Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2549
เชษฐโชติศักดิ์ รุ่นที่ 2             
โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
 

   
related stories

RS 2.0 The Story of CHANGE
IAM + New Media = New Money
ยามว่างของประธานอาร์เอส

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ บริษัท สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค จำกัด

   
search resources

อาร์เอส, บมจ.
สกายไฮ เน็ตเวิร์ค, บจก.
Entertainment and Leisure
Radio
คมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์




25 ปีที่ผ่านมาของอาร์เอส เป็นช่วงการนำของเฮียจั๊วและเฮียฮ้อ วันนี้คนรุ่นที่ 2 ของตระกูลเริ่มเข้ามามีบทบาทในองค์กรแห่งนี้มากขึ้น

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค ธุรกิจวิทยุในเครืออาร์เอสมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร ผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นทำให้ได้กรรมการผู้จัดการคนใหม่เป็นชายหนุ่มวัย 31 ปี ที่ชื่อคมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์ ทายาทคนโตของเกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ หรือเฮียจั๊ว ผู้ก่อตั้งอาร์เอส

"ผมเครียดมาก กดดันมาก ด้วยความที่เราอายุน้อยและประสบการณ์ในสื่อวิทยุถ้าพูดง่ายๆ ก็คือไม่มีเลย เพราะถึงจะศึกษามาแต่ก็ยังไม่เคยทำ แล้วเราต้องพิสูจน์ให้คนเห็น ให้ผู้ใหญ่เห็นและพนักงานยอมรับ" คมสันต์เล่าถึงความรู้สึกของเขาในการมารับตำแหน่งผู้บริหารที่นี่

ถึงจะเพิ่งก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการเป็นครั้งแรก แต่คมสันต์ก็มีประสบการณ์ที่อาร์เอสมาแล้วระยะหนึ่ง เพราะหลังจากจบการศึกษาในสาขา MBA จาก Illinois Institute of Technology สหรัฐอเมริกา เขาก็กลับมาร่วมงานที่อาร์เอสตั้งแต่ปลายปี 2547 บวกกับประสบการณ์ทำงานที่ KPMG (ประเทศไทย) อีก 2 ปี และยังมีเฮียฮ้อคอยเป็นที่ปรึกษา ทำให้ภารกิจในการผลักดันคลื่นวิทยุทั้ง 3 คลื่นที่มีอยู่ให้ขึ้นสู่อันดับ 1 ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจจนเกินไปนัก

ถึงแม้พ่อและแม่จะให้อิสระในการเลือกทางเดินชีวิต แต่จะว่าไปแล้วการได้ทำงานที่อาร์เอสเป็นความตั้งใจของเขาตั้งแต่วัยเด็กที่จะกลับมาช่วยกิจการของครอบครัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเห็นและเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับอาร์เอสตั้งแต่ยุคแรกๆ

"ตอนนั้นยังเป็นโรสซาวน์ เท่าที่จำได้ตอนนั้นมีเครื่องอัดอยู่ 2-3 เครื่องเอง อัดจากแผ่นมาลงเทป ช่วงนั้นยังไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์ แต่พอลิขสิทธิ์เข้ามาคุณพ่อคิดแล้วว่าไม่คุ้ม ก็เลยมาทำเพลงเอง ผมเห็นมาตั้งแต่คีรีบูน เรนโบว์ ซิกซ์เซ้นส์ ฟรุ๊ตตี้ การขึ้นๆ ลงๆ ของอาร์เอสก็เห็น"

ชีวิตการทำงานที่อาร์เอสของคมสันต์แม้จะมีระยะเวลาเพียง 2 ปี แต่เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลงานที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับเป็นการปูทางเพื่อสร้างความพร้อมรออนาคต

งานแรกของคมสันต์เป็นการดูแลธุรกิจต่างประเทศ ทำหน้าที่นำเอาสินทรัพย์ของอาร์เอสออกไปขายในตลาดต่างประเทศ โดยสินทรัพย์หลักในธุรกิจนี้ก็คือ ภาพยนตร์และละคร เขาตระเวนเอาภาพยนตร์ของอาร์เอสที่มีอยู่ออกไปขายในตลาดหลักๆ ทั้งที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมืองมิลาน อิตาลี ไปจนถึงงาน American Film Market ที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งตลาดรองลงมาอย่างเยอรมนี อังกฤษ ข้ามมาฝั่งเอเชียที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

"ผลตอบรับดี ช่วงนั้นอาร์เอสมีการทำภาพยนตร์ออกมาค่อนข้างเยอะ อย่างปักษาวายุ นี่ฮือฮามาก ญี่ปุ่นเห็นแล้วขอซื้อเลย เราขายได้เกือบ 150,000 เหรียญ เป็นการขายครั้งเดียวที่ได้เยอะที่สุด"

หลังจากทำตลาดต่างประเทศได้ราว 1 ปี คมสันต์ถูกโยกเข้ามาช่วยงานในธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของอาร์เอส เขารับหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์เพลง มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเพลงตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงการวางแผง ไล่เรียงตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ การคัดเลือกเพลง การโปรโมต ทำการตลาด ขณะเดียวกันเขายังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเฮียฮ้อในการดูแลและวางแผนงบประมาณในกลุ่มธุรกิจเพลงทั้งหมดอีกด้วย

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารธุรกิจสื่อทีวี คมสันต์ได้รับการโปรโมตขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการเพื่อดูแลธุรกิจนี้ โดยที่ยังต้องบริหารฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์เพลงอยู่เช่นเดิม เท่านั้นยังไม่พอ เฮียฮ้อให้เขามาช่วยดูธุรกิจราชการเพิ่มขึ้นอีกหน่วยงานหนึ่ง

เขาควบ 3 บทบาทอยู่นาน 6 เดือน ประจวบกับจังหวะที่สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ก็เป็นโอกาสที่เขาได้รับการโปรโมตอีกครั้ง โดยโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมาชัดเจนอย่างยิ่ง นั่นคือ การทำให้คลื่นวิทยุทั้ง 3 คลื่นของอาร์เอส ได้แก่ 88.5 เอฟเอ็มแม็กซ์ 93 คูล ฟาเรนไฮต์และ 106 ลาเต้เอฟเอ็ม ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

เขาใช้เวลาช่วงแรกในการปรับโครงสร้างการทำงานให้เข้าที่เข้าทาง หลังจากนี้ไปจะเป็นช่วงของการบุกไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ โดยกลยุทธ์สำคัญคือการซินเนอร์จี้ธุรกิจวิทยุเข้ากับธุรกิจอื่นๆ ของอาร์เอสมากขึ้น

"ที่ผ่านมา สกาย-ไฮไม่ได้ทำตรงนี้มาก ผมมองว่าซินเนอร์จี้เป็นจุดแข็งที่เราจะเอามาใช้ให้เต็มที่ในปีหน้า ยกตัวอย่าง เรามีรายการทีวีที่เป็นแม็กซ์ แชนแนล กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดกับ 88.5 ในคลื่นวิทยุก็จะไปออกในรายการทีวีด้วย แล้วก็มีการคุยกับทางทีวีว่าจะให้ PJ ของเราไปเป็นพิธีกรรายการทีวีด้วย"

ความร่วมมือกับสื่อสิ่งพิมพ์ก็เช่นเดียวกัน PJ แต่ละคนของสกาย-ไฮจะมีโอกาสเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสิ่งพิมพ์แต่ละเล่มในเครืออาร์เอส นอกเหนือไปจากการช่วยโปรโมตกิจกรรมของสกาย-ไฮ ที่ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว รวมทั้งการทำกิจกรรมร่วมกันกับอาร์เอสไอ ดรีม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ กิจการใหม่ในเครือที่เป็นหัวหอกในการรุกธุรกิจอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งในปีหน้าจะมีโครงการใหญ่คือ ภาพยนตร์ซีรี่ส์อุลตร้าแมน ซึ่งสกาย-ไฮจะใช้คลื่นที่มีกลุ่มเป้าหมายตรงกันกับแต่ละอีเวนต์มาทำกิจกรรมร่วมกัน

"ปีหน้าเราวางไว้ว่า จะมีการจัดกิจกรรมให้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่ละไตรมาสต้องมีกิจกรรมใหญ่ๆ ของแต่ละคลื่น กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นตัวสร้างกระแสให้กับคลื่น ให้มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่หยุดนิ่ง"

รายได้ของสกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค ในปีที่ผ่านมาทำได้ 380 ล้านบาท คมสันต์คาดว่าปีนี้น่าจะทำได้ถึง 500 ล้าน โดยมีกำไรราว 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เขาพอใจและถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์คมาแล้วร่วมครึ่งปี แต่ทุกวันนี้ความกดดันก็ยังไม่จางลง

"เจนเนอเรชั่นผมเป็นรุ่นที่ถัดมาจากเฮียฮ้อ เฮียฮ้อมาจากธุรกิจครอบครัว เริ่มจากไม่มีระบบก็ยังสามารถสร้างอาร์เอสให้มีระบบ มีการวางแผนแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ส่วนตัวผมเรียนการจัดการสมัยใหม่มาโดยตรง เพราะฉะนั้นการที่ผมมาทำงานตรงนี้ผมต้องไม่น้อยหน้าเฮียฮ้อ ถ้าคนมองแล้วเห็นว่าผมทำไม่ได้ ก็แสดงว่าที่เรียนมาใช้ไม่ได้"

คมสันต์เป็นเชษฐโชติศักดิ์รุ่นที่ 2 ที่มีบทบาทมากที่สุดในอาร์เอสในเวลานี้ เขาผ่านการเป็นผู้ช่วยเฮียฮ้อ ได้เรียนรู้ถึงวิธีคิด วิธีทำงานของผู้เป็นอาที่มีส่วนสร้างอาณาจักรบันเทิงแห่งนี้ เคียงบ่าเคียงไหล่มากับพ่อของเขา ขณะเดียวกันงานที่ได้รับมอบหมายมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนภายนอกเริ่มจับตามองว่าเขาอาจเป็นผู้นำอาร์เอสรุ่นถัดไป

"เรื่องนี้ยังไม่เคยมีการคุยกันในครอบครัว มันจะมีเส้นอยู่เส้นหนึ่งที่จะบอกว่าผมเป็นได้ หรือไม่ได้ เมื่อถึงเวลานั้นแล้วผมไม่สามารถข้ามเส้นนั้นไปได้ ผมมองว่าผู้ใหญ่ก็คงเลือกคนอื่นเหมือนกัน จะเป็นน้องผมหรือคนนอก ผมไม่มีปัญหา ตอนนี้ผมคิดแต่ว่าจะทำยังไงให้เป็นกรรมการผู้จัดการของสกาย-ไฮ ที่เก่ง เอาวันนี้ให้รอดก่อน"   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us