Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2537
"ศึกสองด้านของตันตราภัณฑ์"             
 


   
search resources

ตันตราภัณฑ์
วรวัชร์ ตันตรานนท์
Shopping Centers and Department store




ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ธวัช ตัณตรานนท์กับสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เคยสัญญากันว่าห้างเซ็นทรัลจะไม่เข้ามาทำการค้าปลีกแข่งกับห้างตันตราภัณฑ์แต่กาลเวลาเปลี่ยนไป คำสัญญาก็เลือนไปพร้อมกับสิ่งใหม่ได้เกิดขึ้นตามกระแส สังคมธุรกิจที่การติดต่อคมนาคมสื่อสารสะดวก ทำให้ห้างเซ็นทรัลเล็งเห็นโอกาสที่จะขยายเครือข่ายการค้าได้มากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับแม็คโคร ยักษ์ใหญ่ค้าส่งที่ส่งผลกระเทือนต่อระบบการค้าปลีก-ส่งที่เชียงใหม่

นี่คือการก้าวรุกของห้างยักษ์ใหญ่ที่ได้เปรียบด้านต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่า เป็นสถานการณ์กดดันให้ห้างตันตราภัณฑ์ ซึ่งเป็นธุรกิจชั้นนำอันมีอิทธิพลท้องถิ่นที่สั่งสมต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 50 ปี ต้องปรับตัวอย่างมาก ๆ และรวดเร็ว

"ตอนนั้นเครียดมากก่อนเซ็นทรัลเปิด เครียดมากกว่าหลังห้างเซ็นทรัลเปิดเสียอีก" เป็นคำกล่าวของวรวัชร์ ตันตรานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือตันตราภัณฑ์

ความพยายามของกลุ่มตันตราภัณฑ์ในหลายปีที่ผ่านมาที่ร่วมกับชมรมธุรกิจห้างภูธรเป็นอย่างหลวม ๆ ไร้ผลในการตอบโต้การรุกของยักษ์ใหญ่ส่วนกลาง แม้กระทั่งยุทธวิธีแสวงหาพันธมิตรร่วมอย่างเอสแอนด์พี เมื่อคราวกลุ่มตันตราภัณฑ์เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 50 ล้านบาท จากที่มีอยู่เดิม 100 ล้านบาท และขายหุ้นเพิ่มทุน 33.33% แก่เอสแอนด์พีซินดิเคทเมื่อปีที่แล้วก็ตาม

"สิ่งที่เราต้องการจากเอสแอนด์พี ก็คือคุณอมเรศ และสิ่งที่เราต้องการจากคุณอมเรศก็คือ "วิสัยทัศน์" ของท่านเพราะจุดเด่นของคุณอมเรศคือความรู้ ยกตัวอย่างเรื่องวงการห้างสรรพสินค้า คุณอมเรศตอนนี้อาจจะไม่รู้ว่าห้างเขาทำอะไรกันอยู่ แต่จะรู้ว่าตลาดโลกมีอะไรที่กำลังเป็นเมนใหญ่ เช่น ไฮเปอร์มาร์เกต ซูเปอร์เซนเตอร์ มันต่างกันอย่างไร เรียกว่าแค่นี้ก็คุ้มแล้ว โดยที่เรายังไม่ได้อาศัยคอนเนกชั่นของท่านด้วยซ้ำ" ความคาดหวังที่วรวัชร์วาดภาพไว้ดูเลือนลางเมื่อเวลาผ่านไปอาการยังน่าเป็นห่วง รายได้ของกลุ่มตันตราภัณฑ์กระทบกระเทือน

ล่าสุดเอสแอนด์พีซินดิเคทแจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงการขายหุ้นที่ถือไว้กับกลุ่มตันตราภัณฑ์ออก 13% ก็เกิดภาพพจน์ข่าวลือไปต่าง ๆ นานาในทางติดลบ แต่โดยข้อเท็จจริงเอสแอนด์พีขายหุ้นนี้ให้กับบริษัทในเครือ เพื่อลดเปอร์เซนต์การถือไว้แค่ 20% แทนที่จะถือ 33% ซึ่งจะทำอะไรก็ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ทุกเรื่องไป

กลุ่มตันตราภัณฑ์ในห้วงเวลานี้ดูเหมือนโชคไม่เข้าข้าง ในสถานการณ์การแข่งขันอันดุเดือดระหว่างห้างตันตราภัณฑ์กับกาดสวนแก้ว ที่มีห้างยักษ์ใหญ่เซ็นทรัลเป็นแม่เหล็กใหญ่ดูดส่วนแบ่งการตลาดเข้าไปครองทุกเซกเมนท์

ความวิตกกังวลของเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างคาเธ่ย์ทรัสต์ของตระกูลพานิชชีวะ ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มตันตราภัณฑ์ปรากฏเป็นข่าว เมื่อวรกร ตันตรานนท์ รองประธานกรรมการตัดใจขายห้างตันตราภัณฑ์ สาขาท่าแพแก่คาเธ่ย์ทรัสต์เพื่อชดใช้หนี้ และภายหลังขายแล้วคาเธ่ย์ทรัสต์อาจทุบทิ้งขึ้นเป็นอาคารสำนักงาน ส่วนห้างตันตราภัณฑ์จะกลายสภาพจาก "เจ้าของ" เป็น "ผู้เช่า" แทน

ห้างตันตราภัณฑ์ สาขาท่าแพถือเป็นสาขาแรกที่เป็นฐานสำคัญของตระกูลมา 40 ปี จึงเป็นสาขาที่มีค่าทางจิตใจต่อตระกูลนี้สูง ทำให้ราคาขายที่ตั้งไว้สูงมากตารางวาละ 4 แสนกับพื้นที่ 1 ไร่ที่ประเมินราคาซื้อขายไว้ 160 ล้านบาท

นี่คือหนึ่งในแผนการฟื้นฟูธุรกิจกลุ่มตันตราภัณฑ์ด้วยการตัดขายทรัพย์สินบางแห่งเพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียน และตัดยอดหนี้บางส่วนเพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่แบกไว้หนักหนา เมื่อกู้เงินมาขยายสาขาเพื่อสกัดยักษ์ใหญ่เซ็นทรัลด้วยการสร้างห้างแอร์พอร์ต พลาซ่า ซึ่งงบก่อสร้างบานปลายถึง 500 กว่าล้านบาท จนทำให้สภาพคล่องหมุนเวียนมีปัญหาวิกฤติ ต้องทำรีไฟแนนซ์สาขาช้างเผือกกับคาเธ่ย์ทรัสต์ในวงเงิน 200 ล้านบาท

จวบจนบัดนี้ครบรอบ 2 ปีของห้างแอร์พอร์ต ก็ยังประสบปัญหายอดขายไม่โตเท่าที่คาดไว้ เพราะโดนคู่แข่งอย่างกาดสวนแก้วที่มีจุดแข็งของเซ็นทรัลและคอมเพล็กซ์ศูนย์รวมความบันเทิงไว้ที่เดียวกันตีตลาดกระจุย

ดังนั้นแผนฟื้นฟูต่อมาคือผู้บริหารกลุ่มตันตราภัณฑ์มีนโยบายรัดเข็มขัดตัวเอง ด้วยวิธีลดค่าใช้จ่ายสำนักงาน การโอนย้ายพนักงานไปสังกัดเซเว่นอีเลฟเว่น 17 สาขาซึ่งกลุ่มตันตราภัณฑ์เป็นซับแฟรนไชส์ให้กับกลุ่มซีพีอยู่

ล่าสุดมีการแตกตัวบริษัทตันตราภัณฑ์ซุปเปอร์มาร์เก็ต (1994) ออกจากบริษัทแม่คือ บริษัท ตันตราภัณฑ์สรรพสินค้า เพื่อประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดูแลส่วนธุรกิจซุปเปอร์มาร์เกต ที่เป็นแหล่งเงินสดหมุนเวียนสำคัญออกมา ทั้งสาขาแอร์พอร์ต สาขาช้างเผือก สาขาท่าแพ ริมปิงซุปปอร์สโตร์ สาขาโชตนา และสาขาสะพานนวรัฐ รวมถึงคลังสินค้าด้วย

นี่คือการปรับตัวครั้งสำคัญของกลุ่มตันตราภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้เวลา และเป็นห้วงเวลาของการกอบกู้สถานะของกลุ่มตันตราภัณฑ์ที่น่าจับตาว่าแนวต้านรับศึกหนักทั้งสองด้านคือค้าปลีก จากยักษ์ใหญ่เซ็นทรัล และค้าส่งจากยักษ์ใหญ่แม็คโคร จะประสบความสำเร็จหรือไม่?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us