Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2549
ปฏิบัติการปรับลุคที่ สยามพารากอน             
โดย สุภัทธา สุขชู
 

   
related stories

Fashion Stylist เพื่อนคู่คิด มิตรนักชอป...
แปลงโฉมนางซินฯ ที่เซ็นทรัล ชิดลม
ทุกปัญหาเรื่องไลฟ์สไตล์ แก้ไขได้ที่ เกษร

   
www resources

โฮมเพจ สยามพารากอน

   
search resources

สยามพารากอน ดิเวลลอปเม้นท์, บจก.
Shopping Centers and Department store
สุจิตรา สุมโญ




"โจ้" นักข่าวหนุ่มใกล้วัยเบญจเพส เป็นอาสาสมัครที่ "ผู้จัดการ" พาไปทดสอบบริการ Personal Stylist ของสยามพารากอน โดยโจทย์ที่ตั้งไว้ก็คือ ต้องการปรับลุคจากที่เคยแต่งตัวแก่เกินวัย ให้มีลุคสดใสสมวัยมากขึ้น แต่ต้องเหมาะกับหน้าที่การงาน ซึ่งโจ้เป็นนักข่าวสายตลาดหลักทรัพย์ จึงมักต้องสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของหลายบริษัท

สยามพารากอนเริ่มเปิดให้บริการ Personal Stylist มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยในช่วงแรกจะเปิดรับเฉพาะลูกค้าบัตรพลาตินั่มเท่านั้น แต่ต่อมา เมื่อลูกค้าทั่วไปเริ่มเข้ามาสอบถามขอใช้บริการมากขึ้น เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สยามพารากอนจึงเปิดให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป โดยเปิดให้บริการเฉพาะวันจันทร์ พุธ และศุกร์

ปกติหลังจากลูกค้าติดต่อขอใช้บริการนี้ที่ Platinum Club จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป เพื่อส่งแบบฟอร์มให้ลูกค้ากรอกส่งกลับมา ในแบบฟอร์มจะถามถึงข้อมูลทั่วไป อาชีพ อายุ ไซส์เสื้อผ้า สีที่ชอบ แบรนด์ที่ใส่ประจำ ฯลฯ เมื่อลูกค้าส่งเอกสารกลับมา ขั้นต่อไปก็เพียงรอเวลานัด

ทีม Personal Stylist ของสยามพารากอนประกอบด้วยกูรูทางด้านแฟชั่น 5 คน โดยมีที่ปรึกษาทีมเป็นบรรณาธิการ ELLE คือ กุลวิทย์ เลาสุขศรี สำหรับครั้งนี้ สุจิตรา สุมโญ สาวใหญ่ ผู้คลุกคลีวงการแฟชั่นในฐานะนักชอปตัวยง รับอาสามาเป็น Personal Stylist ให้กับโจ้

"คนที่จะมาทำตรงนี้ต้องเป็นคนที่สนใจเรื่องแฟชั่นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และมีความรู้เรื่อง สินค้ามากๆ รู้กว้างเลยไปถึงแฟชั่นของเมืองนอก ติดตามข่าวสารวงการแฟชั่นโลก เพราะสยามพารากอนมักนำสินค้าใหม่เข้ามา ต้องอัพเดตข้อมูลของแต่ละแบรนด์เสมอๆ และที่สำคัญ ต้องเป็นคนที่มีรสนิยม มีสไตล์ และมีทักษะในการ mix & match" สุจิตราบอกคุณสมบัติที่ดี ของสไตลิสต์

ทุกครั้งเมื่อลูกค้ามาถึง สุจิตราจะใช้เวลา 15-20 นาทีแรก สอบถามพูดคุยทำความรู้จักลูกค้า เช่น ลักษณะงาน สไตล์ที่ชอบหรือที่อยากลอง ฯลฯ พร้อมทั้งคิดหาสไตล์ที่เหมาะกับบุคลิกหน้าตาและความชอบของลูกค้าอยู่ในใจ ก่อนจะพาลูกค้าเดินไปเลือกชมสินค้า โดยเธอมักมีในใจแล้วอย่างน้อย 5 แบรนด์

โดยปกติ ก่อนถึงวันนัด สุจิตราจะเดินตระเวนหมายตาสินค้าที่คาดว่าเหมาะกับลูกค้าเอาไว้ล่วงหน้า โดยภาพลูกค้าในจินตนาการก็มาจากข้อมูลที่ลูกค้าส่งกลับมาให้กับทีม CRM เพื่อประหยัดเวลาในการเดินชอปของลูกค้า และเช็กให้แน่ใจว่าแบรนด์นั้นมีไซส์ของลูกค้า

"ถ้าลูกค้ามีไซส์ค่อนข้างใหญ่ เราต้องยิ่งแน่ใจว่าแบรนด์ นั้นมีไซส์ เพราะถ้าไปแล้วไม่มี ลูกค้าอาจจะหมดความมั่นใจและเสียกำลังใจได้" สุจิตราเล่าความละเอียดอ่อนในการทำงาน

หลังจากทักทายเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงเวลาพาลูกค้าออกไปชมสินค้า โดยเลือกได้ว่าจะนั่งรถกอล์ฟคาร์ทหรือ จะเดินไปคุยไป ซึ่งระหว่างนี้ก็เป็นอีกช่วงที่สไตลิสต์จะได้รู้จัก ตัวตน สไตล์ และความชอบของลูกค้า โดยที่ปรัชญาในการให้บริการของที่นี่ก็คือ

"เราต้องใช้หลักเคารพความเป็นตัวเองของลูกค้า และยืน อยู่บน need ของลูกค้าเป็นหลัก ปกติเราจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวตนของลูกค้า ทำแค่ปรับบุคลิก เพราะการแต่งตัวก็เหมือนการทานอาหาร แต่ละคนก็มีรสชาติที่ชอบของตัวเอง ถ้าเราไปเปลี่ยนเขามาก เขาอาจจะไม่ชอบทานหรือทานไปก็ไม่ถูกลิ้น"

สุจิตราพาโจ้มุ่งหน้าไปยังแผนกเสื้อผ้าชายในโซนสรรพสินค้า ขณะที่หยิบเสื้อผ้ามาให้ดู เธอก็จะคอยสอบถามข้อมูลความชอบเพิ่มเติม และเช็กว่าสไตล์ที่เลือกให้ถูกใจไหม ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง เธอก็เลือกเสื้อเก๋ๆ ออกมาได้ถึง 5 ตัว แจ็กเกตอีก 1 ตัว กางเกง 3 ตัว รองเท้า 2 คู่ กระเป๋า 2 ใบ และเข็มขัด จากหลายแบรนด์คละกัน

เสื้อผ้าทั้งหมดที่ถูกเลือกจะถูกลำเลียงไปยังห้อง "Fitting Room" ที่พลาตินั่มคลับ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเสียแรงขนเอง เมื่อกลับถึงมาที่พลาตินั่มคลับ เสื้อผ้าเหล่านั้นทุกชิ้นจะถูกแขวน อย่างเป็นระเบียบบนราวแขวนเสื้อ เพื่อให้ลูกค้าได้ลองสวมใส่ จับคู่เสื้อผ้าแบรนด์นี้กับแบรนด์ นั้นสลับไปมาได้ตามชอบ โดยมีสไตลิสต์นั่งคอยให้คำแนะนำอยู่ใกล้ๆ

กรณีที่ลูกค้าไม่มีเวลาว่างพอจะเดินชอป ก็อาจจะระบุให้สไตลิสต์ทำหน้าที่จัดเลือกสินค้า มาให้ที่ห้องลองเลยก็ได้ สิ่งที่ลูกค้าต้องทำก็แค่ลองเสื้อผ้าและรับคำแนะนำจากสไตลิสต์

ลูกค้าอาจเสียเวลาอีกราวครึ่งชั่วโมงกับการลองเสื้อผ้า หรืออาจมากกว่าขึ้นอยู่กับจำนวน เสื้อผ้าที่เลือกมา หากพอใจจะซื้อก็มีพนักงานช่วยจัดการชำระค่าสินค้าให้เสร็จสรรพ โดยลูกค้า ก็แค่นั่งจิบน้ำรอสบายๆ ที่พลาตินั่มคลับ แต่ถ้ายังไม่ถูกใจก็ไม่ต้องซื้อด้วยความเกรงใจ เพราะสไตลิสต์จะจากไปตั้งแต่ลูกค้าลองสินค้าจนเรียบร้อย

"เราให้คำแนะนำลูกค้าว่าอันไหนใส่แล้วดูดี แต่สุดท้ายเราจะปล่อยให้ลูกค้าตัดสินใจเอง เพราะเราไม่มีหน้าที่ต้องปิดการขายให้แบรนด์ใด ห้างให้เกียรติเราในการทำงานตรงนี้" สุจิตรายืนยันและบอกอย่างภูมิใจว่า ที่ผ่านมาลูกค้าเกือบทั้งหมดที่ใช้บริการซื้อสินค้าที่เลือกมาให้กลับไปคนละ 1-2 ชิ้นเป็นอย่างน้อย

หลังจากค้นหาสไตล์การแต่งตัวลุคใหม่ด้วยเวลารวมไม่ถึง 2 ชั่วโมง โจ้เปิดใจว่า "ไม่เคยเห็น ตัวเองในลุคแบบนี้ ก็ดูดีเหมือนกัน (หัวเราะ) จากเดิมที่ไม่เคยลองก็ไม่รู้ว่าเสื้อผ้าสไตล์นี้เข้ากับเรา พอได้ลองโอกาสที่จะซื้อเสื้อผ้า สไตล์นี้มาใส่ก็มีมากขึ้นจากเดิมที่เป็นศูนย์"

เทียบกับระยะเวลาที่ลูกค้ามาเดินเลือกซื้อเอง ด้วยความใหญ่ ของสยามพารากอน กว่าจะหาที่ตั้งของแต่ละแบรนด์เจอ กว่าจะเลือกสินค้าที่ถูกใจพบ และกว่าจะลองแต่ละชิ้นเสร็จ คงต้องใช้เวลาและพลังงานมากกว่านี้หลายเท่า

ก่อนใช้บริการ Personal Stylist ลูกค้าควรกลับไปรื้อตู้เสื้อผ้าที่บ้านก่อน เพื่อดูว่าที่บ้านมีอะไรอยู่แล้วบ้าง หรือมีชิ้นไหนที่ยังหาชุดใส่ที่เข้ากันไม่ได้ แล้วนำมาปรึกษาสไตลิสต์เพื่อช่วยกันหาสินค้าอื่นมาประกอบกับสิ่งที่มี ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด

"การซื้อของก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ดังนั้น Personal Stylist ก็เหมือนที่ปรึกษาการลงทุนทางด้านแฟชั่น เพราะถ้าเราเลือกถูกชิ้น เราก็จะได้ ของสวยของดี ที่เราพอใจ ใช้ได้นาน ใช้ได้บ่อย และคุ้มค่าเงินที่สุด" สุจิตรา ให้คำจำกัดความหน้าที่ของเธอเอง

นอกจากความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและเทรนด์ Personal Stylist ยังต้องมีจรรยาบรรณในการทำงาน ก็คือ ความจริงใจในการให้คำแนะนำและการรักษาข้อมูลของลูกค้าไว้เป็นความลับ

เท่าที่ผ่านมา บริการตรงนี้ไม่ได้ครอบคลุมแค่สินค้าแฟชั่นแต่ยังมีลูกค้าหลายคนที่เคย ขอคำแนะนำในการเลือกซื้อน้ำหอม เครื่องสำอาง แม้กระทั่งของขวัญของใช้ และที่น่าสนใจก็คือ ลูกค้าชายมีแนวโน้มใช้บริการนี้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบจะใกล้เคียงกับสัดส่วนของนักชอปหญิง

หลายคนมักพูดว่า สำหรับผู้หญิง การชอปปิ้งเป็นการคลายเครียดที่ได้ผลดี แต่ถ้าเป็น อาชีพ "เพื่อนชอปปิ้ง" สุจิตราบอกว่าเป็นงานที่เครียดมากโดยเฉพาะ 15 นาทีแรกที่ต้องทำ ความรู้จักลูกค้า ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและวางใจสไตลิสต์ และอีก 2-3 ชั่วโมงที่ต้องเข้าใจลูกค้าและใช้สมาธิเลือกของให้ถูกใจเขา แต่ความสนุกและความสุขก็อยู่ตรงที่เลือกของได้ตรงกับความชอบของเขา

"ขนาดเพื่อนจะเลือกของให้ถูกใจเพื่อนยังยากเลย" สุจิตราสรุปอย่างอารมณ์ดี เพราะวันนี้ลูกค้ามีระดับความพอใจกับสไตล์ที่เธอจัดให้ถึง 90%   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us