หลังจากที่ บงล. เอกธำรงจับมือกับมอร์แกน เกรนเฟลกับธนาคารไทยพาณิชย์ทุ่มเงิน
930 ล้านบาทเพื่อเทคโอเวอร์บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอจีซีเดิมของกลุ่มเวสแพคแล้ว
ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "บงล. ไทยธำรง" เมื่อต้นมีนาคมปีนี้ โดยเป็นกรรมการผู้จัดการแฝดคนละฝา
คือ ยุทธ วรฉัตรธาร อดีตกรรมการผู้จัดการเอสซีเอฟและสหธนกิจไทยที่ถูกเพื่อนอย่างภควัต
โกวิทวัฒนพงศ์แห่งเอกธำรงดึงมาช่วยเป็นมืออาชีพบริหารธุรกิจด้านบริษัทเงินทุนไทยธำรงขณะที่จรัมพร
โชติกเสถียรนักบริหารรุ่นใหม่ที่ทำงานให้กับไทยพาณิชย์มา 12 ปี ก็เริ่มต้นบุกเบิกบริษัทหลักทรัพย์ใหม่
"ผมจะเป็นคนเริ่มธุรกิจหลักทรัพย์ในไทยธำรง ซึ่งเดิมไม่เคยประกอบธุรกิจด้านนี้มาก่อน
ทั้ง ๆ ที่มีใบอนุญาตครบทั้งสี่ประเภท แต่ไม่ได้หาประโยชน์ตรงนี้ เพราะติดเงื่อนไขผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ
เราจึงเริ่มจากศูนย์และช้ากว่าคนอื่น ๆ เป็นสิบปี งานมันจึงท้าทายดี"
จรัมพรเล่าให้ฟัง
แผนการทำธุรกิจหลักทรัพย์ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะแยกธุรกิจบริษัทเงินทุน
(บง.) ออกจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ตามนโยบายของทางแบงก์ชาติ ทำให้ในเดือนตุลาคมนี้จะเกิดการแตกตัวไทยธำรงออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่งชื่อ
"เอสซีบีซีเคียวริตีส์" เพื่อทำธุรกิจด้านหลักทรัพย์โดยเฉพาะ ที่จะมีความคล่องตัวและเพิ่มรายได้ด้านค่าธรรมเนียมมากขึ้น
รูปแบบโครงสร้างการจัดการของบริษัทใหม่นี้จะมีกรรมการผู้จัดการหลายคนเหมือนของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้
นำโดยจรัมพร โชติกเสถียร ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร รองลงมาเป็นกรรมการผู้จัดการอีกสามคน
ได้แก่ผู้บริหารจากบริษัทที่ปรึกษาการเงิน "สยามวาณิชธนกิจ" สองคนคือ
ม.ล. ชโยทิต กฤดากร กับนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ และสุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาว์ที่มาจากแบงก์กรุงเทพ
โดยสายสัมพันธ์ บริษัทสยามวาณิชธนกิจกับไทยธำรงก็ร่วมมือกันทางธุรกิจอยู่แล้ว
โดยสยามวาณิชธนกิจจะส่งลูกค้ามาให้ ขณะดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทที่จะออกหุ้นต่าง
ๆ โดยไทยธำรงเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่าย
"กรรมการทั้งสามคนที่เราวางไว้ แต่ละคนจะมีความชำนาญในด้านธุรกิจหลักทรัพย์เฉพาะด้านที่แตกต่างกันไป
ซึ่งเมื่อมารวมกันอยู่ในบริษัทเดียวกัน ก็จะทำให้เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่งได้โดยเฉพาะเอสซีบี
ซีเคียวริตีส์จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรก ที่รุกมาทำธุรกิจทั้ง INVESTMENT
BANKING และ MERCHANT BANKING อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะแต่ละคนเป็นวาณิชธนกรที่เก่งทั้งนั้น"
ชฎา วัฒนศิริธรรม รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว
ฝีไม้ลายมือของจรัมพรลูกหม้อไทยพาณิชย์หนุ่มเอ็มบีเอฮาร์วาร์ดรูปหล่อวัย
37 ที่ฝากไว้ก่อนย้ายมาใหญ่ที่บริษัทใหม่นี้ จรัมพรเคยมีประสบการณ์จัดตั้งธุรกิจใหม่
ๆ ในฐานะกรรมการผู้จัดการคนแรกของ บลจ. กองทุนรวมไทยพาณิชย์ที่มีทีมงานบริหารกองทุนแบบรุกก้าวเร็วชนิด
BEAT SET INDEX บริหาร 13 กองทุน มูลค้าสินทรัพย์สุทธิ 3.5 หมื่นล้านบาทยังไม่ทันจะได้นั่งพักสบาย
ๆ จรัมพรก็ต้องมานั่งเหนื่อยอีกกับภารกิจบุกเบิกงานที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม โดยที่เดิมมีคนใหม่ชื่อสมชัย
มิตรไพบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจตลาดทุนที่เป็นต้นคิดออกกองทุนใหม่ ๆ บริหารแทน
"ถ้าเปรียบเทียบขนาดธุรกิจระหว่างกองทุนรวมกับธุรกิจหลักทรัพย์ไทยธำรง
จะเห็นว่ากองทุนรวมมีแค่ใบอนุญาตเดียว แต่ไทยธำรงทำได้เยอะกว่า มีทั้งวาณิชธนกิจ
นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งสถาบันต่างประเทศและในประเทศ ประเภท RETAIL
HI-NETWORK มีจำนวนลูกค้ามากที่ทำให้เราต้องมีระบบบริการที่ดี แต่ประสบการณ์จากกองทุนรวม
ทำให้เราเข้าใจความต้องการของนักลงทุนสถาบัน" จรัมพรเล่าให้ฟังถึงงานที่ท้าทายกว่าที่นี่
กว่าที่จรัมพรจะวางระบบงานบริหารภายในและเตรียมกำลังพลนับร้อยลงตัว ก็ประจวบเหมาะกับสำนักงานแห่งใหม่ของ
"เอสซีบี ซีเคียวริตีส์" ที่อาคารสินธรเสร็จปลายปีนี้พอดี
"นโยบายของเราเน้นที่ความมั่นคงมากกว่า เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ที่ดีที่สุดอันหนึ่ง
เราต้องมีรีเสิร์ชที่ดีกับวาณิชธนกรที่เก่งให้บริการลูกค้า ดังนั้นมันเร็วไม่ได้
แค่รีเสิร์ชดี ๆ ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหกเดือน ขณะนี้เราไม่เน้นด้านมาร์เก็ตติ้ง
ไม่มีเป้าตายตัว แต่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นบริการลูกค้าให้ดีและถูกต้องรวดเร็ว
เมื่อเฟืองภายในเดินคล่องแล้ว จะใส่เกียร์หนึ่งไปเกียร์ห้าก็ย่อมได้"
จรัมพรเน้นถึงการเตรียมพร้อมระบบบริหารภายในให้ลงตัวก่อนรุกก้าวไปบุกตลาด
แม้ว่าธนาคารไทยพาณิชย์จะมีแขนขาธุรกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถึง 4 แห่ง
ได้แก่ ธนชาติ บุคคลัภย์ และสินอุตสาหกรรมที่มั่นคง และมีบทบาทโดดเด่นแล้วก็ตาม
แต่การรุกก้าวเข้าไปพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจร ทั้งธุรกิจการประกันการจำหน่ายตราสารทางการเงินต่าง
ๆ SECURITIZATION ธุรกิจพี่เลี้ยงหรือสปอนเซอริ่ง และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินของโครงการขนาดใหญ่ต่าง
ๆ โดยใช้ บล. เอสซีบี ซีเคียวริตีส์เป็นแกนนำ ถือว่าเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญ
เพื่อช่วงชิงโอกาสได้เปรียบในสถานการณ์แข่งขันในระบบการเงินที่เปิดเสรีในปัจจุบัน!!