การศึกษาและการเก็บข้อมูลงานศึกษาวิจัยความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาทของรัฐหรือทางการนี้
ประมวลขึ้นจาก ฐานข้อมูลข่าว เอกสารทางวิชาการ และการสำรวจความเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่สนใจ
และติดตามข่าวตลาดเงินและความเป็นไปของบริษัทเงินทุนเอฟซีไอเป็นหลัก โดยใช้แบบสัมภาษณ์ผู้มีอาชีพหรือมีหน้าที่อยู่ในระดับผู้บริหาร
(หมายถึงระดับผู้จัดการและหัวหน้าแผนกขึ้นไป) ระดับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
(หมายถึงระดับต่ำกว่าผู้จัดการหรือหัวหน้าแผนกลงมา) อาชีพโบรกเกอร์หรือนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และนักศึกษา รวมทั้งสิ้น 106 ตัวอย่าง (ดูตารางลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง) ในระหว่างวันที่
1-5 มีนาคม 2536
รัฐควร "เปิดเผยข้อมูล" เมื่อพบเหตุให้เกิดความเสียหาย
จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปตรวจสอบหลักฐานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอฟซีไอจัดทำขึ้น
และพบว่ามีหนี้ด้อยคุณภาพเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่กลางปี 2535 นั้น แต่มิได้เปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชนทราบ
เนื่องจากจะทำให้ประชาชนแตกตื่นมาถอนเงินจนเป็นผลให้บริษัทเงินทุนนั้นล้มได้
นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติเงินทุนฯ มาตรา 77 ห้ามมิให้นำข้อมูลที่ล่วงรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ด้านการตรวจสอบมาเปิดเผย
แต่อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่กำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทราบข้อมูลดังกล่าวกลับมิได้แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลแก่นักลงทุนทราบ
จากการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อ "การเปิดเผยข้อมูล"
ของรัฐหรือทางการ ในแง่ของ "ความสมควร" เปิดเผยข้อมูลหรือไม่ พบว่า
กลุ่มตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงหรืออยู่ในสาขาอาชีพใด ต่างเห็นว่าสมควรเปิดเผยข้อมูลคิดเป็นร้อยละ
67.9 โดยที่มากกว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มผู้มีความเห็นดังกล่าวมีอาชีพหรือหน้าที่เป็นผู้บริหาร
โบรกเกอร์หรือนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และพนักงาน สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เห็นว่าไม่สมควรเปิดเผยข้อมูลคิดเป็นร้อยละ
32.1 (ดูตารางความเห็นต่อ "การเปิดเผยข้อมูล" ของทางการเมื่อพบปัญหา)
เมื่อสอบถามถึงเหตุผลของการสมควรให้มีการเปิดเผยข้อมูล ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งเห็นว่า
ช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ฝากเงินและนักลงทุน และร้อยละ
25.3 และ 24.2 ให้เหตุผลว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลนักลงทุนจะเกิดการระมัดระวังแต่เนิ่นๆ
และการไม่เปิดเผยข้อมูลจะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นในหมู่นักลงทุน
ที่เหลืออีกร้อยละ 7.1 เห็นว่า เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจพบปัญหาควรเปิดเผยข้อมูลในระดับหนึ่ง
เพื่อสร้างมาตรฐานความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสังคม และนักลงทุนหรือผู้ฝากเงินควรได้มีโอกาสตัดสินใจเลือกลงทุนภายใต้ตลาดข่าวสารที่เป็นเสรี
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เห็นว่าไม่สมควรเปิดเผยข้อมูลให้เหตุผลว่า ควรให้รัฐหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
ได้ทดลองแก้ปัญหาในระยะเวลาหนึ่งก่อน คิดเป็นร้อยละ 51.1 ส่วนอีกร้อยละ 33.3
เห็นว่า จะทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนเป็นเหตุให้สถาบันการเงินวิกฤติ และส่งผลกระทบต่อระดับมหภาคได้
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐหรือทางการไม่เหมาะสม
จากการสำรวจความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต.
และตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า โดยส่วนใหญ่เห็นว่าต่างมิได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือปฏิบัติหน้าที่ของตนไม่เหมาะสม
คิดเป็นร้อยละ 63.2, 55.7 และ 50.9 ตามลำดับ โดยเป็นความเห็นของเพศหญิงและเพศชาย
ในสัดส่วนที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มผู้บริหารและโบรกเกอร์หรือนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
มีถึงร้อยละ 40-50 จะให้ความเห็นอื่นๆ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ
มากกว่าจะลงความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมโดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
ก.ล.ต. เป็นเครื่องมือของผู้มีอิทธิพลภายในประเทศ จึงมีการเลือกปฏิบัติและมีการใช้ข้อมูลภายใน
(INSIDE INFORMATION) เป็นประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เตือนนักลงทุนช้าไปจนกลายเป็นการปกป้องสถาบันการเงิน
มากกว่าช่วยเหลือนักลงทุน ทำให้การบริหารความเสี่ยงของนักลงทุนและการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมิได้เป็นไปตามกลไกของตลาด
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นล้มเหลวในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และข้อเท็จจริงต่อประชาชน
เนื่องจากเผยแพร่ข้อมูลตามที่สถาบันการเงินจัดทำขึ้น ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้
เพราะการตรวจสอบเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย และข่าวสารที่เผยแพร่ไม่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นได้ปฏิบัติงานจริง แต่ก็ล่าช้าในการแก้ปัญหาและควรมีการเปิดเผยข้อมูลในระดับหนึ่ง
เมื่อพบเหตุให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชน
การปฏิบัติงานของรัฐล่าช้าและไม่โปร่งใส
สำหรับความเห็นต่อการปฏิบัติงานของรัฐหรือทางการในกรณีปัญหา "เอฟซีไอ"
นั้นส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐดำเนินการแก้ปัญหาล่าช้าหรือควรแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วกว่านี้
คิดเป็นร้อยละ 36.8 รองลงมาคือ เห็นว่าวิธีการทำงานของรัฐยังไม่โปร่งใส รัฐมิได้ประสานงานกันในการแก้ปัญหา
และการปฏิบัติงานของรัฐต่อกรณีเอฟซีไอผิดพลาด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30.2, 23.6
และ 5.6 ตามลำดับ
บทบาทรัฐ : ควร "ป้องกันปัญหา" มากกว่า "ตามแก้ไขปัญหา"
จากบทเรียนเรื่องเอฟซีไอ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดบทบาทที่ควรจะเป็นของรัฐ
หรือทางการสำหรับวันข้างหน้าได้ กล่าวคือกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ
43.6 ให้ความเห็นว่า บทบาทของรัฐควรอยู่ในรูปของการป้องกันปัญหามากกว่าจะตามแก้ไขปัญหาดังที่เป็นมา
รองลงมาคือร้อยละ 23.8 เห็นว่ารัฐควรมีระบบเผยแพร่ข้อมูลและวิธีการเผยแพร่ข้อมูลที่ดีและรวดเร็ว
ที่เหลืออีกร้อยละ 17.0 เห็นว่ารัฐควรสร้างระเบียบที่รัดกุมและมีการตรวจสอบสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น
อีกร้อยละ 9.4 เห็นว่ารัฐควรจัดการคืนเงินแก่ผู้ฝากเงินโดยเร็วที่สุด และร้อยละ
1.7 เห็นว่าบทบาทของรัฐที่ผ่านมา (ต่อกรณีเอฟซีไอ) เป็นบทบาทที่ดีที่สุดแล้ว
นอกจากนั้นยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าควรจะมีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินกับสถาบันการเงิน
ส่วนรัฐควรเป็นเพียงผู้ดูแลและเผยแพร่ข่าวสารให้รวดเร็วและทั่วถึง
การพยุงฐานะเอฟซีไอเป็นความเหมาะสมในภาวะการณ์เช่นนี้
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างมีถึงร้อยละ 61.3 เห็นว่าการแก้ไขสถาบันการเงินที่มีปัญหาโดยทางการเข้าไปโอบอุ้มเป็นวิธีการที่เหมาะสม
(ดูตารางวิธีการฟื้นฟูสถาบันการเงินที่มีปัญหาโดยการโอบอุ้ม) เนื่องจากต้องสร้างภาพพจน์และเรียกความศรัทธา
ความเชื่อถือของประชาชนและนักลงทุนต่างชาติต่อระบบสถาบันการเงินไทยกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด
เพื่อป้องกันมิให้เงินออมไหลออกสู่ตลาดเงินนอกระบบหรือนอกประเทศ มิฉะนั้นจะสร้างผลกระทบต่อระบบความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เห็นด้วยต่อวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว มีเพียงร้อยละ
29.2 โดยมีเหตุผลว่าการเข้าอุ้มชูไม่เพียงแต่ทำให้เกิดต้นทุนต่างๆ ที่สูงมากแก่รัฐและสถาบันการเงินอื่นที่ยังดีอยู่
รัฐยังต้องรับผิดชอบต่อปัญหาหนี้สินคุณภาพต่ำ หรือมีฐานะน่าสงสัย นอกจากนี้ยังคล้ายเป็นเครื่องรับรองว่าหากสถาบันการเงินมีปัญหา
รัฐจะเข้าแทรกแซงช่วยเหลือแก่ผู้ดำเนินธุรกิจการเงินเนื่องจากต้องพยายามรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันการเงินทั้งระบบ
จึงต้องช่วยรัฐพยุงฐานะของสถาบันการเงินอย่างแน่นอน ทำให้สถาบันการเงินบริหารงานโดยไม่มีความเสี่ยง
และขาดความรับผิดชอบเนื่องจากมีรัฐมารับผิดชอบให้ นอกจากนี้ยังไม่ช่วยพัฒนาวิจัยทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้อื่นๆ
ของสถาบันการเงินเพราะต่างมั่นใจว่าสถาบันการเงินนั้นจะไม่มีวันล้ม ความเสี่ยงในแง่ต้องคำนึงถึงผลประกอบการและความมั่นคงจึงไม่มี
ทำให้ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้รายอื่นของสถาบันการเงินสนใจแต่เฉพาะผลตอบแทน
(TRADE OFF) ระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทน ดังนั้นการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินจึงไม่เป็นธรรมเนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ต่างกัน