วิทยา บัณฑิตกฤษดาใช้เวลา 15 ปีสร้างกลุ่มเจวีเคขึ้นมาเป็นปึกแผ่นอย่างทุกวันนี้
โดยมีบริษัทในเครือประมาณ 15 แห่ง แบ่งออกเป็นกลุ่มขนส่ง บริการ เดินทางท่องเที่ยว
อสังหาริมทรัพย์ และการค้า
กลุ่มที่เป็นฐานกำลังหลักและเป็นจุดเริ่มต้นของเขาคือกิจการขนส่ง และบริการขนส่งที่เขาทำนั้น
ไม่ใช่การขนส่งสินค้าทั่ว ๆ ไป แต่เป็นการรับจ้างขนของย้ายบ้านหรือออฟฟิศ
วิทยาจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา หลังจบการศึกษาแล้ว
เขากลับมาเมืองไทย เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นพนักงานขายตั๋วให้สายการบินทรานส์เวิลด์
แอร์ไลนส์ หรือทีดับบลิวเอของอเมริกาที่เลิกกิจการไปแล้ว
จากนั้นก็ย้ายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายขายที่สายการบินแคนาเดี้ยนแอร์ไลนส์ ก่อนจะเริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจให้ทรานส์โปอินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทอเมริกันซึ่งให้บริการขนย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน และสำนักงานทั้งภายในและระหว่างประเทศ
ที่นี่เองที่เขาได้ลอกเลียนประสบการณ์ไปเปิดบริษัทของตัวเองเมื่อปี 2522
ใช้ชื่อว่า "เจวีเค อินเตอร์เนชั่นแนลมูฟเวอร์ส"
ช่วงสงครามอินโดจีน บริษัทฝรั่งเกิดขึ้น 2-3 แห่งเพื่อทำธุรกิจขนย้ายของใช้ส่วนตัวของพวกจีไอ
เป็นตลาดที่มีความต้องการอยู่มาก คู่แข่งก็ไม่ค่อยมี ก็เลยทำให้บริษัทพวกนี้ไม่สนใจตลาดใหม่
ๆ หรือปรับปรุงบริการให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ผมจึงได้เข้ามาจับกลุ่มธุรกิจเอกชน
นักการทูตจากต่างประเทศที่มาประจำในไทย ตลอดจนเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ"
วิทยาพูดถึงช่องทางที่ทำให้เขาได้เกิด
ปัจจุบันเจวีเคมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจรับจ้างย้ายบ้านและสำนักงานประมาณ
40% พอ ๆ กันกับคู่แข่งคือทรานส์โปที่ตนเองเคยอยู่และบริษัทฮ่องกงทรานส์แพค
ลำพังเพียงเจวีเค อินเตอร์เนชั่นแนลมูปฟเวอร์สเพียงอย่างเดียว ปริมาณธุรกิจคงจะมีขนาดจำกัด
เพราะความต้องการในทำนองนี้ไม่น่าจะขยายตัวมากนัก ประสานักธุรกิจ ก็ย่อมที่จะต้องสอดส่ายหาช่องทางทำมาหากินอื่น
ๆ ไปด้วย
"ผมทำงานมาหลายอย่างมีทั้งเจ๊ง ทั้งกำไร ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แต่อย่างน้อยยังไม่เจ็บตัวมากถ้าคิดในแง่ของการลงทุน"
หนุ่มใหญ่วัย 45 ปี กล่าว
วิทยาเปิดบริษัทโฟร์วินดส์อินดัสเตรียล ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยเฉพาะที่ทำตลาดได้ในเมืองไทยคืออุปกรณ์และอะไหล่ขุดเจาะน้ำมัน
พอมาถึงยุคที่ดินบูมก็หันไปเล่นด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการสร้างคลังสินค้าให้เช่าในนามบริษัทเบญจพรแลนด์มีทั้งที่สร้างขึ้นมาเป็นของตัวเองและที่เช่ามาอีกต่อหนึ่ง
ปี 2534 เขาขยายเจวีเคเข้าไปในกัมพูชา โดยตั้งบริษัทเจวีเคอินโดไชน่ามูฟเวอร์สและเจวีเค-นากามูฟเวอร์ส
กลุ่มลูกค้าหลักก็คือเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติหรือ
"อุนเทค" ที่เข้าไปทำหน้าที่ควบคุมการถ่ายโอนอำนาจ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา
วิธีการทำงานของวิทยาคือพลิกแพลงภายใต้ช่องโหว่ที่เปิดให้ ในกรณีของการเข้าไปในอินโดจีนนี้เขาบอกว่า
"ผมเข้าทำงานที่อินโดจีนโดยไม่มีใบอนุญาต แต่อาศัยจดทะเบียนกับบริษัทท้องถิ่นให้เขากินกงสีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องระบบบัญชีและภาษี
เราจะได้จ่ายในอัตราที่ถูกลง"
สิ่งที่เป็นจุดแข็งของเจวีเคในธุรกิจนี้ นอกเหนือจากการรู้จักจับมือกับบริษัทที่มีชื่อเสียงและโนเฮาอย่างเช่นเจวีเคนากาในกัมพูชาที่ร่วมกับ
"ยูพีเอส" ธุรกิจขนส่งพัสดุภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกาแล้ว คือความพร้อมในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ
"ผมถือว่าเรากล้าลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นคลังสินค้าหรือรถจักรพ่วง
เราจึงไม่ต้องจ่ายงานให้บริษัทอื่นเหมือนคู่แข่ง การที่เราเอาธุรกิจร่วมสังกัดในเครือ
ALLIED PICK FORDS บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการด้านการบรรจุหีบห่อและขนส่งทำให้บริการของเรากว้างไกลขึ้น
อะไรที่คนไทยทำเองก็มักจะถูกโจมตีว่าไม่น่าเชื่อถือ" เขากล่าว
การลงทุนในเรื่องคนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่วิทยาเชื่อว่าทำให้เจวีเคก้าวมาไกลได้ถึงวันนี้
"ผมฝึกอบรมคนและให้เงินเดือนเป็นสวัสดิการอย่างดี ในระดับผู้จัดการ
เมื่อทำงานกับเรานาน ๆ เราก็แบ่งหุ้นให้ ผมอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม ผมทำงานกับฝรั่งมารู้ว่าเป็นอย่างไร
ฝรั่งไม่ได้เก่งไปกว่าคนไทยหรอก บริษัทผมจึงมีอัตราการลาออกของพนักงานที่ต่ำมาก"
ไม่ใช่จะเล่นบทเถ้าแก่อย่างเดียว ในอินโดจีนวิทยาทำตัวเป็นนายหน้า ชักนำนักลงทุนต่างแดนเข้าไปจับคู่กับธุรกิจท้องถิ่น
อย่างเช่น การดึงเอาคริสเตียนี่ แอนด์ นีลเส็น บริษัทก่อสร้างเก่าแก่ที่มีกำเนิดจากเดนมาร์ก
แต่เพิ่งเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทยร้อยเปอร์เซนต์เมื่อสองปีก่อน เข้าไปรับงานก่อสร้างท่าเรือที่โฮจิมินห์
ซิตี้ร่วมกับบริษัทก่อสร้างอเมริกา
และถ้าเห็นว่าธุรกิจที่ตัวเองเป็นพ่อสื่อจับคู่ให้ มีขนาดไม่เหลือบ่ากว่าแรง
และมีอนาคตพอสมควร เขาก็ไม่รีรอที่จะขอเข้าไปร่วมหัวจมท้ายด้วย ดังเช่นสองกิจการใหม่ล่าสุดในเครือเจวีเคของเขาคือ
ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัยให้กับสายการบินที่ร่วมมือกับกลุ่มเอดีไอของอังกฤษ
กับกิจการขายเครื่องบินขนาดเล็กในชื่อบริษัทอิตาเลียนไทย เอวิเอชั่นที่เป็นการร่วมทุนกับบริษัทเจเนรัล
เอวิเอชั่น ของอิตาลี
บริการของเอดีไอที่ได้รับการยอมรับคือ ระบบการตรวจสอบความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ
แต่ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดเวลาจอดพักเครื่องบิน เหมาะกับท่าอากาศยานที่มีเครื่องบินขึ้น-ลงหนาแน่น
ปัจจุบันลูกค้าได้แก่ ยูไนเต็ดอาหรับเอมิเรตส์ แอร์ไลนส์ บริติช แอร์เวยส์
ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ เดลต้า แอร์ไลนส์ แอร์ลังกา และเคแอลเอ็ม
ปัจจุบัน บริษัทที่รักษาความปลอดภัยให้สายการบินในดอนเมืองคือ MPA ซึ่งดำเนินงานมา
27 ปี แต่สำหรับเอดีไอ ประเทศไทยนั้น มองว่าสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า
คือที่ที่จะรองรับธุรกิจของตน นอกเหนือจากลู่ทางในอนาคตที่จะร่วมกับเอดีไอของอังกฤษ
เข้าไปรับงานในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และมาเลเซีย
ส่วนอิตาเลียนไทยเอวิเอชั่นนั้นวิทยากล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ลงเงินเป็นจริงเป็นจังหวังรองรับนโยบายเปิดเสรีการบินที่จะทำให้เครื่องบินขนาดเล็กเปิดตลาดในไทยได้
และการขายอะไหล่และอุปกรณ์อันเป็นธุรกิจตามน้ำที่ทำกำไรได้ดีก็จะตามมาในภายหลัง
"เราคาดว่าจะนำเครื่องมาโชว์ได้ในงานแสดงสินค้า THAI-SAIGON TRADE
FAIR'95 ซึ่งจะจัดเดือนมกราคม ต้นปีหน้า แต่เราจะถือโอกาสเอาเครื่องมาเปิดตัวในงานนี้ในเดือนสิงหาคมด้วย
ยังมีปัญหาเรื่องการเปิดกว้างของภาคราชการคือสภาความมั่นคงแห่งชาติและกรมการบินพาณิชย์
(บพ.) อยู่บ้างที่ข้อกฎหมาย ทำให้ทางปฏิบัติยังไม่ราบรื่น"
ในอดีตที่ผ่านมามีชมรมซึ่งเป็นที่รวมตัวของผู้รักการบินอยู่ 2 ชมรม ซึ่งมีสนามประจำคือที่บ่อฝ้ายและบางพระ
ทั้ง 2 ชมรมเป็นช่องทางที่สมาชิกจะซื้อเครื่องบินเพื่อประหยัดค่าเบี้ยประกันเมื่อซื้อรวมกันหลายลำ
ขณะเดียวกันช่วยให้ขออนุญาตได้ง่ายและสะดวกขึ้น แต่วันนี้ บพ. เปิดให้ขออนุญาตเป็นรายบุคคลได้แล้ว
จึงขึ้นอยู่กับคอนเนกชั่นและฝีมือทางการตลาดของวิทยาว่าจะทำได้อย่างใจนึกหรือไม่
นอกจากบริษัทที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกิจการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่วิทยารู้สึกว่าเขาไม่เดือดร้อนอะไรมาก
แม้มันจะไม่ทำเงินมากนักก็ตาม เช่น บริษัทวีเอสทราเวลโปรโมชั่น ที่ขายตั๋วและเป็นบริษัททัวร์
บริษัทพีคเอวิเอชั่นเซอร์วิสเซส บริษัทใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้น เป็นตัวแทนสายการบินประจำประเทศไทยทั้งด้านบัตรโดยสารและคาร์โก้
บริษัทขลุงดิเวลลอปเม้นท์ สวนเกษตร 400 ไร่ ที่วิทยามีผู้หลักผู้ใหญ่อย่าง
พล.ท. กิตติ รัตนฉายาอย่าง พล.ท. กิตติ รัตนฉายาแม่ทัพภาค 4 มาเป็นหุ้นส่วนด้วย
บริษัทเพิร์คส์ (ประเทศไทย) ซึ่งบริหารการขายอสังหาริมทรัพย์และจัดงานนิทรรศการต่าง
ๆ ทั้งในไทยและอินโดจีน ซึ่งมีผลงานไปแล้ว 2-3 งานใหญ่ และนี่อีกเช่นกันที่เขาอ้างอิงจุลินทร์
ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่าช่วยเข็นงานนิทรรศการที่เขาจะจัดขึ้นที่เวียดนามในต้นปีหน้านี้
วิทยามั่นใจกับกิจการใหม่ ๆ ที่เขาเห็นโอกาสและมีช่องทางทำโดยไม่สนใจว่าจะมีใครอยู่ในวงการหรือไม่
"ผมไม่ใช่แค่ประสานงานให้มีนิทรรศการเกิดขึ้นเท่านั้นเราจัดของเราเอง
ไม่ได้รับจ้างใครทำเหมือนคนอื่น และผมอยากจะบอกว่าเราควรจะทำให้ได้ดีกว่าสิงคโปร์ที่เข้าไปในเวียดนามด้วย
และเรารู้ตลาดดี เนื่องจากเราทำด้านประกันด้วย มีหุ้นส่วนบางคนอยากจะชวนไปจีน
ไปรัสเซีย ผมว่าเราเอาตรงอินโดจีนให้ได้ก่อน เรามั่นใจที่ไทยและอินโดจีน
และผมกับทีมงานก็ตั้งใจ ที่ว่าเก่า ๆ อยู่ในตลาด บางทีเขาก็ละเลยบริการที่ดีและเทคนิคใหม่
ๆ" วิทยากล่าวถึงทุกกิจกรรมที่เขาลงไปแข่งขันกับคนอื่น
เขาสรุปในท้ายที่สุดว่า "แกนธุรกิจที่ผมถนัดและคิดว่าจะขยายไปในไลน์นี้คือด้านบริการที่เกี่ยวกับการบินและด้านอินโดจีน
ปีนี้เราจึงขยับโครงสร้างตั้งโฮลดิ้งขึ้นมาเพื่อดูแลบริษัทในเครือเจวีเคทั้งหมด
ต่อไปถ้าคิดอยากจะทำโน่นนี่ขึ้นมา จะได้เป็นระบบขึ้น และใช้ตัวนี้เป็นแขนขาในการลงทุนของเรา"