Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2536
"เปรมชัย กรรณสูต บ่ม…จนได้ที่"             
โดย ชาย ซีโฮ่
 

 
Charts & Figures

โครงสร้างเครืออิตัลไทย

   
related stories

"กว่าจะเป็นอาณาจักรอิตัลไทยวันนี้"

   
www resources

โฮมเพจ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์

   
search resources

อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์, บมจ.
เปรมชัย กรรณสูต




นับจากการเสียชีวิตของเอกชัย กรรณสูต และจิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี ในปี 2522 และ 2524 จนถือเป็นยุคขาดผู้บริหารของกลุ่มอิตัลไทยวันนี้ เปรมชัย กรรณสูต พร้อมแล้วที่จะขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งเต็มตัว เพื่อนำนาวาอิตัลไทยไปสู่เป้าหมายที่เขาวางไว้ หลังจากที่ถูกหมอชัยยุทธใช้เวลากว่า 10 ปีเพื่อเพาะบ่มจนได้ที่…สำหรับการเป็นเบอร์หนึ่งของอิตัลไทยต่อไป

ครั้งหนึ่งหมอชัยยุทธ กรรณสูต ประธานกลุ่มอิตัลไทยบอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงการที่เขาต้องทำงานหนักมาจนแทบจะตลอดชีวิตว่า ถือว่าเป็นบุญที่ได้เลือกมีชีวิตด้วยการทำงานที่เขาชอบคืองานด้านธุรกิจก่อสร้าง แต่ในวันนี้ หมอชัยยุทธเริ่มวางมือจากงานที่เปรียบเสมือนลมหายใจเข้าออกของเขา นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เขาเริ่มหายหน้าหายตาไปจากออฟฟิศบนชั้นที่ 16 ของอาคารสำนักงานใหญ่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ไปใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ไร่องุ่น จังหวัดเลย หรือไม่ก็รีสอร์ทที่เชียงใหม่

ภาระทั้งหมดถูกผ่องถ่ายไปให้กับทายาทที่ชื่อเปรมชัย กรรณสูต ที่ได้รับการวางตัวเป็นทายาทในฐานะผู้บริหารสูงสุดของอิตัลไทย เปรมชัยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ซึ่งเป็นตำแหน่งของหมอชัยยุทธมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว

ในช่วงแรกของการขึ้นสู่ตำแหน่ง เงาของหมอชัยยุทธซึ่งขึ้นไปกินตำแหน่งประธานกลุ่มอิตัลไทยเพียงตำแหน่งเดียวยังคงทาบทับอยู่ แล้วก็ค่อยๆ เลือนหายไปตามประสบการณ์ที่กล้าแข็งขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไปของเปรมชัย จนกระทั่งถึงจุดที่หมอชัยยุทธวางมือจากธุรกิจของอิตัลไทยโดยสิ้นเชิงก็เป็นวันที่เปรมชัยอยู่ในฐานะเบอร์หนึ่งอย่างเต็มตัว

การขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของเปรมชัย กรรณสูต ที่อิตัลไทยในตำแหน่งประธานบริหารของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด ในวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เนื่องจากความเป็นทายาทของหมอชัยยุทธ ผู้ก่อตั้งอิตัลไทย ทำให้การอธิบายถึงความเหมาะสมของเขามีมากที่สุดแม้เรื่องเหมาะสมดังกล่าว เกิดขึ้นมาเนื่องจากอุบัติเหตุที่พรากพี่ชายไปจากเขาก็ตาม

ปัญหาก็คือ เขาจะทำหน้าที่ความเป็น "เบอร์หนึ่ง" ได้ดีแค่ไหนเท่านั้น!!!

"คุณเปรม (ชัย) เป็นคนทำงานหนักมาก ไม่ว่าจะไปที่ไหน ตอนเย็นท่านจะกลับมาทำงานต่อที่ออฟฟิศถึงค่ำทุกคืน" คนในอิตัลไทยกล่าวถึงนายใหญ่คนใหม่ของเขาให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

นั่นหมายความว่า เปรมชัยรู้ดีว่า เขามีความกดดันแค่ไหนกับการเป็นนายใหญ่ของอิตัลไทย ที่เป็นสมบัติของตระกูล "กรรณสูต"

บวกกับมีเรื่องเล่ากันว่าเปรมชัยเองไม่ได้มีความปรารถนาที่จะมานั่งทำงานในอิตัลไทยมากนัก ช่วงปี 2520-21 อันเป็นระยะแรกที่เขาเข้ามาทำงานในอิตัลไทย ดูจะเป็นช่วงที่เขาไม่มีความสุขมากๆ อาจจะเนื่องจากความเป็นบุตรของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ที่ทำให้เขามีความรู้สึกว่า การทำงานที่อิตัลไทยเป็นเรื่องที่เขาไม่สามารถที่จะพิสูจน์ให้ใครเห็นว่า เขาเก่งจริงหรือเข้ามาเพราะเส้นสาย

อย่างไรก็ตามเปรมชัยไม่สามารถที่จะขัดแนวคิดของหมอชัยยุทธในเรื่องที่ว่า เขาสามารถที่จะฝึกให้ลูกชายเป็นงานได้ ช่วงดังกล่าวคนในอิตัลไทยหลายคน จึงมองเห็นหนุ่มน้อยร่างใหญ่คนหนึ่ง มานั่งทำงานที่อิตัลไทยในสำนักงานผู้บริหารเป็นประจำ

แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเอกชัย กรรณสูต บุตรชายคนโตที่ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ของหมอชัยยุทธในปี 2522 สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อชีวิตของเปรมชัยจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะการสูญเสียบุตรชายคนโตด้วยวัยแค่ 32 ปีกับ 10 วันนั่นหมายความว่า อิตัลไทย จะต้องตกทอดมาถึงเขา-เปรมชัย กรรณสูต อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเขาเป็นบุตรชายคนเดียวที่เหลืออยู่ (หมอชัยยุทธ-ม.ร.ว. หญิง พรรณจิต (สกุลเดิม วรวรรณ) มีบุตร-ธิดา 5 คนคือ เอกชัย พิไลจิตร นิจพร อรเอม เปรมชัย)

แต่แม้ไม่เกิดอุบัติเหตุของเอกชัย ใครๆ ก็รู้ว่าเปรมชัยถูกวางตัวให้เป็นทายาท (คนหนึ่ง) ของอิตัลไทยมานานแล้ว นับตั้งแต่การเรียนหนังสือ กล่าวคือ เปรมชัยก็เหมือนกับพี่ชาย (เอกชัยที่เสียชีวิตไปแล้ว) ที่ไม่สามารถที่เลือกเส้นทางชีวิตของเขาเองได้ โดยเขาถูกหมอชัยยุทธ "บังคับ" ให้เรียน "วิศวกร" เพื่อกลับมาดูงานของอิตัลไทย

เปรมชัยจึงถูกลิขิตให้ BORN TO BE BOSS มาตั้งแต่เกิด!!!!

จะว่าไปแล้ว คนในตระกูลกรรณสูตที่เป็นทายาทของหมอชัยยุทธ ดูจะถูกหมอชัยยุทธวางแผนที่จะให้รับช่วงมรดกอิตัลไทยจากเขาทุกคน ดังนั้นลูกๆ ทั้ง 5 คนจึงถูกวางแผนให้เรียนในสายวิชาชีพที่จะมาดูงานในเครือต่อไปทั้งสิ้น

เอกชัย กรรณสูต-ทายาทคนโตที่เสียชีวิต ก็จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก WORCESTER POLYTECHNIC INSTITUTE ที่ BOSTON สหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะมาดูงานด้านการก่อสร้างของบริษัท (แต่เขาเสียชีวิตในขณะยังทดลองทำงานอยู่ที่บริษัทเครื่องจักรกลสยามในเครืออิตัลไทย) เช่นเดียวกับทายาทชายที่เหลือ คือเปรมชัยที่เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก็ร่ำเรียนมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ คือ MINING ENGENEERING จาก COLORADE UNIVERSITY และจบ MBA จาก UNIVERSITY OF SOUTHERN CALIFORNIA

ขณะที่ลูกสาวของหมอทั้งสามคน คือพิไลจิตร นิจพร อรเอม ต่างก็เรียนจบคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่างก็เคยดูแลงานด้านบัญชีและการเงินของอิตัลไทยมาแล้ว

สถานภาพปัจจุบันของทายาทหญิงทั้ง 3 คนของหมอชัยยุทธในวันนี้ จึงค่อนข้างลงทุนสำหรับอนาคตที่เขาได้วางไว้แล้ว

พิไลจิตร เริงพิทยา ธิดาคนโต แม้ในอาจจะดูมีบทบาทน้อยในอิตัลไทยเมื่อเทียบกับน้องสาว แต่ในฐานะกรรมการผู้จัดการอิตัลไทยโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทที่จะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการลงทุนของกลุ่มอิตัลไทย ตำแหน่งของเธอ จึงดูจะไม่ได้ด้อยบทบาทเลย ที่สำคัญในวันนี้เธอคือบุตรคนโตของคุณหมอนับจากที่เอกชัยเสียชีวิตเมื่อปี 2522

ก่อนหน้านี้หมอชัยยุทธฝากความหวังของอิตัลไทยไว้กับพิไลจิตรและสามีของเธอ (ดร. วิพรรธ์) เป็นอย่างมากเมื่อคราวที่เอกชัยเสียชีวิต ดังนั้นในวันนี้ ภาระของเธอดูจะไม่น้อยจากวันวานเลย แม้จะไม่มีดร. วิพรรธ์อยู่เคียงข้างที่อิตัลไทยก็ตาม

นิจพร จรณะจิตต์ ภรรยาของอดิสร ที่หลายคนยอมรับว่า บทบาทของบรรดาธิดาของหมอ เธอมีบทบาทมากที่สุด ในฐานะกรรมการรองประธานอิตาเลียนไทยฯ ก็แสดงให้เห็นว่า อำนาจหน้าที่ของเธอไม่ได้ด้อยกว่าใครทั้งสิ้นในอิตัลไทยกรุ๊ป

อรเอม เทอดประวัติ การเป็นบุตรสาวคนสุดท้ายและการเป็นคนค่อนข้างเงียบทั้งในสังคมและวงการธุรกิจ อาจจะมีคนรู้จักเธอน้อยกว่าบุตร-ธิดาคนอื่นๆ ของคุณพ่อ-คุณแม่ แต่การที่หมอชัยยุทธให้เธอรับตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท CPK INTERNATIONAL (CPK ย่อมาจากชื่อของหมอชัยยุทธ-ม.ร.ว. หญิง พรรณจิตร กรรณสูต) ที่ทำโครงการสวนองุ่นที่จังหวัดเลย ดูจะเป็นเสมือนสัญญาณจากหมอว่า เขาต้องการให้เธอช่วยดูงานใหญ่ในอนาคต อันเนื่องจากโครงการของ CPK INTERNATIONAL นั้น เป็นโครงการใหญ่มาก เนื่องจากจะเป็นบริษัทที่ปลูกองุ่นป้อนโรงงานผลิตไวน์ที่หมอชัยยุทธได้รับลิขสิทธิ์จากต่างประเทศหลายยี่ห้อ

มิหนำซ้ำ ในทายาทที่เหลืออยู่ทั้ง 4 คนของหมอชัยยุทธ อรเอมเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เป็นกรรมการในอิตัลไทย อันสามารถที่จะตีความได้ 2 ประการ คือประการแรก เธอไม่ชอบที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับอิตัลไทยตามนิสัยที่เงียบๆ ของเธอและสามี ซึ่งทำงานอยู่ในอิตัลไทยด้วย และประการที่สองก็คือ เธอเองถูกกันออกจากงานของอิตัลไทยแล้วโดยสิ้นเชิง

การที่หมอชัยยุทธย้ำกับ "ผู้จัดการ" ว่า อนาคตของอิตัลไทยยังคงเป็นคนตระกูล "กรรณสูต" โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็ดูจะสอดคล้องยิ่งกับการวางแผนให้บุตร-ธิดาแต่ละคนเรียนมาเพื่อที่จะสืบทอดความเป็นเจ้าของอิตัลไทย

"เราทำเองได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์" หมอชัยยุทธย้ำกับ "ผู้จัดการ" ในเรื่องนี้หลายครั้ง

แต่เมื่อถึงยุคเปรมชัย กรรณสูต ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารอิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มอิตัลไทยด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมโรงงานคนใหม่ ดูเหมือนว่าแนวคิดในเรื่องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของเขาต่างไปจากผู้เป็นพ่อ เพราะท่าทีของเขาค่อนข้างที่จะให้ความสนใจกับการนำบริษัทในเครือเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บริษัทในเครืออิตัลไทยที่เปรมชัยมองว่าสมควรจะเข้าตลาดได้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม ที่หลายๆ โรงแรมในเครืออิตัลไทยอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เช่น โรงแรมโอเรียลเต็ล โรงแรมรอยัลออคิด

"เรายังมีบริษัทอื่นๆ อีกหลายบริษัทที่เตรียมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างเช่นบริษัท สยามสตีลซินดีเกต หรือสยามแมชชินเนอร์รี่" เปรมชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงทิศทางของกลุ่มในวันหน้า

ทิศทางดังกล่าว เป็นทิศทางที่เหมาะสมยิ่งกับการเริ่มยุคใหม่ของอิตัลไทย เพื่อลดปัญหาในเรื่อง "ศึกสายเลือด" ที่หลายคนยืนยันว่า "จบแล้ว" !!!

โดยเฉพาะหลังจากที่รนัฎชญ์ ศิวะทัต หลานชายของหมอชัยยุทธ ที่ตัดสินใจลาออกจากอิตัลไทย เพื่อเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาเพราะความขัดแย้งระหว่างเขาและอดิสร จรณะจิตต์ ลูกเขยของหมอชัยยุทธในบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมพร้อมทั้งไปเปิดบริษัทใหม่ชื่อ "ภูมิไทย" ที่ทำกิจการทุกอย่างเหมือนกับอิตัลไทย

"ดูเหมือนจะมีสินค้าหลายตัวเหมือนกัน ที่คุณรนัฎชญ์ดึงจากอิตัลไทยมาเป็นผู้แทนจำหน่ายเอง" คนเก่าแก่ในอิตัลไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับเรื่องนี้

คนใกล้ชิดรนัฎชญ์กล่าวถึงการมาตั้งภูมิไทยของเขาว่า เพื่อที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเขาก็มีความสามารถที่จะทำให้อิตัลไทยอุตสาหกรรมใหญ่ได้ แต่เมื่อไม่มีโอกาส เขาก็พร้อมที่จะออกมาเพื่อสายฝันให้ทุกคนเห็นความสามารถ

จะว่าไปแล้ว รนัฎชญ์นับเป็นหลานที่หมอชัยยุทธให้ความรักคนหนึ่ง การให้โอกาสมาถึงระดับการเป็นผู้บริหารอิตัลไทย (ผู้จัดการทั่วไป) ก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเชื่อใจของหมอที่ให้กับหลานคนนี้

ส่วนหนึ่งของการให้โอกาสหลานคนนี้ขึ้นเป็นผู้บริหารอิตัลไทยนั้น เชื่อว่ามาจากการที่รนัฎชญ์เป็นลูกชายของเผด็จ ศิวะทัต น้องเขยของเขา ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้หมอชัยยุทธรู้จักกับแบร์ลิงเจียรีและร่วมกันให้กำเนิดอิตัลไทยในเวลาต่อมา

ผลงานของรนัฎชญ์ บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ สาขา SYSTEM ENGINEERING จากWESTCOAST UNIVERSITY ที่ทำให้หมอชัยยุทธประทับใจตัวหลานของเขาคนนี้ ถึงขั้นให้เลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ในเวลาต่อมาก็คือการที่เขาสามารถที่จะเจรจาให้อิตัลไทยอุตสาหกรรม ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์โทดาโน จากประเทศญี่ปุ่น มาขายในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ และเป็นการเปิดศักราชความสัมพันธ์ระหว่างอิตัลไทยกรุ๊ปกับคู่ค้าญี่ปุ่นอีกหลายๆ บริษัทในเวลาต่อมา

แต่กรณีขัดแย้งระหว่างลูกเขยกับหลานเป็นเรื่องที่หมอชัยยุทธกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องผิดคาดที่หมอชัยยุทธวางเฉยกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนในที่สุด รนัฎชญ์ตัดสินใจลาออกไปสร้างอาณาจักรของตนเองในชื่อ "ภูมิไทย" แม้มีเรื่องเล่ากันว่า หมอชัยยุทธเสียใจมากในเรื่องดังกล่าว

แต่คนในอิตัลไทยกลับมองเรื่องนี้ว่าการลาออกของรนัฎชญ์นั้น ก็เนื่องมาจากเขารู้ตัวดีว่าไม่สามารถที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของอิตัลไทยได้ เพราะเขาไม่ใช่คนในตระกูล "กรรณสูต" เพราะมารดาของเขา เป็นน้องสาวของหมอชัยยุทธ

เขาเข้ามายังอิตัลไทยในรูปของความเป็น "มืออาชีพ" ที่ต้องการจะใช้วิชาชีพด้าน
วิศวกรรมศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาทำงาน เมื่อผู้เป็นลุง (หมอชัยยุทธ) เปิดโอกาสให้ เขาก็พร้อมที่จะรับโอกาสนั้น แม้รู้ดีว่าเส้นทางของเขาจะหยุดอยู่ตรงไหนก็ตาม

การลาออกจากอิตัลไทยของเขา จึงเป็นความพร้อมใจของเขามากกว่าเหตุผลอื่น ขณะที่เรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งกับอดิสรในเรื่องของการช่วงชิงอำนาจนั้น เป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นเร็วและเป็นหนึ่งในสีสันของการอธิบายเรื่องราวให้สมเหตุสมผลเท่านั้น
เขารู้ว่า "งาน" ของเขาที่อิตัลไทยจบลงแล้ว!!!

คนเก่าแก่ที่นี่ เล่ากันว่า รนัฎชญ์เข้ามาอยู่เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับเปรมชัยระยะหนึ่ง เมื่อเปรมชัยสามารถที่ยืนได้ด้วยตัวเอง เขาก็คงอยากจะมีธุรกิจของตัวเองบ้าง

คำอธิบายดังกล่าว ดูจะสอดคล้องยิ่งกับการกล่าวถึงการเกิดใหม่ของ "ภูมิไทย" ที่รนัฎชญ์เลือกเป็นเส้นทางชีวิตของเขาในการเป็นเถ้าแก่ ที่ดูเหมือนจะเป็นการลอกแบบอิตัลไทยอุตสาหกรรมมาเกือบยกกะบิ

แต่การลาออกจากอิตัลไทยของรนัฎชญ์ ไม่ได้เป็นครั้งแรกของอิตัลไทยกรุ๊ป ที่คนซึ่งเกี่ยวข้องกับตระกูล "กรรณสูต" ต้องลาออกไปจากบริษัทครอบครัวแห่งนี้ ทั้งๆ ที่คนที่เกี่ยวข้องกับตระกูลนี้ ควรจะอยู่เพื่อรังสรรค์งานที่นี่ให้มากที่สุด

โดยเฉพาะการลาออกของ ดร. วิพรรธ์ เริงพิทยา เขยใหญ่ของหมอชัยยุทธ ซึ่งเป็นคนที่หมอหวังมากที่จะรับช่วงการบริหารต่อจากเขาภายหลังการเสียชีวิตของเอกชัยเมื่อหลายปีก่อน!!!

การเข้ามาของดร. วิพรรธ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "นักบริหารมืออาชีพ" นั้น เป็นที่รู้กันว่า เขามาเพื่อที่จะจัดการระบบงานของอิตัลไทยให้เข้าระบบ และมาเพื่อที่จะเป็นผู้บริหารสูงสุดคนหนึ่งของอิตัลไทยกรุ๊ป อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของเอกชัยและจิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี ผู้ร่วมก่อตั้งอิตัลไทยในช่วงปี 2522 และปี 2524 ซึ่งถือว่าเป็นยุคแห่งการขาดแคลนผู้บริหารของกลุ่มด้วย และเป็นยุคที่ศูนย์กลางของอิตัลไทยทุกอย่างมารวมอยู่ที่หมอชัยยุทธ กรรณสูต ที่เริ่มมองถึงการดึงคนนอกมาช่วยในการบริหาร และเขาเลือกดร. วิพรรธ์ เพราะนอกเหนือจากความเป็นนักบริหารอาชีพแล้ว ยังเป็นลูกเขยของตัวเองด้วย

การเข้ามาในครั้งนั้น จะว่าไปแล้ว หากเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ ที่ดร. วิพรรธ์ต้องลาออก บางทีอิตัลไทยอาจจะไปได้ไกลกว่านี้

ทั้งนี้เพราะการเข้ามาอิตัลไทยของดร. วิพรรธ์นั้น เขาสามารถที่จะดึงมืออาชีพในด้านต่างๆ มาช่วยหลายคนซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ เสรี จินตนเสรี กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เชื่อมือดร. วิพรรธ์ถึงขั้นยอมลาออกจากแบงก์ชาติมาร่วมงานกับดร. วิพรรธ์ที่อิตัลไทย ในขณะที่ตำแหน่งของเขาในแบงก์ชาติในขณะนั้นเป็นถึงรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายแบงก์ชาติ

หลายคนเชื่อกันว่าการลาออกของดร. วิพรรธ์ สืบเนื่องมาจากความล้มเหลวในการปลุกชีพบริษัทเรโนลต์ แต่เสรีมือขวาของดร. วิพรรธ์ (ในขณะนั้น) เคยให้ความเห็นว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่ หากแต่เป็นเพราะความที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ ทำให้ดร. วิพรรธ์ไม่สามารถที่จะทิ้งหลักการการทำงานที่ตนเห็นว่าถูกได้

"เขาไม่ยอมแม้กระทั่งหมอชัยยุทธ" เสรีเคยเล่าให้ฟังถึงบุคลิกความเป็นคน "ยอมหักไม่ยอมงอ" ของดร. วิพรรธ์ คนที่ทำให้เขายอมทิ้งอนาคตที่แบงก์ชาติมาร่วมหัวจมท้ายด้วยเพราะความนับถือเป็นการส่วนตัว

จะว่าไปแล้ว การมาของดร. วิพรรธ์นั้น หากหมอชัยยุทธยอม "อ่อนข้อ" ให้บ้างแล้ว ถึงวันนี้เขาอาจจะยังนั่งทำงานในระดับสูงอยู่ที่อิตัลไทย เพราะรูปแบบและแนวคิดการทำงานของดร. วิพรรธ์ ดูจะเหมือนกับจิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรีมากที่สุด นั่นคือการเน้นในเรื่องของการสร้างคนเพื่อรองรับงานที่จะมีในอนาคต

ดร. วิพรรธ์อาจจะถูกเทศะ แต่ไม่ถูกกาละ!!!

เพราะแม้แนวคิดของเขา จะได้รับการยอมรับจากหมอชัยยุทธว่าเป็นเรื่องดี แต่ในช่วงดังกล่าวนั้น (ปี 2522-25) หมอชัยยุทธมองว่า เรื่องการสร้างคนเป็นเรื่องสำคัญรองมาจากเรื่องการสร้างงานที่จะหารายได้เข้าอิตัลไทย เพราะภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น ควรที่จะจัดการเรื่องงานก่อนคน

การลาออกของดร. วิพรรธ์และทีมงานอีกหลายคนในช่วงนั้น (รวมทั้งเสรีด้วย) เสรีเคยให้ความเห็นว่า ดร. วิพรรธ์ยอมลาออกเพื่อรักษาสัมพันธภาพความเป็นพ่อตา-ลูกเขยเอาไว้ก่อนที่ความขัดแย้งในเรื่องความคิดจะบานปลายมากกว่านั้น

ความเป็นคนที่เชื่อมั่นในตนเองสูงทั้งคู่ของพ่อตา-ลูกเขยคู่นี้ จึงต้องจบลงโดยต่างคนต่างก็เดินบนเส้นทางของตนเอง ขณะที่หมอชัยยุทธกล่าวถึงการลาออกของดร. วิพรรธ์กับ "ผู้จัดการ" ในครั้งนั้นว่า เป็นเพราะดร. วิพรรธ์ต้องการที่จะไปดูธุรกิจของตนเอง คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงงานชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์ชื่อบริษัททวิปเวล

"เขา (ดร. วิพรรธ์) เป็น ELECTRONIC ENGEERING มีกิจการของตนเองที่จะต้องไปดู" หมอชัยยุทธกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับการลาออกของดร. วิพรรธ์ในครั้งนั้น

เชื่อกันว่า มืออาชีพอย่างดร. วิพรรธ์และเสรีผิดหวังกับระบบงานของอิตัลไทยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยึดมั่นในระบบธุรกิจครอบครัวมากเกินไปแม้จะเป็นระบบที่สร้างความสำเร็จให้อิตัลไทยในวันนี้ก็ตาม

การลาจากของดร. วิพรรธ์จากอิตัลไทย เป็นการปิดฉาก "เขยใหญ่" ในอิตัลไทย แต่ก็เป็นการเปิดฉากของ "เขยกลาง" คืออดิสร จรณะจิตต์ ในอิตัลไทยที่เข้ามาแทนที่

และเป็นการแทนที่ได้อย่างเหมาะสมด้วย!!!

เพราะอดิสรในวันนี้ เขาพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เขาเป็นคนเก่งมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องการเงินที่เป็นเรื่องสำคัญของบริษัทก่อสร้าง

"การเติบโตของอิตัลไทยในวงการก่อสร้างในอดีตนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า มากจากการวิเคราะห์เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของมร. จิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรีถูกต้อง ทำให้อิตาเลี่ยนไทยสามารถที่จะประมูลได้งานด้วยราคาประมูลที่ต่ำกว่าคู่แข่งหลายราย" คนในวงการก่อสร้างคอมเมนต์ให้ฟัง

หลังการเข้ามาของอดิสร บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตแบงก์เกอร์จากเชส-แมนฮัตตัน และซิตี้แบงก์ เขาจึงสามารถที่จะมาช่วยในเรื่องการวิเคราะห์โครงการด้านการเงินของอิตาเลียนไทยได้เป็นอย่างดี

"ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีการลดค่าเงินบาท ผมยอมรับว่าไอทีดี (อิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์) อยู่ในฐานะย่ำแย่เพราะเราใช้เงินกู้ต่างประเทศมาโดยตลอด วันนี้เราจึงให้ความสำคัญกับระบบไฟแนนซ์มากที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมา เราจึงใช้เงินจากแทบทุกแบงก์…" เปรมชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" อันเป็นการชี้ให้เห็นว่าปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างพี่น้องนั้นแทบจะไม่มี เพราะคนที่ดูเรื่องการเงินนั้นคือนิจพร พี่สาวของเขาเอง และมีอดิสร พี่เขยเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้านการเงิน

ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่อิตัลไทยมีปัญหาดังกล่าวนั่นเอง เป็นยุคที่ได้รับการกล่าวถึง "ศึกสายเลือด" ในอิตัลไทยอย่างมีสีสัน เนื่องเพราะเป็นยุคที่ผู้บริหารระดับสูงของอิตัลไทยมี 2 คนอย่างเห็นได้ชัด คือเปรมชัย กรรณสูต บุตรชายหมอชัยยุทธที่หลายคนเชื่อว่าจะต้องขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน แต่เขาก็ยังใหม่มากกับงานต่างๆ ในอิตัลไทยในช่วงนั้น

อีกหนึ่งก็คือ อดิสร จรณะจิตต์ ลูกเขยของหมอชัยยุทธ คนที่กำลังมีอำนาจการบริหารสูงสุดในตอนนั้น (รองจากหมอชัยยุทธเอง)

ในท่ามกลางข่าวลือเรื่องศึกสายเลือดนั้น จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่อดิสรเองคงจะไม่สามารถที่จะเลี่ยงการเป็นตัวละครตัวหนึ่งไปได้ อันเนื่องจากตำแหน่งที่ค่อนข้างใหญ่ของเขาในช่วงนั้น

แม้ในความเป็นจริงนั้น เขาไม่เปิดศึกสายเลือดกับเปรมชัยอย่างแน่นอน!!!

เพราะเขาและภรรยา-นิจพร ผู้เป็นพี่สาวของเปรมชัย ดูจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า คือผู้ดูแลอิตัลไทยอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน ในขณะที่เปรมชัยคือเจ้าของอิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในด้านก่อสร้างของประเทศและของอินโดจีนไปครอง

ขณะที่เปรมชัย ควรจะเป็นผู้ดูแลงานก่อสร้าง นั่นคืออิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์ อิตัลไทยเทรวี หรือกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นธุรกิจที่จะทำหน้าที่ซัพพลายธุรกิจก่อสร้างของอิตัลไทยกรุ๊ป

นอกจาก "ความเก่ง" แล้ว กล่าวกันว่าเหตุผลอีกประการที่ทำให้อดิสรสามารถที่จะอยู่ในอิตัลไทยได้จนถึงวันนี้โดยไม่มีปัญหากับหมอชัยยุทธอย่างที่ ดร. วิพรรธ์เผชิญก็คือการยอมรับความเห็นของคนอื่นๆ …โดยเฉพาะความเห็นของหมอชัยยุทธ!!

ที่สำคัญก็คือ อดิสรจะไม่มีการให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะออกความเห็นต่อสาธารณชน อันอาจจะเกิดผลกระทบต่อตัวเขาและคำสั่งนี้ เป็นที่รับรู้ถึงบรรดาคนใกล้ชิดของเขาด้วยว่าไม่ควรที่จะเอ่ยปาก ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

การใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวของอดิสรจึงนับว่าประสบผลสำเร็จมาก เพราะทุกวันนี้ไม่มีการกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งในอิตัลไทยอีกต่อไป

และทุกอย่างในอิตัลไทยกรุ๊ป ก็เริ่มลงตัวพร้อมๆ กับการถ่ายตัวออกจากงานที่อิตัลไทยของหมอชัยยุทธ กรรณสูต ผู้สร้างตำนานการก่อตั้งอิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์ ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างของประเทศ ที่จะหันไปสู่การเป็นนักอุตสาหกรรมการเกษตรแทนการเป็นนายช่างก่อสร้าง ขณะที่เปรมชัย กรรณสูต ขึ้นมารับงานที่อิตัลไทยแทน

หมอชัยยุทธกำลังเขียนบทจบภาคหนึ่งของอิตัลไทยกรุ๊ปในวันนี้ ขณะที่ถ่ายงานภาคสองให้เปรมชัยเขียนต่อ โดยมีการวางพล็อตเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว

หมอชัยยุทธกล่าวถึงระบบการทำงานของกลุ่มอิตัลไทยจากนี้ไป ซึ่งจะเป็นความรับผิดชอบของเปรมชัยว่า จะเป็นรูปแบบของการพึ่งตนเองในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก่อสร้าง กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมหรือกลุ่มอื่นๆ

รูปธรรมที่เริ่มเห็นชัดเจนในเรื่องการ "พึ่งตนเอง" ที่หมอชัยยุทธกล่าวไว้ก็คือ การที่เครืออิตัลไทยลงมาตั้งบริษัทที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตเพื่อป้อนโรงงานหรืองานของบริษัทในเครือมากขึ้น อย่างเช่น การตั้งบริษัทสระบุรีซีเมนต์ขึ้นมาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ป้อนกับอิตาเลียนไทย เพื่อใช้ในการก่อสร้าง

จะว่าไปแล้ว เรื่องการหาทางออกของอิตัลไทยเพื่อเสาะหาความสำเร็จของตนเองนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่นัก เพราะก่อนหน้านี้อิตัลไทยเคยใช้รูปแบบนี้มาก่อนแล้ว อย่างเช่นตัวอย่างของการเกิดบริษัท ไทยนิปปอนสตีล เพื่อผลิตเหล็กสำหรับป้อนโรงงานต่อเรือของอิตัลไทยมารีนโดยการร่วมทุนกับกลุ่มนิปปอนสตีลของญี่ปุ่น หรือตั้งบริษัทสยามสตีลซินดิเกต เพื่อผลิตเหล็กสำหรับก่อสร้าง

และการหาทางออกด้วยการลงมาทำอุตสาหกรรมพื้นฐานเพื่อป้อนโรงงานในเครือนี้ ดูจะเป็นอนาคตที่หมอชัยยุทธชอบมาก อย่างเช่นการตั้งบริษัท CPK INTERNATIONAL เพื่อทำสวนองุ่นที่จังหวัดเลยของเขา สำหรับป้อนโรงงานผลิตไวน์ในเครือที่ได้รับลิขสิทธิ์จากฝรั่งเศสและอิตาลี เนื่องจากอดีตในวัยเด็กนั้น หมอชัยยุทธกล่าวว่า สิ่งที่ตนต้องการที่จะเป็นมากที่สุดก็คือ การเป็นเกษตรกรถึงขั้นเคยสอบชิงทุนหลวงได้ แต่ไม่สามารถที่จะไปเรียนต่อ (ต่างประเทศ) ได้เพราะเกิดสงครามโลก

ที่สำคัญก็คือ ระบบงานที่อิตัลไทย หมอชัยยุทธสามารถวางไว้สำหรับบรรดาลูกๆ ของเขาทุกอย่างลงตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ!!!

โดยเฉพาะเปรมชัย กรรณสูต ที่เป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียวของเขา หลังการเสียชีวิตของเอกชัยและแบร์ลิงเจียรีเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เขาได้บ่มเพาะความรู้ ความสามารถ จนถึงสายสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ให้จนมีความพร้อมที่จะขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งอย่างสมบูรณ์แบบเสียที

10 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเสียชีวิตของพี่ชาย จึงกล่าวกันว่า เป็นช่วงเวลา 10 กว่าปีที่เปรมชัยทำงานหนักมาก ทั้งการเรียนรู้งาน การเรียนรู้สายสัมพันธ์ เพื่อเตรียมที่จะขึ้นมาเป็นนายใหญ่ของอิตัลไทยในวันนี้

มิหนำซ้ำ ถึงวันนี้เปรมชัยได้สะสมบารมีและสายสัมพันธ์ไว้ได้แล้ว ถึงระดับที่กล่าวกันว่าความใหญ่ของอิตาเลียนไทยฯ ในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเปรมชัยที่เป็นกุญแจดอกหนึ่งของความสำเร็จ

คนในวงการก่อสร้างยกตัวอย่างให้ "ผู้จัดการ" เห็นว่า สายสัมพันธ์ที่ดีของเปรมชัยในวันนี้ในแวดวงการเมือง จะเห็นได้จากงานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่สงขลา ที่ในวันเซ็นสัญญาว่าจ้าง คนที่มีความสุขมากที่สุดนอกเหนือจากหมอชัยยุทธแล้ว ก็คือนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้หลายคน อันสอดคล้องกับที่เชื่อกันว่าเปรมชัยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองหนุ่มๆ วัยต้นสี่สิบอันเป็นคนรุ่นเดียวกับเขาหลายคน โดยเฉพาะในพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทย

"ตอนนี้งานในพวกเราไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างพี่น้อง อย่างเรื่องไฟแนนซ์ คุณนิจพร พี่สาวของผมก็เป็นคนดูแล หรือผมดูแลในเรื่องการบริหาร" เปรมชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เพื่อย้ำถึงการทำงานแบบ "ทีมเวอร์ค" ระหว่างคนในครอบครัว นอกเหนือจากที่มีพี่สาวอีกคนคือ พิไลจิตร เริงพิทยา เป็นพี่เลี้ยงในเรื่องการเงินอยู่ด้วยอีกคน ในฐานะกรรมการผู้จัดการอิตัลไทยโฮลดิ้ง

ขณะที่คนในอิตัลไทย ยืนยันว่า คนที่มีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเงินของกลุ่มอิตัลไทยนั้นก็คือ อดิสร จรณะจิตต์ อดีตแบงก์เกอร์เชสแมนฮัตตันและซิตี้แบงก์นั่นเอง

ยุคใหม่ของอิตัลไทย ที่มีทายาทของหมอชัยยุทธที่ชื่อเปรมชัย กรรณสูตเป็นหัวเรือใหญ่ นอกเหนือจากเป็นยุคแห่งการประสานผลประโยชน์ระหว่างพี่น้องลงตัวแล้ว ยังถือเป็นยุคใหม่ที่ผู้บริหารของอิตัลไทย เป็นบรรดาคนหนุ่มวัยเริ่ม 40 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเปรมชัย อดิสรหรือนิจพร ที่เป็น 3 คนที่มีบทบาทมากที่สุดในอิตัลไทยในวันนี้

วันนี้ของอิตัลไทยจึงยังคงความเป็นธุรกิจครอบครัวอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีการแบ่งงานกันอย่างเหมาะเจาะลงตัวที่สุด เพราะทายาททุกคนต่างก็มีงานที่จะต้องทุ่มเทให้กับอิตัลไทยอย่างเต็มที่

เปรมชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงทิศทางของกลุ่มอิตัลไทยนับจากนี้ไปว่า จะเดินหน้าหาพันธมิตรมากขึ้น โดยยกตัวอย่างถึงโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ที่อิตาเลียนไทย รับงานในฐานะเป็นผู้รับจ้างบริษัทกูมาไกภูมิ ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการให้กับบริษัททางด่วนกรุงเทพ

นั่นเป็นสิ่งที่คนในวงการธุรกิจเริ่มจับตามอง เนื่องจากมีการศึกษาพบว่ารูปแบบการขยายตัวทางธุรกิจของเปรมชัยดูจะต่างจากหมอชัยยุทธ ที่หลายครั้งมาจากความบังเอิญ (เช่นการเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม เพราะผู้ว่าจ้างสร้างโรงแรมนิภาลอดจ์ไม่มีเงินจ่ายค่าก่อสร้าง) เนื่องจากแนวคิดของเปรมชัยในเรื่องการขยายธุรกิจของกลุ่มอิตัลไทย จะเน้นใน 2 แนวทาง

แนวทางแรก เปรมชัยให้การยืนยันว่า จากนี้ไปหลายๆ บริษัทในเครืออิตัลไทย จะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและกลุ่มพัฒนาที่ดิน ที่เชื่อกันว่าปัจจุบันอิตัลไทยมี LANDBANK มากพอสมควรในหลายๆ พื้นที่ที่จะสร้างโรงแรมใหม่ของกลุ่ม เช่น โรงแรมพาราไดซ์เคฟที่กระบี่ หรือโรงแรมใหม่ที่เกาะสมุย

แนวทางที่สอง แนวคิดของเปรมชัยในเรื่องการแสวงหา "พันธมิตรทางธุรกิจ" กำลังเป็นที่จับตาไม่น้อย เพราะปัจจุบันนอกเหนือจากอิตาลี ฝรั่งเศสหรือญี่ปุ่นแล้ว เปรมชัยเริ่มมองหาพันธมิตรทางธุรกิจสัญชาติอื่นๆ มากขึ้น อย่างกรณีการดึงบริษัทวอสเปอร์ จากประเทศอังกฤษ มาร่วมทุนในอิตัลไทยมารีน เพื่อหาโนว์ฮาวใหม่ ก็เป็นความคิดริเริ่มของเขา

เป็นที่รู้กันว่า แนวคิดเรื่องการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจนี้ เปรมชัยได้เรียนรู้มาจากหมอชัยยุทธอย่างลึกซึ้ง เพราะช่วงก้าวกระโดดของอิตาเลียนไทยฯ ในปี 2529-30 อันเป็นช่วงการก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (EASTERN SEABOARD) การที่อิตาเลียนไทยฯ ลดทิฐิของตนเองด้วยการร่วมทุนกับต่างชาติคือญี่ปุ่น เป็นที่มาของความสำเร็จอันนี้เพราะงานก่อสร้างโครงการอีสเทอร์นซีบอร์ด หลายๆ โครงการหรือเกือบจะทั้งหมดเป็นเงินกู้จากต่างประเทศคือญี่ปุ่น (OECF) ที่เงื่อนไขส่วนหนึ่งก็คือผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องร่วมทุนกับญี่ปุ่น

บทเรียนในครั้งนั้น เปรมชัยรับทราบด้วยดีและเป็นสิ่งที่เขานำมาใช้ในวันนี้ด้วย

ยิ่งเมื่อบวกกับความเป็นวิศวกรของเปรมชัยด้วยแล้ว การเติบโตของกลุ่มอิตัลไทย โดยเฉพาะกลุ่มก่อสร้าง ดูจะยิ่งเป็นภาพที่น่าจับตามองไม่น้อย ประการสำคัญที่เชื่อกันว่ายุคของเปรมชัย อิตัลไทยจะไม่มีวันหยุดอยู่แค่นี้ก็คือ การที่เขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองนั่นเอง อย่างที่หลายคนเชื่อว่า เปรมชัยมีความสนิทเป็นพิเศษกับดร. สาวิตต์ โพธิวิหา ส.ส. ประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชวน หลีกภัย ชุดปัจจุบัน

"ความสัมพันธ์ดังกล่าว (ระหว่างเปรมชัยกับดร. สาวิตต์) ปรากฏให้เห็นถึงความช่วยเหลืออิตัลไทยในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังที่สมัยนั้น ดร. สาวิตต์ยังเป็นผู้อำนวยการโครงการอีสเทอร์นซีบอร์ดอยู่" คนในวงการเมืองเล่าให้ฟัง

ประธานกรรมการบริหารอิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ กล่าวถึงระบบการทำงานของบริษัทว่า เป็นการทำงานแบบทีมเวอร์ค โดยอาศัยการระดมสมองจากบุคคลต่างๆ ที่เป็นคณะกรรมการจำนวน 15 คนเพื่อหาข้อสรุปให้งานต่างๆ ลงตัว ซึ่งบอร์ดดังกล่าวจะใช้เวลาในช่วงบ่ายวันอังคารสำหรับประชุม "เราทำอย่างนี้มา 4-5 ปีแล้ว"

เรื่อง "ทีมเวอร์ค" นี้ หมอชัยยุทธให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับงานก่อสร้างมากพอๆ กับเรื่องของการสร้างคอนเนคชั่นทีเดียว โดยกล่าวว่าบริษัทก่อสร้างต่างชาติทำงานได้ดีกว่าไทยก็เพราะระบบทีมเวอร์คดีกว่านั่นเอง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของอิตาเลียนไทยฯ คนหนึ่ง ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า เปรมชัยเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องงานได้เร็วคนหนึ่งอันเนื่องมาจากพื้นฐานการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ บวกกับระบบการประชุมและปรึกษา ทำให้เขาสามารถรู้ปัญหาและตัดสินใจได้เร็ว และเชื่อว่า เวลากว่า 10 ปีในการเรียนรู้ของเปรมชัยนั้น ไม่ได้สูญเปล่าที่จะนำมาใช้ในวันนี้

สิ่งสำคัญก็คือ ทุกคนยอมรับว่า เปรมชัยมีความสามารถในเรื่องการใช้คน!!

"แม้ผมมีอำนาจ แต่ผมก็ยังต้องปรึกษาคนอื่นๆ" เปรมชัยกล่าวถึงการทำงานของเขาให้ฟัง อันหมายความว่าการทำงานต่างๆ นั้นยังคงเป็น GROUP DECISION มากกว่าการเป็นระบบ "ข้ามาคนเดียว" อย่างยุคหมอชัยยุทธ ที่เป็นช่วงขาดผู้บริหารของอิตัลไทย

พงษ์ศักดิ์ เดชอุดม รองประธานอิตาเลียนไทยฯ ที่ร่วมงานอิตัลไทยมานานให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่าในกลุ่มอิตัลไทยทั้งหมด กลุ่มก่อสร้างที่มีอิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์เป็นบริษัทหลัก จะยังคงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดในอิตัลไทยกรุ๊ป จึงไม่น่าแปลกใจที่หมอชัยยุทธตัดสินใจเลือกเปรมชัยมาดูแลกลุ่มนี้ ขณะที่กลุ่มการค้าหรือโรงแรม ที่เป็นสายงานรองมาถูกโอนให้อยู่ในการดูแลของบุตรสาวและบุตรเขย

"กลุ่มก่อสร้างทำรายได้ทั้งหมดประมาณ 50% ของอิตัลไทยทั้งหมด" รองประธานอิตาเลียนไทยฯ กล่าวถึงงานก่อสร้างของบริษัท ที่มีงานอยู่ในมือจำนวนมาก ที่คาดว่าจะตกประมาณปีละ 6-7,000 ล้านบาทจากมูลค่าเต็มโครงการของงานที่รับอยู่กว่า 20,000 ล้านบาท

นับว่ายุคใหม่ของอิตัลไทยที่เป็นยุคที่เปรมชัย กรรณสูต ขึ้นมาแทนที่หมอชัยยุทธนั้น เป็นยุคที่เขาจะทำงานด้วยความอบอุ่นยิ่ง อันเนื่องมาจากความเข้าใจอันดีกัน ระหว่างพี่น้องอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และรอบๆ ตัวเขาในฐานะน้องชายคนสุดท้อง เขาจะทำงานได้อย่างสบายใจภายใต้คำแนะนำของพ่อและพี่สาว ตลอดจนพี่เขยที่นั่งเป็นที่ปรึกษาเขาอยู่รอบๆ ที่ทำงานของเขาบนชั้น 15 ของตึกอิตัลไทยที่ผงาดอยู่บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่

หลายๆ คืนในหนึ่งสัปดาห์ ไฟที่ห้องทำงานของเปรมชัยบนชั้น 15 ของอาคารอิตัลไทยที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จะยังคงสว่างอยู่ขณะที่ห้องอื่นๆ ปิดหมดแล้ว

เพราะภารกิจใหญ่ของเปรมชัยยังไม่เสร็จ และดูจะไม่มีวันเสร็จสิ้นกับการขึ้นมานั่งบนหลังเสือตัวใหญ่ที่สุดตัวหนึ่งของประเทศและอาเซียน-เสือที่ชื่อ อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ที่เปรมชัยออกปากว่า เขาขึ้นนั่งบนหลังเสือตัวนี้แล้วลงไม่ได้ เพราะหากลงเมื่อไร ทุกอย่างก็จบ

10 กว่าปีก่อน เปรมชัยอาจจะไม่สนุกกับงานที่อิตัลไทย เพราะดูเหมือนจะขาดความท้าทายคนวัยหนุ่มที่มีดีกรีจากนอกอย่างเขา แต่วันนี้เขาคงจะไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว หลังการบ่มจากหมอชัยยุทธมากว่า 10 ปีจนได้ที่ ที่จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง

ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่า หมอชัยยุทธค่อนข้างจะวางใจในฝีมือของลูกชายที่เขาถ่ายทอดวิทยายุทธต่างๆ ให้นานถึง 10 ปีเศษ เวลาของหมอชัยยุทธในปัจจุบัน กว่าครึ่งของแต่ละสัปดาห์จะอยู่ที่เลยเพื่อดูสวนเกษตร หรือที่สอยดาวจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูโครงการสอยดาวรีสอร์ทมากกว่าที่จะนั่งทำงานที่ชั้น 16 ของอิตัลไทยอย่างหลายๆ ปีที่ผ่านมา

และตำนานใหม่ของอิตัลไทยกรุ๊ปในวันนี้…ก็จะเริ่มที่ชั้น 15 แทนที่ชั้น 16

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us