Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2549
เด็มโก้จะ Go To Inter             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน)

   
search resources

Consultants and Professional Services
Electronic Components
เด็มโก้, บมจ.
ประเดช กิตติอิสรานนท์




เปิดตัวประกาศการกระจายหุ้นในตลาด MAI จำนวน 50 ล้านหุ้น มูลค่า 50 ล้านบาท ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำหรับผู้ให้บริการงานระบบวิศวกรรมไฟฟ้าและโทรคมนาคมที่มีชื่อว่าเด็มโก้ หลังจากเมื่อปี 2540 ต้องยอมพับแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง

เด็มโก้อาจเป็นชื่อที่ฟังดูไม่คุ้นหูของคนทั่วไป และสำนักงานออฟฟิศใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีก็ไม่ได้หรูหราโอ่โถง ราวกับจะเน้นให้เห็นถึงชีวิตอันแสนประหยัด เรียบง่ายของประเดช กิตติอิสรานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ วัย 55 ปี ซึ่งโปรดปรานโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกียรุ่น 3311 เหตุที่ทนทายาดจนต้องซื้อมาเก็บไว้ใช้พร้อมกันทีเดียว 3 เครื่อง ในราคาเครื่องละไม่กี่พันบาท แถมยังเป็นของมือสองอีกต่างหาก

หากมองถึงตัวรายได้ของเด็มโก้เมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2549 นั้นมีพอประมาณรวมกันได้ 1,051 ล้านบาท จากโครงสร้างรายได้ 76% อยู่ที่งานบริการรับเหมาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกล, 22% มาจากการขาย และที่เหลือ 2% มาจากรายได้อื่นๆ ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 3 มี 86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% เทียบช่วงเดียวกันในปี 2548 (ดูรายละเอียดจากกราฟผลดำเนินงานและกำไรสุทธิ)

ทั้งนี้ เด็มโก้คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้บริษัทจะมีรายได้เพิ่มอีกกว่า 200 ล้านบาท จากมูลค่าสัญญาว่าจ้างที่ลงนามแล้วในปีนี้กว่า 1,600 ล้านบาท แต่รายได้ตามสัญญานี้คาดว่าจะมีกว่า 1,200 ล้านบาท ที่จะตกไปเป็นรายได้ของปี 2550

สำหรับที่มาที่ไปของเด็มโก้นั้น เกิดจากการรวมตัวของอดีตวิศวกรจาก กฟผ. และ กฟภ. จำนวน 6-7 คน เพื่อร่วมกันก่อตั้งกิจการแห่งนี้ในปี 2535 โดยมีประเดชเป็นโต้โผใหญ่ด้วยทุนประเดิม 6 ล้านบาท

ตั้งแต่วันแรกที่กลุ่มอดีตวิศวกรลูกหม้อค่ายการไฟฟ้า ตัดสินใจร่วมกันลงขันก่อตั้งกิจการ พวกเขามีเป้าหมายว่า จะพัฒนาให้ธุรกิจนี้ที่เริ่มต้นโรงงานผลิตเหล็กชุบสังกะสี ก่อนจะขยายมาสู่การเป็นผู้ให้บริการงานระบบวิศวกรรมไฟฟ้าและโทรคมนาคมในอีกไม่กี่ปีต่อมา กลายไปเป็นบริษัทมหาชนให้ได้

สำหรับประเดชนั้น เคยเป็นอดีตหัวหน้าแผนกออกแบบระบบไฟฟ้าของ กฟภ. มายาวนาน 15 ปี นับตั้งแต่เริ่มงานที่ กฟภ. ในปี 2518 หลังจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้านไฟฟ้ากำลัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันที่ออกจาก กฟภ. ประเดชไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นผู้รับเหมา เพราะมีเป้าว่าจะย้ายไปอยู่ในสาย consumer product โดยกลับบ้านไปเป็นเอเย่นต์ขายเหล้าในร้านของพ่อ พร้อมความหวังที่ว่าจะช่วยขยายกิจการให้ใหญ่โต

"บ้านผมทำค้าขาย มีร้านขายเหล้าและพวกของชำ ผมเลยคิดว่าอยากจะไปลุย consumer product ให้มันโต แต่พอออกมาแล้ว งานก็ยังไม่โตพอ ทุนก็มีไม่เยอะ มันก็กลายเป็นเบื่อ ตอนนั้นทางเทด้า เขาขาดคนผมก็เลยไปทำที่นั่น" กรรมการผู้จัดการ เด็มโก้ เล่าถึงอดีตในวันนั้นกับ "ผู้จัดการ"

เทด้าเคยเป็นบริษัทรับเหมาที่ทำงานคล้ายกับเด็มโก้ในปัจจุบัน โดยประเดชเข้าร่วมงานที่บริษัทนี้ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการของบริษัทได้แค่ 3 ปี เพราะรู้ว่าเขาไม่เหมาะกับการทำงาน ในธุรกิจแบบครอบครัว อีกทั้งเขายังอยากทำงานด้านวิศวกรในกิจการ ที่คิดจะสร้างตัวให้เป็นมหาชน

"เด็มโก้เริ่มจากเพื่อนฝูง ตอนนั้นเราเลยตั้งนโยบายว่าต้องไม่ทำ แบบระบบครอบครัว เราต้องหามืออาชีพมาทำงาน มาถึงตอนนี้ที่นี่จึงไม่มีลูกหลานผู้บริหารคนไหนเข้ามา เพราะเราไม่อยากให้เด็มโก้เป็นบริษัทครอบครัว ผมบอกลูก 2 คนให้ไปทำอย่างอื่น อย่ามาเป็นวิศวกรอย่างผม เพราะมันเหนื่อย" กรรมการผู้จัดการ เด็มโก้ เล่า

ที่เหนื่อยสุดสำหรับประเดช และคนในเด็มโก้นั้น น่าจะต้องเป็นหลังจากที่เศรษฐกิจถล่มครั้งใหญ่กลางปี 2540 แต่ที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อคือคนในเด็มโก้เคยผ่านการทำงานอันเหลือเชื่อมาแล้วเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานขับรถตระเวนรับซื้อกล่องกระดาษหรือของเก่าทิ้งแล้ว มาแลกขายเป็นเงิน

แถมด้วยพนักงานในฝ่ายอบรม คนจากฝ่ายขายแผนกที่ไม่มีงานให้ทำตอนนั้น และประเดชด้วยนั้น ยังต้องช่วยกันแบกเหล้าที่มีในร้านชำของพ่อเขาใส่ท้ายรถปิกอัพของเด็มโก้ขับไปเร่ขาย ทั้งบางทียังต้องเปิดให้บริการล้างรถ เพื่อนำเงินจำนวนเท่าที่พอจะหาได้ กลับมาช่วยแบกรับค่าใช้จ่าย และดูแลคนในกิจการที่ถูกประเดชหั่นลงไปครึ่งจากที่เคยมีร่วม 300 ชีวิต

"ปี 40 จริงๆ เราจะเข้าตลาดฯ แล้วนะ ก่อนที่จะเข้าตลาดฯ 1-2 ปี ทาง บง.กรุงเทพธนาธร และ IFCT กับโนมูระร่วมกันตั้งกองทุน มาซื้อหุ้นในส่วนที่เป็น private investment จากเรา ในราคาหุ้นละ 170 บาท จากพาร์ 100 บาท

ตอนนั้นเราจะเพิ่มทุนอีก 60 ล้านบาทให้บริษัทอเมริการายหนึ่ง ที่จะมา join เป็น partner ทำงานในเมืองไทยกับเรา แล้วเขาก็ยกเลิก คืออยู่ๆ เขาก็มาบอกผมว่าเรามี country risk ผมก็ไม่เข้าใจ ความเสี่ยงระดับประเทศนี่ไม่ใช่ความเสี่ยงของบริษัทเรา แต่โอ้โห! มันระดับประเทศจริงๆ

ลดค่าเงิน นอนตื่นมาวันรุ่งขึ้นขาดทุนไป 90 กว่าล้าน ปีนั้นเรามีงาน กฟภ. บางโครงการราคาที่รับ มา 200-300 ล้านบาท และยังมีงาน inter อีก 2 โครงการที่เป็นดอลลาร์ 700 ล้านบาท เราเลยโชคดี เจ็บตัวไม่มาก แต่ก็ยังลำบากมาก แบงก์กรุงเทพที่เคย support เราก็มีปัญหาเลยหยุดปล่อยกู้

ปี 40 เราตั้งเป้าว่าจะมีกำไร 100 ล้านบาท ขาดทุนงาน กฟภ.ที่เป็นเงินบาท 200 ล้านบาท ก็ติด ลบไป 100 ล้าน แต่ได้ส่วนล้ำค่าหุ้นที่ทางกรุงเทพธนาธร IFCT และโนมูระฯ ขายคืนให้ในราคา 100 บาท กลับมาอีก 80 กว่าล้าน ก็พอจะเอามาลดขาดทุนลงได้อีกหน่อย เบ็ดเสร็จปีนั้นขาดทุนไป 100 กว่าล้าน" ประเดชบอก

แต่ยังดีที่ว่าเด็มโก้เคยมีประวัติสั่งจ่ายเช็คทุกอาทิตย์แบบไม่เคยเด้งที่ได้สั่งสมไว้กับกลุ่ม suppler มาตั้งแต่อดีต จนถึงวันที่ต้องยืนโต้ในวิกฤติ ธุรกิจต่างขาดสภาพคล่อง แต่เช็คของเด็มโก้ ลูกหนี้แบงก์กรุงเทพ ยังรักษาความน่าเชื่อถือไว้ได้ และตลาดก็ยังยินดีที่จะรับซื้อ

ประเดชบอกว่าการรักษาประวัติตรงนี้ถือเป็นเจตนารมณ์ของพวกเขาตั้งแต่เริ่มว่า จะไม่ยอมจ่ายเช็คเด้ง จะไม่เบี้ยวหนี้ใคร และจะไม่ขอลดต้นลดดอกหรือหยุดจ่ายหนี้กับแบงก์กรุงเทพ

เด็มโก้เคยเริ่มคิดที่จะเข้ากระจายหุ้นในตลาดอีกครั้ง เมื่อ 2 ปี ก่อน แต่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อ 9 ปีก่อน เพราะกฎเกณฑ์เปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะเรื่องธรรมาภิบาล หรือมาตรฐานบัญชีใหม่ เด็มโก้จึงต้องเสียเวลาจากการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาช่วยให้จัดการกับระบบบัญชีในกิจการของตนที่ยังอ่อนกว่ามาตรฐานในหลายๆ จุด

เหตุผลที่ต้องย้ายมา list ใน MAI เป็นเพราะเงินทุนจดทะเบียน ของเด็มโก้ที่มี 215 ล้านบาทนั้น ยังต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ 300 ล้านบาทที่ตลาดฯ เพิ่งจะประกาศใช้

บทเรียนในช่วงวิกฤติทำให้เด็มโก้เรียนรู้หลายอย่าง ไม่เพียงแค่นัยของคำว่า "country risk" แต่ยังรู้ซึ้งถึงคุณค่าความหมายในคำว่า "diversification" จากการมีโครงการในรูปที่เป็นดอลลาร์ และประเดชบอกว่าเด็มโก้กำลังเตรียมที่จะจับมือกับพันธมิตรต่างชาติ เพื่อพาตัวเองออกไปทำโครงการระดับ inter ในต่างประเทศให้มากขึ้นแล้ว

แต่ก่อนจะ go to inter ได้นั้นก็ต้องตระเตรียมความพร้อมทั้งความรู้ด้านการบริหารจัดการ และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่คนของเด็มโก้ ซึ่งในอนาคตต้อง deal กับต่างชาติมากขึ้น

ประเดชบอกถึงการเตรียมการตรงนี้ว่า ปัจจุบันเด็มโก้ได้ออกทุนส่งพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรบริษัท ให้เข้าเรียนคอร์ส ภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับ 1 จนถึงระดับ 15 ที่ศูนย์สอนภาษา AUA เช่นเดียวกับการกำหนดให้คนของเด็มโก้ต้องเรียนให้สูงถึง MINI MBA เป็นอย่างน้อย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us