"ทีดีอาร์ไอ สถาบันวิจัยระดับชาติ วันนี้กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนบุคลากร
อันเนื่องมาจากปัจจัย 2 ประการ หนึ่ง-ความต้องการนักวิจัยฝีมือดีของภาคเอกชน
โดยเฉพาะนักธุรกิจการเงิน การลงทุน ที่พร้อมจะทุ่มไม่อั้น สอง-ลักษณะการโตแล้วแตกตัวออกไปตั้งองค์การวิจัยใหม่ของคนเก่าที่อยู่มาด้วยกัน
เพราะแนวความคิดการทำงานวิจัยที่แตกต่างกัน"
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในปี 2527 "มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย"
หรือ ทีดีอาร์ไอ (THAILAND DEVELOPMENT RESEARCH INSTITUTE) ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ทางความคิดชิ้นแปลกใหม่ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมี
ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากผลกระทบน้ำมันขึ้นราคาและมาตรการลดค่าเงินบาท
ซึ่งได้ส่งผลให้ขีดความสามารถและการแข่งขันของไทยปรับตัวไม่ทันต่อกระแสเศรษฐกิจโลก
โดยสองนักคิดนักวางแผนระดับชาติอย่างดร. เสนาะ อุนากูล กับดร. อาณัติ อาภาภิรม
ต่างมีแนวความคิดตรงกันว่า เมืองไทยยังขาดสำนักคิดนักวิจัยที่ป้อนข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นกลาง
อันเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนเชิงนโยบาย แทนที่จะกำหนดนโยบายขึ้นจากแรงกดดันที่ถูกสถานการณ์ทางการเมืองบีบบังคับ
ตั้งแต่การเขียนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 จนกระทั่งถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5
"ในใจของตัวเองที่ทำนโยบายมาตลอด ก็นึกว่านโยบายที่ถูกต้องจะต้องอยู่บนรากฐานการวิจัยที่ต่อเนื่องและชัดเจนถูกต้อง
อาจารย์เสนาะเองซึ่งอยู่สภาพัฒน ์ซึ่งทำหน้าที่เขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติให้รัฐบาลก็เห็นตรงกัน"
ดร. อาณัติ อาภาภิรม ประธานคนแรกของทีดีอาร์ไอ ย้อนอดีตให้ฟังถึงแนวความคิดจัดตั้งสถาบันใหม่
งานนี้ธนาคารโลกได้ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ ในฐานะเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
(STRUCTURAL ADJUSTMENT LOANS) ให้ถูกทิศทาง โดยมีเงื่อนไขว่าเงินกู้ส่วนหนึ่งของธนาคารโลกนี้ต้องไปใช้ตั้งสถาบันทำงานวิจัย
เพื่อพัฒนาประเทศไทยเพื่อทำข้อมูลสำหรับการตัดสินใจวางแผนเชิงนโยบายได้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตามในยุคนั้นการตั้งสถาบันเพื่อขอเงินกู้จากต่างประเทศ ได้ก่อให้คำถามแรกเริ่มว่า
ท่ามกลางวิกฤตการณ์เช่นนี้ THINK THANK อันเป็นสถาบันใหม่แห่งนี้จะมีสถานภาพอย่างไรเพื่อที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประเทศได้อย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง
?
ในที่สุดแทนที่ดร. เสนาะจะเตรียมเสนอร่างกฎหมาย พระราชกฤษฎีกาตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อรับเงื่อนไขเงินกู้ของธนาคารโลก
ดร. เสนาะกลับเห็นด้วยกับดร. อาณัติ ว่าควรจะต้องตั้งเป็นรูปของมูลนิธิมิใช่บริษัทที่ปรึกษาซึ่งทางธนาคารโลกไม่สามารถให้เงินช่วยเหลือได้
"เราก็ตั้งในรูปมูลนิธิซึ่งได้มีมติจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์
ในการนี้ไม่ต้องเสียภาษีการค้า ขณะเดียวกันเราก็มีสิทธิยืมตัวข้าราชการมหาวิทยาลัยมาทำงานในทีดีอาร์ไอ
ได้ครั้งละสองปีและต่ออีกสองปีเป็นสี่ปี เหมือนกับหน่วยงานนานาชาติเช่น เอสแคป"
ดร. อาณัติเล่าให้ฟังถึงเงื่อนไขพิเศษดังกล่าว
นี่คือความแตกต่างระหว่างมูลนิธิกับคอนซัลติ้งเฟิร์ม !!
จากนั้น ดร. เสนาะก็ได้เผยแพร่แนวความคิดนี้ กับเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย
ปรากฏว่าทาง CIDA (CANADIAN INTERNATIONAL DEVELOPMENT AGENCIES) ให้ความสนใจ
เนื่องจากนโยบายรัฐบาลยุคนายกรัฐมนตรีทรูโดได้เปิดกว้างต่อการพัฒนา
ในที่สุดทีดีอาร์ไอก็ได้รับเงินอุดหนุนก้อนใหญ่จำนวน 4.48 ล้านเหรียญแคนาดา
เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการสำหรับ 5 ปีแรกของสถาบัน โดยมีการลงนามข้อตกลงความช่วยเหลือระหว่างนายกรัฐมนตรี
พล อ. เปรม ติณสูลานนท์ กับนายกรัฐมนตรีปิแอร์ ทรูโดแห่งแคนาดา ณ กรุงออตตาวา
ขณะนั้นตึกรัชต์ภาคย์สูง 17 ชั้นของคุณหญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนอโศกเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ
ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกทีดีอาร์ไอก็ได้เสนอให้ทีดีอาร์ไอเช่าเป็นที่ทำการ
โดยเช่าพื้นที่ชั้น 15 และชั้น 16
ปรากฏว่าค่าเช่าหอคอยงาช้างซึ่งรวมถึงค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์ แพงระยับถึงปีละ
8 ล้านบาท และได้กลายเป็นภาระหนักด้านค่าใช้จ่ายที่แบกไว้ตั้งแต่ปี 2527
จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่ในปี 2537 ซึ่งทีดีอาร์ไอจะครบรอบ 10 ปี ผู้บริหารทีดีอาร์ไอจะย้ายไปยังอาคารทำการหลังใหม่มูลค่า
80 ล้านบาทขึ้นที่บริเวณที่ดินสองไร่เศษ ตรงข้ามวัดเทพลีลา โดยให้บริษัท
สถาปนิกดีไซน์ 103 ออกแบบให้มีบรรยากาศที่เหมาะสมกับงานวิจัยมากกว่าที่ตึกรัชต์ภาคย์ซึ่งนอกจากจะแพงแล้วยังมีบรรยากาศเป็นสำนักงานบริษัท
"ที่ดินตรงนั้นเป็นที่ทางสำนักงานทรัพย์สินท่านจัดหาให้ โดยคิดราคาค่าเช่าถูกมาก
เป็นสัญญาระยะยาว" ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอเล่าให้ฟัง
หลังจากลงตัวเรื่องที่ทำการ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ถือเป็นวันเริ่มต้นทำงานวันแรกของทีดีอาร์ไอ
ขณะที่มีประธานคือดร. อาณัติ อาภาภิรม และผู้อำนวยการฝ่าย (PROGRAM DIRECTOR)
อยู่เพียงสามคนเท่านั้นคือ ดร. อัมมาร์ สยามวาลา ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยการเกษตรและพัฒนาชนบท
ดร. วีรพงษ์ รามางกูร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม
(MACROECONOMIC POLICY) และคุณหญิงทองทิพย์ รัตนรัต เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนา
ในปลายปีนั้นเองที่ทีดีอาร์ไอจัดงานใหญ่ YEAR END CONFERENCE ซึ่งเป็นวันประเพณีที่มีความหมายสำคัญทุกๆ
ปี เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของตัวเอง โดยให้บุคคลภายนอกเข้ามาอภิปราย มีคนในวงการธุรกิจให้ความสนใจมาก
ในปีแรกสื่อมวลชนทุกฉบับมีการพิมพ์เผยแพร่การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของทีดีอาร์ไอ
"ช่วงที่เราจัดนั้นเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยฟุบในปี 2528 เราถูกหม่อมคึกฤทธิ์ด่าว่านักวิชาการหน้าตัวเมียที่ทำให้คนอื่นใจฝ่อ
เพราะเราไปทำนายว่า เศรษฐกิจไทยจะแย่ในงานสัมมนา เพราะตอนนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่ำสุดเหลือเพียง
3.5% เท่านั้น" ดร. อาณัติเล่าถึงยุคแรกที่คนยังไม่เข้าใจบทบาททีดีอาร์ไอ
ในปี 2528 ซึ่งเป็นปีที่ทีดีอาร์ไอสามารถระดมนักคิดนักวิจัยฝีมือดีของไทย
มาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มมันสมองชั้นยอด มีการเคลื่อนย้ายพลังปัญญาชน ซึ่งเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์
จากสมาคม TURA (THAI UNIVERSITY RESEARCH ASSOCIATION) เข้ามาอยู่ในทีดีอาร์ไอจำนวนมาก
TURA นี้เกิดขึ้นมาก่อนทีดีอาร์ไอ 10 ปี จากการรวมตัวของกลุ่มอาจารย์หัวก้าวหน้าจากนิด้า
จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศและกลับมาทำงานในมหาวิทยาลัยในช่วงระหว่างปี
2516-17 ภายใต้บรรยากาศความตื่นตัวในเสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์กลุ่มนี้มองเห็นว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยยุคนั้นยังมีจุดอ่อนที่ไม่มีงานวิจัย
จึงรวมกันเป็นปึกแผ่นสร้าง
ผลงานวิจัย งานวิจัยชิ้นแรกคือ เรื่องการขยายตัวของกรุงเทพมหานครปี 2517
และโครงการวิจัย และสัมมนาเรื่อง "ประเทศไทยในทศวรรษ 1980" ที่คาดการณ์ล่วงหน้า
10 ปี
แต่เนื่องจากปัญหาของ TURA คือขาดความต่อเนื่องและวิธีการกำหนดหัวข้อวิจัยมีช่องว่างระหว่างผู้ใช้และผู้ทำวิจัย
ทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับการกำหนดนโยบายของประเทศที่จะต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงปี
2517-18 ซึ่งเกิดเหตุการณ์อินโดจีน น้ำมันขึ้นราคาและปัญหาคุกคามความมั่นคง
จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์ใน TURA หันมาสนใจทีดีอาร์ไอ เพราะคาดหวังสูงในบทบาทงานวิจัยเชิงนโยบายที่เป็นจริงและต่อเนื่อง
นอกจากกลุ่ม TURA แล้ว ยังมีกลุ่มที่ทำงานธุรกิจแล้วสนใจมาร่วมด้วยเช่น
ดร. กอปร กฤตยากีรณ ซึ่งมีพื้นฐานจบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์จากฮาร์วาร์ด และเป็นถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยประกันชีวิต
ได้ให้ความสนใจเข้ามาทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและเป็นรองประธานกรรมการบริหาร
ผู้ช่วยดร. อาณัติ อีกตำแหน่งด้วย รวมทั้งดร. เทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิเคราะห์อาวุโสด้านพลังงานของบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย
เข้ามาเป็นนักวิจัยฝ่ายการวิจัยการพลังงาน
"อจ. กอปรนี่เขาเจอ อจ. เสนาะ เขาก็บอกว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำให้อะไรให้ประเทศชาติ
คือเขาได้ทุนมหิดล และจบด้านปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์จากฮาร์วาร์ด เคยเป็นกรรมการผู้จัดการไทยประกันชีวิตด้วย
ผมก็เลยมาให้ช่วยด้านบริหารด้วย" ดร. อาณัติเล่าให้ฟัง
สำหรับนักวิจัยฝีมือดีที่ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ระดับสูงจากต่างประเทศ
ก็เข้ามาร่วม เนื่องจากลักษณะงานของทีดีอาร์ไอมีความคล่องตัว และเป็นอิสระเหมือนที่เคยทำมาในเมืองนอก
บุคคลเหล่านี้เข้ามารับเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และนักวิจัยของทีดีอาร์ไอจำนวนมาก
อาทิเช่น ดร. ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ ซึ่งทำงานวิจัยอยู่ธนาคารโลกอยู่ 6 ปี
ดร. ธีระ พันธุมวนิช ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
โครงการสิ่งแวดล้อม แห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในกรุงปารีส และดร. ชัยพัฒน์
สหัสกุล เป็นต้น
คอนเซปท์ของทีดีอาร์ไอที่จะเป็นสถาบันวิจัยระดับชาติได้กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้บริหารระดับสูง
และอาจารย์ชั้นนำของมหาวิทยาลัยเข้ามาอีกจำนวนมาก เช่น จากนิด้าก็มี ดร.
ธวัชชัย ยงกิตติกุล อดีตคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจและรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
ดร. ทินพันธุ์ นาคะตะ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ คณบดีเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์
เป็นต้น
ยุครุ่งเรืองของทีดีอาร์ไอในระยะต้นนั้น เฟื่องฟูไปด้วยปรมาจารย์นักวิจัยฝีมือดีระดับชาติ
และเงินทุนจำนวนมหาศาลที่มีไว้ให้บรรดานักคิดนักวางแผนเหล่านี้ได้ทำงานอย่างไร้กังวลแบบมีอิสระและเป็นกลางได้
ค่าแรงงานทางสมองซึ่งเป็นผลตอบแทนของผู้บริหารทีดีอาร์ไอเหล่านี้ ในยุคแรกช่วงปี
2527 เป็นที่ฮือฮามากในแวดวงนักวิชาการไทย โดยระดับประธานกรรมการบริหารอย่างดร.
อาณัติจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 120,000 บาท สำหรับผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยซึ่งมีประสบการณ์สูงได้รับเดือนละ
70,000 บาท
ค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่าเช่าที่แพงลิบลิ่วนี้ได้ทำให้เงื่อนไขการรับงานวิจัยของทีดีอาร์ไอมีราคา
และความรับผิดชอบคุณภาพงานสูงกว่าที่อื่น โดยจะมีการคิดค่าโสหุ้ย 30% ขณะที่สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยจะคิดเพียง
17% เท่านั้น
ดังนั้นนักวิจัยฝีมือดีเหล่านี้จึงกระจายพลังไปทำงานตาม AGENDA ต่างๆ ที่ตั้งไว้ที่ฝ่ายการวิจัยทั้ง
7 ฝ่ายของทีดีอาร์ไอในยุคต้นๆ ได้แก่ หนึ่ง-ฝ่ายการวิจัยการเกษตรและพัฒนาชนบทซึ่งมีดร.
อัมมาร์ดูแล สอง-ฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม มีดร. วีรพงษ์ เป็นผู้อำนวยการฝ่าย
สาม-ฝ่ายการวิจัยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ ดร. กอปร สี่-ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีดร.
อาณัติเป็นผอ. และดร. ธีระเป็นผู้ช่วย ห้า-ฝ่ายการวิจัยพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองมีดร.
เทียนไชยเป็นผู้ดูแล หก-ฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรม การค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งมี
ดร. ธวัชชัย เป็นผู้อำนวยการฝ่าย
ดร. อาณัติเป็นประธานทีดีอาร์ไออยู่สองปีกว่าก็ลาออกไปรับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย
(ปตท.) โดยมี ดร. ไพจิตร เอื้อทวีกุล เข้ารับตำแหน่งบริหารแทน
สำหรับดร. ไพจิตรได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการเต็มตัวในยุคเทคโนแครตมีส่วนกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ประสบการณ์ทำงานที่ไต่เต้าจากอาจารย์ขึ้นสู่ตำแหน่งอธิการบดีนิด้าในยุคประชาธิปไตยปี
2516 ทำให้เริ่มเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติปี
2517 และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาลนายกฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ต่อเนื่องมาถึงบทบาทประธานที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของนายกฯ
เปรม 1 ด้วย
บทบาทของดร. ไพจิตรยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น เมื่อเข้าร่วมรัฐบาลเปรม 2 โดยรับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ยุคสมหมาย ฮุนตระกูลเป็นรมว. ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้นราคาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจนกระทั่งกระทรวงการคลังต้องประกาศลดค่าเงินบาท
กลายเป็นเหตุลุกลามถึงขั้นนักหนังสือพิมพ์ใหญ่นาม "กะแช่" วิพากษ์วิจารณ์ดร.
ไพจิตรอย่างรุนแรงขาดสติ จนทำให้ต้องเป็นคดีประวัติศาสตร์ยืดเยื้อถึง 4 ปี
และในที่สุดกะแช่ต้องตีพิมพ์ข้อความขอขมา และได้หักปากกาทิ้งในเวลาต่อมาจนสิ้นชีวิต
ระหว่างปลายปี 2524-2528 เป็นเวลา 4 ปีเต็มขณะที่รอชัยชนะ ดร. ไพจิตรได้เดินทางไปทำงานเป็นกรรมการบริหารที่ธนาคารโลก
จวบจนกระทั่งแค้นได้ชำระเรียบร้อยแล้วโดยชนะคดีกะแช่และพิสูจน์ด้วยกาลเวลาว่า
การตัดสินใจลดค่าเงินบาทคราวกลียุคนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง
ดร. ไพจิตรได้หวนกลับมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2529 โดยทำงานเป็นนักวิชาการของทีดีอาร์ไอในตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการบริหารเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
และเป็นประธานทีดีอาร์ไอเป็นระยะเวลาสามปี ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ในรัฐบาลอานันท์
1 และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกในรัฐบาลอานันท์ 2
ระหว่างช่วงเวลาที่ดร. อาณัติและดร. ไพจิตรบริหารนั้น นักวิจัยทีดีอาร์ไอได้ผลิตผลงานโครงการวิจัยทั้งสิ้น
89 ชิ้น สิ้นงบใช้จ่ายไปราว 113.4 ล้านบาท โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือสภาพัฒน์ฯ
ซึ่งต้องการข้อมูลวิจัยเชิงนโยบายเพื่อการเขียนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6
หลังจากการเปิดหมวกอำลาของดร. ไพจิตร ดร. อัมมาร์ สยามวาลา ก็ได้รับการรับเลือกจากกรรมการสภาทีดีอาร์ไอซึ่งมีดร.
เสนาะเป็นประธาน
"เราจะไม่ 'อยู่' หรือ 'ตาย' ตรงที่ว่าการเสนอแนะของเราจะได้รับการยอมรับหรือไม่
? ถ้าบอกว่าข้อมูลเราผิดพลาดไม่ดีตรงไหน จุดนี้ผมถือว่าบกพร่องต้องแก้ไข
แต่ถ้า 7-8 ปีนี้เขาไม่ได้เอานโยบายของเราไปใช้สักอย่างผมจะไม่ถือเลย"
คำพูดข้างต้นของ ดร. อัมมาร์ สยามวาลา ประธานของทีดีอาร์ไอคนที่สามได้สะท้อนถึงความต่อเนื่องของคุณค่า
และคุณภาพของงานวิจัยเชิงนโยบายที่ยืนบนพื้นฐานปรัชญาของความเป็นอิสระและเป็นกลาง
สถาบันแห่งนี้มีจุดกำเนิดจากนักวางแผนระดับชาติอย่างดร. เสนาะ อุนากูล
ที่ทอฝันว่าสถาบันวิจัยชั้นคุณภาพสูงแห่งนี้จะเป็น THINK TANK สำคัญด้านข้อมูลวิจัยเชิงนโยบายของประเทศ
ทีดีอาร์ไอในยุคของประธานสองคนแรก ถือได้ว่าสายสัมพันธ์กับรัฐบาลเป็นอย่างดี
ในยุคแรกผู้บริหารทีดีอาร์ไอเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ถึง 3 คน ได้แก่ ดร. อาณัติ อาภาภิรม ประธานทีดีอาร์ไอคนแรก ดร. วีรพงษ์
รามางกูร และดร. ทินพันธุ์ นาคะตะ
"ตอนที่จะตั้งทีดีอาร์ไอ ผมเองเป็นนักวิชาการที่ AIT และเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลสมัยนายกฯ
เกรียงศักดิ์ 2 และเข้ามาเป็นรมต. ในสมัยนายกฯ เกรียงศักดิ์ 3 และเป็นรมต.
สมัยเปรม 1 และ 2 ต่อมาจึงได้มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ" ดร. อาณัติ อาภาภิรม
ประธานทีดีอาร์ไอคนแรกเล่าให้ฟัง
แต่พอมาถึงยุคที่ ดร. อัมมาร์เป็นประธานทีดีอาร์ไอคนที่สาม สืบตำแหน่งต่อจาก
ดร. ไพจิตร เอื้อทวีกุล บทบาทของที่ปรึกษาทางการเมืองของผู้บริหารทีดีอาร์ไอมีน้อยมาก
แทบจะไม่เน้นสายสัมพันธ์กับกลุ่มผู้นำการเมืองระดับสูงเฉกเช่นที่ ดร. อาณัติและดร.
ไพจิตรเคยมีมาก แต่จะเน้นสานต่อความสัมพันธ์ในระดับล่างตามหน่วยงานรัฐบาลโดยสร้างแนวร่วมทางความคิดที่จะนำไปสู่นโยบายและการปฏิบัติได้
ทั้งนี้บุคลิกผู้นำทีดีอาร์ไออย่าง ดร. อัมมาร์ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ยึดหลักการความเป็นกลางที่ไม่อิงผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใดและไม่นิยมงานที่ปรึกษาหรือล็อบบี้ยิสต์
ทำให้บุคลิกลักษณะของ ดร. อัมมาร์เป็น "GURU" หรือปรมาจารย์วิจัยทางการเกษตรและพัฒนาชนบทมากกว่านักบริหาร
"ผมเคยเสนอว่า PRESIDENT ควรจะใช้เวลา 50% ทำงานด้านบริหาร อีก 50%
ต้องทำวิจัย เพราะถ้าหากนักวิจัยที่เก่งมากๆ อย่างอจ. อัมมาร์ใช้เวลาเกือบ
100% ทำเรื่องบริหาร ผมคิดว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลของประเทศ"
ดร. ฉลองภพกล่าวอย่างเสียดาย
แต่โชคร้ายที่ดร. อัมมาร์เข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 7-8 เดือน ได้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองไทยยุค
รสช. ซึ่งทำให้เงินช่วยเหลือจาก USAID ซึ่งมีสัดส่วนถึง 53.3% ของเงินทุนอุดหนุนงานวิจัย
ในปีงบประมาณ 2533 ของทีดีอาร์ไอต้องหยุดชะงักไปอย่างกระทันหัน เพราะตามกฎหมายอเมริกันหากมีการโค่นอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยวิธีการรุนแรงไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ
เงินช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจจะตัดทันที ผลกระทบนี้ทำให้สถาบันฯ ขาดเงินทุนอุดหนุนการวิจัยจาก
USIAD ถึง 20 ล้านจากเดิมที่เคยคาดว่าจะได้ 30.8 ล้านบาท ดังนั้นในปี 2534
เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศของทีดีอาร์ไอจึงมาจากแหล่งอื่นๆ รวม 70 ล้านบาท
เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
สำหรับโครงการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุ รสช. ปฏิวัติคือ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายภาค
SECTORAL PROGRAM ซึ่งปรับขึ้นมาจากฝ่ายวิจัยการเกษตรและพัฒนาชนบทที่ดร.
อัมมาร์เคยดูแล เมื่อดร. อัมมาร์ขึ้นเป็น PRESIDENT จึงให้ดร. มิ่งสรรพ์
ขาวสะอาด มารับตำแหน่งผู้อำนวยการนี้แทน เงินทุนอุดหนุนการวิจัยที่จะเข้ามา
13 ล้านบาท ปรากฏว่าหายเกลี้ยงหมดหลังจากเกิด รสช. 1
"เงินก้อนนั้นที่เคยใช้ 'เล่น' และสามารถกำหนดทิศทางงานวิจัยของเราก็ค่อยๆ
หมดไป แต่ว่าไม่กระทบกระเทือนมาก เราก็เริ่มหากินกับหน่วยงานภายในประเทศในลักษณะหาเช้ากินค่ำ
ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความยากจน แต่เป็นเรื่องของการที่เรากำหนดทิศทางไม่ได้
เราได้อะไรมาก็ทำเรื่องนั้นๆ" ดร. อัมมาร์เล่าให้ฟัง
จากจุดวิกฤตนี้เองที่ทำให้ ดร. อัมมาร์ และคณะทำงานเห็นว่า ควรจะต้องพึ่งตนเอง
โดยหันมาทำวิจัยให้กับหน่วยงานราชการเป็นหลัก และเอกชนซึ่งยอมรับเงื่อนไขที่ว่าเมื่องานวิจัยเสร็จก็สามารถพิมพ์เผยแพร่เพื่อสาธารณประโยชน์ได้
"มีอยู่โครงการหนึ่งที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์เคยอยากจะให้เราทำนานแล้วตั้งแต่เกิดสถาบันใหม่ๆ
เราไม่สามารถรับได้ เพราะเขาต้องการให้เราทำงานวิจัยและเสนอให้เขาเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของเขาคนเดียว
ซึ่งเรื่องนี้อยู่นอกกติกาของทีดีอาร์ไอ" ดร. อัมมาร์เล่าให้ฟัง
ผลกระทบจากการปฏิวัติของ รสช. ครั้งนั้นได้ทำให้รัฐบาลสมัยอานันท์ 1 ได้เห็นความสำคัญการจัดตั้งกองทุนวิจัยขึ้นมา
"กองทุนวิจัยสมัยคุณอานันท์นั้น มีความคิดและเป้าหมายว่า ห้าปีน่าจะมีสักหมื่นล้านบาท
รัฐบาลก็จะจัดสรรเงินมาสบทบเรื่อยๆ จนกว่าจะครบหมื่นล้าน แล้วจึงดึงเอาดอกผลซึ่งได้ปีหนึ่งพันกว่าล้านนี้ไปใช้ในงานวิจัย"
ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล เล่าให้ฟัง
แต่งานนี้นักการเมืองซึ่งเจตนาจะโจมตีนายกรัฐมนตรีอานันท์ ได้โยงเอาสถาบันทีดีอาร์ไอเข้าไปเกี่ยวข้องทำนองว่า
นายกฯ อานันท์ตั้งกองทุนวิจัยนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยทีดีอาร์ไอ เพราะนายกฯ อานันท์อยู่ในบอร์ดของทีดีอาร์ไอ
"คุณอานันท์เป็นกรรมการสภาของเราตั้งแต่ต้น แต่ภายหลังดร. เสนาะอยากพักผ่อนบ้าง
ทางสภาจึงหยั่งเสียง และคิดว่าคนที่เหมาะสมคือคุณอานันท์ ท่านก็รับปาก จนกระทั่งมีเหตุที่ทำให้ท่าน
ต้องกลับไปเป็นนายกฯ อานันท์ 2 เราเกรงว่าท่านจะถอนตัวจากทีดีอาร์ไอ แต่ตอนนั้นท่านแน่ใจว่าจะรักษาการช่วงสั้น
จึงเชิญอจ. เสนาะกลับมารักษาการ 4-5 เดือน" ดร. ธวัชชัยเล่าให้ฟัง
อย่างไรก็ตาม DONER หรือผู้บริจาคเงินอุดหนุนวิจัยภายในประเทศก็ยังเป็นหน่วยราชการซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลัก
ขณะที่ DONER ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนชั้นนำต่างๆ ในไทยจะบริจาคช่วยปีละครั้งในงาน
YEAR END CONFERENCE เท่านั้น ซึ่งในปี 2535 ได้ใช้จ่ายไปประมาณ 3.9 ล้านบาท
นอกจากงานสัมมนาใหญ่ประจำปีแล้ว การเผยแพร่งานของทีดีอาร์ไอสู่สาธารณชนได้มีวางแผนที่จะทำรายการโทรทัศน์และทำวิดีโอ
โดยมี ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการคนใหม่ของ NRE เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้อยู่
"เราตั้งงบไว้ประมาณ 3 ล้านต่อ 6 รายการหรือ 6 อาทิตย์ โดยจะออกทางช่อง
11 ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม โดยมีผู้บริจาคเงินคือ ASIA FOUNDATION สถานทูตอเมริกา
และบางจากปิโตรเลียม รูปแบบรายการจะเป็นสารคดี" ดร. มิ่งสรรพ์ เล่าให้ฟัง
เมื่อพิจารณาจากงบรายรับ-รายจ่ายของทีดีอาร์ไอตั้งแต่ปี 2530-35 เงินช่วยเหลือจาก
CIDA (องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของแคนาดา) ทางทีดีอาร์ไอรับมาจำนวน
17.5 ล้านบาทในปี 2530 และได้เพิ่มขึ้นเป็น 22.5 ล้านบาทในปี 25345 แต่ในปีงบประมาณ
2538/2539 เงินช่วยเหลือจาก CIDA ก็จะสิ้นสุดลง ซึ่งทีดีอาร์ไอจะต้องดิ้นรนหาเงินอุดหนุนทุนวิจัยให้ได้ปีละประมาณ
70 ล้านบาท อันเป็นภารกิจที่ผู้บริหารทีดีอาร์ไอในระดับ PRESIDENT และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยต้องคำนึงถึง
"ดูจากหลักการหาเงินของทีดีอาร์ไอแล้ว ทีดีอาร์ไอมีแนวโน้มจะเป็น
CONSULTING FIRM ตลอดเวลา และอันนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องมีอุดมการณ์ต่อต้านตลอดเวลาในการบริหาร
เราต้องต้านทาน LOGIC ของเงิน ขณะเดียวกันเราก็ต้องมีเงินมาหล่อเลี้ยง แต่เราจะไม่ไหลไปตามกระแสเงิน"
ดร. อัมมาร์เน้นถึงหลักการอันมั่นคงดั่งหินผา
ขณะที่เงินทุนอุดหนุนทุนวิจัยที่ได้รับจาก USAID และหน่วยงานต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นจากปี
2530 ที่มีเพียง 35.6 ล้านเป็น 93.9 ล้านบาทในปี 2535
"เราได้เงินจาก USAID จะมาสนับสนุนงานวิจัย ส่วนเงินของ CIDA เป็นค่าเช่าและค่าจ้างคณะนักวิจัยกลุ่มเล็กๆ
ที่ต้องอยู่ประจำ" ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล EXECUTIVE VICE PRESIDENT
เล่าให้ฟัง
งบประมาณที่ใช้ในโครงการวิจัยสำคัญๆ ของทีดีอาร์ไอ (ดูตารางประกอบ) จะเห็นว่า
ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปี 2535 ปรากฏว่าฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคมของดร.
ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ มีโครงการที่ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยสูงที่สุดในปี 2534
ถึง 30 ล้านบาท เนื่องจากเป็นงานวิจัยเชิงนโยบายที่ใช้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่
7 ถึงสามโครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการวางแผนกำลังคนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และโครงการวิจัยเกี่ยวกับกรอบการพัฒนาเมือง
แต่พอมาถึงปี 2535 งบของฝ่ายนี้ตกลงมาเหลือเพียง 13.5 ล้านบาทเนื่องจากต้องใช้เวลาหาโครงการใหม่
ขณะที่ฝ่ายการวิจัยเศรษฐกิจรายภาค (SECTORAL) ซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณี
รสช. จนทำให้งบที่ตั้งไว้หลุดไป 20 ล้าน ในงบประมาณปี 2535/36 จึงเหลือเพียง
18.3 ล้านบาท โดยดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการก็สามารถวิ่งประมูลงานวิจัยภายในประเทศได้
โครงการทบทวนแผนแม่บทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และโครงการAFTA ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯ
จ้างทีดีอาร์ไอ
"งานนี้ประมูลมาได้ 3 ล้านบาท แต่ทำเกินงบและทำเกินมาสองเรื่อง เพราะคิดจะสร้างฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยว
ส่วนงบโครงการอาฟต้าจำนวน 10 ล้านที่ดิฉันคิดว่าจะลงในฝ่ายประมาณ 6 ล้านก็ต้องเลื่อนมาเซ็นสัญญาต้นเดือนเมษายนปีนี้จากเดิมที่ตั้งไว้ในเดือนธันวาคม
ก็คิดว่าปีที่แล้วทำได้ต่ำหน่อยประมาณ 15 ล้านบาท แต่ปี 2536 นี้คาดว่าจะใหญ่กว่าปีที่แล้วประมาณ
20 ล้าน เพราะอาฟต้าเลื่อนลงมาและด้านอุตสาหกรรมเพิ่งลงตัว มีเงินจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาลงที่นี่
4 ล้าน ตอนนี้ดิฉันหาเงินรอไว้แล้ว 11 ล้านและคิดว่าจะได้เรื่อยๆ จนครบ 20
ล้าน" ดร. มิ่งสรรพ์เล่าให้ฟังถึงแผนงานที่วางไว้ ก่อนที่จะเธอจะย้ายไปรับงานใหม่แทนดร.
ธีระ พันธุมวนิชที่ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (NRE)
การลาออกของดร. ธีระ พันธุมวนิชพร้อมทีมงานเดิมไม่ต่ำกว่า 10 คน เพื่อไปดำเนินการสถาบันใหม่
"สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย" (THAILAND ENVORNMENT INSTITUTE) หรือเรียกสั้นๆ
ว่า "ทีอีไอ" นี้ขึ้นมา เป็นสิ่งที่คนในวงการคาดว่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว
เพียงแต่รอจังหวะเวลาเท่านั้นเอง
ความจริงโครงสร้างของสถาบันใหม่นี้ก็เปรียบเสมือน สถาบันน้องของทีดีอาร์ไอที่เน้น
ACTION PLAN มากกว่า โดยมีกลุ่มผู้บริหารระดับสูงเป็นกลุ่มเดียวกัน ประกอบด้วย
อานันท์ ปันยารชุน ประธานสภากรรมการ ดร. ไพจิตร เอื้อทวีกุล ประธานกรรมการบริหารและดร.
ธีระ พันธุมวนิช เป็น PRESIDENT มีสำนักงานอยู่สุขุมวิท 64 เริ่มเปิดทำการเดือนพฤษภาคมนี้
งบประมาณปีแรกของสถาบันน้องใหม่นี้ ดร. ธีระได้ตั้งไว้ประมาณ 25-35 ล้านโดยแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยจะมาจากหน่วยราชการที่ต้องการระบบข้อมูล
เช่นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
สำหรับแหล่งเงินทุนจากภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสถาบันใหม่นี้จะได้แก่
กลุ่มธุรกิจบริษัทด้านพลังงานและเหมืองแร่ หรืออุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งตามหลักการใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม
POLLUTER PAYS PRINCIPLE
นอกจากแหล่งเงินทุนด้านต่างประเทศ ซึ่งทอฝันไว้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็น
REGIONAL INSTITUTE เป็นการทำงานวิจัยระดับภูมิภาคโดย ดร. ธีระมองว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมมิได้จำกัดแค่ไทยเช่น
ปัญหาฝนกรดที่ขยายออกไปสู่ประเทศแถบอินโดจีนด้วย เช่น ลาว เขมร เวียดนาม
ดังนั้นแนวโน้มองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศก็จะดูเป็นภูมิภาคมากกว่ารายประเทศ
สำหรับโครงสร้างฝ่ายต่างๆ ที่ดร. ธีระเล่าให้ฟังจะประกอบด้วย 4 โปรแกรมได้แก่
หนึ่ง-โปรแกรมศูนย์ข้อมูลหรือระบบสารนิเทศทางภูมิศาสตร์ (GEOGRAPHIC INFORMATION
SYSTEM) อย่างเช่น กรณีงานวิจัยเรื่อง "คู่มือการใช้งานระบบสารสนเทศ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดอุทัยธานี" ที่หน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ห้วยขาแข้ง
เป็นต้น
สอง-โปรแกรมกลุ่ม NGO (NON GOVERNMENT ORGANIZATION) ซึ่งมีอยู่ 50 กว่าองค์การด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งในปีนี้สถาบันใหม่ทีอีไอจะเป็นคนกลางจัดให้มี FORUM ใหญ่เรื่อง "สิ่งแวดล้อม
'36" รวมทั้งนิทรรศการสินค้าสีเขียวเพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมของคนในสังคม
สาม-โปรแกรมธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม ที่ดร. ธีระตั้งใจจะผลักดันให้มีการแปรข้อเสนอหลักการ
POLLUTER PAYS PRINCIPLE ให้เป็นการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะดร. ธีระชี้ว่า
ถ้าหากบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งหลายเฉลี่ยจากเงินก้อนใหญ่มูลค่าหลายพันล้านที่ทุ่มกับค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพพจน์กิจการมา
เพื่องานวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแล้ว ในระยะยาวจะให้ผลที่คุ้มค่ากว่า
สี่-โปรแกรมด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะดูเรื่องการจัดการสิทธิและกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่างๆ
เป็นการวางขอบเขตงานกว้างไปถึงการดูดิน น้ำและป่าไม้
การโตแล้วแตกเป็นสถาบันน้องใหม่อย่าง "ทีอีไอ" หรือในอดีตที่คุณหญิงตุ๋ย
"ทองทิพ รัตนรัต" แยกไปตั้งสถาบันปิโตรเลียมได้สะท้อนให้เห็นถึงยุคของความพยายามแปรข้อเสนอเชิงนโยบายให้เป็นการปฏิบัติอย่างจริงจัง
โดยมีการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงการเมืองควบคู่ให้มีการกระจายอำนาจถึงชาวบ้านเจ้าของท้องถิ่นที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมเองซึ่งจุดนี้ทีดีอาร์ไอทำไม่ได้
"ผมมักพูดเสมอว่า ทีดีอาร์ไอเป็น HORIZONTAL คล้ายๆ วงกลมมีฝ่ายการวิจัยหลายเรื่อง
ซึ่งสิ่งแวดล้อมก็เป็นหนึ่งในห้าฝ่าย ขณะเดียวกันสถาบันใหม่ของผมก็จะเป็นแนวตั้ง
VERTICAL ลงไปที่ไล่ตั้งแต่นโยบายลงลึกไปถึงระดับล่างเลย เพราะฉะนั้นลักษณะงานจะไม่เหมือนกัน
แต่จะประสานงานกันได้ ทีดีอาร์ไอจะดูภาพ MACRO ส่วนของผมจะลงลึก" ดร.
ธีระเล่าให้ฟังถึงความแตกต่างของลักษณะงาน
เป็นไปได้ไหมว่า ? การแตกตัวของสถาบันใหม่ เกิดขึ้นเนื่องจากภายในระยะเวลา
5 ปีที่ผ่านมา ระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ซับซ้อนภายใต้การบริหารของผู้นำรัฐบาลแบบสหพรรคนี้
ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้บทบาทของทีดีอาร์ไอในการวิจัยเชิงวางแผนระยะยาวแบบ
MACRO นั้นสามารถแปรข้อเสนอสู่การปฏิบัติได้จริงเหมือนดังยุคก่อน ?
ดังนั้นทีดีอาร์ไอในทศวรรษหน้าจึงถูกตั้งคำถามว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมา
ทีดีอาร์ไอได้ MEET OBJECTIVE หรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้เจ้าของเงินทุนอุดหนุนการวิจัยอย่าง
CIDA หรือ USAID คงพอใจระดับหนึ่งกับคุณภาพชิ้นงานที่มีความเป็นกลางและโปร่งใส
นอกจากนี้ความคาดหวังบทบาทของทีดีอาร์ไอในสายตาภาคเอกชนหรือหน่วยงานราชการ
ที่จะอยากให้ทีดีอาร์ไอสามารถ SERVE การพัฒนาประเทศได้ตรงประเด็นก็ยังเป็นข้อสงสัยว่าเกิดขึ้นแล้วหรือยัง?
และมีทางเป็นไปได้ไหมว่า ลูกค้ารายใหญ่อย่างสภาพัฒน์? จะหลุดไปให้กับคู่แข่งที่ทำเรื่องได้ตรงประเด็นความต้องการมากกว่า
ถ้าหากทีดีอาร์ไอไม่ได้ทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เล่า อะไรจะเกิดขึ้น?!
อย่างไรก็ตามก็ยังเสียงกระแนะกระแหนว่า ทีดีอาร์ไอที่อยู่รอดมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะไม่มีคู่แข่งที่มีบารมีและ
GOVERNMENT LINKAGE ระดับบน?
"สถาบันนี้ผมคิดว่าเป็นสถาบันที่วิเคราะห์วิจัยและหาข้อมูลให้สมบูรณ์ที่สุด
เพื่อประโยชน์ในการวางนโยบายของประเทศเราคงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเสนอแนะนโยบาย
แต่นั่นคงไม่ใช่งานหลักของเรา ผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จ ข้อมูลเราเป็นกลางซึ่งผมถือว่า
เป็นของมีค่ามากสำหรับสถาบันทีดีอาร์ไอแห่งนี้" ดร. อัมมาร์กล่าวถึงหลักการของสถาบันอย่างหนักแน่น
แม้กระนั้นก็ตามปัญหาภายในของทีดีอาร์ไอเองเกี่ยวกับการขาดแคลนนักวิจัยระดับ
RESEARCH FELLOW, RESEARCH ASSOCIATES และ RESEARCH ASSITANTS ซึ่งโดยเฉลี่ยผลตอบแทนของคนทีดีอาร์ไอจะสูงกว่ามหาวิทยาลัยแต่ต่ำกว่ากว่าบริษัทเอกชน
โดยระดับ PRESIDENT ตั้งแต่สมัย ดร. อาณัติได้รับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 120,000
บาท ระดับ PROGRAM DIRECTOR ไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท และผู้ช่วยนักวิจัย (RESEARCH
ASSITANT) เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 17,000 บาท
"ดิฉันอยู่มาสองปี ยังคัดเลือก RESEARCH FELLOW แบบเต็มเวลาระดับปริญญาเอกไม่ได้เลย
เพราะทุกคนอยากทำเป็น PART TIME หมด จึงมีแต่ดิฉันคนเดียวที่ปริญญาเอกทำงานอย่างเต็มเวลา
และเด็กปริญญาโท-ตรีอีก 10 คนซึ่งทุกคนทำงานดีมาก และสองคนเราให้ทุนทีดีอาร์ไอไปเรียนต่อแคนาดา"
นี่คือวิธีการสร้างคนของทีดีอาร์ไอที่ ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายเล่าให้ฟัง
ขณะที่บริษัทไฟแนนซ์จ่ายได้แพงกว่าถึง 2-3 เท่า เนื่องจากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
ระบบตลาดการเงินและการลงทุนแบบฟองสบู่ได้เติบโตและขยายตัวรวดเร็วมาก ขณะที่ปัญหาขาดแคลนผู้บริหารไฟแนนซ์
ทำให้ต้องไปซื้อตัวจากทีดีอาร์ไอซึ่งชุมนุมนักวิจัยฝีมือดีระดับปริญญาเอกและปริญญาโท
"TURNOVER เรามีอยู่บ้าง เพราะคนที่เคยเจอแต่เงินเดือน 17,000 บาท
แต่บริษัทประกันภัยซื้อตัวไปในอัตรา 30,000 บาท เพราะเด็กที่เราฝึกและทำงานกันมา
3 ปีจะมีความรู้ระบบข้อมูลอย่างดี เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เรากลายเป็น
TRAINNING CENTER ไป" ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด กล่าวถึงการซื้อตัว
นี่คือการสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความทะเยอทะยานส่วนบุคคลขึ้นในคนทีดีอาร์ไอเรื่องของยศฐาบรรดาศักดิ์
นอกเหนือจากเหตุผลที่งานวิจัยเชิงนโยบายของทีดีอาร์ไอไม่ท้าทายอีกต่อไปแล้วในยุคนี้
ศิษย์เก่าทีดีอาร์ไอ (TDRI ALUMNI) จึงเกิดขึ้นเป็นเครือข่ายกระจายไปทั่ว
โดยเฉพาะนักวิจัยฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม (MACROECONOMEC POLICY)
ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดการเงิน (ดูตารางประกอบ) เช่น ดร. วีรพงษ์ไปเป็นที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การ ดร. วุฒิพงษ์ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่น
ดร. บัณฑิต นิจถาวร เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการแบงก์ชาติ ดร. ชัยพัฒน์
สหัสกุลเป็นรองกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ศิษย์เก่าทีดีอาร์ไอบางคนที่ออกไปเป็นตั้งบริษัทวิจัยเอง เช่น
ดร. เทียนไชย จงพีร์เพียร เจ้าของบริษัท BUSINESS ECONOMICS RESEARCH ASSOCIATION
ขณะที่ล่าสุด ดร. ธีระแยกไปตั้ง "สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย" ขึ้นโดยเน้นภาคสนามควบคู่ไปกับการผลักดันข้อเสนอให้เป็นการปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่องกว่าที่เคยทำมาสมัยอยู่ทีดีอาร์ไอ
อย่างไรก็ตาม TDRI ALUMNI NETWORK ระดับบนๆ ที่กระจายไปทั้งภาคเอกชนและภาคราชการได้กลายเป็นเครือข่ายการทำงานของทีดีอาร์ไอ
ขณะที่ TURNOVER นักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยมีอยู่ประมาณ 10%
"ปัจจัยที่ภาวะเศรษฐกิจการเงินบูม ไฟแนนซ์บูม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ดึงคนทีดีอาร์ไอไป
แต่ผมหวังว่า 1-2 ปีนี้ ผมคาดว่าสภาพการณ์ของทรัพยากรบุคคลที่ไหลออกจะยับยั้งได้บ้างและคิดว่าจะคืนกลับมาบ้าง"
ดร. อัมมาร์เล่าให้ฟัง
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ประจำของทีดีอาร์ไอ มีจำนวน 123 คน ลดลงจากปีที่แล้ว
11 คน ในจำนวน 123 คน เป็นนักวิจัยและคณะทำงานวิจัย 88 คน แต่จำนวนนี้มี
RESEARCH FELLOW ที่มีคุณสมบัติจบปริญญาเอกทำงานเต็มเวลาเพียง 3 คนเท่านั้นที่อยู่กับดร.
ฉลองภพ ในฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์ฯ
หนทางข้างหน้าหลังจากการครบวาระในตำแหน่งของ ดร. อัมมาร์ สยามวาลา ราวเดือนกันยายนในปี
2537 นับเป็นช่วงทศวรรษหน้าของการเริ่มต้นอันหนักหน่วงสำหรับผู้นำทีดีอาร์ไอคนใหม
่ที่จะต้องผลิตคุณภาพชิ้นงานวิจัยที่เป็นสาธารณประโยชน์อันเป็นกลางและอิสระภายใต้เงื่อนไขขีดจำกัดของทรัพยากรบุคคลและเงินทุน
นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว !!