การก่อเกิดกลุ่มอิตัลไทยที่จะฉลอง 40 ปีในอีก 2 ปีข้างหน้า นับเป็นการมองการณ์ไกลของหมอชัยยุทธอย่างแท้จริง!!!
กล่าวคือ ในปี 2487 หมอชัยยุทธได้รับการของร้องจากน้องเขยของเขา-เผด็จ
ศิวะทัต (บิดาของรนัฎชญ์ อดีตผู้บริหารของกลุ่มอิตัลไทยอีกคน) ซึ่งทำธุรกิจด้านกู้เรืออยู่
และกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับงานการกู้เรือของกรมเจ้าท่าที่ปากน้ำ อ่านข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าบริษัทมาริโอ
เอ็ม โคลัมโบ จากประเทศอิตาลี ซึ่งมารับจ้างดำเนินงานกู้เรือให้กับบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสในประเทศเวียดนาม
ได้เสร็จสิ้นภารกิจและกำลังจะกลับไปยังอิตาลีโดยผ่านประเทศเวียดนาม จึงต้องการว่าจ้างให้มาทำการกู้เรือให้
แต่น้องเขยของเขาไม่มีความรู้ด้านภาษาอิตาเลียน หมอชัยยุทธจึงต้องรับภาระด้านการติดต่อให้
งานกู้เรือที่บริษัทสัญชาติอิตาลีมาช่วยเหลือน้องเขยเขาประสบผลลุล่วงด้วยดี
แต่ที่สำคัญที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของหมอชัยยุทธก็คือ เขาได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับผู้จัดการชาวอิตาลีของบริษัทมาริโอ
เอ็ม โคลัมโบ ที่ชื่อจิออร์จิโอ แบล์ริงเจียรี และมีการขยายความสัมพันธ์ถึงขั้นร่วมหอลงโรงกันตั้งบริษัทร่วมกันในปีถัดมา
เพื่อทำธุรกิจนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศ คือบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม (ITI)
ใครจะนึกว่าจากการเริ่มต้นในวันนั้น อาณาจักรอิตัลไทยจะใหญ่โตขนาดนี้ในวันนี้
ที่มีบริษัทในเครือกว่า 30 บริษัทใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มก่อสร้าง กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม
กลุ่มการค้า กลุ่มธุรกิจโรงแรมและทรัพย์สิน (ดูตารางประกอบ)
หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของอิตัลไทยวันนี้ แบล์ริงเจียรี กล่าวไว้ชัดเจนในสุนทรพจน์ที่รายงานในพิธีเปิดอาคารอิตัลไทยที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เมื่อวันที่
16 เมษายน 2521 ว่า ประการแรกก็คือ มาจากมิตรภาพอย่างจริงใจระหว่างเขาและหมอชัยยุทธนั่นเอง
ด้วยมิตรภาพนี้เอง เมื่อคราวที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่อิตาเลียนไทยฯ
สร้าง ได้ตรัสถามหมอชัยยุทธว่าทำไมชื่ออิตาเลียนไทย ไม่เป็นไทยอิตาเลียน
หมอชัยยุทธได้กราบทูลว่า เขาต้องรักษาชื่อนี้เพื่อให้เกียรติเพื่อนชาวอิตาเลียนที่เป็นผู้เริ่มต้นบริษัทจากศูนย์ร่วมกับเขา
ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านธุรกิจมากนัก
สิ่งที่หมอชัยยุทธภูมิใจมากชนิดที่ต้องเล่าทุกครั้งที่เอ่ยถึงตำนานของอิตัลไทยก็คือ
ITI คือบริษัทแรกที่นำเข้าเตาแก้สมาขายในประเทศไทย
แต่การขยายตัวที่สำคัญที่สุดของกลุ่มอิตัลไทยก็คือ การเกิดบริษัทอิตาเลียนไทย
ดีเวลล๊อปเมนต์ขึ้นมาในปี 2501 เพื่อทำธุรกิจด้านการก่อสร้าง
เป็นการตั้งชื่อในช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะช่วงนั้นประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 นายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ประกาศนโยบายหนุนบริษัทไทยในการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างเต็มที่ ส่งผลให้อิตาเลียนไทยฯ
สามารถที่จะขยายตัวได้อย่างมาก แค่ปีแรกก็มีรายได้ถึง 40 กว่าล้านบาทและเพิ่มเป็นเท่าตัวในปีต่อมา
จนวันนี้อิตาเลียนไทยฯ มีงานก่อสร้างอยู่ในมือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 20,000
ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นงานของภาครัฐ คือโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ
หมอชัยยุทธกล่าวว่า ความสำเร็จของอิตาเลียนไทยในวันนี้ มาจากการที่อิตาเลียนไทยฯ
ไม่เคยทิ้งงาน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน
โครงการที่หมอชัยยุทธภูมิใจมากที่สุดของ ITD ก็คือ การก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม
ที่ทำให้เขาต้องเสียลูกน้องมือดีหลายคนในช่วงการเจาะภูเขาทำอุโมงค์ และเมื่องานนี้เสร็จ
เกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในขณะนั้นก็เสนอขอปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้
ด้วยคนงานกว่าหมื่นชีวิต วิศวกรอีกกว่า 300 คน ITD จึงนับเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างของไทยอย่างแท้จริง
ปี 2509 กลุ่มอิตัลไทยสยายปีกเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม เมื่อต้องเทคโอเวอร์โรงแรมนิภาลอดจ์ที่พัทยา
(เพิ่งประกาศปิดตัวเองเพราะเจ้าของที่ดินไม่ให้เช่าที่ดินต่อเมื่อสิ้นปีก่อน)
และถูกจับตามองมากขึ้นเมื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ในโรงแรมโอเรียลเต็ล ซึ่งเป็นโรงแรมที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
วันนี้กลุ่มอิตัลไทยนับเป็นราชาโรงแรมตัวจริง ด้วยจำนวนโรงแรมในเครือที่มีถึง
13 โรงแรมทั่วประเทศ และกำลังก่อสร้างอยู่อีก 2-3 แห่ง เช่นที่กระบี่ เกาะสมุย
เป็นต้น
อีกเครือข่ายที่ใหญ่มากของอิตัลไทยก็คือ เครือข่ายด้านการค้า โดยเฉพาะสินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่ม
ที่อิตัลไทยอุตสาหกรรม เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มไวน์จากฝรั่งเศสและอิตาลีกว่า
30 ยี่ห้อ เหล้าและน้ำแร่อีกหลายยี่ห้อ ทั้งจากยุโรปและอเมริกา จนถึงอุปกรณ์เครื่องจักรกลต่างๆ
วันนี้ของอิตัลไทยกรุ๊ปที่กำลังจะเปลี่ยนถ่ายยุค เมื่อหมอชัยยุทธกำลังจะก้าวลงจากบัลลังก์ให้ลูกๆ
รับงานต่อ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง