Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2536
"คาราโอเกะ" มรดกญี่ปุ่นเบ่งบานในแดนสยาม"             
โดย ไชยยันต์ ปรัตถพงศ์
 


   
search resources

กัมปาย
ลีโออินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง
หลิน จง
ฉิน เซียะ
Entertainment and Leisure




"คาราโอเกะ" ดนตรีที่ว่างเปล่า ความบันเทิงอันชื่นชอบของคนญี่ปุ่น กำลังฮิตและระบาดในเมืองไทย นับเป็นการลงทุนแห่งยุคสมัยในธุรกิจบันเทิง ด้วยจุดเด่นที่ขายความสุขสนุกสนานกับการแสดงออกทางเสียงเพลงโดยไม่ต้องอาศัยวงดนตรี วันนี้…คลับคาราโอเกะได้ผุดขึ้นมามากมายบนถนนบันเทิงยามราตรีและมีทีท่าว่าอีกนานกว่าจะถึงจุดอิ่มตัว

ในความหลากหลายบนถนนธุรกิจบันเทิงยามราตรี "คาราโอเกะคลับ" หรือ "คาราโอเกะเลาจน์" เป็นหนึ่งในความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่กำลังเฟื่องฟู…!! และเป็นที่นิยมกันในหมู่นักธุรกิจ นักเที่ยวกลางคืน

เพราะดูเหมือนว่าเมื่อเอ่ยถึงชื่อ "คาราโอเกะ" แล้ว ไม่มีใครเลยที่จะไม่รู้จักกับชื่อนี้

ไม่ว่าจะเป็น คาราโอเกะคลับ คาราโอเกะเลาจน์ ผับคาราโอเกะ หรือแม้แต่ในร้านอาหาร ภัตตาคาร และคาเฟ่ ล้วนแต่นำความบันเทิงประเภทนี้เข้ามาเสริม เพื่อสนองตอบการบริการให้ลูกค้า ได้แสดงออกและสนุกสนานกันเพิ่มมากขึ้นทั้งนั้น

"คาราโอเกะ" (KARAOKE) นั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น หรือจะเรียกว่ากลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วก็ได้ และได้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก ตามกระแสการแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ไม่ว่าคนญี่ปุ่นจะไปอยู่ที่ใด จะต้องมีคาราโอเกะไว้คอยสนองความบันเทิงอยู่ด้วย คนท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ก็พลอยรับเอารูปแบบความบันเทิงนี้เข้าไปโดยปริยาย กลายมาเป็นที่รู้จักเรียกขานกันจนติดปากของคนทุกชาติทุกภาษาในเอเชีย

โดยความหมายของภาษา จะแยกได้เป็น 2 คำ คือคำว่า "คารา" แปลว่า "ว่างเปล่า" และ "โอเกะ" แปลว่า "ดนตรีหรือออเครสต้า" ฉะนั้นเมื่อนำมารวมกันเข้าจึงหมายความว่า ดนตรีที่ว่างเปล่า หรือดนตรีที่มีแต่ทำนองที่ไม่มีเนื้อร้อง

ดนตรีในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนที่ชื่นชอบการร้องเพลงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเพียงเปิดดนตรี สามารถที่จะร้องเนื้อเพลงตามไปพร้อมๆ กัน แทนที่จะต้องใช้นักดนตรีเป็นผู้บรรเลงดนตรีทั้งวง ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง แต่คาราโอเกะทำให้เกิดความสนุกสนานกับการร้องเพลงในรูปแบบง่ายๆ แต่คุ้มค่า

ความเป็นมาของ "คาราโอเกะ" นั้น ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิงยามราตรีและเจ้าของคาราโอเกะคลับท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นต้องพ่ายแพ้ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนชาวญี่ปุ่นระงมไปด้วยความโศกเศร้า หดหู่กับสงคราม

และได้เกิดความยากจนข้นแค้นไปทั่วทุกแห่งหน บีบคั้นจนเป็นผลให้ชาวญี่ปุ่นทนอยู่ในสภาวะที่กดดันเป็นอย่างยิ่ง

ในขณะที่ทุกคนมีความตั้งใจว่าต้องร่วมมือกันสร้างชาติให้ฟื้นคืนมาในเร็ววัน จึงพยายามที่ลดความตึงเครียดเท่าที่พอจะทำได้ ดนตรีหรือการร้องเพลงจึงเป็นหนทางที่ช่วยคลายเครียด จากความกดดันเช่นนั้นได้ดีพอควร

หลังจากนั้นมาในปี พ.ศ. 2503 นักร้องอาชีพของญี่ปุ่นได้เริ่มหวนคืน กลับขึ้นสู่เวทีการแสดงอีกครั้ง แต่การแสดงทั้งหลายจำต้องลดต้นทุนลดค่าใช้จ่ายลงไป เพราะต้องการประหยัด จึงมีการนำเอาดนตรีที่ใช้ในการบันทึกแผ่นเสียง ซึ่งไม่มีเนื้อร้องมาเป็น "แบ็กอัพ" แทนวงดนตรีที่มีนักดนตรีหลายๆ คน

จนทำให้ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บาร์และผับทั่วประเทศญี่ปุ่นจึงเริ่มมีเครื่องเล่นที่จะให้แขกที่มาเที่ยวได้ขึ้นร้องเพลงตามชอบใจ และได้พัฒนาเทคโนโลยีกันเรื่อยมา เพื่อให้เสียงร้องของแขกที่ร้องออกไปดียิ่งขึ้น ด้วยการใช้เครื่องเสียงชั้นดีที่พวกเขาเรียกกันว่า "คาราโอเกะ" มาแทนวงดนตรีในปัจจุบัน

การร้องเพลงเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่ง คนญี่ปุ่นจึงชอบร้องเพลงและมักจะร้องกันเก่งทุกคน ฉะนั้นเมื่อคนญี่ปุ่นชอบร้องเพลงเป็นทุนเดิม คาราโอเกะเกิดขึ้นมาตอบสนองได้ดี เลยทำให้คาราโอเกะในญี่ปุ่นบูมขึ้นเป็นอย่างมาก กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นไป

คาราโอเกะมีพัฒนาการจากที่เคยเป็นเครื่องเทปเล็กๆ ที่บรรจุคาสเซตต์มีแต่เสียงดนตรี พัฒนามาเป็นวิดีโอ แล้วก็มาถึงขั้นเป็นเลเซอร์ดิสก์ เนื้อร้องเพลงนั้น จากที่เคยจดลงกระดาษได้แปรสภาพเป็นตัวอักษรบนจอทีวี ซึ่งมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งอย่างในปัจจุบัน

"ธนิยะ" จุดเริ่มต้นของคาราโอเกะเมืองไทย

จริงๆ แล้ว หากจะกล่าวว่า คาราโอเกะสำหรับเมืองไทยไม่ได้เป็นของใหม่ เห็นจะไม่ผิด เพราะคาราโอเกะได้เข้าสู่เมืองไทยมาสัก 10 ปีที่แล้ว

แต่ว่าคาราโอเกะในสมัยแรกเริ่มจะอยู่เฉพาะในบาร์ญี่ปุ่นแถวถนนธนิยะ สีลม เพื่อให้บริการลูกค้าญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าบาร์ญี่ปุ่นหรือคลับต่างๆ บนถนนธนิยะในอดีตจะเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเป็นที่พักผ่อน สำหรับนักธุรกิจนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น

จนมีผู้กล่าวกันว่า วัฒนธรรมของญี่ปุ่นหลายๆ อย่างเข้ามาในประเทศไทยได้เข้ามาที่ "ธนิยะ" ก่อนใคร

"หลิน จง" หรือใครๆ เรียกเขาว่า "อาจง" เขาเป็นนักธุรกิจชาวไต้หวัน ทำธุรกิจ "คาราโอเกะคลับ" ระดับอินเตอร์อยู่หลายแห่งทั้งในไต้หวันและฮ่องกง เขาเข้ามาเปิดกิจการคาราโอเกะ ใช้ชื่อว่า "กัมปาย" ในเมืองไทย เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ของคาราโอเกะคลับที่ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับไต้หวัน ฮ่องกง

"อาจง" เล่าให้ฟังว่า ตอนที่เขาเปิดคาราโอเกะขึ้นในเมืองไทยใหม่ๆ นั้น แผ่นเลเซอร์ดิสก์เพลงไทย หรือวิดีโอเพลงไทยยังไม่มีใครทำ แล้วคนไทยหลายๆ คนยังไม่รู้จักว่าคาราโอเกะเป็นอย่างไรกันเลย

ช่วงแรกๆ จึงเน้นที่การให้บริการแก่นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยก่อน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง หรือเกาหลี คนเหล่านี้จะรู้จักคาราโอเกะเป็นอย่างดี เพราะเขาได้สัมผัสมาก่อนประเทศไทย

ลักษณะของการบริการในบาร์ญี่ปุ่น ไม่ต่างกับในประเทศญี่ปุ่นมากนัก จะมีเหล้าสาเก มีผู้หญิงไว้คอยบริการ และส่วนหนึ่งจะเป็นบริการให้แขกได้ร้องเพลงซึ่งจะใช้วงดนตรีทั้งวงเป็นคนบรรเลง แล้วให้แขกสลับกันขึ้นมาร้อง เพราะคนญี่ปุ่นชอบร้องเพลงกันมาก

มีเจ้าของคลับที่ธนิยะหลายคนเป็นคนญี่ปุ่นที่ได้นำดนตรีคาราโอเกะเข้ามาบริการแก่ลูกค้า ด้วยสาเหตุที่นักดนตรีในยุคนั้นมีปัญหาบ่อยครั้ง เช่นเรื่องการเบี้ยว ไม่มาเล่นตามเวลาที่ตกลงกันไว้ นอกจากนั้นยังต้องเสียค่าจ้างแพงด้วย จึงทำให้เจ้าของร้านตัดปัญหาด้วยการใช้ดนตรีคาราโอเกะ เข้ามาแทนการจ้างวงดนตรีมาเล่นเหมือนกับในญี่ปุ่นเกือบทุกร้าน

รูปแบบของคาราโอเกะแรกๆ ที่นำมาใช้ เรียกกันว่า "ดนตรี แปดแทรค" คือจะมีเครื่องเล่น และม้วนเทปที่มีลักษณะคล้ายกับเทปเพลงทั่วไป แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าเทปธรรมดาสักหน่อย ลักษณะการใช้เช่นเดียวกับการเปิดเทปเพลงแต่แตกต่างกันที่เครื่องเล่นชนิดนี้จะไม่มีเสียงร้องมีเฉพาะเสียงดนตรีเพียงอย่างเดียว

แขกที่มาเที่ยวจะร้องเพลง โดยมีเนื้อเพลงเขียนไว้ในกระดาษกางเอาไว้ ให้ดูและร้องตามไป นั่นคือสมัยเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว (เป็นยุคที่ถัดมาจากการใช้วงดนตรีในสมัยต้นๆ)

"การบริการของคลับในธนิยะในช่วงแรกๆ จะรับเฉพาะคนญี่ปุ่น ไม่รับคนไทย เพราะว่าชาวญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษ คือไม่ชอบข้องแวะกับคนแปลกหน้า ซึ่งค่าใช้จ่ายในบาร์ญี่ปุ่นมีราคาที่แพงมาก แพงพอๆ กับการเที่ยวในญี่ปุ่นเลยทีเดียว และบ่อยครั้งที่ลูกค้าชาวไทยมักจะเบี้ยวการจ่าย เลยทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของเจ้าของคลับเหล่านั้น" อาจง เล่าให้ฟัง

แต่ต่อมานโยบายของบาร์หรือคลับที่ธนิยะเหล่านี้ หลายแห่งได้เปลี่ยนแปลงไป มีการรับลูกค้าคนไทยมากขึ้น เพื่อความอยู่รอดในทางธุรกิจ

จากที่เคยจำกัดอยู่ในแหล่งบันเทิงย่านถนนธนิยะ ทุกวันนี้คาราโอเกะเริ่มแพร่หลาย กลายเป็นรูปแบบความบันเทิงใหม่ในยามราตรีทั่วกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ๆ ของประเทศไทย เป็นความบันเทิงที่แทรกซึมลงไปในทุกระดับของสถานบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นคลับชั้นสูง โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารหรือคาเฟ่ สนองอารมณ์ผู้บริโภคทั้งระดับสูง กลาง ต่ำ

จุดขายหลักของความบันเทิงแบบคาราโอเกะก็คือ ลูกค้าสามารถใส่เสียงร้องสดๆ ของตัวเองประสานเข้าไปกับทำนองเพลงที่ออกมาจากเครื่องคาราโอเกะได้ เสมือนกำลังร้องเพลงอยู่กับวงดนตรีจริงๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องจำเนื้อร้องได้ เพราะจะมีเนื้อเป็นตัววิ่งตามจังหวะของดนตรีให้อ่าน ซึ่งนับเป็นการตอบสนองต่อความต้องการแสดงออกของปุถุชนได้เป็นอย่างดี และยังเป็นรูปแบบความบันเทิงที่ผู้มาใช้บริการมีส่วนร่วมได้แตกต่างไปจากการเป็นผู้ฟังเพียงฝ่ายเดียว

คุณสมบัติข้อนี้นำมาซึ่งความสนุกสนานและเป็นช่องทางระบายอารมณ์ความรู้สึกได้ จึงทำให้คาราโอเกะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในยามนี้

"จากการสำรวจตลาดของเราเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ในกรุงเทพฯ มีสถานบันเทิงที่มีคาราโอเกะประมาณ 400 กว่าแห่ง ผมคิดว่าตอนนี้น่าจะเกิน 500 แห่งไปมากแล้ว เพราะมีขึ้นมาใหม่ทุกเดือน" ฉิน เซียะ นักธุรกิจชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทลีโอ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง ผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับคาราโอเกะไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่น เครื่องเสียง ไปจนถึงแผ่นเลเซอร์ในประเทศไทย

ฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ จุดก่อเกิดความบูม

ปัจจัยที่ทำให้คาราโอเกะเป็นที่แพร่หลายอีกประการหนึ่งก็คือ วิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทำให้อุปกรณ์คาราโอเกะมีราคาถูกลงและมีคุณสมบัติการใช้งานได้มากขึ้น

เครื่องเล่นคาราโอเกะนั้น จะมีส่วนสำคัญอยู่ 2 ส่วนคือตัวเครื่องเล่น หรือ "ฮาร์ดแวร์" อาทิ เครื่องเล่นเทปคาราโอเกะ เครื่องเล่นวิดีโอคาราโอเกะ และเลเซอร์ดิสก์ คาราโอเกะ และส่วนที่ 2 ก็จะเป็น "ซอฟต์แวร์" คือแผ่นเพลงหรือเทปเพลงที่จะมาใช้ร่วมกับเครื่องเล่น

สมัยที่อุปกรณ์คาราโอเกะเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ ประมาณ 4-5 ปีที่แล้วมา สินค้าคาราโอเกะถูกมองว่าเป็นสินค้า "ไฮเทค" เครื่องเล่นในสมัยแรก จึงเป็นความทันสมัย คือเป็นเครื่องเลเซอร์ดิสก์เสียเกือบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นตลาดระดับสูง โดยมีสินค้าของ "ไพโอเนียร์" ภายใต้การจัดจำหน่ายของเซ็นทรัล เทรดดิ้ง จำกัด (สมัยที่ยังไม่แยกตัวมาทำเอง) เป็นผู้บุกเบิกตลาดและนำเข้ามาจัดจำหน่ายเป็นรายแรก และต่อมาก็มีค่าย "พานาโซนิค" หรือในนามบริษัท ซิวเนชั่นแนล จำกัด ในฐานะของยักษ์ใหญ่วงการเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นได้นำเลเซอร์คาราโอเกะเข้ามาเช่นกัน

แต่ข้อจำกัดของเครื่องคาราโอเกะแบบเลเซอร์นี้ราคาสูงมาก ตลาดจึงแคบ สินค้าที่ขายได้มากกว่ากลับเป็นเครื่องเล่นเทปคาสเซตต์คาราโอเกะ ซึ่งมีการนำเข้ามาจากไต้หวัน และฮ่องกง ในราคาเพียงไม่กี่พันบาท ลูกค้าหลักคือนักร้องที่ซื้อไปเพื่อฝึกร้องเพลง

ต่อมามีการนำเครื่องเล่นเทปคาราโอเกะรุ่นที่พัฒนาอีกขั้นหนึ่งเข้ามา ซึ่งเครื่องเล่นเทปคาราโอเกะเหล่านี้จะมีลูกเล่นมากขึ้น เช่น เมื่อผู้ร้องเพลงคาราโอเกะหยุดร้อง เสียงนักร้องจริงก็จะดังขึ้นมาแทน แต่เมื่อเสียงร้องดังขึ้นมาอีก เสียงนักร้องจริงก็จะหยุดไป ช่วยให้หัดร้องได้ดีขึ้นเพราะจะรู้ทำนองและสามารถจำคำร้องได้ดีขึ้น สะดวกกว่าการอ่านเนื้อเพลงตามหนังสือ และยังมีระบบเสียงที่ดีกว่าเดิม สามารถปรับเสียงร้องให้ก้องกังวานได้

จากเทปคาสเซตต์ที่ให้เฉพาะเสียง พัฒนาการขั้นต่อมาคือ เครื่องเล่นวิดีโอคาราโอเกะ ที่ให้ทั้งภาพและเสียง รวมทั้งเนื้อร้องที่ปรากฏบนจอภาพด้วย โตชิบา เป็นรายแรกที่นำเข้าเครื่องเล่นวิดีโอคาราโอเกะมาจำหน่าย รายที่สองคือบริษัทซิวเนชั่นแนล ที่นำยี่ห้อพานาโซนิคเข้ามาขาย และผู้จำหน่ายรายที่ 3 คือ บริษัทชาร์ป เทพนคร

แต่เครื่องเล่นวิดีโอก็มีขีดจำกัดในการเล่น อย่างเช่นเลือกเพลงไม่ได้ ไม่สามารถเปลี่ยนเพลงได้ในทันที ต้องกรอเทปกลับเสียก่อน ระบบเสียงไม่เป็นไฮไฟสเตริโอ ตลาดจึงอยู่ในวงจำกัด ผู้ซื้อส่วนใหญ่ซื้อเอามาใช้หัดร้องเพลงที่บ้าน หรือใช้สำหรับการสอนในโรงเรียนบ้าง

วิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีทำให้ "เลเซอร์ดิสก์คาราโอเกะ" มีราคาถูกลง ถึงแม้จะยังคงแพงกว่าวิดีโอ แต่คุณภาพที่ดีกว่า โดยเฉพาะจุดเด่นที่สามารถเลือกเพลงได้รวดเร็ว เล่นเพลงซ้ำไปซ้ำมาได้หลายครั้ง โดยไม่สึกหรอง่ายเหมือนวิดีโอเหมาะสำหรับใช้ในการทำธุรกิจร้านคาราโอเกะที่ต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันใจ ตลาดเลเซอร์คาราโอเกะจึงเริ่มขยายตัวเข้าไปในกลุ่มลูกค้าสถานบันเทิง โดยมียี่ห้อไพโอเนียร์และพานาโซนิค เป็นสองยี่ห้อหลักที่ขับเคี่ยวกันอยู่

ความแพร่หลายของสถานบันเทิงแบบคาราโอเกะ นอกจากเพราะ "ฮาร์ดแวร์" มีราคาถูกลงจนสถานบันเทิงระดับกลางหรือระดับล่างสามารถลงทุนได้แล้ว ยังเป็นเพราะ "ซอฟต์แวร์" คือแผ่นเลเซอร์หรือวิดีโอที่จะเล่นกับเครื่องมีให้เลือกมากขึ้นโดยเฉพาะที่เป็นเพลงไทย

"จะมีสักกี่คนที่ร้องเพลงสากลหรือเพลงญี่ปุ่นเจ้าของต้นฉบับได้ สำหรับเมืองไทยต้องมีเพลงไทยให้ร้อง จึงจะประสบความสำเร็จ" นี่เป็นปัญหาการตลาดของคาราโอเกะในเมืองไทย ที่ไม่ต้องตีความใดๆ เลย

และเป็นคำตอบได้ดีว่าทำไมตลาดคาราโอเกะในช่วงแรกของไทย ไม่เติบโตเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ไต้หวัน หรือสิงคโปร์

ผู้บุกเบิกการผลิตซอฟต์แวร์เพลงไทยก็คือผู้ที่นำเข้าฮาร์ดแวร์เข้ามาขายนั่นแหละ เพราะหากมีเครื่องเล่น แต่ไม่สามารถซื้อเพลงได้สะดวก หรือมีให้เลือกจำกัด เท่ากับปิดทางโตของธุรกิจฮาร์ดแวร์ไปแล้วครึ่งหนึ่ง

โตชิบาซึ่งเป็นรายแรกที่นำเครื่องวิดีโอคาราโอเกะเข้ามาขาย จึงจับมือนิธิทัศน์ โปรโมชั่น ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ผลิตเทปวิดีโอคาราโอเกะเพราะนิธิทัศน์เองมีเทปเป็นมิวสิควิดีโออยู่เป็นจำนวนมาก สามารถดัดแปลงเป็นวิดีโอคาราโอเกะได้อย่างง่ายๆ เพียงแต่ใส่เนื้อร้องเข้าไป และดูดเสียงร้องออกให้เหลือแต่ทำนอง ก็สามารถสร้างสินค้าอีกตัวหนึ่งขึ้นมารองรับตลาดใหม่ โดยมีต้นทุนต่ำมาก เพราะมีวัตถุดิบอยู่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนคู่แข่งของโตชิบา คือพานาโซนิคก็ใช้วิธีการแบบเดียวกัน ด้วยการร่วมมือกับแกรมมี่ทำคาราโอเกะออกมาสู่ท้องตลาดเช่นกัน เฉพาะสต็อคเพลงของทั้งสองค่ายยักษ์ใหญ่นี้ ก็มากพอที่จะหมุนเวียนให้แหล่งบันเทิงคาราโอเกะสับเปลี่ยนกันความซ้ำซากได้อย่างสบายแล้ว

เช่นเดียวกับซอฟต์แวร์ที่อยู่ในรูปแบบของแผ่นเลเซอร์คาราโอเกะเพลงไทยก็เริ่มมีการผลิตกันแพร่หลายมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเครื่องเล่นเลเซอร์

"เซ็นทรัล เทรดดิ้ง" ในขณะที่ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของไพโอเนียร์อยู่ ได้เป็นตัวกลางติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากค่ายคีตา เรคคอร์ด เพื่อเอาเพลงไทยเหล่านั้นมาทำเป็นเลเซอร์ดิสก์ เพราะมีหนทางเดียวที่จะพัฒนาตลาดคาราโอเกะในเมืองไทยให้เป็นของเล่นชนิดใหม่ จำต้องมีเพลงไทยไว้เป็นหัวหอกในการเจาะตลาด

ลิขสิทธิ์ที่ทางเซ็นทรัล เทรดดิ้ง ได้จากคีตาเป็นงานเพลงชุดรวมฮิต 1 ชุด และเพลงชุดของเยื่อไม้อีก 1 ชุด และเมื่อเครื่องเลเซอร์คาราโอเกะเริ่มแพร่หลาย ค่ายเพลงที่เคยผลิตวิดีโอคาราโอเกะก็ขยับขยายหันไปผลิตแผ่นเลเซอร์คาราโอเกะด้วยเช่นกัน อย่างเช่น แกรมมี่ นิธิทัศน์ และอาร์เอสซาวด์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์วงการเพลงไทย

ผู้ผลิตอีกส่วนหนึ่ง จะเป็นเอเย่นต์ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงไปทำเอง โดยส่งไปบันทึกและก็อปปี้ลงแผ่นในต่างประเทศ แล้วนำกลับมาขายผ่านยี่ปั๊วและซาปั๊ว

บริษัทลีโอ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้งของฉิน เซียะ ก็เป็นรายหนึ่งที่ทำการผลิตในลักษณะนี้ นอกเหนือจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายแผ่นจากต่างประเทศ

ฉิน เซียะ เล่าถึงขั้นตอนของการทำแผ่นเลเซอร์ดิสก์เพลงไทยให้ฟังว่า ต้องออกหาซื้อลิขสิทธิ์เพลงไทย จากค่ายเพลงต่างๆ โดยมักจะไปสอบถามจากผู้ที่อยู่ในวงการเพลงว่า ช่วงนี้เพลงอะไรที่ฮิตติดตลาดกันอยู่บ้าง

จากนั้นก็นำมาจัดเป็นอัลบั้ม ส่งไปทำเป็นแผ่นที่ญี่ปุ่น โดยจะเอามาสเตอร์เพลงส่งไป หากเป็นคอมแพ็คดิสก์ยิ่งดีมาก เพื่อให้ทางญี่ปุนอัดลงแผ่นหลังจากนั้นทางญี่ปุ่นจะส่งคนมาถ่ายรูปประกอบ จะเลือกสถานที่ถ่ายทำซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นชายทะเลหรือภูเขา แล้วจ้างนักแสดงมาในฉาก หลังจากนั้นก็นำมาอัดลงแผ่นที่บันทึกเสียงไว้แล้ว ออกมาเป็นแผ่นเลเซอร์

"ต้นทุนการทำเพลงไทยเพลงหนึ่งต่อหนึ่งแผ่นจะตกประมาณ 7-8 ร้อยบาท แต่ต้องทำถึง 500 แผ่นขึ้นไป นำเข้ามาเมืองไทยจะมีต้นทุนประมาณ 1,700 บาท เพราะเจอภาษีประมาณ 40-60% ส่งขายไปยังยี่ปั๊วตกแผ่นละ 2,300 บาท-2,500 บาท ซึ่งมีประมาณ 22 เพลง ยี่ปั๊วนำไปขายก็ตกประมาณ 3,500-4,500 บาท แล้วแต่ว่าเป็นเพลงฮิตมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเพลงไทยจะแพงกว่าแผ่นเพลงต่างประเทศที่มีราคาประมาณ 2,500-3,000 บาท" ฉิน เซียะกล่าว

สาเหตุที่แผ่นเพลงไทยแพงกว่าเพลงต่างประเทศก็เพราะเพลงไทยผลิตมาก็เพื่อตอบสนองตลาดเพลงไทยเท่านั้น ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจึงสูงกว่า เพราะผลิตต่อครั้งมีจำนวนที่น้อยกว่า เพลงต่างประเทศสามารถผลิตต่ออัลบั้มได้สูงเพราะสามารถจำหน่ายได้กว้างไกลกว่า เฉลี่ยต้นทุนแล้วจึงต่ำกว่า

ปัจจุบันผู้ผลิตบางรายเช่นแกรมมี่ได้ใช้วิธีลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนเพลงลงมา จากเดิมที่เคยผลิตกันประมาณ 22 เพลงต่อหนึ่งแผ่น มาเหลือ 14 เพลงต่อหนึ่งแผ่น เพื่อการลดราคาจำหน่ายลงมาเหลือเพียง 3,600-3,700 บาทต่อแผ่น

"ดูจากความต้องการแผ่นเลเซอร์แล้ว หนึ่งเดือนตีเป็นมูลค่าประมาณ 4-5 ร้อยล้านบาท ร้านที่เปิดใหม่ๆ ต้องการแผ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งซื้อกันทีก็หลายๆ แสนบาท เพราะการลงทุนในแผ่นเพลงประมาณ 5-10% ของการลงทุนในคาราโอเกะทั้งหมด" ฉินเซียะประเมินมูลค่าตลาดแผ่นเลเซอร์ให้ฟัง

จุดขายที่แปลกใหม่ การลงทุนในฮาร์ดแวร์ที่ถูกลง ซอฟต์แวร์ที่หาได้ง่ายขึ้นและมีให้เลือกมากกว่าเดิม ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้การลงทุนในธุรกิจบันเทิงรูปแบบคาราโอเกะเป็นที่นิยมมากขึ้น

อาจงเจ้าของกัมปาย คาราโอเกะ กล่าวว่า คาราโอเกะนั้นนอกจากผู้มาใช้บริการจะรู้สึกสนุกสนานไปด้วย เพราะได้แสดงออกเองแล้วยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการจ้างวงดนตรีซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างต่ำเดือนละ 40,000-50,000 บาททุกเดือน ในขณะที่การลงทุนในคาราโอเกะจะมากในช่วงแรกในเรื่องของเครื่องเล่น ระบบเสียงและแผ่น แต่ในระยะยาวแล้วค่าใช้จ่ายจะถูกมาก และยังไม่ต้องมีปัญหาในการบริหารอีกด้วย เพราะคาราโอเกะคือเครื่องจักรที่ร้องเพลงได้ ไม่มีปัญหาจุกจิกเหมือนมนุษย์

การลงทุนในคาราโอเกะจะมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายในด้านสถานที่มากกว่า ว่าจะรังสรรค์กันให้เลิศหรูปานใด หากจะแบ่งสัดส่วนของการลงทุนออกเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ สถานที่รวมทั้งการตกแต่งจะลงทุนอยู่ประมาณ 75% และการลงทุนในอุปกรณ์อีกราว 20% ส่วนที่เหลือ 5% จะเป็นการลงทุนในแผ่นเลเซอร์ดิสก์

"อย่างของผมที่นี่ลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท ทั้งการตกแต่งทั้งสถานที่และอุปกรณ์" อาจงเปิดเผยตัวเลขการลงทุนของกัมปาย

หากมีสถานที่อยู่แล้ว เช่นเป็นโรงแรมหรือสถานบันเทิงรูปแบบอื่น แต่ต้องการดัดแปลงหรือเพิ่มคาราโอเกะเข้าไป ก็ยิ่งมีต้นทุนต่ำมาก เมื่อเทียบกับการเพิ่มจุดขายการบริการที่กำลังฮิตได้

คาราโอเกะที่เคยอยู่เฉพาะแถวถนนธนิยะย่านสีลม จึงขยายตัวออกไปยังแหล่งบันเทิงยามราตรีย่านอื่นๆ ของกรุงเทพฯ อย่างเช่นแถบสุขุมวิท ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 9 เป็นต้น

นริศ เลขะกุล เจ้าของสถานเริงรมย์ชื่อดังย่านสุขุมวิท "ยัวร์เพลซ" เป็นอีกผู้หนึ่งที่แล้วหันมาเปิดกิจการคาราโอเกะชื่อ "ลีฟวิ่งรูม" ในซอยสุขุมวิท 33

การเปิดคาราโอเกะในสายตาของนริศนั้น ต้องให้ชัดเจนเสียก่อนว่าจะจับลูกค้าคนไทยหรือต่างชาติ ถ้าเป็นลูกค้าคนไทย แน่นอนว่าจะไม่สนใจเพลงต่างชาติมากนัก ก็ต้องเตรียมแผ่นเพลงไทยไว้มากๆ หรือหากเป็นลูกค้าทั้งที่เป็นต่างชาติและเป็นคนไทย ก็ต้องเตรียมเพลงไว้หลากหลายภาษา

"ลีฟวิ่งรูม คาราโอเกะของเรานั้นลงทุนค่อนข้างสูง เพราะถือว่าต้องการให้บริการที่ดีสำหรับลูกค้าหรือแขกที่มาเที่ยว ลูกค้าที่มาที่นี่ก็ต้องมีกำลังจ่าย เรามีห้องวีไอพี 8 ห้อง และมีห้องโถงใหญ่อีก 1 ห้อง ซึ่งห้องโถงนี้เราต้องเน้นให้แขกเห็นว่านี่คือคาราโอเกะ แขกเข้ามาแล้วเขาจะได้เข้าใจ" นริศกล่าว

ความจำเป็นที่จะต้องมีห้องวีไอพีของคาราโอเกะนั้น นริศกล่าวว่าเป็นความแตกต่างของการเสพย์ความบันเทิงแบบคาราโอเกะของคนไทยกับต้นฉบับคือชาวญี่ปุ่น สไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ นั้น จะมีแต่ห้องคาราโอเกะรวม ลูกค้าคนไหนขอเพลงขึ้นมา ดีเจก็จะเปิดให้ และก็เชิญลูกค้าคนอื่นๆ ขึ้นมาร้อง

"การหมุนเวียนกันร้องจะต้องใจกว้าง บางคนร้องไม่ได้เรื่อง บางคนร้องดีเหมือนกับนักร้องเลย คนไทยก็ประเภทขี้หมั่นไส้ คนไหนร้องไม่ยอมเลิก เสียงก็แย่ ยังร้องอยู่ได้ ก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันได้" นริศ เน้นถึงเหตุผลที่ต้องมีห้องคาราโอเกะ

คาราโอเกะคลับ หลายๆ แห่งจึงต้องมีห้องวีไอพีไว้คอยบริการแขก

ห้องวีไอพีจะเดินสายสัญญาณเชื่อมต่อกับห้องควบคุม ซึ่งจะใช้รหัสตัวเลขส่งสัญญาณไปที่ห้องควบคุม ดีจะก็จะส่งสัญญาณเพลงที่ขอมาให้ร้อง ซึ่งเรียกระบบนี้ว่า "KTV"

ค่าบริการของคาราโอเกะต่อหนึ่งครั้ง สำหรับลูกค้าประมาณ 3-4 คน จะตกอยู่ประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป คือจะมีค่าเครื่องดื่ม ซึ่งแต่ละสถานที่จะไม่เหมือนกัน จะมีตั้งแต่ราคา 1,200 บาท ไปจนถึง 4-5 พันบาท นอกจากนั้นจะมีค่าบริการสำหรับห้อง มีการคิดเป็นชั่วโมงบ้างหรือเหมาจ่ายบ้าง หากคิดเป็นชั่วโมงก็จะมีตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป หรือเหมาจ่ายครั้งละ 500-1,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าดริ้งพนักงานหญิงที่มาคอยให้ความสำราญขึ้นอยู่กับแต่ละแห่งว่าจะคิดอย่างไร คือมีตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปจนถึง 300 บาท

"เท็นสาธร" ซึ่งเป็นสโมสรสำหรับนักธุรกิจและนักบริหารระดับสูงก็มีคาราโอเกะมาให้ความบันเทิงอยู่เช่นเดียวกัน

เท็นสาธร เป็นสโมสรหรือคลับที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะได้นำแบบอย่างมากจากคลับในฮ่องกง

โดยภายในสโมสรแห่งนี้มีความหลากหลายของการบริการไว้สำหรับนักธุรกิจหรือนักบริหารมาใช้บริการ คือมีทั้งสถานที่ออกกำลังกาย ที่อบเซาว์น่า นวดตัวอบไอน้ำ ภัตตาคารที่จะให้บริการอาหาร ตลอดจนมีความบันเทิงในหลายๆ รูปแบบ อย่างเช่นไนท์คลับ คาราโอเกะคลับ หรือห้องชมภาพยนตร์ จัดไว้ให้บริการแก่สมาชิก

"เป็นความใฝ่ฝันของผมที่ต้องการมีสโมสรอย่างนี้มาไว้บริการสำหรับนักธุรกิจในบ้านในเมืองเราให้ทันกับต่างชาติ เพราะวันนี้นักธุรกิจมีปัญหาในเรื่องของการบริหารเวลาเพราะการจราจรที่ติดขัด ทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินทาง ในเวลาเดียวกันเขาต้องบริหารงานประจำและไหนยังต้องมีการพบปะสังสรรค์กันด้วย จำเป็นต้องมีสถานที่ที่เพียบพร้อมและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ สักแห่งหนึ่ง มาไว้บริการภายในที่เดียวกัน โดยไม่ต้องเดินทางไปมาให้ลำบาก" เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช ประธานบริหารของเท็นสาธรเล่าให้ฟังถึงจุดประสงค์

เท็นสาธร เป็นอาคารตึก 7 ชั้น ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนหัวถนนสาธรเหนือ จึงถูกสร้างขึ้นมารองรับความคิดดังกล่าว ด้วยการลงทุนถึง 360 ล้านบาท ได้ออกแบบตกแต่งเป็นสไตล์โมเดล แต่ละชั้นจัดแยกไว้เป็นสัดส่วนสำหรับการบริการที่มีครบครันภายในตึก

ส่วนบริการ "คาราโอเกะ" เป็นความบันเทิงในรูปหนึ่งของเท็นสาธรจัดไว้บริการเป็นแบบห้องวีไอพีทั้งหมดซึ่งอยู่ในชั้นที่ 4 และ 5 รวมกัน 13 ห้อง โดยแต่ละห้องจะตกแต่งไว้อย่างหรูหรา สวยงาม

การมาใช้บริการคาราโอเกะที่นี่ จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของสโมสรแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งสนนราคาอัตราสมาชิกต่อปีด้วยตัวเลขถึง 6 หลัก เพราะต้องการสกรีนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ อาจจะต้องใช้คำว่า เป็นผู้ที่มีกำลังจ่ายสูงจริงๆ จึงจะมีโอกาสเข้ามาใช้บริการได้

คาราโอเกะของเท็นสาธร มีความทันสมัยแบบเดียวกับที่ฮ่องกง โดยมีห้องควบคุมไว้เป็นส่วนกลาง เป็นห้องสำหรับดีเจ เพื่อเป็นผู้จัดเพลงให้ตามต้องการ เมื่อสมาชิกในแต่ละห้องขอมาจะให้รหัสเป็นคีย์คอมพิวเตอร์ส่งรายชื่อเพลงเข้ามาได้ครั้งละ 6 เพลง แล้วดีเจจะจัดแผ่นเข้าเครื่องอัตโนมัติ เปิดสัญญาณออกตามห้องต่างๆ

มีเพลงมาให้ร้องได้ประมาณ 18,000 กว่าเพลง มีทั้งไทย ญี่ปุ่น จีน เพลงสากลไว้ให้สมาชิกขอ ซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติหลากหลายภาษาได้ร้อง

"ที่นี่เรามีเพลงเก่าๆ ไว้บริการเยอะมาก เพราะแขกที่เข้ามาส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปมีอำนาจการจ่ายสูง ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองคิดว่าคาราโอเกะในเมืองไทยเพิ่มจะเริ่มบูมมาไม่นานนี้เอง ยังจะไปได้อีกไกลเพราะเข้าไปให้ความบันเทิงได้ทุกหนทุกแห่ง" เปล่งศักดิ์กล่าว

วันนี้ในญี่ปุ่นการพัฒนาของคาราโอเกะกำลังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง มี "คาราโอเกะบล็อก" (มีลักษณะเป็นห้องเล็กๆ สามารถมาใช้บริการร้องเพลงคาราโอเกะ ด้วยการหยอดเหรียญและมีเครื่องดื่มเบาๆ ไว้คอยบริการ) เกิดขึ้นมามากมายตามศูนย์การค้าตามแหล่งชุมชน

เมืองไทยกำลังมีแนวโน้มว่า "คาราโอเกะบล็อก" กำลังจะเข้ามาบริการคนรักการร้องเพลงคนรักเสียงเพลงตามศูนย์การค้าเช่นเดียวกัน เนื่องจากขณะนี้มีนักลงทุนคนไทยตระเตรียมการกันไว้แล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นนักธุรกิจกลุ่มใด

ธุรกิจสถานบันเทิงคาราโอเกะเมืองไทยเพิ่งจะเริ่มต้น และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปได้อีก หากดูจากจำนวนผู้เข้ามาลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเครื่องวัดได้ทางหนึ่งว่า ผู้ที่ลงทุนไปแล้วน่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จนเป็นแรงดึงดูดให้คนอื่นๆ ตามเข้ามา หากยังคงเป็นเช่นนี้อีกต่อไป แน่นอนว่าในอนาคตก็คงจะถึงจุดอิ่มตัว เฉกเช่นสถานบันเทิงรูปแบบอื่น และเมื่อถึงเวลานั้น คุณภาพจะเป็นตัวคัดเลือกผู้อยู่รอด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us