|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2549
|
 |

หน้าที่ของ "กบ" หรืออาภาศิริ แก่นจันทน์ ดูเหมือนจะแปลกและมีขอบเขตการให้คำปรึกษา ที่กว้างกว่า Lifestyle Consultant อีก 2 คนมากนัก จนเธอแอบนิยามหน้าที่นี้แบบติดตลกว่า "ที่ปรึกษาการใช้ชีวิตพักผ่อน" หรือ "นักวางแผนช่วงเวลานอกงาน"
เธอให้คำแนะนำได้ตั้งแต่จะไปทานร้านอาหารที่ไหน พักโรงแรมอะไร เรียนโยคะได้ที่ไหน จนกระทั่งช่วยวางแผนจัดทริปฮันนีมูน หรือแนะนำหมอเชี่ยวชาญด้านเด็ก และหาช่างแต่งหน้าเจ้าสาว ฯลฯ กล่าวว่าเป็นบริการที่จะทำให้ชีวิตในด้านที่ไม่ใช่เรื่องงานของลูกค้าง่ายขึ้น ก็คงไม่ผิดเพี้ยนนัก
"มันมาจากนิสัยส่วนตัว เป็นมานานแล้วที่ชอบเห็นคนอื่นมีความสุขกับการใช้ชีวิต เหมือน เวลาที่ไปที่ไหนมาแล้วประทับใจก็อยากบอกต่อให้คนอื่นได้ไปมีความสุขด้วย" กบเล่าถึงลักษณะนิสัยและความชอบส่วนตัวที่ส่งเสริมหน้าที่การงานของเธออย่างมากในเวลาต่อมา
โดยส่วนตัว กบมีนิสัยเป็นคนที่ชอบทาน ชอบเที่ยว ในทุกแบบทุกสไตล์ ประกอบกับเป็นคนที่ชอบจดข้อมูลจำเพาะ ชอบเก็บนามบัตรโบรชัวร์และเก็บรายละเอียดของสถานที่หรืออาหารที่เธอประทับใจ เพื่อที่จะได้เก็บไว้แนะนำคนอื่นต่อไปในภายหน้า เธอจึงมีฐานข้อมูลเยอะมาตั้งแต่ก่อนทำงาน
ต่อมาความชอบก็กลายเป็นหน้าที่การงาน เมื่อเธอเข้าทำงานเป็น Social Director ของโรงแรม Four Seasons และด้วยคลุกคลีอยู่ในแวดวงโรงแรมทั้งเธอและสามี เธอจึงมักได้ไปพักโรงแรมต่างๆ ไปชิมอาหารในโรงแรม และได้เดินทางบ่อย
ตลอดเวลา 11 ปีที่ทำงานที่โรงแรม เธอจึงมักต้องคอยตอบคำถามทั้งที่เกี่ยวกับเรื่องการกินการเที่ยว ทั้งที่เชื่อมโยงกับงานของโรงแรมและไม่ใช่ ให้กับลูกค้าและเพื่อนของเธออยู่เสมอ จนทำให้ติดนิสัยชอบเสาะแสวงหาและชอบทดลองของใหม่ ทั้งอาหาร โรงแรม หรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการอัพเดทข้อมูล ฐานข้อมูลของเธอจึงยิ่งมากขึ้นและกว้างขึ้น
"พอออกมาช่วยทางเกษร เราก็เอาประสบการณ์และข้อมูลที่สั่งสมมาช่วย ประกอบกับเราก็มีเพื่อนเยอะ ใครไปไหนมาก็มาเล่าสู่กันฟัง ก็เลยกลายเป็นแหล่งที่คนมาถาม"
นอกจากประสบการณ์สัมผัสด้วยตัวเอง ฐานข้อมูลและความรู้รอบด้านของกบอีกส่วนหนึ่งยังมาจากเครือข่ายนักเที่ยวนักชิมที่เป็นคนในครอบครัวเธอ เป็นเพื่อนสนิทและครอบครัว และเครือข่ายที่เป็นลูกค้าที่สนิทกัน โดยที่ทั้งชาญ และกรกฎ ศรีวิกรม์ ผู้บริหารระดับสูงของเกษรเองก็เคยเป็นทั้งผู้ขอคำแนะนำและฐานข้อมูลให้กับเธอมาแล้ว
ด้วยวิสัยทัศน์ของกรกฎ ศรีวิกรม์ ผู้อำนวยการบริหารเกษรที่มองเห็นความต้องการการช่วยเหลือในเรื่องการใช้ชีวิตพักผ่อนที่ลูกค้าเกษรมี และยังหาทางออกไม่ได้ว่าจะปรึกษากับกูรูคนไหน ด้วยความคุ้นเคยในความรอบรู้ของกบ กรกฎจึงรีบทาบทามเธอคอยให้ความช่วยเหลือลูกค้าในเรื่องนี้โดยตรง
สำหรับขั้นตอนในการขอรับบริการ หลังจากลูกค้าโทรไปที่สายด่วนลูกค้าแจ้งความจำนง กบก็จะโทรกลับไปสอบถามรายละเอียดความต้องการ โดยทั่วไป ก็จะใช้เวลาไม่เกิน 3 วันในการหาข้อมูล และส่งรายการข้อมูลที่ขอพร้อมคำอธิบายและภาพ (ถ้ามี) ให้ลูกค้า หรืออาจจะโทรนัดเพื่อเจอและคุยกันในบางกรณี
"คงจะดีกว่าเสียเวลาหาข้อมูลเอง ถ้าหากลูกค้าได้รับฟังข้อมูลจากคนที่เคยมีประสบการณ์ตรง เพราะข้อมูลที่ได้ก็จะน่าเชื่อถือ ครบถ้วน และการตัดสินใจนั้นก็น่าจะคุ้มค่ากับเงินที่จะต้องเสียไปมากที่สุด โดยที่อาจเสียเวลาทางโทรศัพท์เพียงแค่ 5-10 นาที เท่านั้น"
กบแบ่งระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลออกเป็นระดับสูงสุด คือการันตีด้วยตัวเธอเอง ถ้าข้อมูลนั้นเธอเคยมีประสบการณ์ด้วยตัวเองมาก่อน และรองลงมาก็คือการันตีด้วยเพื่อนหรือคนรู้จัก ซึ่งเป็นคนที่เธอไว้วางใจในรสนิยมพอสมควร ท้ายสุดก็คือข้อมูลที่ได้จากการอ่านหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่เธอจะพยายามเลือกใช้ข้อมูลที่มีผู้รับรอง (reference)
หลังจากถูกถามว่า โรงแรมหรือร้านอาหารที่ตัวเธอเองมีประสบการณ์ตรงนั้นมีกี่แห่ง กบใช้เวลานึกสักครู่ใหญ่ก่อนจะบอกจำนวนคร่าวๆ ว่า โรงแรมที่เธอหรือสามีเคยไปพักมาแล้วมีอยู่ร่วม 50 แห่งทั่วโลก ขณะที่ร้านอาหารที่เธอเคยไปชิมมาแล้วมีมากกว่า 100 ร้านเท่าที่เธอประทับใจและมีข้อมูล
"ความสนุกหรือความภูมิใจของงานตรงนี้คงอยู่ที่พอเราแนะนำไปแล้วคนนั้นทำตามแล้วกลับมาเล่าให้ฟังว่า "โอ้โห! ดีจังเลยนะที่ไปมา" แค่นี้ก็จะรู้สึกดีแล้วที่ได้แบ่งปันสิ่งดีๆ และช่วงเวลาดีๆ ให้กับคนอื่น"
แม้ทุกวันนี้จะยังไม่เคยมีลูกค้าเกษรเข้ามาขอใช้บริการนี้ เนื่องจากเพิ่งเปิดตัวบริการนี้เมื่อเดือนตุลาคมนี้เอง และยังเป็นบริการใหม่ที่มีขอบเขตกว้างมาก จับต้องได้ยาก แต่เธอก็เชื่อว่าบริการนี้น่าจะเป็นประโยชน์และมีความจำเป็นกับลูกค้าเกษรไม่มากก็น้อย
"เพราะลูกค้าเกษรถือเป็นคนค่อนข้างมีฐานะ มักทำงานหนัก ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหาร ยุ่งมาก จนอาจไม่มี เวลาเลือกซื้อเสื้อผ้า ของขวัญ และเก็บข้อมูลสำหรับวางแผนในวันพักผ่อนหรือช่วงว่าง แต่คนกลุ่มนี้ชอบใช้ชีวิต ชอบทำกิจกรรม และมักเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต โดยเราก็ช่วยจัดการแผนชีวิตตรงนี้ให้แทน"
ในระยะสั้น บริการนี้ดูเหมือนจะไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับเกษร ไม่เหมือนกับอีก 2 บริการ แต่กบก็เชื่อมั่นว่า สายสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกค้ากับแบรนด์เกษรในระยะยาวจะกลายเป็นผลตอบแทนที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ รู้แค่ว่าคุ้มค่าพอที่เกษรจะลงทุน
|
|
 |
|
|