|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2549
|
|
ชาวอินเดียในต่างแดนกำลัง "สมองไหลกลับ" สู่ประเทศบ้านเกิด ซึ่งเริ่มยินดีต้อนรับพวกเขากลับบ้าน มากกว่าที่เคยเป็นมา
เพิ่งจะเมื่อ 10 ปีก่อนนี้เอง ที่ชาวอินเดียในต่างแดน ยังถูกคนในประเทศของตัวเองมองว่าเป็นเหมือนวัวที่มีค่าเพียงให้พวกเขารีดนม หรือไม่ก็เป็นเหมือนคนทรยศ ที่หลังจากได้รับการศึกษาอย่างดีในอินเดียแล้ว ก็กลับละทิ้งประเทศบ้านเกิด ไปแสวงหาความร่ำรวยส่วนตัวในต่างแดน
แต่เมื่ออินเดียได้พัฒนาตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศไฮเทค อินเดียจึงต้องเริ่มหันกลับมาประเมินความสัมพันธ์ของตนกับชาวอินเดียในต่างแดนเสียใหม่
ในขณะที่ชาวอินเดียที่อพยพไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ เอง ก็เริ่มหันกลับไปมองบ้านเกิดที่ตนจากมา ด้วยเหตุผลเดียวกับที่เคยทำให้พวกเขาตัดสินใจละทิ้งบ้านเกิดไป นั่นคือ โอกาสทางเศรษฐกิจอันหอมหวาน
ชาวอินเดียในต่างแดนจึงกำลังเกิดภาวะ "สมองไหลกลับ" จาก Silicon Valley กลับไปยังอินเดีย ซึ่งกำลังเข้าสู่ยุครุ่งเรืองด้านไฮเทค พร้อมกับหอบเงินจำนวนมหาศาลติดตัวกลับมาด้วย แม้ว่าชาวจีนโพ้นทะเลจะมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ถึงประเพณีการส่งเงินกลับประเทศ แต่ชาวอินเดียในต่างแดนกำลังแซงหน้าชาวจีนโพ้นทะเลในเรื่องนี้ไปแล้ว
ข้อมูลจากธนาคารโลกพบว่า จำนวนเงินที่ชาวอินเดียที่อยู่นอกประเทศส่งกลับบ้าน ได้พุ่งสูงขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้น และในปีที่แล้ว ชาวอินเดียในต่างแดนส่งเงินกลับอินเดียถึง 22,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ชาวจีนโพ้นทะเลตามมาติดๆ ด้วยการส่งเงินกลับประเทศ 21,000 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินที่ชาวอินเดียในต่างแดนส่งกลับประเทศมีมูลค่ารวมกันทั้งหมด ถึง 154,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าที่ชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งมีจำนวนมากกว่าชาวอินเดียในต่างแดน ส่งเงินกลับประเทศจีนถึงประมาณร้อยละ 50
จำนวนของชาวอินเดียในต่างแดนที่มีมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งรวมถึงเศรษฐีเงินล้านชาวอินเดียในอเมริกาที่มีอยู่ 200,000 คน ทำให้ชาวอินเดียในต่างประเทศเหล่านี้ สามารถเป็นอาวุธลับสำคัญของอินเดีย ในการพยายามที่จะไล่ตามประเทศคู่แข่งหมายเลขหนึ่งของอินเดีย
จากการศึกษาของ JPMorgan เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ชาวอินเดียในต่างแดนกำลังกลายเป็นตัวเร่งที่มีพลังอย่างยิ่ง ในการที่จะช่วยให้อินเดียบรรลุเป้าหมาย หรืออาจทำได้เกินกว่าเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งไม่แพ้จีน
ส่วนจำนวนเงินฝากในธนาคารของอินเดียของชาวอินเดียในต่างแดนนั้นเล่า ก็พุ่งสูงถึง 32,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 23 ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั้งหมดของอินเดีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวอินเดียในต่างแดนที่ฝากเงินในแบงก์อินเดีย จะได้รับดอกเบี้ยอัตราพิเศษ
เงินที่ไหลเข้าอินเดียจำนวนมหาศาลนี้ ได้ช่วยปกป้องค่าเงินรูปีของอินเดีย และช่วยเพลาปัญหาเงินเฟ้อในอินเดีย เนื่องจากอินเดียอยู่ในภาวะขาดดุลทั้งดุลการค้าและดุลงบประมาณ ในขณะที่จีนไม่มี ปัญหาดังกล่าว
แม้จะไม่สามารถหาตัวเลขที่ชัดเจนได้ว่า เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น Bombay ของอินเดียนั้น มีสัดส่วนเท่าใดกันแน่ ที่เป็นเงินทุนจากชาวอินเดียที่อยู่ในต่างแดน แต่ trader ในอินเดียเชื่อว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามาจากชาวอินเดียในต่างแดน น่าจะมีสัดส่วนที่สูงมาก และมีส่วนช่วยให้ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 300 นับตั้งแต่ปี 2003 ในขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ของจีน กลับอยู่ในภาวะชะงักงัน (ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะการที่จีนลังเลที่จะเปิดตลาดรับเงินร้อน ที่ไหลเข้ามาจากแหล่งนอกประเทศ)
นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างที่สำคัญอื่นๆ อีก ระหว่างชาวจีนโพ้นทะเลกับชาวอินเดียในต่างแดน เนื่องจากชาวจีนโพ้นทะเลจะกระจุกตัวอยู่เพียงในดินแดนใกล้ๆ กับจีน อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน และสร้างความมั่งคั่งมาจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าเป็นส่วนใหญ่ ชาวจีนโพ้นทะเลจึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่า และมีแรงจูงใจมากกว่า ที่จะลงทุนโดยตรงในการสร้าง โรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่
ตรงกันข้าม ชาวอินเดียที่อพยพออกไปอยู่ในต่างแดนหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร หรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก และเจ้าของโรงแรม ซึ่งไปตั้งรกรากอยู่ในประเทศ ที่ล้วนแต่อยู่ห่างไกลจากอินเดีย และก่อนหน้านี้ก็ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือแรงจูงใจ ที่จะกลับไปลงทุนในประเทศบ้านเกิดมาก่อน
นักวิเคราะห์จาก JPMorgan ชี้ว่า นั่นคือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้จนถึงทุกวันนี้ ชาวจีนโพ้นทะเลได้มีบทบาทในการตั้งโรงงานใหม่ๆ ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง มากกว่าชาวอินเดียในต่างแดนมากนัก โดยชาวจีนโพ้นทะเลได้กลับไปลงทุนโดยตรงในจีน เป็นสัดส่วนที่มากถึงครึ่งหนึ่งของการลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในจีน ในช่วงทศวรรษ 1990
ในขณะที่ชาวอินเดียในต่างแดนที่กลับไปลงทุนโดยตรงในประเทศบ้านเกิดของตน มีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของการ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในอินเดีย
และในปี 2000 ชาวจีนโพ้นทะเลลงทุนโดยตรงในจีนทั้งหมด 32,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ชาวอินเดียในต่างแดนลงทุนโดยตรงในอินเดียทั้งหมดเพียง 200 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของอินเดียกำลังเปลี่ยนไป โดยรัฐบาลอินเดียได้เริ่มความพยายามเป็นครั้งแรกในปี 1998 ในอันที่จะดึงชาวอินเดียในต่างแดน ให้หันกลับมาลงทุนโดยตรงในอินเดีย เพื่อชดเชยกับการที่อินเดียถูกนานาชาติใช้มาตรการคว่ำบาตร หลังจากที่อินเดียทดลองนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน ครั้งนั้นรัฐบาลอินเดียได้ออก Resurgent India Bonds เพื่อขายให้แก่ชาวอินเดียในต่างแดนโดยเฉพาะ และสามารถขายพันธบัตรนี้ได้ถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์
ตลอด 5 ปีหลังจากนั้น พลังทางเศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรืองของอินเดีย ได้ส่งผลกระทบต่อฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดความพอเพียงในอินเดีย ให้ต้องเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ในการต่อสู้กับฝ่ายปฏิรูปในอินเดียที่สนับสนุนแนวคิดตลาดเสรี เมื่อรัฐบาลอินเดียได้เริ่มอ้าแขนรับนักธุรกิจชาวอินเดียที่อยู่อาศัยในต่างแดนเป็นครั้งแรก
ในปี 1999 รัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มนโยบาย ที่คล้ายๆ กับเป็นการให้สิทธิ์ความเป็นพลเรือนแก่ชาวอินเดียที่เกิดในต่างประเทศ โดยอนุญาตให้ชาวอินเดียที่ไม่ได้เกิดในอินเดีย สามารถจะเดินทางเข้าออกอินเดียได้ โดยไม่ต้องมีวีซ่า ทั้งยังสามารถซื้อที่ดิน รวมทั้งได้รับประโยชน์จากโครงการด้านการลงทุน ที่จับกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวอินเดียที่ไม่ได้อยู่อาศัยในอินเดีย
ในปี 2000 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งคณะกรรมาธิการระดับสูงให้มีหน้าที่คิดค้นวิธีที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาวอินเดียในต่างประเทศโดยเฉพาะ และในปี 2003 รัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มการจัดวัน Non-Resident Indian Days ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลอินเดียจะชักชวนให้ชาวอินเดียในต่างแดน กลับมาลงทุนในประเทศ
ในปีถัดจากนั้น อินเดียได้ก่อตั้งกระทรวงกิจการชาวอินเดียในต่างแดนขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาและความวิตกกังวลของชาวอินเดียในต่างแดนโดยเฉพาะ
ขณะเดียวกันชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในต่างแดนเอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากภายในกลุ่มของพวกเขาเช่นเดียวกัน จากคนงานและนักวิชาชีพชาวอินเดียที่ไปตั้งรกรากในต่างแดน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ไปจนถึงอังกฤษ สหรัฐฯ และแคนาดา พวกเขาได้พัฒนาตัวเองกลายไปเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยกระจุกตัวอยู่ที่ Silicon Valley
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีกำเนิดจากชาวอินเดียในต่างแดนเหล่านี้ก็เช่น Gururaj (Desh) Deshpande (ผู้ก่อตั้ง Sycamore Networks) Vinod Dham (บิดาแห่งชิป Pentium ของ Intel) Vani Kola (ผู้ก่อตั้ง RightWorks software) Ram Shriram (เศรษฐีพันล้านจาก Google และเจ้าของ Sherpalo Ventures) และ Vinod Khosla นักลงทุนประเภท venture capitalist พวก เขาต่างกำลังกลับไปลงทุนในบริษัทของอินเดีย ด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งที่รัฐบาลอินเดียกำลังทำเพื่อพวกเขา
และผลก็คือ การลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จากการชาวอินเดียในต่างแดนหันกลับไปลงทุนในบ้าน Sabeer Bhatia ซึ่งเป็นชาวอินเดียในต่างแดน และผู้ก่อตั้ง Hotmail เพิ่งเปิดเผยโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ ในเมือง Haryana ซึ่งเขาได้ตั้งฉายาให้เป็น Silicon Valley แห่งอินเดีย
ส่วน Lakshmi Mittal ชาวอินเดียในอังกฤษ และอภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังสร้างโรงงานเหล็กกล้ามูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ ในรัฐ Jharkhand ในภาคตะวันออกของอินเดีย ซึ่งนับเป็นโครงการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนที่เป็นชาวอินเดียในต่างแดนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย
Mittal กล่าวว่า เขารู้สึกยินดีมากที่มีโอกาสได้กลับไปลงทุนในประเทศบ้านเกิด อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่า การตัดสินใจกลับไปลงทุนในอินเดีย เป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผลรองรับในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่เพียงเพราะอินเดียเป็นบ้านเกิดของเขา หากแต่ตลาดอินเดียมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงมากในการบริโภคเหล็กกล้า
หอการค้าอินเดีย-อเมริกันในสังกัดของสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย ได้ชี้ถึงโอกาสการลงทุนในอินเดีย โดยร่วมมือกับรัฐบาลอินเดียในหลายด้าน เช่น การฝึกอบรมและการศึกษา การวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ในขณะที่องค์กรของชาวอินเดียในต่างแดน คือ Indus Entrepreneurs ได้เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และช่วยสร้างมูลค่าธุรกิจมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยการช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านั้น เริ่มต้นธุรกิจของตนเอง
ชาวอินเดียในต่างแดนที่ประสบความสำเร็จ มองอินเดียว่าเป็นพรมแดนใหม่ที่น่าตื่นเต้น ซึ่งพวกเขาจะสามารถนำทักษะและสายสัมพันธ์ที่พวกเขาได้สร้างไว้อย่างมั่นคงในต่างแดน กลับมาใช้ในอินเดีย และสามารถจะสร้างอิทธิพลทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจในอินเดียได้อย่างกว้างขวาง
Deshpande ชาวอินเดียในต่างแดนผู้ก่อตั้ง Sycamore Networks แรกเริ่มกลับไปยังประเทศบ้านเกิดในฐานะ "ครูฝึก" ก่อนจะกลายมาเป็นนักลงทุนในอินเดีย เขายังเคยช่วยให้ Sanjay Nayak ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของอินเดีย ก่อตั้งบริษัทอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เป็นของอินเดียเองเป็นรายแรก ซึ่งมีชื่อว่า Tejas Network ขณะนี้ Tejas มีอายุ 6 ปีแล้ว และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในอินเดียได้เป็นอันดับ 2
ส่วน Rajat Gupta อดีตผู้บริหาร McKinsey & Co. ซึ่งอพยพออกจากอินเดียไปตั้งแต่กว่า 20 ปีก่อน ได้ผสมผสานความรอบรู้ชาญ ฉลาดของอินเดีย เข้ากับเครือข่ายอันยอดเยี่ยมในต่างแดน จนสามารถก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจ Indian School of Business (ISB) และสถาบัน Public Health Foundation of India (PHFI)
หลังจากเปิดมาได้ 6 ปี ISB กลายเป็นมหาวิทยาลัยธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก ในขณะที่ PHFI ซึ่งเพิ่งเปิดในปีนี้ จะเปิดสถาบันด้านสุขภาพอนามัยที่มีมาตรฐานสูงระดับโลก 5 แห่งในอินเดีย โดย 2 แห่งแรก มีแผนจะเปิดภายในปี 2008 และคาดว่าสถาบันทั้งห้าจะสามารถผลิตบัณฑิตด้านสาธารณสุขได้มากถึง 10,000 คนต่อปี
สิ่งที่ชาวอินเดียในต่างแดนที่ประสบความสำเร็จนำติดตัวกลับไปบ้านเกิด จึงมากกว่าเพียงแค่เงิน
Vinod Dham บิดาแห่งชิป Pentium ของ Intel เป็นผู้ชักชวน ให้ Vani Kola ผู้ก่อตั้ง RightWorks software อพยพกลับไปยังอินเดีย หลังจากที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ ถึง 22 ปี เพื่อกลับไปบริหารกองทุน venture capital กองทุนใหม่มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ในเมือง Bangalore
Vani กล่าวว่า เธอมีความสุขและรู้สึกภูมิใจที่ได้กลับไปยังอินเดีย และเปรียบเทียบการได้กลับคืนบ้านเกิดอีกครั้งว่า เหมือนการได้กลับไปขี่จักรยานอีก หลังจากไม่ได้สัมผัสมันเลยมาถึง 20 ปี เธอรู้สึกสนุก และรู้สึกเหมือนมันเป็นของขวัญ ที่เธอไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับ
แปลโดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ จากนิวสวีค 13 พฤศจิกายน 2549
|
|
|
|
|