ธุรกิจบันเทิงสุดคึกคัก ตั้งแต่สถานีโทรทัศน์ ค่ายเพลง ยันผู้ประกอบการภาคเอกชนรายย่อย ต่างตบเท้ากางตัวเลขแถลงผลการดำเนินการไตรมาส 3 ว่าโตดีไม่มีสะดุด แม้สารพัดปัจจัยลบทั้งการเมืองและเศรษฐกิจจะรุมเร้า แต่มั่นใจปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้ พร้อมตั้งเป้าการเติบโตและรายได้ปีหน้าเอาใจผู้ถือหุ้นและสร้างความมั่นใจในตลาดส่งท้ายปี
ธุรกิจเพลงยังหวานอยู่ พร้อมใจกันโตถ้วนหน้า
ประเดิมด้วยค่ายเพลงและธุรกิจบันเทิงยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง 'แกรมมี่' ที่ตั้งโต๊ะแถลงผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ว่ามีรายได้รวมประมาณ 1,601 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 73.1 ล้านบาท โดย บุษบา ดาวเรือง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายได้รวมในไตรมาส 3 ปีนี้เพิ่มขึ้น 7 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ทั้งปีของกลุ่มบริษัทแกรมมี่ คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท
ปัจจัยหลักที่ทำให้แกรมมี่มีโกยรายได้เกือบสองพันล้านบาทเป็นเพราะ ธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจเพลงที่สร้างผลดำเนินงานได้ดีมาตลอดทั้งไตรมาส โดยเฉพาะธุรกิจเพลงซึ่งธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ประมาณ 50% ของรายได้รวมของแกรมมี่ทั้งหมด ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเพลงและค่าลิขสิทธิ์ในไตมาสนี้คิดเป็น 696 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแกรมมี่ได้เน้นการขายเพลงผ่านช่องทางที่เป็นดิจิตอลเพื่อรองรับความต้องการของคนฟังที่มีมากขึ้น ภายใต้ชื่อบริการ 'ikey' ซึ่งจะให้บริการดาวน์โหลดเพลงแบบเต็มเพลง หรือผู้บริโภคสามารถเลือกดาวน์โหลดเพลงแบบเต็มอัลบั้มผ่านทางโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ทได้ด้วยเช่นกัน
สำหรับรายได้จากฟากภาพยนตร์ก็ไม่เบาเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาแกรมมี่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามกับหนังทั้ง 3 เรื่องที่ฉายในไตรมาสสามคือ แก๊งชะนีกับอีแอบ, โกยเถอะโยม และ Season Change ทำให้รายได้จากภาพยนตร์และการผลิตภาพยนตร์โฆษณามีรายได้ 125.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันที่ผ่านมา
แม้ธุรกิจเพลงซึ่งเป็นหัวใจหลักของแกรมมี่จะรอดตัวผ่านฉลุย แต่ธุรกิจวิทยุ กลับสะดุดล้มไม่เป็นท่า เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ แกรมมี่ได้ลดจำนวนสถานีจาก 5 คลื่น เหลือ 4 คลื่น ทำให้รายได้จากฟากวิทยุลดลง 32% คิดเป็น 134.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อาร์เอส 'ยิ้มร่า' ไตรมาส 3ฟันกำไรเกือบ 70 ล้านบาท
ไม่ใช่แค่ยักษ์ใหญ่ของวงการบันเทิงอย่างแกรมี่บริษัทเดียวที่โกยเงินเข้ากระเป๋า สร้างมูลค่าหลังจากอาร์เอสเดินหน้าปรับโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อเน้นการเป็น เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มีเดียโพรไวเดอร์ (Entertainment Media Provider) เพื่อบริหารสินทรัพย์รอบด้านแบบ 360 องศาตามคอนเซปที่ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้วางไว้ ส่งผลให้ประกอบการในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ทางอาร์เอสมองว่าเป็นการประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะกำไรสุทธิที่โกยได้ถึง 69.36 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 356% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้รวมกลับลดลงจากปีก่อน 6.5% อยู่ที่ 714.31 ล้านบาท หนึ่งในสาเหตุที่รายได้รวมลดลงเป็นเพราะ การคืนคลื่นวิทยุไปหนึ่งคลื่น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสารพัดปัญหาที่เป็นปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามาตลอดปี 49 นี้แต่อาร์เอสก็ยืนยันว่าจะมีรายได้ตรงตามที่ตั้งเป้าไว้คือ ประมาณ 3.3 พันล้านบาท ซึ่งโตจากปีก่อน 25% แน่นอนว่ารายได้จากธุรกิจการบริหาคอนเทนต์เพลงและธุรกิจสื่อของอาร์เอสเป็น 2 ธุรกิจที่ทำรายได้ให้อาร์เอสมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนอย่างละ 46% เท่า ๆ กัน ในขณะที่ธุรกิจภาพยนตร์และรับจ้างผลิต รวมไปถึงการรับจ้างจัดงานต่าง ๆ ทำรายได้แค่เพียง 10% จากรายได้ทั้งหมด
ล่าสุด อาร์เอสตอกย้ำความเป็นโพรไวเดอร์ (Provider) ด้วยการเพิ่มคอนเทนต์ทางด้านกีฬาเข้ามาอีกหนึ่งรูปแบบ โดยตั้งบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ อาร์เอส บีเอส ขึ้นมาเพื่อดูแลและบริหารจัดการคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับกีฬาทุกรูปแบบ โดยทางอาร์เอส บีเอสนี้จะมองว่ากีฬาเป็นคอนเทนต์ชนิดหนึ่ง ที่จะสามารถนำมาต่อยอดให้กับคอนเทนต์อื่น ๆ ที่อาร์เอสกำลังบริหารงานอยู่ได้
'บีอีซี' 'อสมท.' ยิ้มร่ากำไรทะลัก
อานิสงส์จากค่าโฆษณาอีเว้นท์สำคัญระดับชาติอย่าง สนามบินสุวรรณภูมิ-งานพืชสวนโลก รวมไปถึงการถ่ายทอดสดอะคาเดมี แฟนเทเชีย ปี 3 ทำให้ผลดำเนินการไตรมาส 3 ของ 'อสมท' โตพรวดกว่า 50% ฟันกำไรสุทธิจาก 9 เดือนแรกไม่ต่ำกว่า 1.1 พันล้านบาท ซึ่งเกือบเท่ากับผลดำเนินการจากปีที่แล้วทั้งปี
ตัวเลขผลกำไรในไตรมาส 3 กว่า 1,160 ล้านบาทนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 47% ที่มีรายได้แค่ 790 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเพิ่มรายการอะคาเดมี แฟนเทเชียปี 3 ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทำให้อสมท เพิ่มยอดขายเวลาได้อีก 80 ล้านบาท ผนวกกับการอัดเงินค่าโฆษณาของภาครัฐเพื่อทำการประชามสัมพันธ์อีเว้นท์ระดับชาติอย่างสนามบินสุวรรณภูมิอีก 90 ล้านบาท การประชาสัมพันธ์งานพืชสวนโลก รวมไปถึงงานภาคเอกชนต่าง ๆ รวมแล้วมีรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขรายได้ที่มาจากฝั่งโทรทัศน์นี้เติบโตขึ้น 61 % หรือคิดเป็น 764 ล้านบาท
ด้านรายได้จากธุรกิจวิทยุเพิ่มขึ้นเพียง 43% คิดเป็น 204 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อน ที่ทำได้เพียง 143 ล้านบาท เหตุผลหนึ่งที่ทำให้รายได้จากฟากวิทยุมีสูงขึ้นเพราะ การโหมอัดกิจกรรมต่างๆ กับคนฟังอย่างต่อเนื่อง
การเติบโตของธุรกิจและตัวเลขรายได้ที่สดใสของอสมท สอดคล้องยอดรายได้จากการขายโฆษณาของ 'บีอีซี เวิลด์' ที่ทะลักกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา สำหรับยอดรายได้รวมในปีนี้ ทางฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% โดยรายได้เกือบทั้งหมดมาจากค่าโฆษณาประมาณ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 30%
อย่างไรก็ตามในไตมาสสุดท้ายของปีนี้ ทาง 'BEC'มั่นใจว่ารายได้จากค่าโฆษณาจะสูงกว่าทุกไตรมาสที่ผ่านมา เพราะปลายปีจะมีอีเว้นท์ใหญ่ ๆ เสมอ รวมไปถึงเป็นช่วงไฮซีซั่นของแทบทุกวงการ หากพิจารณาจากยอดรายได้ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสูงขึ้นจากปีก่อนประมาณ 30% คือประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการนำรายการโทรทัศน์ที่เคยออกอากาศแล้วมาจำหน่ายในรูปแบบวีซีดีซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับบีอีซีอีกช่องทางหนึ่งด้วย
ส่วนการทำตลาดในปีหน้า ทางบีอีซีจะเร่งปรับผังรายการใหม่ โดยจะเน้นสัดส่วนรายการที่คนดูเป็นเด็กมากขึ้น พร้อมแหวกตลาดในช่วงดึกใหม่ด้วย เนื่องจากตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป ยังไม่มีโทรทัศน์ช่องใดให้ความสำคัญกับช่วงนี้มากนัก นอกจากนี้ทางบีอีซี ถือว่าเรตติ้งที่ได้จากรายการในวันหยุดสุดสัปดาห์ยังเป็นจุดอ่อนของบริษัทมาก เมื่อเทียบกับเรตติ้งในช่วงเดียวกันของช่องอื่น ๆ ซึ่งภาพของการปรับผังให้แน่นและเข้มข้นจะเห็นเป็นภาพได้ชัดเจนในต้นปีหน้า
เศรษฐกิจพ่นพิษ 'ไอทีวี' บอกลดกำไร
ผลประกอบการของ 'ไอทีวี' ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ กลับสวนทางกับช่องโทรทัศน์อื่น ๆ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กรรมการ บริษัทไอทีวี มหาชน จำกัด (ITV) ชี้แจงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 จากที่ไอทีวีมีกำไรสุทธิ 89 ล้านบาท ลดลงเหลือ 79 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 47.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว
สาเหตุหลักที่ไอทีวีต้องบอกลดกำไรสุทธิของตัวเองลง เพราะโดนผลจากปัจจัยลบภาพนอกทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ตั้งแต่ต้นปี 2549 รุมเร้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งสิ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาของสินค้าต่างๆ ต้องชะลอตัวลงซึ่งส่งผลต่อยอดโฆษณาของไอทีวี
ส่วนผู้ประกอบการรายการโทรทัศน์รายย่อยอย่าง 'เวิร์คพอยท์' ที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ต่างโอดครวญเป็นเสียงเดียวกับไอทีวีว่า ผลการดำเนินงานในงวดสามเดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิเพียงแค่ 65.6 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีกำไรสุทธิ 71.1 ล้านบาท คิดเป็น 7.7%
ปัจจัยหลักที่ทำให้เวิร์คพอยท์กำไรหดลงในปีนี้ ครรชิต ควะชาติ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ กล่าวว่า เป็นเพราะทุนการผลิตและบริหารรายการโทรทัศน์เพื่อผลิตรายการใหม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนเดิมเติบโตตามไปด้วย ผนวกกับค่าเช่าเวลากับทางสถานีโทรทัศน์สูงขึ้นด้วยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน คือ จากปี 48 เวิร์คพอยท์มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 115.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 142.72 ล้านบาทในปี 49 คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 23.2
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในแง่ของรายได้รวมในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เวิรค์พอยท์ทำรายได้อยู่ที่ 307.54 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 12.1% ที่มีรายได้แค่ 274.38 ล้านบาท สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เวิร์คพอยท์ได้รายได้รวมสูงขึ้นจากปีที่แล้ว เพราะมีรายได้จากฝั่งทีวีสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 10% คืออยู่ที่ 286.59 ล้านบาท
เมเจอร์ 'สะดุด' ช่วงปฏิวัติ
ผู้บริหารโรงหนังเมเจอร์ชี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปีนี้โตเพียงร้อยละ 15 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ภาพยนตร์ทำรายได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะไตรมาสที่ 3 เมเจอร์มีรายได้รวมเพียง 1,314 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 189 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
สำหรับสถานการ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปีหน้า วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเนเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเมเจอร์ คาดว่าในปี 2550 จะเป็นปีทองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และมั่นใจว่าจะมีอัตรากาเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15-20 ของอุตสาหกรรม และจะมีภาพยนตร์เข้าฉายทั้งหมดประมาณ 250-300 เรื่องในปีหน้า สำหรับการเติบโตของเมเจอร์ในปีหน้า บอสใหญ่ของเมเจอร์มั่นใจว่าจะสามารถโตได้ถึงร้อยละ 30 ในขณะที่กำไรจาก 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คืออยู่ที่ 578 ล้านบาท
|