Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2549
IAM + New Media = New Money             
โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
 

   
related stories

RS 2.0 The Story of CHANGE
เชษฐโชติศักดิ์ รุ่นที่ 2
ยามว่างของประธานอาร์เอส

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

   
search resources

อาร์เอส, บมจ.
ยรรยง อัครจินดานนท์
ประสงค์ รุ่งสมัยทอง
Entertainment and Leisure




หลังจากอาร์เอสเริ่มเดินตามโมเดลธุรกิจใหม่อย่างจริงจังในปีนี้ หน่วยงาน IAM และ New Media เป็น 2 ธุรกิจที่โดดเด่นขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้กับอาร์เอสรวมกันได้หลายร้อยล้านบาท

IAM (Image and Asset Management) และ New Media เป็นธุรกิจที่มีอยู่แล้วในอาร์เอส เพียงแต่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้มีการผลักดันอย่างจริงจังมากนัก เนื่องจากในเวลานั้นรายได้หลักของอาร์เอสยังมาจากการขายเทปและซีดี แต่เมื่อเฮียฮ้อกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับ อาร์เอส เขามองทะลุว่า 2 หน่วยงานนี้จะมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของอาร์เอส จึงเริ่มมองหาผู้บริหารจากภายนอกที่จะมารับผิดชอบสร้างความคิดของเขาให้เป็นจริง

เฮียฮ้อชักชวน ประสงค์ รุ่งสมัยทอง มาจากอีจีวี เพื่อมาดูแลงาน IAM ตั้งแต่เริ่มต้น เช่นเดียวกับยรรยง อัครจินดานนท์ ซึ่งในเวลานั้นเป็น CEO อยู่ที่ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ ทั้ง 2 คน มีจุดเหมือนกันตรงที่ต่างก็เป็นมือการตลาด ทำงานในสายการตลาดมาทั้งคู่ และถึงแม้จะอยู่กันคนละอุตสาหกรรมแต่ก็เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก (mass) เหมือนกัน

ก่อนที่จะมาร่วมงานที่อีจีวี ประสงค์เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาจากสามารถ คอร์ปอเรชั่น เมเจอร์ กรุ๊ป และแกรมมี่ ในขณะที่ ยรรยงเคยทำงานอยู่ที่เอไอเอสนานถึง 12 ปี ตำแหน่งสุดท้ายของเขาที่นั่นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสายการตลาด

หน้าที่หลักของ IAM คือการต่อยอดธุรกิจให้กับอาร์เอส โดยสินค้าที่อาร์เอสผลิตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ ทีวี หรือแม้แต่ตัวศิลปินจะถูกนำมาหาช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ บางกิจกรรมที่แต่เดิมเคยถูกมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อสนับสนุนยอดขาย แต่เมื่อมาถึง IAM กิจกรรมเดียวกันนั้นกลับมีโอกาสในการสร้างรายได้แฝงอยู่

"เมื่อก่อนเรามองว่าคอนเสิร์ตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนยอดขายเทป ถือเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนเพื่อหวังผลจากยอดขายแผ่น แต่ IAM มองว่าคอนเสิร์ตก็เป็นคอนเทนต์อีกประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวมันเอง เพราะฉะนั้นตัวคอนเสิร์ตต้องมีคุณภาพ เพื่อที่จะขายบัตรขายสปอนเซอร์" ประสงค์เล่าถึงวิธีคิดของธุรกิจ IAM

ปีนี้จึงเป็นปีที่อาร์เอสมีคอนเสิร์ตใหญ่หลายครั้งด้วยกัน ทั้งฟิล์ม รัฐภูมิ แดน-บีม จนถึงโปงลางสะออน ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งนอกเหนือรายได้จากการขายบัตรและสปอนเซอร์แล้ว อาร์เอสยังนำเอาคอนเสิร์ตมาลงแผ่นสร้างยอดขายได้อีกครั้งหนึ่งด้วย โดยในเดือนนี้จะออกวาง จำหน่ายวีซีดีบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตของวงโปงลางสะออน ซึ่งเฮียฮ้อประเมินว่าน่าจะสร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่าครั้งที่แล้วคือ 1 ล้านแผ่น คิดเป็นรายได้ราว 160 ล้านบาท และเป็นกำไรเฉพาะส่วนนี้อย่างน้อย 20 ล้านบาทเลยทีเดียว

แต่สิ่งที่ IAM โดดเด่นอย่างมากในเวลานี้กลับเป็นการบริหารตัวศิลปิน (Artist Management) เพื่อหาโอกาสและช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

จากเดิมศิลปินคนหนึ่งเมื่อออกอัลบั้มจะมีรายได้จากยอดขายซีดี ตามมาด้วยงานคอนเสิร์ต และโชว์ตัวต่างๆ รวมไปถึงงานพรีเซ็นเตอร์ หลังจากนั้นก็รอจนกว่าจะออกอัลบั้มใหม่เพื่อให้มีงานอีกครั้ง แต่การที่อาร์เอสมีธุรกิจบันเทิงครบวงจร จึงสามารถหางานเพิ่มให้กับศิลปินเพื่อไม่ให้หายไปจากการรับรู้ของผู้บริโภคได้ โดยเริ่มจากออกอัลบั้ม เมื่ออัลบั้มเริ่มซาก็หางานพิธีกรหรืองานแสดงละคร ต่อไปอาจเป็นดีเจในคลื่นวิทยุของสกาย-ไฮเน็ตเวิร์ค หรือแม้แต่เข้าร่วมทีมฟุตบอลของอาร์เอส ซึ่งจะมีนัดเตะอยู่เป็นประจำ

ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ทำให้ศิลปินของอาร์เอสไม่หายไปจากหน้าจอหรือความรับรู้ของผู้บริโภคเลย อาร์เอสสามารถใช้ประโยชน์จากความดังของศิลปินคนหนึ่งได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ตัวศิลปินเองก็มีงานและรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ IAM จะจับเอาความดังของศิลปินมาสร้างรายได้จาก 3 ช่องทางหลักด้วยกัน ได้แก่ การขายลิขสิทธิ์ศิลปินเพื่อไปผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย (Merchandizing License) การขายลิขสิทธิ์ศิลปินเพื่อผลิตเป็นของพรีเมียม (Promotional License) และการเป็นพรีเซ็นเตอร์ (Presenter License)

ศิลปินที่ IAM เข้ามาดูแลอย่างเต็มตัว แล้วในเวลานี้มีหลายคนด้วยกัน อาทิ ฟิล์ม รัฐภูมิ แดน-บีม ศรราม เทพพิทักษ์ โฟร์-มด และลิเดีย งานพรีเซ็นเตอร์ทุกชิ้นของฟิล์ม แดน-บีมกับแป้งตรางู และลิเดียกับวัน-ทู-คอล เป็นผลงานเพียงบางส่วนของ IAM โดยนอกจากจะช่วยหางานให้แล้วยังช่วยดูแลภาพลักษณ์ให้กับศิลปินเหล่านี้อีกด้วย

"เราต้องบอกคนที่ดูแลศิลปินไปว่า น้องคนนี้ต้องดูแลแบบนี้ อย่างแดนเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้เป๊ปซี่อยู่ เพราะฉะนั้นชีวิตแดนนับจากนี้ไปหยิบยี่ห้ออื่นไม่ได้ คนที่ไปกับแดน ก็ต้องดูเวลาไปไหนมีใครหยิบเครื่องดื่มส่งให้แดน ต้องคอยดูแล ไปออกรายการทีวีก็ต้องเช็กสปอนเซอร์ของรายการ ไม่ใช่ไปแล้วป้ายข้างหลังเป็นโค้ก อย่างนี้ไม่ได้"

การเปลี่ยนวิธีคิดในการมองหาช่องทางสร้างรายได้เช่นนี้ ทำให้รายได้ของ IAM เพิ่มขึ้นชนิดก้าวกระโดด ปีที่ผ่านมา IAM มีรายได้ 130 ล้านบาท แต่สำหรับปีนี้ประสงค์ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 450 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เขาคิดว่าทำได้ไม่ยาก

ในส่วนของธุรกิจนิวมีเดียก็มีอัตราการขยายตัวชนิดก้าวกระโดดไม่ต่างจาก IAM ปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งขึ้นมีรายได้ 140 ล้านบาท ปีที่แล้วรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 207 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่าจะทำได้ราว 250 ล้านบาท

ธุรกิจหลักของนิวมีเดียคือการนำคอนเทนต์ของอาร์เอส หรือพันธมิตรมาต่อยอดเกิดเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ที่ขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ บริการที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันประกอบด้วย เสียงเรียกเข้า (ringtone) เสียงเพลงระหว่างรอสาย (ring back tone) การดาวน์โหลดเพลง (full song download) วิดีโอ คลิป และคาราโอเกะ ตามลำดับ

"ธุรกิจของเราเรียกง่ายๆ ว่าหากินจากมือถือกับอินเทอร์เน็ต แต่ทุกวันนี้ตลาดโทรศัพท์มือถือมันโตกว่า ระบบชำระเงิน ระบบฐานข้อมูลก็พร้อมกว่าตลาดโทรศัพท์มือถือ ก็เลยโตกว่า แต่ธุรกิจบรอดแบนด์จะมีอัตราขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ" ยรรยงกล่าว

นอกจากการขายเพลงด้วยวิธีดาวน์โหลดผ่าน mixiclub.com แล้ว การจับมือกับพันธมิตรที่มีอยู่ยังเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างรายได้ จากอัลบั้มที่ผลิตออกมานอกเหนือจากการขายตามปกติ ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อาร์เอสเปิดตัวอัลบั้มใหม่ของศิลปินกลุ่ม Girly Berry ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์เอเซอร์ อัลบั้มใหม่ชุดนี้จะยังไม่มีวางจำหน่ายในขณะนั้น แต่จะมีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กของเอเซอร์เท่านั้น โดยมีให้ทั้งเพลง มิวสิกวิดีโอ และภาพเบื้องหลังต่างๆ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้อาร์เอสได้เงินไปกว่า 10 ล้านบาท

"Girly Berry ผมไม่ต้องรอให้เพลงฮิตถึงจะมีมูลค่า วันแรกที่เปิดตัวก็มีมูลค่าแล้ว เพราะมูลค่าของเขาอยู่ที่คำว่า Girly Berry และตัวเขา ถ้าเพลงฮิตด้วย ก็ยิ่งดี ถ้าไม่ฮิตก็ไม่เป็นไร ฟิล์มก็เหมือนกัน ผมมีรายได้จากฟิล์มตั้งแต่วันแรกที่ออกอัลบั้ม" เฮียฮ้ออธิบาย

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ อาร์เอสไม่มีความจำเป็นต้องออกอัลบั้มจำนวนมากในแต่ละปี แต่เน้นเฉพาะรายที่จะโดนและดังจริงๆ เท่านั้น โดยรายได้หลักไม่จำเป็นต้องมาจากยอดขายแผ่น แต่ใช้การต่อยอดจากทั้ง IAM และนิวมีเดีย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแทน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us