ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ สละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน "ไทยคอปเปอร์" จำนวน 15 ล้านหุ้น เหตุสภาพคล่องทางการเงิน ก่อนจะให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ "ประยุทธ มหากิจศิริ" แปลงหนี้เป็นทุน 40 ล้านหุ้น ผู้บริหารแย้มเตรียมขายหุ้นออกบางส่วน เพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนขยายธุรกิจ
นายวัลลภ คุณานุกรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TFI เปิดเผยถึง ความคืบหน้าจองซื้อหุ้นเพิ่ทุนของบริษัท ไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TCI (บริษัทย่อยที่ TFI ถือหุ้นอยู่ 151.90 ล้านหุ้น หรือ 19.97%) ว่า คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้สละสิทธิในการจองซื้อหุ้น TCI จำนวน 15.19 ล้านหุ้น รวม 151.90 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงิน (tight of liquidity)
"บริษัทเองยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และอยู่ในขั้นตอนการหา Working Capital เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องอยู่อีกประมาณ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเตรียมเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอกับความต้องการของธุรกิจในวัฏจักรขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในต้นปี 2550 เป็นต้นไป"
ทั้งนี้ TCI ได้อนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 800.58 ล้านหุ้น หรือ 8,005.79 ล้านบาท เป็น 876.62 ล้านหุ้น หรือ 8,766.18 ล้านบาท โดยเพิ่มทุนจำนวน 76.04 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวม 760.39 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 10 บาท รวม 760.39 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปใช้เสริมสภาพคล่องทางการเงิน ลดภาระดอกเบี้ย และลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ดีขึ้น โดยกำหนดวันจองซื้อตั้งแต่วันที่ 7 - 10 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรหุ้นเพิ่มของ TCI ครั้งนี้ ปรากฏว่า ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนแต่อย่างใด ดังนั้นบริษัทจึงให้กลุ่มนายประยุทธ มหากิจศิริ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แปลงหนี้เป็นทุนจำนวน 40.68 ล้าน หุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 406.79 ล้านบาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วรวม 801.07 ล้านหุ้น หรือประมาณ 8,010.67 ล้านบาท ส่วนหุ้นที่เหลือจำนวน 35.36 ล้านหุ้น TCI จะดำเนินการยกเลิกหุ้นดังกล่าว
จากการแปลงหนี้เป็นทุนดังกล่าว ทำให้กลุ่มนายประยุทธ มหากิจศิริ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 343.31 ล้านหุ้น หรือ 42.86% เพิ่มจากเดิม 225.15 ล้านหุ้น หรือ 29.61% บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บบส.) ลดจากสัดส่วน 29.61% เหลือ 28.10% TFI ลดจาก 19.97% เหลือ 18.96% ธนาคารทหารไทย จาก 8.08% เหลือ 7.67% MARUBENI CORPORATION จาก 2.50% เหลือ 2.37% และผู้ถือหุ้นอื่น 0.04%
สำหรับวัตถุประสงค์ของการลงทุน TCI นั้น TFI คาดว่าจะได้รับเงินปันผลเมื่อ TCI เริ่มมีกำไรสะสม และกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น (capital gain) หุ้น เมื่อ TCI เข้าข่ายสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ โดย TFI จะขายหุ้น TCI บางส่วนในลักษณะ PP หรือ IPO เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือคืนเงินกู้บางส่วนก่อนกำหนด เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ขยายธุรกิจหลักในอนาคต โดยคงเป้าหมายจะเหลือหุ้น TCI ไว้บางส่วนเพื่อเป็นการลงทุนระยะยาว
"TCI น่าจะทำกำไรได้ต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป แม้ว่าปัจจุบันจะประสบปัญหาการขาดทุน เนื่องจาก TCI เป็นอุตสาหกรรมหนักและมีเงินลงทุนสูงถึง 30,000 ล้านบาท จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินงานให้มีผลกำไร โดยขณะนี้ราคาแร่ทองแดงได้ขึ้นจากระดับ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อ TCI เริ่มผลิตในปลายปี 2547 - กลางปี 2548 เป็นประมาณ 7,000 เหรียญสหรัฐต่อตันในปัจจุบัน ทำให้สินค้าคงคลัง (หัวแร่ทองแดง) ของ TCI จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,800 ล้านบาท โดยกำไรจากส่วนต่างนี้จะเกิดขึ้นเมื่อ TCI ได้เริ่มการผลิตใหม่ในเดือนธันวาคม 2549 นี้"
|