|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
วานนี้ (27 พ.ย.) ศาลล้มละลายกลางได้นัดฟังคำสั่งคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ยื่นคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยคำร้องของ บสท. ต้องการให้ผู้ทำแผนฯ เพิ่มหลักประกันให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 คือเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน ด้วยการโอนสิทธิบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่ได้จากการดำเนินธุรกิจและมูลค่าสิทธิสัมปทานกิจการเดินรถไฟฟ้าที่เหลืออยู่อีก 23 ปี นอกเหนือจากจำนวนรถไฟฟ้า 35 ขบวน
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ยื่นคัดค้านเรื่องหนังสือค้ำประกันหนี้ที่ถูกจัดเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยให้จัดหนังสือค้ำประกันหนี้ดังกล่าวของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กับบีทีเอส เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีมูลหนี้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากบีทีเอสมีการชำระค่าไฟมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบตามที่บสท.และธนาคารไทยพาณิชย์ได้ยื่นคำคัดค้านมา นอกจากนี้ ยังได้นัดฟังคำสั่งคำร้องของธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะเจ้าหนี้ ที่ยี่นขอให้ปิดบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงเทพแล้วโอนเงินฝากไปยังธนาคารไทยพาณิชย์แทน โดยนัดฟังคำสั่งใน วันที่ 25 ธ.ค.นี้
นายประเสริฐ เอื้อกมลสุโข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจบริหารสินทรัพย์ บสท. กล่าวว่า บีทีเอสจะนำรถไฟฟ้า 35 ขบวนมาเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้กลุ่ม 1 นั้นไม่เพียงพอ ต้องนำเงินในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากสิทธิสัมปทานรถไฟฟ้ามาด้วย ส่วนข้ออ้างคำสั่งศาลฎีกาก่อนหน้านี้ที่ห้ามไม่ให้มีการโอนสิทธิสัมปทานและบัญชีเงินฝากเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้ เห็นว่าเป็นคนละประเด็นกัน ซึ่งการที่ศาลฯ มีคำสั่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหากไม่มีการนำมูลค่าสิทธิสัมปทานที่เหลือและบัญชีเงินฝากที่ได้จากการดำเนินกิจการมาเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้เชื่อว่าจะไม่มีใครกล้าปล่อยกู้ให้โครงการสัมปทานของรัฐอีกต่อไป
จากคำสั่งศาลครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะทำให้เจ้าหนี้มีหลักประกันจำนวน 8 รายได้รับการชำระหนี้เงินเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-5 พันล้านบาทจากแผนฯเดิมที่นายคีรีทำไว้ โดยเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันจะได้รับชำระหนี้เงินสดถึง 2.1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เจ้าหนี้มีหลักประกันที่มีมูลหนี้เงินต้น 3.1 หมื่นล้านบาท จะได้รับชำระหนี้เงินสดแค่ 7.3 พันล้านบาท
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้มีจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ตามคำร้องของเจ้าหนี้ ทำให้บริษัทต้องปรับปรุงแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ก่อนที่จะเสนอต่อเจ้าหนี้ และต้องหารือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ก่อน ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการที่ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนฯในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 นี้ได้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ทำแผนฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ รวมทั้งเพิ่มหลักประกันให้เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เจ้าหนี้เห็นชอบกับแผนฯใหม่ โดยไม่มีการยื่นคำร้องเพิ่มเติมอันจะทำให้การฟื้นฟูฯล่าช้าออกไป
ด้านทนายความของบีทีเอส กล่าวว่า คำสั่งของศาลฯดังกล่าวทำให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันแทบไม่เหลืออะไรเลยเนื่องจากหลักประกันต่างๆ ถูกโอนไปให้เจ้าหนี้ที่มีหลักกันทั้งหมด
ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะยับยั้งการขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 นั้น นายคีรี กล่าวว่าคงต้องหารือกับกทม.ถึงเหตุผลการไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าว ซึ่งความจริงเป็นการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ถือว่าอยู่ในกรอบที่จัดเก็บได้มาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากกทม. และทุก 2 ปี บีทีเอสสามารถปรับค่าโดยสารได้แต่บริษัทเปิดให้บริการถึง 7 ปีก็ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าโดยสารแต่อย่างใด
"เราลงทุนมา 15 ปี แต่ไม่เคยได้เงินสักบาท เพราะเงินที่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจเท่าใดก็ชำระคืนหนี้ทั้งหมด ขณะที่คนอื่นมีการปรับขึ้นค่าโดยสารได้ แต่เวลาเราขอขึ้นกลับมีปัญหาทั้งที่ต้นทุนค่าไฟขึ้นมา 30-40% และการขึ้นค่าโดยสารดังกล่าวก็อยู่ภายใต้กรอบสัญญาที่ทำได้เลย คือ อัตราการจัดเก็บค่าโดยสารที่ 15-40 บาทมาตั้งแต่เปิดเริ่มบริการ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกทม. เพียงแต่ครั้งนั้นบริษัทปรับลดการจัดเก็บเริ่มต้นที่10 บาท และมีโปรโมชั่นอื่นๆ เพิ่มด้วย"
ด้านแหล่งข่าวจากเจ้าหนี้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับราคาค่าโดยสาร เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน แต่บีทีเอสควรที่จะมีการปรับปรุงบริหารจัดการภายในบริษัทที่ดีมากกว่านี้ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัท เนื่องจากการตรวจสอบงบการเงินของบีทีเอส งวด 12 เดือน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2549-2547 พบความไม่โปร่งใสระหว่างบีทีเอส กับบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (วีจีไอ ) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่โฆษณาของบีทีเอส ซึ่งมีนายกวิน กาญจนพาสน์ ลูกชายนายคีรีเป็นผู้บริหาร
โดยได้มีการตั้งข้อสังเกตความไม่โปร่งใสไว้ 4 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก รายได้พื้นที่เช่าโฆษณาที่บีทีเอสได้รับจากวีจีไอฯ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 32% จากการเปรียบของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาโดยรวมของประเทศไทย
ประเด็นที่ 2. บีทีเอส ควรที่จะมีการทวงหนี้ที่ค้างชำระจากวีจีไอฯ จำนวน 172 ล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้ที่ค้างชำระ 82% มาเป็นเวลาหลายปี ทั้งที่ วีจีไอ มีรายได้จากพื้นที่ให้เช่า โฆษณา และร้านค้า จำนวน 211 ล้านบาท ในงบการเงินงวดบัญชีสิ้นสุด มีนาคม 2549 ซึ่งสามารถที่จะชำระหนี้ได้
ประเด็นที่ 3. วีจีไอฯ ได้นำเงินไปปล่อยกู้ให้กับกรรมการบริษัทจำนวน 404 ล้านบาท คือ ปล่อยเงินกู้ให้นายกวิน จำนวนกว่า 374 ล้านบาท แทนที่จะนำมาชำระหนี้คืนบีทีเอส ประเด็นสุดท้าย บีทีเอส ยอมให้มีการแก้ไขสัญญาลดเงื่อนไขการจ่ายชำระหนี้ให้แก่บีทีเอส คือ การปรับลดค่าตอบแทนขั้นต่ำซึ่งวีจีไอฯ จะต้องจ่ายให้บีทีเอสเป็นรายปีลดลง แต่นำเงินไปปล่อยกู้ให้แก่กรรมการเพิ่มขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ การที่บีทีเอสไม่สามารถที่จะมีการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ร้านของวีจีไอฯ กีดขวางทางเข้าออกของผู้โดยสาร ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารในจำนวนที่มากได้ และบีทีเอสไม่สามารถที่จะมีการระบายผู้โดยสารเข้าออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้เป็นเพราะ จำนวนผู้โดยสารมีน้อยเกินไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากบีทีเอสได้รับค่าเช่าพื้นที่โฆษณาและร้านค้าที่ได้รับจากวีจีไอมากขึ้น และมีการเรียกเก็บหนี้จากวีจีไอ และมีการปรับปรุงในเรื่องพื้นที่รองรับผู้โดยสารเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มากขึ้น จะทำให้บีทีเอส ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการขึ้นค่าโดยสารกับประชาชน
อย่างไรก็ตาม จากการตั้งข้อสังเกตดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่าบีทีเอส ไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินงาน และมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกับ ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทของลูกชายของประธานกรรมบริหารของบีทีเอส แต่กลับเลือกวิธีแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มรายได้โดยการผลักภาระให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น กทม.ในฐานะผู้ให้สัมปทานแก่บีทีเอส จะต้องมีการตรวจสอบในเรื่องความสมเหตุสมผลในการขึ้นค่าโดยสารของบีทีเอส และผลประโยชน์ที่มีการซ่อนเร้นดังกล่าว
"หากบีทีเอสต้องการที่จามีการปรับขึ้นค่าโดยสารก็สามารถทำได้ตามกฎหมายสัมปทานที่ดี แต่หากบีทีเอส สามารถมีการปรับปรุงในเรื่องการบริหารงานเพื่อที่จะได้มีการรายได้เพิ่มขึ้นนั้นจะดีกว่าการปรับขึ้นค่าโดยสารต่อประชาชน "แหล่งข่าวกล่าว
|
|
|
|
|