การชักคะเย่อระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกๆ
ปีเสียแล้ว ทำไมต้องเป็นเช่นนั้นทั้งๆ ที่มีคณะกรรมการค่าจ้างมาเป็นเวลานานถึงยี่สิบปีแล้ว
"ได้รับผลกระทบแน่ นักลงทุนหนีไปต่างประเทศหมดแล้ว" นายจ้างต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันทันทีที่ถามว่าการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำม่ผลกระทบต่อการลงทุนหรือไม่
พร้อมๆ กับการอ้างถึงความได้เปรียบในเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่าไทยหลายเท่า ของประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีน
ไม่ว่าจะเป็นลาว พม่า หรืออินโดนีเซีย
"ต้นทุนต้องให้ต่ำที่สุดเพื่อจะได้มีกำไรสูงสุด" เป็นปรัชญาสำคัญของการทำธุรกิจ
นายจ้างจึงรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ไตรภาคีมีมติให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแม้เป็นเพียงเม็ดเงินแค่
2-3 บาท (ดูตาราง)
หลักสากลระบุไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงในต้นทุนการผลิตที่น้อยกว่าร้อยละ 20
ของต้นทุนทั้งหมด จะไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า และตลอดเวลาที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้รายงานว่า
สัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ
15 ของต้นทุนทั้งหมด
อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำตลอดสองทศวรรษไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนแต่อย่างไร…
หรือแรงงานจะเป็นเพียงแพะรับบาป ที่ถูกนายจ้างหยิบมาอ้าง ??
"ผมคิดว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มนี้มีความเป็นธรรม เพราะค่าครองชีพมันสูงขึ้นและนักลงทุนเขาก็ต้องมองในระยะยาว
ไม่ได้ดูเฉพาะค่าจ้างเพียงอย่างเดียว ผมไม่คิดว่ามันจะมีผลกระทบต่อการลงทุน"
สถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แสดงความเห็นต่อการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุด
นักลงทุนหนี… เหตุเพราะค่าจ้างหรือ ?
สถานการณ์การเลิกจ้างแรงงาน การปิดโรงงาน เป็นหลักฐานสำคัญที่ทางฝ่ายนายจ้างนำมาอ้างตอบโต้การเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเสมอ
ล่าสุดเป็นการเคลื่อนไหวของสถาบันการจัดการงานบุคคล สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย
(PMAT) ที่เปิดเผยข้อมูลการเลิกจ้างแรงงานกว่า 2,500 คน และการปิดกิจการอีกหลายแห่งในเขตจังหวัดปทุมธานีในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
2535 โดยอ้างว่าเป็นผลจากค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้นมาโดยตลอด
พฤติกรรมของโรงงานในนวนครหลายแห่งอยู่ในข่ายข้างต้น จึงสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเป็นอย่างดี
เช่น การปิดกิจการของบริษัท ทีเอ็มเอ็กซ์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตนาฬิกายี่ห้อ
TIMEX เพื่อการส่งออก โดยบริษัทแม่ในอเมริกาอ้างว่าค่าแรงแพงจึงยุบกิจการในไทยแล้วย้ายฐานการผลิตไปที่ฟิลิปปินส์
หรือการขยายการลงทุนของบริษัทแอนเดอรานส์ (ไทย) ผู้ผลิตวิกผม เพื่อการส่งออกทั้งหมดไปที่จังหวัดบุรีรัมย์โดยลดขนาดการผลิตที่นวนครลง
ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอ้างสาเหตุค่าแรงถูกเป็นสิ่งจูงใจสำคัญ เป็นต้น
เป็นความจริงที่ค่าแรงของฟิลิปปินส์ถูกกว่าในเมืองไทย หรือค่าแรงในเขตต่างจังหวัดจะถูกกว่าในเขตกรุงเทพฯ
แต่สำหรับนักลงทุนที่มีเหตุผลแล้ว ค่าจ้างไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ใช้พิจารณาตัดสินใจลงทุน
ความพร้อมในสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเลือกทำเลการลงทุนสักแห่ง
นอกเหนือจากฝีมือแรงงาน และความมั่นคงทางการเมือง ที่ต้องพิจารณาร่วมกันไป
กรณีประเทศกัมพูชาเป็นตัวอย่างที่ดีที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากนักลงทุน แม้ค่าแรงจะถูกแสนถูก
การปิดบริษัททีเอ็มเอ็กซ์ในไทยแล้วไปผลิตจากฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียว หากพิจารณาในแง่การลงทุนก็เป็นการกระทำที่มีเหตุผล
ไม่เพียงค่าแรงที่ถูกกว่าในไทย แต่การประหยัดต่อขนาด (ECONOMY OF SCALE)
ที่เกิดจากการรวมสองกิจการเหลือเพียงหนึ่งกิจการ การบริหารที่ควบคุมได้อย่างทั่วถึงหรือประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น
ย่อมมีส่วนไม่น้อยในการตัดสินใจ
สำหรับการขยายการลงทุนไปที่บุรีรัมย์ของบริษัทแอนเดอรานซ์ที่ขยายการลงทุนไปที่บุรีรัมย์นอกจากค่าแรงที่ถูกแล้ว
บริษัทยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นรถบริการรับส่งหรือหอพัก
เพราะแรงงานส่วนมากเป็นคนท้องถิ่นและที่สำคัญคือ พฤติกรรมของแรงงานในต่างจังหวัดมีการแข็งข้อน้อยกว่าแรงงานในนวนครอย่างแน่นอน
หากย้อนไปในช่วงเดือนมิถุนายน 2535 หรือชาวนวนครเรียกว่า "มิถุนาทมิฬ"
มีการก่อหวอดประท้วงนัดหยุดงานของลูกจ้างในนวนครหลายแห่ง เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างปรับปรุงสวัสดิการและค่าจ้าง
กล่าวกันว่าเป็นเชื้อที่เริ่มต้นมาจากความสำเร็จในการประท้วงของลูกจ้างบริษัทมินิแบ
ที่นายจ้างญี่ปุ่นยอมตามข้อเสนออย่างง่ายดาย ชาวนวนครจึงขอเลียนแบบ
พฤติกรรมการก่อม็อบของแรงงานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนหนี
"บริษัทแม่ในญี่ปุ่นปฏิเสธการขยายการลงทุนไปแล้วทีหนึ่ง หลังจากเกิดพฤษภาทมิฬ
ซึ่งผมก็บอกไปว่าเหตุการณ์สงบแล้ว ให้มาดูได้เลย ทางเขาก็เดินทางมา ปรากฏว่าเจอเหตุการณ์มิถุนาทมิฬพอดี
มีแรงงานมาเย้วๆ ทุกวัน เขาจึงไปลงทุนในประเทศอื่น" วีรพัฒน์ เกษสังข์
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลบริษัทไซโก้ซา (ประเทศไทย) และประธานชมรมบริหารงานบุคคลนวนครเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่เฉพาะในเขตนวนครเท่านั้น โรงงานแถวพระประแดง
สมุทรปราการก็ปรากฏเป็นข่าวเสมอ ล่าสุดคือการหยุดงานของคนงานอุตสาหกรรมอาภรณ์ไทยมานานกว่า
6 เดือน ที่เรียกร้องให้นายจ้างปรับปรุงสวัสดิการหลายอย่าง ยังไม่เป็นที่ยุติ
โดยมีบุญช่วย จันทร์ลบ หัวหน้าสหภาพเป็นผู้นำ
เป็นที่น่าสังเกตว่าการเรียกร้องต่างๆ มักจะเกิดในโรงงานที่มีสหภาพแรงงาน
เพราะมีผู้นำ หรือที่นายจ้างเรียกว่า "หัวโจก" เป็นศูนย์กลางนั่นเอง
หากการเพิ่มค่าจ้างมีผลต่อการลงทุนจริงแล้ว ทำไมในช่วงรัฐบาลชาติชายจึงมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากมาย
จนกระทั่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในช่วงปี 2533 ทั้งๆ ที่มีการปรับค่าจ้างเพิ่มถึง
2 ครั้งในปี 2532
นโยบายที่เด่นชัดในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในแถบอินโดจีน
รวมทั้งการใช้มาตรการด้านภาษีเป็นเครื่องจูงใจโดยการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรเหลือร้อยละ
5 และร้อยละ 0 สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบที่ผลิตเพื่อการส่งออก เป็นสิ่งล่อใจนักลงทุนที่ได้ผลดี
อย่างไรก็ตามความมั่นคงทางการเมืองก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่นักลงทุนตระหนักเป็นอย่างมาก
เพราะรัฐบาลแต่ละชุดก็จะมีนโยบายที่แตกต่างกันไป จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมการลงทุนจึงชลอตัวอย่างมากตั้งแต่ประชาธิปไตยยุคถอยหลังเข้าคลอง
จนกระทั่งพฤษภาทมิฬ ซึ่งสอดคล้องกับที่บีโอไอรายงาน
เสถียรภาพของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจลงทุน
รัฐบาล 5 ชุดในเวลา 5 ปี จะไม่ให้นักลงทุนถอยได้อย่างไร ???
ดังนั้นหากการเลิกกิจการหรือปลดคนงานออกด้วยสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเพียงอย่างเดียว
ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยในการโละทิ้งโรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพเหล่านั้นมิใช่หรือ
"การปิดกิจการของโรงงานในแถบสมุทรปราการในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเป็นของนักลงทุนชาวไต้หวันที่เข้ามาลงทุนแบบจับเสือมือเปล่าในช่วงรัฐบาลชาติชาย
คือเป็นลักษณะ SUB-CONTRACT ให้บริษัทที่ต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมง่ายๆ
ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไร ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานเป็นหลัก เช่นขั้นตอนหนึ่งของการทำรองเท้า
หรือเครื่องหนัง ค่าจ้างก็ให้ต่ำกว่าขั้นต่ำ" ธรรมรงค์ มุสิกลัด เจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างแห่งหนึ่งแถวสมุทรปราการกล่าว
พร้อมทั้งย้ำว่า แรงงานที่ทำงานกับพวกบริษัทไต้หวันจะมีปัญหามากที่สุด
และเนื่องจากโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะการชลอตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยเฉพาะอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อย่างแน่นอน
เศรษฐกิจที่ตกต่ำของอเมริกา ทำให้บริษัทชื่อดังหลายแห่งต้องปิดกิจการและปลดคนงานเป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็น ไอบีเอ็ม หรือจีเอ็ม รัฐบาลสหรัฐฯ จึงต้องดำเนินการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน
หรือการขาดดุลการค้าที่สูงขึ้น เช่นการยกเลิก GSP ที่ให้แก่บางประเทศ หรือการใช้มาตรา
301 โต้ตอบประเทศที่มีการเอาเปรียบทางการค้าจากอเมริกา
ญี่ปุ่นเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ของอเมริกาจึงถูกเล่นงานอย่างหนัก สินค้าจากประเทศญี่ปุ่นถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง
มิต้องพูดถึงสิทธิพิเศษต่างๆ นอกจากนี้ค่าเงินเยนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงของญี่ปุ่นก็ถูกหลายประเทศเรียกร้องให้มีการปรับสูงขึ้น
เพราะค่าเงินที่ต่ำเกินไปจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกมีราคาถูกมากในสายตาของคนต่างประเทศ
นักลงทุนจากญี่ปุ่นจึงต้องไปแสวงหาฐานการลงทุนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษจากอเมริกา
ซึ่งไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความสนใจ พิจารณาจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นมากที่สุด
รองลงมา คือ ไต้หวัน และอเมริกา
"ในช่วงปีที่แล้วตลาดอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์อยู่ในภาวะซบเซาเพราะมันเป็นวงจรเหมือนสินค้าทั่วๆ
ไป ก่อนที่จะมีการพัฒนาที่สูงขึ้นไปอีก" บุคคลในแวดวงคอมพิวเตอร์ชี้แจง
จึงไม่ต้องสงสัยว่าสัดส่วนของกิจการที่ผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์จะมีปัญหาเรื่องออเดอร์ที่ลดลงมากที่สุด
มิซึกิ อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทที่เคยมีพนักงานมากที่สุดในนวนคร
ทำการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ อุปกรณ์การไฟฟ้าเพื่อการส่งออกทั้งหมด
มียอดการปลดพนักงานสูงสุดเช่นกัน คือกว่า 1,000 คนในช่วงปลายปีที่แล้ว ขณะที่ฟูจิสึ
(ประเทศไทย) ซึ่งผลิตสินค้าประเภทเดียวกันเพื่อการส่งออกเหมือนกัน กำลังเร่งขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
ผู้บริหารของมิซึกิอ้างว่าเป็นเพราะค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความซบเซาของตลาดต่างประเทศเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สินค้าขายสูงประเทศอื่นไม่ได้
แต่ความจริงแล้วมีสาเหตุอื่นที่ทางบริษัทไม่ได้อ้างถึงและดูเหมือนจะเป็นเหตุผลหลักด้วยซ้ำไป
กล่าวคือ มิซึกิเป็นบริษัทที่ทำการผลิตโดยไม่มีแบรนด์เนมเป็นของตัวเอง หรือเป็นบริษัทที่คอยรับจ้างทำการผลิตตามออเดอร์เป็นหลัก
กิจการของบริษัทจึงขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลักจึงได้รับผลกระทบอย่างแรงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
ขณะที่ฟูจิสึมีแบรนด์เนมเป็นที่ยอมรับของตลาด จึงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย
ค่าจ้างขั้นต่ำ ทำไมต้องปรับทุกปี
"หากไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างประจำปีก็ไม่มีการปรับสิ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดนี้เป็นค่าจ้างขั้นสูงของโรงงานบางแห่งโดยเฉพาะโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน"
บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงันผู้ศึกษาเรื่องแรงงานมานานกว่า
10 ปี กล่าวถึงสาเหตุที่ลูกจ้างต้องเรียกร้องขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกๆ ปี
อุตสาหกรรมในประเทศส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กที่ไม่มีสหภาพแรงงาน จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจำนวนแรงงานภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกสหภาพจึงมีเพียง
180,000 คน คิดเป็นสัดส่วนก็ประมาณร้อยละ 1.5 ของแรงงานภาคเอกชนทั้งหมด และสัดส่วนจำนวนน้อยนนี้เองที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด
เนื่องจากมีสหภาพแรงงานเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ให้
ค่าจ้างขั้นต่ำมีความหมายชัดเจนว่า "รายได้ที่เพียงพอสำหรับลูกจ้างไร้ฝีมือหรือที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดงาน
1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามปกติวิสัย" ดูจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
จะว่าเป็นความไม่รู้จักพอของลูกจ้าง หรือที่นายจ้างชอบเรียกว่า กินไม่รู้จักอิ่ม
ก็คงไม่ผิดนัก เพราะราคาสินค้ามันแพงขึ้นทุกๆ ปี รวมทั้งฐานของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดเริ่มแรงเพียง
12 บาทก็ต่ำเกินไป
งานวิจัยของ ไตรรงค์ สุวรณคีรี ที่ทำการศึกษาแล้วพบว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรน้อยกว่า
31.96 บาทต่อวัน ในช่วงปี 2518 ผลคือมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 25 บาทต่อวัน
ในเดือนมกราคมของปีนั้น
"รัฐบาลคุมราคาของไม่ได้แล้วจะให้พวกผมทำอย่างไร บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ
ของก็แพงเอาๆ มันก็ต้องเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี" อาภรณ์ สังขะวัฒนะ
หรือที่รู้จักกันดีในนามของ "พี่ใหญ่" กล่าว
อาภรณ์ไม่ปฏิเสธว่าแรงงานในนวนครมากกว่าร้อยละ 80 ได้รับค่าจ้างตามเกณฑ์
และหากปีใดมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้พวกเขาได้ประโยชน์เพิ่มเติมนอกจากการปรับค่าจ้างประจำปี
นายจ้างส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมคล้ายๆ กัน คือ จะปรับค่าจ้างประจำปีในอัตราที่ต่ำมาก
เฉลี่ยประมาณ 4-5 บาทต่อปีเท่านั้น เพราะรู้ว่าจะต้องปรับอีกครั้งภายหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมไปแล้ว
จึงมิต้องสงสัยว่าทำไมแรงงานจึงต้องก่อม็อบเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างทุกปี
อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่ค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค
ซึ่งหมายความว่า แรงงานไม่ได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่อย่างไร อำนาจซื้อที่เพิ่มน้อยกว่าราคาสินค้า
เป็นการซ้ำเติมแรงงานให้มีความเป็นอยู่แย่ลงอย่างร้ายกาจ
รัฐบาล…เจ้าพ่อไตรภาคี
"วันนั้นจริงๆ แล้วไม่มีการโหวตกันด้วยซ้ำ รัฐบาลบอกให้ออมชอมกัน
ซึ่งก็รู้กันมาตั้งนานแล้วว่าต้อง 125 บาท เพราะกรรมการบางท่านได้ปล่อยข่าวออกมาก่อนหน้านั้นแล้ว
และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็ควรเปลี่ยนชื่อกรรมการเป็นเอกภาคีจะเหมาะสมกว่า"
ทิวา ธเรศวร หนึ่งในคณะกรรมการค่าจ้างชุดปัจจุบันในฐานะตัวแทนฝ่ายนายจ้างเล่าถึงบรรยากาศในที่ประชุมไตรภาคี
ในการประชุมเพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
ซึ่งสอดคล้องกับคณะกรรมการท่านอื่นไม่ว่าจะเป็น พิชัย ซื่อมั่น หรือ บรรจง
บุญรัตน์ ในฐานะตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง
เป็นนัยยะที่อธิบายได้ดีตามข้อสังเกตที่พบว่า ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่มีฝ่ายใดพอใจเลย
ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง ทั้งๆ ที่โดยหลักการแล้วมันต้องเป็นผลผลิตร่วมจากตัวแทนทั้ง
3 ฝ่าย หรือที่รู้จักกันดีในนามของ "ไตรภาคี"
หลักการของไตรภาคีเป็นสิ่งดีที่ให้ตัวแทนของทุกๆ ฝ่ายมาเจรจากัน ภายใต้ความเป็นกลางของรัฐบาล
โดยใช้มติ 2 ใน 3 ของที่ประชุมเป็นเกณฑ์ ในบางปีจึงมีข่าวการซื้อเสียงของฝ่ายนายจ้าง
โดยเฉพาะในปีที่ไม่มีการปรับค่าจ้างหรือมีการปรับเพียงเล็กน้อย
ชิน ทับพลี ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติเป็นผู้นำแรงงานที่มีบทบาทโดดเด่นมากในช่วง
1-2 ปีที่ผ่านมา นับแต่เป็นประธานจัดคอนเสริต์ต้านภัยแล้งเพื่อดึงดูดความสนใจจากประชาชนที่ไปชุมนุมกันที่สนามหลวงในช่วงพฤษภาทมิฬ
หรือเป็นผู้เสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบสุดโต่ง คือ 145 บาท ด้วยเหตุผลที่ว่าเท่ากับเงินเดือนขั้นต่ำของพนักงานรัฐวิสาหกิจ
"ผมรู้จักนักลงทุนชาวไต้หวันเป็นอย่างดีโดยเฉพาะแถวปากน้ำ…145 บาท
เขาก็ไม่ว่าอะไร แต่ที่เขาบ่นมากก็เรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มันมีไม่พอ
เช่นน้ำประปา หรือการจราจรที่ติดขัด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่เขาจะหนีมากกว่า"
ชินกล่าว พร้อมทั้งแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการค่าจ้างชุดปัจจุบันว่า "ระบบไตรภาคีปัจจุบันห่วยที่สุด
เพราะตัวแทนฝ่ายลูกจ้างถูกครอบงำง่าย และคณะกรรมการฝ่ายลูกจ้างก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนอย่างแท้จริง
แม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม"
อาจเป็นเพราะไม่มีสมาชิกของสภาลูกจ้างแห่งชาติ ได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีในชุดปัจจุบันเลยก็ได้ที่ทำให้ชินมีความเห็นเช่นนี้??
จะว่าไปแล้วก็หนีไม่พ้นเรื่องการเมือง เพราะตัวแทนฝ่ายรัฐบาลส่วนมากจะมาจากข้าราชการประจำโดยเฉพาะประธานค่าจ้างจะเป็นของรองปลัดกระทรวงมหาดไทยโดยตำแหน่ง
ระบบนายว่าอย่างไรแล้วลูกน้องต้องว่าตาม ไม่ได้ถูกห้ามใช้ในระบบไตรภาคีแต่อย่างไร?
ดูเหมือนว่าการครอบงำของรัฐบาลจะเริ่มตั้งแต่คณะกรรมการชุดที่ 1 ที่พบว่าไตรภาคีจะมีตัวแทนจากรัฐบาลถึง
7 คน คณะที่มีตัวแทนจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเพียงฝ่ายละ 1 คนเท่านั้น ค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มแรกเพียง
12 บาทต่อวัน สอดคล้องกับนโยบายดึงดูดนักลงทุนด้วยค่าจ้างต่ำเป็นอย่างดี
แรงกดดันทางการเมืองและอำนาจการต่อรองของแต่ละฝ่ายจะเป็นตัวตัดสินว่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นเท่าไร
ขณะที่หลักทางวิชาการไม่ว่าจะเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
จะเป็นเพียงประเด็นหลักที่ถูกนำมาอ้างให้มีการปรับค่าจ้างในฐานะผู้แทนฝ่ายนายจ้างถึงสามสมัย
(2528-2534) เคยกล่าวภายหลังที่ประชุมมีมติให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 73 บาทเป็น
76 บาทในช่วงรัฐบาลชาติชาย ในทำนองว่า รัฐบาลกลัวม็อบขณะที่ตนไม่กลัว แต่ด้วยการขอร้องจากผู้ใหญ่ฝ่ายรัฐบาลที่พูดไปแล้วว่าจะมีการปรับค่าจ้าง
ซึ่งหากตนมีทีท่าแข็งกร้าวเกินไปก็อาจมีปัญหา จึงยอมให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่ม
3 บาท
ขณะที่บรรจง บุญรัตน์ หนึ่งในคณะกรรมการค่าจ้างชุดปัจจุบันของตัวแทนฝ่ายลูกจ้างบอกว่า
"ในที่ประชุมทางฝ่ายนายจ้างค่อนข้างจะมีอารมณ์เพราะไม่พอใจในตัวเลขที่ทางฝ่ายรัฐบาลเสนอเข้าข้างลูกจ้างมากเกินไป"
จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจรัฐบาลเพราะไม่ว่านายจ้างหรือลูกจ้างก็ต้องการผลประโยชน์สูงสุดแต่ระยะเวลามันจำกดั
รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของตนเอง และบ่อยครั้งที่รัฐบาลใช้วิธีประนีประนอมโดยให้พบกันคนละครึ่งทางระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีในระยะสั้น แต่หากทำเช่นนี้เรื่อยๆ ไป ระบบไตรภาคีก็จะไม่มีการพัฒนาแต่อย่างไร
"กรรมการฝ่ายรัฐบาลควรเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง เพื่อมีอิสระในความคิด
ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอย่าดูเพียงเม็ดเงิน ควรดูสวัสดิการที่เราให้เขาด้วย
เพราะเมื่อค่าจ้างขึ้นราคาสินค้าก็เพิ่ม รัฐบาลไม่มีฝีมือในการควบคุมราคา
ไม่ใช่เพราะนายจ้าง" ทิวา ธเนศวรให้ข้อเสนอวิธีการยกเครื่องไตรภาคี
ประสบการณ์การเป็นผู้ว่าราชการที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเคยดำรงมานาน 15-30
ปี มันต่างจากหลักการของไตรภาคีอย่างสิ้นเชิง บทบาทของการเป็นผู้นำมากว่าค่อนชีวิต
แล้วจู่ๆ จะให้มาใช้การประนีประนอม ไม่เป็นการเหมาะสมอย่างแน่นอน
"ควรแก้ที่ตัวประธานก่อน" สังศิต พิริยะรังสรรค์ อาจารย์หนุ่มจากรั้วจามจุรีที่มีบทบาทค่อนข้างมากในช่วง
1-2 ปีที่ผ่านมา จากรายงานการวิจัยเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ทางฝ่ายลูกจ้างนำไปใช้อ้างอิง
กล่าวได้ตรงประเด็นที่สุดในการยกเครื่องไตรภาคี
กฎหมายที่ปัจจุบันกำหนดบทบาทคณะกรรมการเพียงรับเรื่องร้องทุกข์เมื่อมีคนมาเรียกร้องแล้วนำมาให้รัฐบาลทราบ
ก็เป็นสิ่งที่ควรแก้ไข เพื่อขยายบทบาทหน้าที่ของกรรมการให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่งเหมาะสมกับงานระดับชาติที่ต้องศึกษากันอย่างจริงจังและทำทั้งปีไม่ใช่ทำเพียง
2-3 เดือนภายหลังมีการเรียกร้องหรือจะประชุมทีก็ต้องโทรนัดกันตามที่ต่างๆ
เหมือนในปัจจุบัน
"การปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีบ้า ไม่ถูกต้องควรทำเหมือนต่างประเทศที่กำหนดไปเลยว่าจะปรับตามสิ่งใด"
โสภณ วิจิตรกร ประธานบริษัทนครหลวงเส้นใยสังเคราะห์เป็นนายจ้างคนหนึ่งที่กล้าแสดงความเห็น
ส่วนฝ่ายแรงงานดูเหมือนจะชอบวิธีการเรียกร้องมากกว่า อาจเป็นเพราะธรรมชาติมีนิสัยชอบความเสี่ยงมากกว่านายจ้าง
ดังที่ "พี่ใหญ่" ของแรงงานในนวนครกล่าว ว่า "มันมีโอกาสที่จะได้เงินเพิ่มมากกว่าการกำหนดเป็นเกณฑ์ที่ตายตัว"
เกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรมีการกำหนดให้แน่ชัดไปเลยว่าจะใช้เกณฑ์อะไร
เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะนักลงทุนที่สามารถคาดการณ์ต้นทุนได้อย่างถูกต้อง
ไม่ต้องตึงเครียดกับแรงกดดันที่เกิดขึ้นทุกปี ขณะที่ลูกจ้างก็ทราบถึงรายได้ที่แน่นอนและเป็นธรรมตามอายุงานเหมือนราชการ
ไม่ใช่ว่าทำงานมาเป็นสิบปีก็ได้ค่าจ้างเท่ากับลูกจ้างเข้างานใหม่ หรือค่าจ้างขั้นต่ำก็คือค่าจ้างขั้นสูงของโรงงานบางแห่ง
ระบบค่าจ้างแบบลอยตัวเหมือนต่างประเทศก็เป็นอีกวิธีที่ฝ่ายนายจ้างเสนอ
การปล่อยให้ค่าจ้างลอยตัวดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่ดี โดยเฉพาะในทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีความเชื่อมั่นในกลไกตลาดมากว่า
จะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ค่าตัววิศวกรที่สูงมากเนื่องจากการขาดแคลนในช่วง 3-4 ปีก่อน กับจำนวนบัณฑิตในสาขาวิศวะที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันสามารถอธิบายได้เป็นอย่างดี
แต่ระบบดังกล่าวไม่เหมาะสำหรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นเรื่องของแรงงานไร้ฝีมือ
เพราะมันหมายถึงหลักประกันที่รัฐบาลให้กับแรงงานว่าเป็นรายได้ต่ำสุดที่เขาจะได้รับเพียงพอแก่การยังชีพ
หากปล่อยให้ลอยตัว ภายใต้สังคมที่มีแรงงานไร้ฝีมืออยู่จำนวนมาก ขณะที่นายจ้างมีสัดส่วนที่น้อย
ซึ่งง่ายแก่การรวมตัว แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างตามกลไกตลาด
อย่างไรก็ตามหากกฎหมายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่สามารถบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามได้อย่างทั่วถึงแล้ว
ก็ป่วยการที่จะเถียงกันในเรื่องหลักการต่างๆ เพราะไม่ได้ช่วยทำให้แรงงานไร้ฝีมืออันเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของนิยาม
"ค่าจ้างขั้นต่ำ" มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร