"ที่ดิน" และ "บ้าน" อยู่ในปัจจัยสี่ที่ทุกผู้ทุกนามมิอาจไม่ข้องแวะได้
ดูจากการร้องเรียนเนื่องจากมีการละเมิดสิทธิ์ในที่ดินของชาวบ้านจากหน่ายงานภาครัฐหรือเอกชนด้วยนั้น
ดูจะเป็นปกติวิสัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเมืองไทย ซึ่งตามหลักสากลแล้ว จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางระดับกระทรวงขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแล้ว เรื่องต่าง ๆ
อาจจะบานปลายไปกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐบาลก็เป็นได้
แนวความคิดการจัดตั้ง "กระทรวงที่ดิน" หรือในชื่ออื่นที่ใกล้เคียงกันในเมืองไทย
ได้เริ่มจุติมาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้ว โดยแรกเริ่มนั้นเป็นการผลักดันของผู้บริหารระดับสูงของกรมที่ดิน
ที่หวังจะเพิ่มศักยภาพในการจัดระบบบริหารที่ดิน เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง
เนื่องจากมองเห็นว่าหากไม่มีการวางระบบบริหารที่ดินของส่วนกลางให้ขยายขอบข่ายไปได้กว้างขวางแล้ว
ก็จะไม่สามารถรองรับกับความต้องการของประชาชนที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินได้อย่างเต็มที่
แต่แล้วการผลักดันครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผ่านมา ก็มิอาจต้านทานต่อกระแส
"หวงอำนาจ" ของหน่วยงานภาครัฐแห่งอื่นที่จะต้องถูกแย่งชิงเอากรมกองบางส่วนของตนมาอยู่ที่กระทรวงที่ดินที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่
ทั้งนี้เนื่องจากหลักการประการสำคัญของการจัดตั้งกระทรวงที่ดินนี้ ก็เป็นไปเพื่อรวบรวมเอาหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและควบคุมด้านที่ดินของภาครัฐและเอกชนให้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน
ดังนั้น หน่วยงานอย่างเช่นกรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือ
สปก. ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรืองานควบคุมที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์
รวมถึงงานจัดนิคมของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ก็จะต้องมารวมตัวอยู่ที่กระทรวงแห่งนี้ด้วย
หน่วยงานดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ต่างเป็นขุมกำลังที่พร้อมจะสร้างสรรค์ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ให้กับกระทรวงเจ้าสังกัดได้มากพอสมควร และในทางกลับกันหากจะต้องตกไปอยู่ในมือของหน่วยงานอื่นแบบ
"ชุบมือเปิบ" เสียแล้ว ผลงานที่อุตสาห์สร้างสมมาเป็นเวลานาน ก็จะต้องตกไปอยู่ในมือของหน่วยงานใหม่นี้ด้วย
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเกินวิสัยและยากเกินกว่าจะยอมรับได้
กระนั้นก็ตาม ก็ได้เกิดกระแสสนับสนุนให้มีการผลักดันจัดตั้งกระทรวงที่ดินขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นผู้บริหารระดับสูงของกรมที่ดินทั้งที่ยังรับราชการอยู่
และเกษียณอายุไปแล้ว โดยครั้งนี้ได้อาศัยสมาคมการค้าส่งเสริมอาชีพรับจ้างเหมา
ซึ่งอยู่ในวงศ์วานว่านเครือของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เป็นหัวหอกนำขบวนครั้งนี้
สาเหตุประการสำคัญที่สมาคมการค้าส่งเสริมอาชีพรับจ้างเหมา ยกเอาประเด็นเรื่องการจัดตั้งกระทรวงที่ดิน
เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น เพราะความซับซ้อนของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องที่ดินนั้น
นอกจากจะทำให้ความมีเอกภาพ และประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินไม่คืบหน้าแล้วความซับซ้อนดังกล่าวก็นับวันจะมีมากขึ้น
และรุนแรงเป็นเท่าทวีคูณซึ่งหากไม่รีบแก้ไข ก็จะเกิดวิกฤติจนยากแก่การแก้ไขได้
นอกจากนั้นแล้ว การได้รับหัวเชื้อจุดประกายสำคัญจากคณะกรรมการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีประสพ บุษราคัมเป็นประธานคณะกรรมาธิการที่เตรียมพร้อมจะจัดสัมนาเรื่องกระทรวงที่ดิน
ณ อาคารรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกันนั้น ก็ทำให้ทางสมาคมฯ มองว่า
การรวมตัวครั้งนี้มีความหนักแน่นที่จะชี้นำและผลักดันให้กระทรวงที่ดินในความฝันนี้ได้เวลาคลอดเสียที
เพราะที่ผ่านมานั้น การเร่งผลักดันให้กระทรวงนี้เกิดขึ้น เป็นการปลุกเร้าจากภายนอก
คือประดาผู้อยู่ในวงการที่ดินทั้งภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ในครั้งนี้ผู้ที่มีหน้าที่ในการออกกฎหมายเช่นคณะกรรมาธิการของสภาฯ
ได้ให้ความสนใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นนี้
หนทางที่จะไปสู่เส้นชัยนั้นย่อมอยู่ใกล้ขึ้นอย่างแน่นอน
แต่เมื่อปัญหาหลักเรื่อง "หวงอำนาจ" ยังคงอยู่และไม่ได้รับการคลี่คลายลงไป
ในขณะที่ปัญหาด้านอื่น ๆ ก็มีตามมาอีกเช่นนี้แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่ากระทรวงที่ดินจะคลอดออกมาได้ทันที่เราต้องการ
ศิริ เกวลินสฤษดิ์ อดีตอธิบดีกรมที่ดิน ผู้คร่ำหวอดกับวงการที่ดิน เช่นเดียวกับการผลักดันกระทรวงที่ดิน
แม้จะมองว่าการผลักดันจัดตั้งกระทรวงใหม่แห่งนี้จะมีนิมิตหมายที่ดี ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความสนใจมากขึ้น
แต่หากจะให้กระทรวงนี้เกิดขึ้นได้จริงนั้นก็คงต้องเหนื่อยอีกหลายยก
"หากการตั้งกระทรวงใหม่นี้ เป็นไปเพียงเพื่อให้ข้าราชการมีที่ลงเท่านั้น
ก็ไม่ควรจะผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ถ้าการผลักดันครั้งนี้มุ่งที่จะทำให้หน่วยงานทั้งหมดของกรมที่ดินซึ่งมีอยู่
24 กอง และบุคลากรทั้งหมดถึง 13,000 อัตรา และงบประมาณที่ได้รับหากไม่รวมเงินกู้จากเวิลด์แบงก์เพื่อมาออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินนั้นก็จะตกประมาณ
1,200-1,300 ล้านบาทได้ไปมีส่วนผลักดันให้วงการที่ดินมีความคล่องตัวในการดำเนินการแล้ว
ก็น่าจะทำเป็นอย่างยิ่ง"
ศิริยังได้เสนอหนทางออกไว้ด้วยว่า หากความคิดจัดตั้งกระทรวงจะต้องถูกคัดค้านทั้งด้วยเหตุผลส่วนตัวและส่วนรวมประการใดก็ตาม
ก็น่าจะมีหนทางออกที่จะค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการชะลอการจัดตั้งกระทรวงไว้ก่อน
และรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาไว้ในรูปของทบวง ซึ่งโอกาสที่จะบริหารงานได้ดีก็น่าจะมีมากกว่า
สำหรับหน่วยงานที่สำคัญซึ่งควรจะมีการบรรจุไว้ในทบวงนั้น ควรจะมีกรมต่าง
ๆ ที่สำคัญเช่น กรมทะเบียนที่ดินที่จะเป็นตัวหลักสำคัญของกระทรวง นอกจากนั้นก็ต้องมีกรมรังวัดที่ดิน
ที่คอยดูแลการรังวัดที่ดินต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพถ่ายทางอากาศ นอกจากนั้นยังมีกรมจัดควบคุมที่ดินที่จะดูแลที่ดินสาธารณะ
ซึ่งจะต้องหันมาเน้นการจัดที่ดินในเมืองให้มากขึ้น และสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินที่จะต้องเพิ่มศักยภาพมากขึ้น
สำหรับงานที่ดินในทศวรรษหน้า
การขยายบทบาทของกระทรวงที่ดินที่จะจัดตั้งขึ้นให้ผนวกงานของการเคหะแห่งชาติเข้ามาด้วยนั้น
ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ได้เริ่มมีการพูดถึงในระยะหลังนี้ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า
การที่จะดึงหน่วยงานสำคัญจากกระทรวงมหาดไทยอีกหน่วยงานหนึ่งมาร่วมด้วยนั้น
เป็นการ "วางระเบิดเวลา" ที่จะทำให้วาระคลอดของกระทรวงที่ดินล่าช้าออกไปอีกหรือไม่
"เพียงแค่ดึงหน่วยงานอื่น ๆ จากกระทรวงสำคัญเข้ามา 4-5 กระทรวงนี้
ก็ทำให้สิ้นเปลืองเวลาไปมากพอสมควรแล้ว และเมื่อต้องดึงการเคหะฯ เข้ามาร่วมด้วยเช่นนี้
โอกาสที่จะผลักดันให้กระทรวงนี้เกิดขึ้นก็เป็นไปได้ยากขึ้นอีก" แหล่งข่าวในวงการที่ดินกล่าว
อุทิศ ขาวเธียร ผู้อำนวยการกองระสานการพัฒนาเมือง ของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นอีกผู้หนึ่งที่คร่ำหวอดกับวงการผังเมือง
และที่ดินมายาวนาน ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มองเห็นว่า โอกาสที่จะก่อตั้งกระทรวงที่ดินขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ดังนั้นจึงได้คิดหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยในภาคราชการนั้น คณะกรรมการร่วมที่พิจารณาเรื่องที่ดินระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
ซึ่งก่อนหน้านี้จะตกไปอยู่ในความดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยนั้นก็น่าจะให้คนกลางที่สามารถประสานความร่วมมือได้ดีกว่า
รมต. มหาดไทยนั่นก็คือ นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ หรือ ผู้หนึ่งผู้ใดที่รองนายกฯ
เป็นคนแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานความร่วมมือแทน
"ปัญหาในอดีตที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะอำนาจไปอยู่ในมือของรัฐมนตรีมหาดไทย
ทำให้ความเกรงอกเกรงใจระหว่างรัฐมนตรีจึงไม่ค่อยมีมากนักและการให้นายกฯ เข้ามานั่งในตำแหน่งนี้
ก็จะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะอำนวยความสะดวกให้การก่อตั้งกระทรวงที่ดินในอนาคตเป็นไปได้ง่ายดายขึ้น"
ส่วนในภาคเอกชนนั้นอุทิศแนะว่า การจัดตั้งบรรษัทพัฒนาการที่มีหน้าที่เข้ามาดูแลเรื่องผังเมือง
รวมถึงงานทางด้านที่ดินที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นมือและไม้แทนหน่วยงานภาครัฐที่จะมีหน้าที่เพียงคุมแต่นโยบายนั้น
น่าจะเป็นการพัฒนาการที่ดีที่จะทำให้ธุรกิจที่ดินโดยรวมดีเป็นเงาตามตัวไปด้วย
โดยสรุปแล้ว การผลักดันกระทรวงที่ดินให้เกิดขึ้นอีกรอบหนึ่งนี้ นอกจากเป็นความพยายามของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐที่จะเพิ่มบทบาทของตัวเองแล้ว
ยังได้มีการดึงเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยโดยคิดว่านักการเมืองจะเป็นผู้ทอดสะพานผ่านสะดวกให้
กระทรวงที่ดินนี้เกิดขึ้นได้อย่างไม่ติดขัด
แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าการเมืองที่มีความผันผวนแบบของไทย ที่ใครจะไปใครจะมาเมื่อไร
มิอาจคาดคำนวณได้ผนวกกับการก่อตั้งกระทรวงที่เปี่ยมไปด้วยปัญหาที่ต้องไปประสบปัญหาขัดแย้งขัดขากระทรวงอื่นด้วยแล้ว
ก็คงบอกได้เพียงอย่างเดียวว่า
โอกาสแท้งของกระทรวงนี้มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ในขณะที่ช่องทางเกิดของกระทรวงนี้แทบจะถูกปิดประตูตายไปเสียแล้ว