Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2549
ไอร์แลนด์กับความรุ่งเรืองที่ไม่อาจลอกเลียนแบบ             
 


   
search resources

Economics




"เสือเศรษฐกิจ" ไอร์แลนด์นับเป็นที่อิจฉาของยุโรป แต่ความสำเร็จของไอร์แลนด์ อาจไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ หรือแม้แต่จะรักษาไว้ให้ยั่งยืนต่อไป ก็ยังยากจะทำได้

เศรษฐกิจที่กำลังเจริญรุ่งเรืองของไอร์แลนด์ ทำให้ไอร์แลนด์ได้ฉายาว่า "เสือเศรษฐกิจชาวเซลท์" และทำให้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปต้องมองไอร์แลนด์ด้วยความอิจฉา ที่สามารถพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศได้ ภายในเวลาเพียงชั่วรุ่นเดียว จากประเทศที่แร้นแค้นยากจนที่อยู่ชายขอบของยุโรป กลับกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยเป็นอันดับสองของสหภาพยุโรป (เมื่อพิจารณาจาก GDP ต่อหัว) แทบไม่มีสัปดาห์ใดเลย ที่ไอร์แลนด์จะว่างเว้นจากการมีแขกจากต่างประเทศมาเยี่ยมเยือน เพื่อที่จะศึกษาว่า เสือเศรษฐกิจตัวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ความสำเร็จนี้จะนำไปเจริญรอยตามได้อย่างไร

ชาวไอร์แลนด์เองก็กระตือรือร้นที่จะตอบคำถามของแขกผู้มาเยือนเช่นกัน เพราะพวกเขาเองก็อยากจะรู้ว่า อะไรที่ทำให้เศรษฐกิจ ของพวกเขาเจริญรุ่งเรือง และที่สำคัญไปกว่านั้น พวกเขาอยากจะรู้ว่า จะรักษาความรุ่งเรืองนี้ไว้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร

แต่ข่าวร้ายก็คือ แม้ว่าไอร์แลนด์จะได้พยายามทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ประเทศอื่นน่าจะนำไปเลียนแบบได้ แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับไอร์แลนด์ อาจไม่สามารถที่จะนำไปปฏิบัติตามได้ และแม้แต่จะรักษาไว้ให้ยั่งยืน ก็อาจจะทำได้ยากยิ่ง

นั่นเป็นเพราะสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ไอร์แลนด์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านประชากร ศาสตร์ของไอร์แลนด์

John Fitzgerald ศาสตราจารย์แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมของไอร์แลนด์ และนักวิเคราะห์อีกหลายๆ คนต่างชี้ว่า มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ไอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนา ที่ไอร์แลนด์ได้รับจากสหภาพยุโรป ภาษีบริษัทที่อยู่ในระดับต่ำ ความสำเร็จของหน่วยงานด้านการพัฒนาของไอร์แลนด์ ที่สามารถชักชวนบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาลงทุนในไอร์แลนด์ โดยได้รับประโยชน์จากภาษีบริษัทที่เก็บในอัตราต่ำดังกล่าว และความสามารถของระบบการศึกษาของไอร์แลนด์ ที่สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะสูง และเป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของไอร์แลนด์ ซึ่งมีฐานอยู่บนการใช้ความรู้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาองค์ประกอบแห่งความสำเร็จของไอร์แลนด์ให้ดี กลับจะพบว่า ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงไม่สามารถจะอธิบายความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ได้อย่างแท้จริง

หากเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่ได้รับจากสหภาพยุโรป เป็นสาเหตุของความสำเร็จของไอร์แลนด์จริงๆ เหตุใดไอร์แลนด์จึงเพิ่งจะมาเจริญรุ่งเรืองเอาในช่วงทศวรรษ 1990 หรือ 20 ปีหลังจากที่ไอร์แลนด์เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป และเริ่มได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว และถ้าหากเงินช่วยเหลือจากยุโรป เป็นปัจจัยที่ทำให้ไอร์แลนด์ประสบความสำเร็จ เหตุใดบางประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ได้รับเงินช่วยเหลือมากกว่าไอร์แลนด์เสียอีก จึงยังคงไม่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเหมือนกับไอร์แลนด์

ส่วนภาษีบริษัทในอัตราต่ำนั้น แม้ไอร์แลนด์จะตัดการใช้จ่ายและลดการกู้ยืม รวมทั้งลดอัตราภาษีที่เก็บจากบริษัทลงเหลือเพียง 12.5% ในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ความจริงแล้ว ภาษีบริษัทที่เก็บจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่ของไอร์แลนด์ อยู่ในอัตราที่แท้จริงเท่ากับศูนย์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้ว ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงที่ไอร์แลนด์กำลังเผชิญภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา แรงงานของไอร์แลนด์ขยายตัวถึง 500,000 คน ซึ่งไม่เลวเลยสำหรับประเทศที่มีประชากรเพียง 4 ล้านคน แต่บริษัทข้ามชาติกลับสามารถดูดซับแรงงานที่เพิ่มขึ้นนี้ได้เพียง 10% เท่านั้น

ถ้าจะบอกว่าการศึกษาเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของไอร์แลนด์ จริงอยู่ไอร์แลนด์ได้ตัดสินใจจัดการศึกษาระดับมัธยมให้แก่ประชาชนฟรีมาตั้งแต่ปี 1967 ซึ่งส่งผลให้จำนวนบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น แต่ในปี 1989 หนุ่มสาวไอร์แลนด์ราว 40,000 คน ยังคงต้องอพยพออกไปหางานทำนอกประเทศ

หรือจะสรุปเอาอย่างง่ายๆ ว่า สาเหตุแห่งความสำเร็จของไอร์แลนด์ ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความโชคดี นี่อาจเป็นคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดก็ได้ เพราะโชคเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจังหวะเวลา และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของไอร์แลนด์เกิดเจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็จะพอมองเห็นว่า เหตุใดอยู่ดีๆ เศรษฐกิจที่เซื่องซึมราวกับแมวง่วงนอนของไอร์แลนด์ จึงได้กลับกลายมาเป็นเสือเศรษฐกิจที่กำลังคำรามได้

โชคของไอร์แลนด์ อาจเริ่มต้นมาจากยาและเครื่องมือคุมกำเนิดต่างๆ ที่ไอร์แลนด์เริ่มอนุญาตให้ขายได้อย่างถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1979 แม้จะถูกคัดค้านอย่างหนักจากศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งต่อต้านการคุมกำเนิด

David Bloom และ David Canning 2 นักประชากรศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยเขียนไว้ในบทความเมื่อปี 2003 ว่า อัตราการ เกิดของไอร์แลนด์เริ่มลดลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1980 โดยอัตราการเกิดของไอร์แลนด์ลดลงจากประมาณ 22 คนต่อประชากร 1,000 คน เหลือเพียง 13 คน ในปี 1994

อัตราการเกิดที่ลดลงนี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะตัวเลขนี้มีผลต่ออัตราระหว่างแรงงาน 1 คน ต่อคนที่พวกเขาต้องเลี้ยงดู ซึ่งหมายถึงคนชราและเด็ก หรือที่เรียกว่า อัตรา "การพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ"

ในปี 1985 อัตราการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ อยู่ที่ 2.3 คนต่อแรงงาน 1 คนที่มีงานทำ นับเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยดังกล่าวของสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ที่เพียง 1.5 คน ในขณะที่เศรษฐกิจของไอร์แลนด์ในขณะนั้นยังคงซบเซา

แต่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา อัตราการเกิดของไอร์แลนด์ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ ของไอร์แลนด์ พลอยลดลงอย่างฮวบฮาบตามไปด้วย และภายในปี 2000 อัตราการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ ก็สามารถลดลงมาอยู่ในระดับ เท่ากับระดับเฉลี่ยของสหภาพยุโรป

ตัวเลขทางประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงนี้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไอร์แลนด์อย่างมหาศาล ในช่วงปี 1960 ถึง 1990 อัตรา การเติบโตของรายได้ต่อหัวต่อปีของไอร์แลนด์อยู่ที่เพียง 3.5% แต่ในช่วงทศวรรษ 1990 อัตราการเติบโตดังกล่าวกลับพุ่งขึ้นไปเป็น 5.8% หรือแซงหน้าประเทศใดๆ ในยุโรปทั้งหมด ในเวลาห่างกันเพียงหนึ่งชั่วอายุคน

เมื่อเศรษฐกิจของไอร์แลนด์เริ่มพุ่งทะยานในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้บัณฑิตหนุ่มสาวชาวไอร์แลนด์จำนวนมาก ซึ่งได้รับการศึกษาอย่างดีจากในประเทศ แต่กลับต้องอพยพออกไปหางานทำนอกประเทศในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นเวลาที่งานในไอร์แลนด์ยังหายาก เริ่มอพยพกลับประเทศจาก Silicon Valley เพื่อกลับมาทำงานดีๆ ในภาคธุรกิจไฮเทคที่กำลังบูมของไอร์แลนด์

ชาวไอร์แลนด์ที่เคยทำงานอยู่ในต่างประเทศเหล่านี้ไม่เพียงนำประสบการณ์และทักษะการทำงานที่มีค่า ติดตัวกลับมาด้วยเท่านั้น แต่พวกเขายังช่วยลดตัวเลขอัตราการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ลงอีกแรงหนึ่งด้วย ในขณะที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเขา อาจต้องแบกภาระเลี้ยงดูลูกๆ ที่มีมากถึง 12 คน แต่คนไอร์แลนด์รุ่นนี้มีภาระเลี้ยงดูบุตรเพียงครอบครัวละ 2 คนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม Canning และ Bloom นักประชากรศาสตร์จากฮาร์วาร์ดชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวแห่งความสำเร็จของไอร์แลนด์ เพราะการเปลี่ยนแปลงลักษณะการกระจายตัวของคนในช่วงอายุต่างๆ นี้ เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยสร้างศักยภาพให้ประเทศพร้อมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ศักยภาพนี้จะถูกนำไปใช้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วย

และเป็นโชคดีที่ไอร์แลนด์ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจต่างๆ มาก่อนหน้าที่ตัวเลขต่างๆ ทางด้านประชากรศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไอร์แลนด์จึงได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เมื่อถึงเวลาที่อัตราการเกิดและอัตราการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจลดลง ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลา

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดทั้งสองประเมินว่า เพียง 1 ใน 3 ของความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์เท่านั้นที่อาจอ้างได้ว่า เป็นผลดีจากการที่ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของไอร์แลนด์ได้เปลี่ยนแปลงไป ในทางที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

ขณะนี้ไอร์แลนด์เริ่มสงสัยว่า ความเป็นเสือเศรษฐกิจของตนจะคงอยู่ไปได้อีกนานเพียงใด นักธุรกิจของไอร์แลนด์ยังคงเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างกะทันหัน นักธุรกิจบางคนชี้ให้เห็นถึงเค้าลางของปัญหา เช่น ค่าจ้างแรงงาน ในไอร์แลนด์ ซึ่งในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ยังอยู่ในระดับที่จัดว่าต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป แต่ขณะนี้กลับจัดอยู่ในกลุ่มประเทศในยุโรป ที่มีค่าจ้างแรงงานสูงที่สุด

ภาวะค่าจ้างแรงงานเฟ้อนี้ อาจเป็นอันตรายต่อความสามารถของไอร์แลนด์ ในการดึงดูดและรักษาบริษัทข้ามชาติให้อยู่ในไอร์แลนด์ ต่อไป บริษัทต่างชาติในไอร์แลนด์ มีสัดส่วนถึง 87% ของการส่งออกของไอร์แลนด์ทั้งหมด อย่าง เช่น บริษัทคอมพิวเตอร์ Dell เพียงแห่งเดียวก็ส่งออกสินค้าคิดเป็นสัดส่วนถึง 5.5% ของการส่งออกทั้งหมดของไอร์แลนด์ หรือมีสัดส่วนเท่ากับ 2% ของ GDP

ส่วนกลุ่มกดดันอื่นๆ ในไอร์แลนด์ก็ชี้สัญญาณอันตรายอื่นๆ เช่น ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ได้ดูดเอาการลงทุนทางด้านทุน ของไอร์แลนด์ไปเกือบถึงครึ่งหนึ่ง และบริษัทจัดอันดับระหว่างประเทศอย่าง Fitch ได้เริ่มใส่ไอร์แลนด์ลงในรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง ซึ่งรวมถึงประเทศอย่างรัสเซียและอาเซอร์ไบจัน โดยอ้างถึงภาระหนี้สินของภาคเอกชนไอร์แลนด์ ที่กำลังพุ่งสูงถึงขั้นทำลายสถิติ

นอกจากนี้อัตราการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ซึ่งเคยลดลง จนส่งผลให้เศรษฐกิจของไอร์แลนด์เจริญรุ่งเรืองนั้น กำลังเริ่มจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีอะไรจะยับยั้งได้ ไอร์แลนด์ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ยังคงมีประชากรที่อายุน้อย เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป คือมีอายุระหว่าง 25-44 ปี และมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรไอร์แลนด์ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สักวันหนึ่งก็จะต้องถึงเวลาที่ไอร์แลนด์จะเป็นเหมือนกับเพื่อนสมาชิกในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ นั่นคือ จำนวนแรงงานใหม่ๆ ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน จะไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับจำนวนของแรงงานที่เกษียณอายุออกไป

การพยากรณ์จำนวนประชากรและแรงงานของไอร์แลนด์เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ในปีนี้อัตราการพึ่งพิงของคนชราต่อแรงงาน ได้เริ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไปทดแทนกับอัตราการพึ่งพิงของเด็กต่อแรงงานที่ลดลงของไอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่ไอร์แลนด์รับเข้ามาในอัตราสูง จะช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานในไอร์แลนด์ และช่วยชะลอผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการที่ไอร์แลนด์มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นออกไปก่อน

ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Fitzgerald ยืนยันว่า ไอร์แลนด์ยังคงมีโอกาสและมีเวลาที่จะเตรียมตัวรับสถานการณ์ เมื่อถึงเวลาที่ประชากร คนชราเพิ่มขึ้น และเริ่มส่งผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ โดยเมื่อประเมินจากอัตราการเกิด การตาย จำนวนแรงงานต่างด้าว และจำนวนแรงงานในไอร์แลนด์ในขณะนี้แล้ว ไอร์แลนด์น่าจะยังคงมีเวลาเตรียมตัวจนถึงปี 2025 ที่จะวางนโยบายต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อช่วยรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือจากการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์ และเพื่อวางแผนการที่จะเลี้ยงดูประชากรในวัยเกษียณให้ดีๆ มิฉะนั้น เสือเศรษฐกิจแห่งยุโรปตัวนี้ ก็อาจจะต้องหยุดคำรามในไม่ช้า

ข้อมูลจำเพาะของไอร์แลนด์
อัตราการเติบโตของ GDP 5.8%
GDP ต่อหัว 40,610 เหรียญ
อัตราการว่างงาน 4.3%
อัตราการเกิด 14..5 คนต่อประชากร 1,000 คน
อัตราเฉลี่ยจำนวนเด็กที่เกิด 1.86 คน
อายุขัยเฉลี่ย 77.7 ปี   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us