญหาที่ดินประมาณ
90 ไร่ซึ่งเป็นธนาเพลสแห่งนี้ทางธนายงได้แลกเปลี่ยนมาจากบางกอกแลนด์ ซึ่งทางบางกอกแลนด์ก็ได้พื้นที่บางนาตราด
ก.ม. ที่ 18 ไปแทน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นยังไม่ได้รับโอนมาจากบางกอกแลนด์แต่อย่างใด
จนกระทั่งขณะนี้จึงมีแต่การตอกเสาเข็มลงไปเท่านั้น นอกจากนั้นพื้นที่ถนนเข้าโครงการก็ยังทำไม่เสร็จสิ้น
ดังนั้นงานก่อสร้างจึงยังไม่สามารถเริ่มต้นขึ้นได้จากจุดนี้เองจึงทำให้ค่าก่อสร้างของธนาเพลสที่กิ่งแก้วจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างแน่นอน
ทั้ง 2 โครงการที่กล่าวมา เป็นโครงการที่ทางธนายงได้เริ่มรังสรรค์ให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว
ต่อไปนี้จะก้าวเข้าไปดูโครงการที่เพิ่งเริ่มต้นบ้างว่า มีปัญหาและมีโอกาสจะเกิดเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด
รีเจนท์ รอยัลเพลส 1 และ 2 ดูจะเป็นโครงการเริ่มต้นที่ไปได้สวยที่สุดกว่าทุกโครงการของธนายงที่ผ่านมา
โดยเป็นคอนโดมีเนียมระดับเลิศหรูมี 3 อาคาร มูลค่าโครงการทั้งหมด 3.6 พันล้านบาทเนื่องจากเป็นโครงการที่อยู่ใจกลางเมือง
โดยอยู่ใกล้โรงแรมรีเจนท์ ราชดำริ ทำให้รีเจนท์ เฟสแรก เมื่อเปิดตัวเมื่อกันยายน
1993 ก็สามารถขายได้หมดภายใน 2 สัปดาห์ และหลังจากนั้นเพียง 1 เดือน รีเจนท์เฟส
2 ก็ขายไปได้ถึง 90% ของทั้งหมด และแม้แต่โครงการใหม่คือแกรนด์ รีเจนท์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน
ปีที่แล้ว ก็สามารถขายไปได้ถึง 60% แล้ว
บทวิเคราะห์ของสวิสแบงก์ชี้ว่า โครงการรีเจนท์ รอยัล เพลซ และแกรนด์รีเจนท์นี้งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในกลางปี
1996 และรายได้ของรีเจนท์ทั้ง 3 แห่งนี้จะไต่ระดับขึ้นไปจนเป็น 1.3 หรือ
1.5 พันล้านบาทในปี 1995, 1996 ซึ่งถือเป็นรายได้หลักสำคัญของธนายงในอนาคต
แม้ว่ารีเจนท์ รอยัลเพลซจะเริ่มต้นได้ค่อนข้างสวย แต่ก็มิวายที่โครงการนี้ต้องประสบกับความล่าช้าคล้ายคลึงกับธนาเพลส
เนื่องจากการขออนุมัติก่อสร้างจากกรุงเทพของโครงการนี้ต้องสะดุดหยุดลง แม้ว่าจะได้เริ่มเปิดการขายไปตั้งแต่เดือนกันยายน
2534 แล้วก็ตาม เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงในสำนักการโยธาของกรุงเทพมหานคร
ซึ่งเป็นผู้เตรียมการอนุมัติธนาซิตี้อยู่แล้ว ซึ่งมีความหวังว่าภายในเดือนสิงหาคมหรือกันยายนปีนี้
ทางธนาซิตี้จะได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างได้
"ในจุดนี้ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดประการหนึ่งของทางธนายง ที่ไม่มีการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงในสำนักการโยธาให้กว้างขวางกว่านี้
ดังนั้นเมื่อมีคนใหม่เข้ามาแทนที่ งานของตัวเองจึงต้องชะลอออกไป" แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ผู้ใกล้ชิดธนายงให้ความคิดเห็น
ถัดจากรีเจนท์ รอยัลเพลซ เอกซเชนจ์ สแควร์ เป็นอีก 1 โครงการที่ค่อนข้างเป็นความหวังอันสวยหรูของธนายงและคีรี
โดยโครงการนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ มีเนื้อที่โครงการประมาณ
55 ไร่ ดำเนินการโดยบริษัทสหกรุงพัฒนา จำกัด ซึ่งธนายงถือหุ้นในสัดส่วน 100%
รูปแบบโครงการจะเป็นสำนักงานขนาดใหญ่เนื้อที่ 350,000 ตร.ม. และศูนย์การค้าขนาดใหญ่
150,000 ตร.ม. ข้อสำคัญคือ เอกซเชจน์สแควร์แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นอกจากนั้นแล้ว เอกซเชนจ์สแควร์แห่งนี้ได้มีการตกลงกับทางบางกอกแลนด์ไว้แล้วว่าจะเป็นจุดขึ้นลงของโครงการรถไฟฟ้า
รฟม. ซึ่งบางกอกแลนด์รับสัมปทานไปแล้วด้วย คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มพรีเซลส์ได้ภายในปลายปี
1994
แต่ก็คงไม่ใช่ธนายง หากไม่ต้องเจออุปสรรคมาขวางหน้า โครงการนี้ก็เช่นเดียวกัน
แม้ว่าจะได้มีการกำหนดไว้แล้วว่า งานก่อสร้างคอนโดมีเนียม จะได้มีการกำหนดไว้แล้วว่าจะเริ่มได้กลางปี
2538 ก็ตาม ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการโยกย้ายผู้อยู่อาศัยในสลัมแถบเทพประทาน
เป็นตัวการสำคัญของปัญหา ซึ่งในที่สุดก็ได้มีข้อตกลงที่ทางสหกรุงพัฒนาตกลงให้ชาวสลัมเหล่านั้นสามารถเข้าไปอยู่แฟลตราคาถูกที่จะก่อสร้าง
ซึ่งการโยกย้ายและการก่อสร้างแฟลตใหม่ยังไม่ได้มีการคาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นได้เมื่อไร
จนกว่าจะถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้งานก่อสร้างทั้งหมดของโครงการนี้จะเสร็จได้ภายในเดือนเมษายน
2541
นอกจากโครงการดังกล่าวนี้แล้ว ก็ยังมี "โครงการในกระดาษ" อีก
2 โครงการที่รอท่าให้ธนายงได้เริ่มพัฒนาเสียที
หนึ่งในจำนวนนั้น คือ ธนามารีน่า ซึ่งมีโครงการจะตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา
ธนามารีน่านี้ถือได้ว่าเป็นโครงการในฝันของคีรีที่หวังจะรังสรรค์โครงการริมน้ำให้เป็นเกียรติประวัติแก่ตัวเองให้เหมือนกับโครงการ
TAI KOO CHIGN คอนโดริมน้ำเช่นเดียวกันของฮ่องกง โดยมีเนื้อที่ประมาณ 27.5
ไร่ มีจำนวนยูนิตทั้งหมด 2,400 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 7,500 ล้านบาท
เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2537
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากบริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ความเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบโครงการธนามารีน่า
กับเอกซเชนจ์สแควร์แล้วจะพบว่า ธนามารีน่ายังมีความเสี่ยงทางด้านความเป็นไปได้ของโครงการสูงกว่าเป็นอย่างมาก
เนื่องจากได้ล่วงเลยช่วงเวลาที่คอนโดริมน้ำ "บูม" เป็นอย่างมากไปแล้ว
โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงนั้น ที่จะมีคอนโดริมน้ำเกิดขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ
20 กว่ารายแล้ว ในขณะที่ปัจจุบัน แทบจะไม่มีนักพัฒนารายใดที่จะสนใจทำโครงการริมน้ำอีกต่อไป
"การที่ธนายงจะเข้ามาเปิดตลาดโครงการริมน้ำอีก คงจะเสี่ยงเป็นอย่างมาก
และจะมีปัญหาคล้ายคลึงกับธนาเพลส หรือธนาซิตี้ได้ง่ายมาก" อย่างไรก็ตาม
ผู้ใกล้ชิดกับธนายงเปิดเผยว่า ธนายงคงจะต้องพักโครงการนี้ไปก่อนจนกว่าปัญหาที่ธนาเพลส
หรือที่รีเจนท์ คลี่คลายไปมากกว่านี้ก่อน
ในส่วนของโครงการที่ทางธนายงเข้าไปดำเนินการเองทั้ง 100% นั้นยังมีอีกแห่งหนึ่งที่ซอยลือชาซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมระดับเอ็กเซคคิวทีฟ
ซึ่งมียูนิตทั้งหมด 42 ยูนิต มูลค่าก่อสร้างที่ตั้งไว้ประมาณ 262 ล้านบาท
ในตอนแรกนั้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และก็ต้องล่าช้า
เนื่องจากทางธนายงยังมี "ลูกติดพัน" กับโครงการอื่นอีกมากมาย จนกระทั่งถึงขณะนี้แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าทางธนายงจะสานต่อโครงการนี้ให้เสร็จหรือไม่
นอกจากโครงการพัฒนาที่ดินจะเข้าไปลงทุนทำเองทั้ง 100% แล้ว ทางธนายงยังได้เข้าไปลงทุนในโครงการพัฒนาที่ดินรูปแบบอื่นด้วย
โครงการเหล่านั้นก็มี ยงสุ อพาร์ทเมนท์, อีสทิน เลคไซด์ อพาร์ทเมนท์ ทีเอสที
ออฟฟิศ ทาวเวอร์ โรงแรมเอมเพรส โรงแรมรีเจนท์ โรงแรมเอมเพรส เชียงใหม่ การเข้าไปลงทุนในกิจการใกล้เคียงโดยเพียงเข้าไปร่วมทุนเท่านั้น
ทางธนายงมองว่า จะเป็นการกระจายความเสี่ยงของตัวเองออกไป เพื่อให้มีกิจการพร้อมรองรับในอนาคต
และโดยมุมมองของธนายงยังมองว่า กิจการทั้ง 2 อย่างนี้ ยังมีอัตราเสี่ยงค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการพัฒนาที่เข้าไปลงทุนเอง
100% แต่หากในอนาคตสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ทางธนายงก็พร้อมจะเข้าไปดำเนินการด้วยตัวเองได้ทันที
เมื่อประมวลปัญหาจากโครงการทั้งหลายข้างต้นแล้วจะพบว่า ปัญหาหลักใหญ่จริง
ๆ ของธนายงนั้นจะมาจากความล่าช้า การจับกลุ่มตลาดไม่ถูกต้องการใช้ระบบรับรู้รายได้ที่ค่อนข้างก้าวร้าว
ในแง่ของการบริหารงานนั้น จะเห็นได้อย่างแจ่มชัดจากผลงานธนาซิตี้ หรือธนาเพลสที่กิ่งแก้วที่มีความล่าช้า
อย่างยาวนาน จนกระทั่งมีการร้องเรียนจากผู้อยู่อาศัยหลายครั้งหลายระลอก จนกระทั่งเกิดข่าวลือตามมาว่า
โครงการธนาเพลสที่กิ่งแก้วจะล้ม เพราะขาดเงินทุนมาอุดหนุน
แต่สิ่งที่ผู้บริหารของธนายงทำได้นั้น ก็ได้แต่เพียงเงียบ....และเงียบเท่านั้น
โดยพึ่งกลยุทธ์ "ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว" เพื่อหวังให้การร้องเรียนจากลูกบ้าน
หรือข่าวลือที่ออกมานั้นหายไปพร้อมกับสายลม
แต่สิ่งที่ธนายงทำไปนั้นเท่ากับฆ่าตัวตายทางอ้อม
เพราะความเงียบนั้นยิ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องต่างกระวนกระวายใจว่า ผู้บริหารธนายงกำลังทำอะไรอยู่แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับธนายงรายหนึ่งเปิดเผยว่า
ในช่วงนั้นเป็นจังหวะเหมาะที่หุ้นกำลังตกอย่างหนักด้วย ผนวกกับโครงการรถไฟฟ้าธนายง
ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป ก็มีปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จึงทำให้มีผู้สร้างเรื่องและโยงไปว่า
สถานะของธนายงขณะนั้นเริ่มย่ำแย่แล้ว
จึงเกิดกระแสเรียกร้องจากทั้งภายในและภายนอกธนายง ให้มีการยกเครื่ององค์กร
(REENGINERING) ใหม่ได้แล้ว โดยเน้นไปที่การแก้ไขภาพพจน์ผสมผสานไปกับการวางแผนการตลาดใหม่
โดยธนายงพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิตประโยชน์ให้ลูกค้า ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยการเพิ่มคุณค่าของบ้านในโครงการให้สูงขึ้น
การทุ่มเทงบประมาณมหาศาลในโครงการริมน้ำและริมสวนทาวน์เฮาส์ ในโครงการธนาซิตี้จำนวน
74 ยูนิตเพื่อตกแต่งและเนรมิตให้สวยเอี่ยมอ่องขึ้น แม้ว่าโครงการนี้จะก่อสร้างไปแล้วถึง
90% ก็ตาม เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่ร้องเรียนมามากว่า โครงการนี้ไม่สามารถพัฒนาได้ตามที่ได้โฆษณาไว้
นอกจากนั้นแล้ว โครงการบ้านแฮบบิแทท บ้านระดับเลิศหรูในธนาซิตี้ ที่เป็นความหวังของโครงการนี้ที่จะชักนำความสนใจของลูกค้าให้มาสนใจโครงการนี้มากขึ้น
ก็ได้รับเม็ดเงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาทเช่นเดียวกับนูเวลล์ คอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้เคียง
ก็ได้ให้ทีมงานเตรียมการเข้าไปตรวจสอบแต่ละห้องชุดว่า จะต้องปรับสภาพให้ดีขึ้นอย่างไรเพื่อให้ลูกค้ามีความพึงพอใจในภาพพจน์ใหม่ของธนายง
การบริหารงานที่ไม่คำนึงถึงความต้องการของลูกค้า นั้นแม้ว่าจะเป็นบทเรียนที่ธนายงได้เริ่มแก้ไขบ้างแล้ว
แต่การบริหารงานบุคคลที่ได้มีการวางระเบิดเวลาไว้ด้วยการดยกย้ายสลับเปลี่ยนผู้บริหารในระดับกลางถึงสูงเมื่อต้นปี
2537 นี้ ได้ทำให้ระดับคีย์แมนขององค์กรซึ่งหวังเข้ามาปรับเปลี่ยนองค์กรนี้ตั้งแต่ต้น
ไม่ว่าจะเป็น สุธรรม ศิริทิพย์สาคร ตำแหน่ง SENIORVICE PRESIDENT ซึ่งเป็นมือขวาของคีรี
และคอยช่วยเหลือคีรีเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าธนายงมาตลอดจนมีผู้คาดการณ์ว่า
สุธรรมคงไม่ไปอยู่ที่ไหนอีกแล้วก็ยังต้องออกจากธนายงไป โดยปัจจุบันไปดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของบริษัทสิงห์แลนด์
จำกัด
นอกจากนั้นก็ยังมี ดร. เชิดเกียรติ เชี่ยวธีรกุลมืออาชีพอีกรายที่หวังจะเข้ามายกเครื่องธนายงใหม่ให้ดูสดใสขึ้น
ก็มีอันต้องอกหักลาออกไปไล่เรี่ยกับสุธรรม โดยขณะนี้ไปเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของโครงการซีคอนสแควร์
ศิวพร ชุมสุวรรณ ก็เป็นอีกหนึ่งคีย์แมนที่ออกจากธนายงด้วยความเจ็บช้ำโดยปัจจุบันไปเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัท
สาริน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด คนที่มีบทบาทมากอีกคนหนึ่งและก็ต้องจากไปคือ ANDY
HWANG ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารตลาดของธนายงที่ดูแลเรื่องธนาซิตี้ และไทยสกายคอมในเวลาต่อมา
ก็ได้แยกออกมาเปิดบริษัท สวรรค์ใหม่ จำกัดของตัวเองเพื่อดูแลเรื่องการนำสินค้าเข้าจากไต้หวันมาขายในไทย
"ตอนนี้ก็มีคนที่เข้าคิวรอจะออกอยู่แล้วในช่วงต่อไป แต่ตอนนี้กำลังรอดูผลการปรับปรุงภาพพจน์ของธนายง
รวมถึงการปรับปรุงการบริหารบุคลากรก่อนว่า จะมีประสิทธิภาพเพียงใดซึ่งหากไม่ดีขึ้น
เขาคงต้องออกอย่างแน่นอน" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับธนายงกล่าว
แต่เหนือปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา ความเป็น "คีรี กาญจนพาสน์"
นั่นเอง ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำธนายงต้องมีวันนี้
คนที่รู้จักคีรีดี พูดตรงกันว่า เขาเป็นคนที่คิดจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้
ไม่ว่าจะมีอุปสรรคมาขวางหน้ามากน้อยเพียงใด ความคิดที่จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับคนในวงการมากที่สุด
ก็คงเป็นครั้งที่คีรีไปซื้อเกาะกระดาดที่ จ. ตราด โดยหวังว่าจะนำเกาะกระดาดนี้มาทำเป็นรีสอร์ท
มารีน่าคลับ โรงแรม แม้ว่าราคาที่ตั้งไว้จะถูกมากเพียง 80 ล้านบาท แต่เนื่องด้วยความเป็นหนุ่มของคีรีในช่วงนั้น
ทำให้ทางครอบครัวกาญจนพาสน์ไม่ค่อยยินยอมนักให้คีรีซื้อเกาะนี้ แต่ด้วยความที่จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ดังว่า
จึงทำให้ครอบครัวไม่สามารถทนเสียงรบเร้าของคีรีได้
ด้วยความเอาแต่ใจตัว และชอบรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจนี้เอง จึงทำให้เมื่อเขาขยายขอบข่ายธุรกิจของเครือธนายงออกไปให้กว้างไกลขึ้นทั้งในส่วนของธนายงที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า
และไทยสกายคอม รวมถึงบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
แล้วยังต้องมานั่งแก้ไขปัญหาที่หมักหมมหลาย ๆ ปัญหาทำให้ปัญหาดูจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
แหล่งข่าวในวงการผู้ใกล้ชิดกับธนายงเปิดเผยว่าการสั่งงานส่วนใหญ่จะต้องออกมาจากเขาเพียงคนเดียวแม้จะมีข่าวออกมาว่า
จะมีการปรับแก้ไขภาพพจน์ของธนายงให้มีการกระจายอำนาจให้มากที่สุดแล้วก็ตามแต่มักจะเป็นงานปลีกย่อยที่ไม่มีความสลักสำคัญมากนัก
ซึ่งที่ผ่านมานั้นจะมีสุธรรมเป็นผู้กรองงานให้เขาชั้นหนึ่งก่อน คีรีจึงจะนำมาตัดสินใจเอง
แต่เมื่อสุธรรมจากไปแล้ว เขาจึงต้องลงมาจับเองมากขึ้น
ข้อสำคัญคือคีรีมักจะใช้การบริหารที่เรียกว่า "การบริหารแบบหนีปัญหา"
โดยมักจะชอบลุยไปข้างหน้า เพื่อจับงานใหม่ ๆ ที่มีความท้าทายมากกว่ามักไม่ค่อยเหลียวแลว่างานที่ตัวเองทิ้งมันมานั้น
เกิดความวุ่นวายยุ่งเหยิงเพียงใด และมักจะใช้เวลาที่น่าจะนำไปแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างอยู่
เอาไปทุ่มเทให้กับการบุกเบิกธุรกิจใหม่ของตนแทน
"คุณคีรีจะเป็นคนที่ไม่ค่อยวางแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวไว้ให้ยึดถือปฎิบัติ
แต่มักจะชอบแก้ไขปัญหาระยะสั้น ทำให้การพัฒนาที่ดินทุกโครงการมีปัญหาหมด
นอกจากนั้นแล้ว เขายังไม่คำนึงขนาดของงานแต่ละประเภท ว่าควรจะใช้คนมากน้อยเพียงใด"
การใช้คนให้ถูกกับงานที่มอบหมาย (PUT THE RIGHT MAN ON THE RIGHT JOB)
ดูจะเป็นหลักการบริหารที่คีรีจะขาดอยู่อย่างมาก ๆ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า มืออาชีพหรือที่ปรึกษาส่วนใหญ่ที่คีรีมีไว้รอบกายมักจะเป็นเพียง
"มือไม้" ให้กับเขาเท่านั้นไม่ได้ร่วมเป็น "มันสมอง"
ระดมความคิดแก้ไขปัญหาในแต่ละจุดให้ลุล่วงไป
ซึ่งหากเปรียบเทียบลีลาการบริหารของคีรีกับอนันต์ ผู้พี่จะเห็นข้อแตกต่างได้ดีของ
2 พี่น้องคู่นี้คือในขณะที่คีรีมักจะชอบลุยงานใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ แบบจับปลาหลายมือ
แต่อนันต์จะเน้นไปที่งานพัฒนาที่ดินของตนเองเพียงอย่างเดียว โดยคิดจะผลักดันเมืองทองธานีของตนให้มีความมั่นคงเสียก่อน
จึงคิดจะมาจับงานรถไฟฟ้าของ รฟม. ในเวลาต่อมา ซึ่งจะพบว่าแม้โครงการเมืองทองธานีจะมีปัญหาอยู่บ้าง
แต่เมื่อเปรียบเทียบ SCALE ของปัญหาแล้วน้อยกว่าธนาซิตี้หรือธนาเพลสรวมกันอย่างมาก
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของธนายงในส่วนของการพัฒนาที่ดิน ที่เป็นปัญหาที่เกิดจากภายในองค์กรของธนายงเองเป็นส่วนใหญ่นั้น
คีรีน่าที่จะใจกว้างเปิดโอกาสให้มืออาชีพที่ตัวเองเชิญมา หรือที่มีอยู่ในองค์กร
ให้ได้แสดงศักยภาพเต็มที่กว่านี้ รวมถึงต้อง "ให้เวลา" กับงานพัฒนาที่ดินที่ตนเองบุกเบิกให้มากกว่านี้
"คุณคีรีน่าจะใช้เวลาในตอนนี้นั่งพินิจพิเคราะห์ดูตัวเอง สถานะของธนายง
และงานที่คั่งค้างและมากด้วยปัญหา ว่าจะพอแก้ไขอะไรได้บ้าง อย่างเพิ่งไปบุกงานตัวใหม่ที่จะสร้างปัญหาให้มากขึ้น
รวมถึงจะต้องจัดระบบบริหารงานภายใน (INTERNAL MANAGEMENT) ของธนายงให้มีความผสมผสานด้านการทำงานร่วมกันมากกว่านี้"
แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดให้ทัศนะในที่สุด"
และก็มาถึงงานใหญ่อีกงานที่ธนายงอาสาเข้าไปรับทำเอง นั่นคืองานรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร
(BANGKOK TRANSIT SYSTEM) (BTS)
งานนี้ค่อนข้างแตกต่างจากงานพัฒนาที่ดินมากพอสมควร เพราะปัจจัยหลายอย่างธนายงไม่สามารถควบคุมได้เช่นเดียวกับงานพัฒนาที่ดิน
ที่จะเข้าไปล้วงลูกตรวจสอบและแก้ไขได้ในเกือบทุกกระบวนการ
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เหล่านั้นคือ การติดต่อกับส่วนราชากร และการเมือง
โครงการรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานครได้เริ่มต้นโครงการเมื่อมีการเซ็นสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่
9 เมษายน 2535 เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งธนายงได้ก่อตั้งบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด
(บีทีเอสซี) ซึ่งถืออยู่ในสัดส่วน 100% จำนวนเงินลงทุนที่คิดไว้ในขั้นต้นประมาณ
20,000 ล้านบาท ในช่วงแรกมีการเตรียมการว่าจะก่อสร้างระบบรถไฟฟ้านี้ให้ยาวเพียง
15 ก.ม. เท่านั้น แต่เมื่อคำนึงถึงสภาพข้อเท็จจริงแล้ว ทำให้ต้องขยายความยาวออกไปเป็น
25 ก.ม. ทำให้งบประมาณจนถึงก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจว่าจะให้มุดดินหรือไม่
กลายเป็น 32,000 พันล้านบาท
เครือข่ายของบีทีเอสนี้จะให้บริการกับคนในใจกลางกรุงเทพฯ เช่นสีลม ราชดำริ
สุขุมวิท และพหลโยธิน มีการประมาณการว่าจะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าธนายงในปี 2541
ต่อวันไม่น้อยกว่า 700,000 คนและเฉลี่ยค่าโดยสารของแต่ละคนประมาณ 19 บาทต่อวันรายงานวิเคราะห์ธนายงของโนมูระ
(NRI) เปิดเผยว่าในปีแรกของการดำเนินการนั้น บีทีเอสจะมีผลดำเนินการประมาณ
4.6 พันล้านบาท ซึ่งเปรียบเทียบแล้วจะเท่ากับ 51% ของผลการประกอบการทั้งหมดที่ธนายงจะทำได้
แม้ว่าคีรีค่อนข้างจะภูมิอกภูมิใจเป็นหนักหนากับบีทีเอสนี้ว่า เป็นการทำเพื่อชาติ
และเป็นโครงการสัมปทานด้านสาธารณูปโภคโครงการแรกที่ ดำเนินการโดยเอกชนแต่เพียงถ่ายเดียว
โดยไม่ต้องรับการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐ
แต่คีรีก็ต้องผจญกับ "สิ่งที่เหนือการตัดสินใจ" ดังว่า
เริ่มจากปัญหาสวนลุมพินี ซึ่งธนายงหวังจะใช้เป็นศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้า (WORK
SHOP) ของตัวเอง ก็ต้องได้รับการต่อต้านจากประชาชนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันและอ้างถึงพระราชดำรัสของรัชการลที่
6 ที่ยกที่ดินนี้ให้ไว้กับสาธารณะชนทั่วไป มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเอาไปใช้สิทธิส่วนตัว
ทางธนายงจึงต้องถอยทัพ
เสร็จจากงานนั้นไม่ทันไร การไขว่คว้าหา WORK SHOP แห่งใหม่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก
จนกระทั่งมาลงเอยที่สถานีขนส่งหมอชิต ซึ่งกว่าจะลงเอยกันได้ก็ทำให้ความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นไปแล้วเกือบ
2 ปี ซึ่งในขณะนั้นธนายงก็มั่นใจแล้วว่า คงจะไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาซ้ำซ้อนอีกแล้ว
แต่หารู้ไม่ว่ากระแสเรียกร้องให้โครงการรถไฟฟ้าที่จะต้องทำในใจกลางกรุงเทพจะต้องมุดลงใต้ดินนั้น
ได้พ่วงเอาโครงการธนายงต้องถูกหางเลขไปด้วย
แหล่งข่าวใน กทม. เคยให้ความคิดเห็นว่าค่อนข้างจะน่าเห็นใจธนายงที่จะต้องประสบกับปัญหาต่าง
ๆ อยู่ตลอดเวลา เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากการสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาของธนายงไม่ดีพอ
แม้ว่าความสัมพันธ์กับระดับบริหารของกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพรรคพลังธรรม
ซึ่งร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้จะดีมากก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่ธนายง จำเป็นต้องกลายเป็น
"เหยื่อ" ให้กลุ่มการเมืองอื่นใช้เป็นโอกาสในการสร้างคะแนนเสียงของตัวเอง
"จากเรื่องสวนลุมมาถึงเรื่องหมอชิต จะพบว่ามีกลุ่มการเมืองฝ่ายร่วมรัฐบาลด้วยกันเข้าไปสนับสนุนให้มีการสร้างกระแสรุนแรงยิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะกระแสเรียกร้องเลิกล้มสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้ากลุ่มเก่าที่ทำแบบลอยฟ้าของกลุ่มเดิมที่ทำไว้ทั้ง
3 กลุ่ม ให้หันมาลงใต้ดินแทนนั้น ก็มีกลุ่มร่วมรัฐบาลเดียวกันให้การสนับสนุนอยู่ด้วย"
ดังนั้นสิ่งที่ธนายงควรจะทำเป็นอย่างยิ่งคือ การสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองที่นอกเหนือจากพรรคพลังธรรมให้มากกว่านี้การที่ดึงเอาเกษม
จาติกวณิชมาเป็นประธานกรรมการ และ ดร. อาณัติ อาภาภิรมมาเป็นกรรมการผู้จัดการของบีทีเอสซีนั้นเป็นการย้ำความมั่นใจให้สถาบันการเงินต่างชาติทราบถึงความน่าเชื่อถือของโครงการนี้
แต่สำหรับการเมืองแล้ว ทั้ง 2 ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ได้ช่วงให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นเลยเพราะทั้ง
2 ต่างไม่มีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลในขณะนี้
และเมื่อธนายงจำเป็นต้องเดินตามเกมส์ของกระแสเรียกร้องที่ให้รถไฟฟ้าต้องมุดลงใต้ดิน
โดยเสนอราคาใหม่หลังจากลงใต้ดินในอัตรากว่า 60,000 ล้านบาท โดยแพงกว่าราคาเดิมไปกว่าเท่าตัว
ก็สร้างความไม่เข้าใจขึ้นว่า ทางธนายงเล่นเกมส์อะไรอยู่
หลายฝ่ายลงความเห็นใกล้เคียงกันว่า เป็นวิธีเสนอราคาแบบบอกปัดของธนายง
ซึ่งหากรัฐบาลจะให้สร้างนั้น ก็จะต้องใช้เงินชดเชยเป็นจำนวนมหาศาล อันจะเป็นแรงบีบกลาย
ๆ ให้รัฐบาลได้คิดว่า ควรจะให้โครงการธนายงลอยฟ้าได้ตามเดิม
เหตุผลหลายประการที่ธนายงหยิบยกมาอ้างเพื่อไม่ต้องลงใต้ดินนั้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมรับเงินชดเชยของภาครัฐที่เสนอให้มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ใต้ดิน
เช่นบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสวนลุมพินี โดยอ้างว่าจะเกิดผลกระทบต่อการจราจรในระหว่างการก่อสร้างอย่างรุนแรง
และลงทุนสูงนั้นเป็นเพียงการบอกปัด โดยธนายงทราบดีว่าถึงแม้ว่าตัวเองจะตกลง
แต่ทางรัฐบาลจะหาเงินมากมายอย่างนั้นมาอย่างรวดเร็วได้อย่างไร
ซึ่งในที่สุดธนายงก็ได้ดังใจประสงค์ เมื่อรัฐบาลยินยอมเปิดไฟเขียวให้ดำเนินการลอยฟ้าไปได้ตามเดิม
ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ในส่วนของการเงินสำหรับโครงการนี้ ในช่วงแรกมีหลายฝ่ายมีความมั่นใจว่า
ทางกลุ่มธนายงจะมีความสามารถระดมทุนเข้ามาเพื่อโครงการนี้ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่
แต่ทางธนายงยืนยันว่าเงินจำนวน 22,500 ล้านบาท จะมาจาก EXPORT CREDIT ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างผู้รับงานจะจัดหามาเอง
ในขณะที่อีกจำนวน 2.5 พันล้านบาท จะเป็นเงินกู้ภายในประเทศ ส่วนที่เหลืออีกจำนวน
7 พันล้านบาทนั้น ทางธนายงจะจัดหามาเอง ในรูปของหุ้นกู้ควบใบสำคัญแสดงสิทธิ์
(CONVERTIBLE DEBENTURE)
นอกจากนั้นล่าสุด ทางบรรษัทเงินทุนเพื่อการพัฒนา (ไอ เอฟซี) ก็ได้ช่วยปล่อยกู้และร่วมลงทุนกับโครงการนี้
จำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยเป็นการปล่อยกู้เพื่อการบริหารงาน
350 ล้านเหรียญ และอีก 50 ล้านเหรียญสำหรับเงินลงทุน ซึ่งจะทำให้ไอเอฟซีเข้ามาถือหุ้นในบีทีเอสซีประมาณ
5%
แต่มติคณะรัฐมนตรีที่ให้ชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน ในนาทีสุดท้ายเพียงวันเดียวก่อนถึงกำหนดลงมือขุดเจาะ
เริ่มโครงการบริเวณถนนพหลโยธินนั้น ทำให้โครงการนี้ที่ทำท่าว่าจะได้เกิดเสียทีหลังจากอยู่ในสภาพลูกผีลูกคนมานาน
แทบจะหมดอนาคตลงไปเลยทันที ซ้ำเมื่อมาเจอกับข้อมูลจาก ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง
ที่เปิดโปงความไม่โปร่งใสในการทำสัญญา จนเป็นที่ฮือฮากันไปทั้งเมือง หนทางก็ยิ่งตีบตันเข้าไปอีก
ดีไม่ดี โครงการนี้มีสิทธิล้มทันที
รายงานของธนาคารสวิส และของโนมูระมีความคิดเห็นตรงกันว่า แม้ว่าในช่วงแรกบีทีเอสจะยังไม่สามารถมีผลประกอบการประมาณ
4-5 ปี แต่หลังจากที่บีทีเอสได้ดำเนินการเข้าไประดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ตามแผนการแล้ว
จะทำให้ผลประกอบการโดยรวมของธนายง และภาพพจน์ของกลุ่มดีขึ้นไปด้วย พร้อมกับช่องทางการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดกว้างขึ้น
นอกจากธุรกิจพัฒนาที่ดิน และขนส่งมวลชนแล้ว ธนายงยังได้ผันตัวเองเข้าไปลงทุนในธุรกิจสื่อสารมวลชนด้วย
ตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งบริษัท สยามบรอดคาสติ้ง คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินการไทย
สกายทีวี สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลแห่งที่สองรองจากไอบีซี ซึ่งปรากฎว่าต้องระหกระเหินพอสมควร
จนในที่สุดต้องเปลี่ยนมือให้กลุ่มวัฏจักรเข้ามาดำเนินการในเวลาต่อมา หลังจากนั้นธนายงก็ได้เริ่มบุกเข้าจับธุรกิจจานรับสัญญาณดาวเทียมขนาดเล็กทดแทน
โดยตั้งในนามบริษัทไทยสกายคอม จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างธนายงกับบริษัท
ล็อกซเล่ย์ จำกัด ในสัดส่วน 58.42 ทางธนายงได้รับสัมปทานครั้งนี้เป็นเวลา
5 ปี เข้าดำเนินการธุรกิจจานดาวเทียมขนาดเล็ก (วีแซท)
ธุรกิจด้านโทรคมนาคมนี้ เป็นความดิ้นรนครั้งสุดท้ายของคีรีเท่านั้นที่จะขออยู่รอดในวงการสื่อสารมวลชนต่อไป
การเข้ามาเปิดตัวในธุรกิจใหม่ที่ยังคาดเดาไม่ออกว่า จะมีผลประกอบการมากน้อยเพียงใดนั้น
จึงยังมีอัตราเสี่ยงค่อนข้างสูง ดังนั้นธนายงจึงไม่ให้ความสำคัญกับธุรกิจข้างเคียงนี้มากนัก
ที่กล่าวมาข้างต้น ค่อนข้างจะเห็นได้อย่างแจ่มชัดถึงข้อด้อยและวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในแต่ละจุดของธนายง
แต่อันที่จริงแล้วข้อดีเด่นของกลุ่มธุรกิจก็มีอยู่พอสมควร โดยเฉาพะการที่กลุ่มธนายงมี
LAND BANK เก็บไว้ในสต็อคเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ดินที่เก็บไว้ในปัจจุบันจำนวนถึง
9,432 ไร่ซึ่งคิดเป็นจำนวน 76% ของแลนด์แบงก์ทั้งหมดที่ธนายงมีอยู่ ในขณะที่ที่ดินในกรุงเทพฯ
นั้นมีเพียง 2,180 ไร่เท่านั้น ซึ่งจำนวน 7,255 ไร่ในต่างจังหวัดนั้น มีแปลงใหญ่
ๆ ที่ธนายงถือไว้ 4 แห่งใหญ่คือ โดย 37% อยู่ในจังหวัดเชียงราย
ในขณะที่ 33% อยู่ในที่สระบุรี 15% อยู่ที่ฉะเชิงเทรา และ13% อยู่ที่ภูเก็ต
ด้วยจำนวนที่ดินดังกล่าว ทำให้เห็นว่าทางธนายงคงไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาที่ดินเพิ่มเติมอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางธนายงจะไม่มีนโยบายไปซื้อที่ดินเพิ่มเติมมาระยะหนึ่งแล้วแต่คาดว่าในปีหน้าทางธนายงจะต้องใช้เงินอย่างน้อย
1 พันล้านบาทเพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเติมเวนคืนที่ดิน หรือดำเนินการด้านต่าง
ๆ และจะเป็น 2 พันล้านบาทในปีต่อไป
จากจุดเด่นและจุดด้อยทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทางธนาคารสวิสได้มองทิศทางของธนายงไว้ว่า
ในปี 1994 นี้ ผลตอบแทนด้านยอดขายของธนายงจะขึ้นไปประมาณ 19% ไปถึง 1.07
พันล้านบาท ซึ่งมีผลจากยอดขายของธนาเพลสทั้ง 2 และรีเจนท์ 1 และ 2 ในขณะที่ค่าเช่าและค่าบริการต่าง
ๆ จากการลงทุนในรูปแบบต่างของกลุ่ม จะกระเตื้องขึ้นมาบ้างอีก 11% ไปถึง 223
ล้านบาท แต่ท่ามกลางการเติบโตของรายได้รูปแบบต่าง ๆ แต่ในที่สุดแล้วรายได้ที่จะวัดว่าธนายงจะฝ่าเส้นยาแดงผ่าแปดไปได้หรือไม่นั้น
กลับกลายเป็นรายได้อย่างอื่นไป
รายได้จากการขายที่ดินเป็นรายได้ดังกล่าวซึ่งผืนหนึ่งนั้นอยู่ที่ถนนวิทยุ
และผืนหนึ่งอยู่ที่บางนาตราด รายได้จากผืนแรกซึ่งเป็นกำไร มาหักกลบลบหนี้กับการขาดทุนในผืนที่สอง
ทำให้ขาดทุนไป 11 ล้านบาท ในขณะที่หุ้นกู้ของธนายงก็ได้เริ่มกำหนดขาย เงินฝากระยะสั้นของธนายงส่วนใหญ่ก็ถึงเวลาครบดีลแล้ว
จะส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งเรามองว่ารายได้จากดอกเบี้ยของธนายงจะตกจาก
434 ล้านในปี 1993 ลงมาเหลือเพียง 95 ล้านบาทในปีนี้ ในขณะที่กำไรจะเพิ่มสูงขึ้น
248 ล้านบาท จากการขายหุ้นในบริษัทเทพประทานแต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่พอเพียงกับการตกต่ำของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ
ซึ่งอันที่จริงเรามองว่าผลตอบแทนของธนายงจ่าจะตกต่ำลงมาประมาณ 3% ลงมาเป็น
523 ล้านบาท รายได้ดังกล่าวนี้ไม่รวมถึงการขายที่ 20 ไร่ในธนาซิตี้ ซึ่งจะได้รับการพัฒนาไปเป็นโรงเรียนนานาชาติ
การคาดการณ์ในปี 1995 ทางแบงก์สวิสมองว่าในปี 1995 จะเป็นปีฟื้นตัวของธนายง
แม้ว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ธนายงต้องอยู่ในภาวะเงินเฟ้อมากที่สุดก็ตาม รายได้จากการขายธนาซิตี้
จะโตมากขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาในหลายส่วนหรือทั้งหมดตามมารวมถึงการเปิดโครงการใหม่ในเดือนมีนาคม
1994 โครงการสำคัญอย่างรีเจนท์ 1, 2 จะเป็นโครงการที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับกลุ่มได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับมารีน่า
เหนือสิ่งใด มีการมองว่ารายได้ที่แท้จริงของธนายงจะมีการไต่ระดับขึ้นไปมากถึง
234% ไปเป็น 3.56 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่มีอัตราสูงนี้ จะต้องตามมาด้วยมาร์จินที่ต่ำด้วย
อย่างเช่นโครงการรีเจนท์หรือมารีน่า จะพบว่าเป็นโครงการที่ไม่ค่อยทำกำไรเท่าที่ควร
จึงมีการมองว่ากรอส มาร์จิน จะตกลงมากจาก 46% เหลือเพียง 35% แม้ว่าดอกเบี้ยที่จะต้องเสียให้แหล่งเงินทุนจะตกลงมาทำให้สถานการณ์หนี้ดีขึ้นบ้างก็ตาม
แต่รายได้จากดอกเบี้ยที่ฝากกับสถาบันก็จะลดลงไปด้วย เพราะธนายงมีนโยบายลดการฝากเงินแบบระยะสั้นลง
ในขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยลดลง และการดำเนินการเพื่อให้ได้กำไรถูกตีกรอบให้แคบลงก็ตาม
แต่ก็ได้รับการชดเชยจากยอดขาย ซึ่งมีการมองว่าในที่สุดแล้ว กำไรสุทธิแท้จริงจะเป็นประมาณ
640 ล้านบาท หรือขึ้นไป 22%
ในปี 1996 มีการคาดการณ์ว่าในส่วนของโครงการธนาซิตี้เกือบทั้งหมด น่าจะมีการขายออกไปหมดยกเว้นแต่โครงการที่เปิดตัวใหม่
เช่นเพรสทีจ เฮาส์ 5 สนามกอล์ฟ และสปอร์ตคลับ ซึ่งจะทำให้รายได้จากธนาซิตี้จะเป็นรายได้ที่ลดความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับกลุ่มธนายงทั้งหมด
ในขณะที่มารีน่าจะเป็นรายได้หลักในส่วนต่อมา และเมื่อเอกซเชนจ์สแควร์เปิดได้ภายในปี
1994 จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีก 304 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายแท้จริงจะขึ้นไป
26% ไปเป็น 4.48 พันล้านบาท
นอกเหนือจากอัตราเติบโต 26% ของยอดขาย กำไรก็จะได้รับการส่งเสริมให้สูงขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นตัวด้วยมีการมองว่าสถานะเงินสดในปี
1996 จะพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ จากความสำเร็จของแต่ละโครงการที่จะทะยอยเสร็จตามลำดับในเวลาต่อมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาเพลส และรีเจนท์ทั้ง 3 โครงการ ในปี 1996 มีการคาดการณ์ว่ากำไรจะขึ้นไป
33% ไปเป็น 352 ล้านบาท
ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนจะอยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท
ในปี 1996 ซึ่งทางธนายงคงหวังจะได้ที่ดินจำนวนมากขึ้นเพื่อลดภาระในการเจริญเติบโตช่วงต่อไปของกลุ่ม
ในขณะที่การพัฒนาโครงการใหม่ก็จะทำให้กลุ่มมีพันธะเกี่ยวกับกระแสเงินสดมากขึ้นไปอีก
ซึ่งจุดนี้เองจะทำให้ทางธนายงจะต้องหยุดการลงทุนในกิจการด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว
รวมถึงกิจการในเครือที่แตกหน่อออกไปด้วยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน
เมื่อลดภาระด้านลงทุนไป ก็จำเป็นอยู่เองที่เขาจะต้องเพิ่มต้นทุนด้านบุคลากรมากขึ้น
เพื่อดึงคนมีฝีมือเข้ามาและเมื่อโครงการธนาเพลสทั้ง 2 โครงการเสร็จสิ้นลงมีการเปลี่ยนมือเป็นเงินสดเรียบร้อยแล้ว
จะทำให้หนี้สินของธนายงจะลดลงมาเหลือเพียง 1.1 พันล้านบาทเท่านั้น
แต่ข่าวดีที่ธนายงจะคลี่คลายเงื่อนปมของตัวเองได้นี้ เป็นเรื่องของอนาคต
ดังนั้นอย่าหวังมากว่าทิศทางของธนายงในช่วงต่อไป จะเป็นไปตามตัวเลขคาดการณ์แบบรูปธรรมดังว่า
หากตราบใดในแง่นามธรรม ความเป็นคีรี กาญจนพาสน์ แบบเดิมยังมีอยู่เต็มเปี่ยมหรือตราบใดที่ยังมีการบริหารแบบหนีปัญหา
และยังคง PUT THE WRONG MAN ON THE WRONG JOB อยู่เช่นเดิม
คงได้เวลาแล้วที่มังกรธนายงจะต้องนั่งนิ่ง ๆ มองดูตัวเองให้นาน ๆ