|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จับตามองอนาคตเออาร์ที จะอยู่หรือจะไป หลังการเมืองเปลี่ยนแปลง เผยเอ็มดีลาออกอีกแล้วเป็นคนที่สอง พร้อมข่าวลือว่าระดับประธานและบอร์ดก็ออก คนวงในระบุ 3 ปัญหาใหญ่ทำเออาร์ทีสะดุด ชี้ขาดเงิน เป็นบริษัทธุรกิจแต่ไม่ให้แสวงหากำไร หัวเรือเปลี่ยนบ่อย ล่าสุดลดต้นทุนด้วยการย้ายสำนักงานไปอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์
บริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด หรือเออาร์ที/ART ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นต้องการที่จะให้บริษัทเออาร์ทีนี้เป็นบริษัทที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกระดับรากหญ้าหรือโชห่วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับโชห่วยในการต่อสู้กับค้าปลีกข้ามชาติที่แทรกซึมเข้ามาในระดับรากหญ้าซึ่งมีเงินทุน เทคโนโลยี อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า
แต่ในช่วงที่ผ่านมาเออาร์ทีเองก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลมาหลายคนแล้ว กระทั่งเมื่อรัฐบาลทักษิณถูกยึดอำนาจ ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่า เออาร์ที อาจจะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งในรัฐบาลชุดใหม่นี้ มีนายเกริกไกร จีระแพทย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องกำกับดูแลโดยตรง
แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า สถานภาพของเออาร์ทีทุกวันนี้น่ากลัวยิ่งนักกับการดำรงอยู่ต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่รุนแรงขึ้นทุกวัน และยิ่งต้องมาเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยแล้ว ยังไม่รู้ว่าอนาคตเออาร์ทีจะเป็นอย่างไร ซึ่งปัญหาหลักๆของเออาร์ทีในขณะนี้คือ 1.ขาดเงินทุนที่จะนำมาหมุนเวียน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับมาจากรัฐบาลชุดก่อนในช่วงแรก 395 ล้านบาทนั้นคาดว่าจะใช้หมดแล้ว 2.การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงบ่อยๆทำให้ขาดความต่อเนื่อง 3.ปัญหาของนโยบายบริษัทฯที่ไม่มุ่งเน้นกำไร แต่ต้องช่วยเหลือ ซึ่งขัดกับความสามารถที่จะอยู่รอดได้
“เท่าที่รู้มาตอนนี้ รู้สึกว่า ภายในเองก็จะชะลอการดำเนินงานด้วย จทำอะไรมากก็ไม่ได้ เพราะคงต้องรอดูท่าทีและนโยบายของรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่นี้ว่าจะเอา จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิธีการดำเนินงานหรือไม่อย่างไร”
ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสว่า ระดับกรรมการและผู้บริหารต่างก็ได้ลาออกไปแล้วหลายคน ไม่ว่า จะเป็นนางเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทฯ และนางสาวลักขณา ลีละยุทธโยธิน กรรมการบริษัทฯ ต่างก็ไม่ค่อยมีบทบาทการบริหารเท่าใดแล้ว และมีข่าวลาออกจากบอร์ดไปแล้วด้วย ส่วนอีกคนคือ นายพิทักษ์ ตันพิบูลย์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ ก็ลาออกไปแล้วช่วงประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนายพิทักษ์นี้มาจากค่ายเซ็นทรัลก่อนที่จะมาบริหารที่เออาร์ที ซึ่งถือเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 2 ที่ลาออก เพราะก่อนหน้านี้ กรรมการผู้จัดการคนแรกซึ่งเป็นผู้ชายที่เป็นผู้บริหารมาจากแม็คโคร ก็ได้ลาออกไปแล้วหลังบริหารงานเออาร์ทีได้เพียงปีเศษเท่านั้น
ล่าสุดบริษัทได้แต่งตั้งให้นางสาวอภิญญาณ์ หงษาภรณีบุตร เป็นผู้จัดการบริษัท
ขณะเดียวกัน บริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็งยังได้ย้ายที่ทำการบริษัทจากเดิมที่อยู่ที่ตึกอิตัลไทยทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ย้ายมาอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ นนทบุรี เพื่อเป็นการลดต้นทุนลง จากที่ต้องเช่าพื้นที่ของเอกชนที่มีราคาค่อนข้างสูง
แหล่งข่าวจากกวงการค้าปลีกให้ความเห็นว่า วิธีการดำเนินงานของเออาร์ทีตั้งแต่แรกนั้นก็ผิดแล้ว แม้ว่าจะมีจุดประสงค์ที่ดีก็ตาม เพราะนโยบายที่ว่าจะให้ดำเนินธุรกิจโดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งในทางเป็นจริงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเมื่อเป็นธุรกิจทุกอย่างย่อมต้องมีต้นทุนทั้งนั้น ทั้งค่าจ้างคน ค่าสาธารณูปโภค ค่าดำเนินงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ต่างก็ลงทุนไปจำนวนมาก
ส่วนรายได้นั้นก็แทบจะไม่มี เนื่องจาก เออาร์ที ไม่ได้ใช้ระบบการขายแฟรนไชส์ แต่ใช้วิธีการหาสมาชิก ซึ่งมีรายได้เพียงแค่ 1% จากยอดการสั่งซื้อสินค้าจากสมาชิกเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มากมายอะไร
อย่างไรก็ตาม “ผู้จัดการรายวัน” ได้พยายามติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารของ เออาร์ที แล้ว แต่ก็ได้รับการปฎิเสธโดยเจ้าหน้าที่กล่าวแต่เพียงว่า ยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล
ทั้งนี้แผนการดำเนินงานและเป้าหมายของเออาร์ทีที่ประกาศไว้เมื่อช่วงต้นปีนี้ ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายแต่อย่างใด โดยตั้งเป้าหมายยอดขายจากทั้งระบบไว้สูงถึง 1,052 ล้านบาท ตั้งเป้ามีร้านค้าสมาชิกทั่วประเทศ 18,000 ร้านค้า โดยที่จะมีธุรกิจ 3 แบบที่ทำรายได้คือ 1.ร้านค้าต้นแบบ ตั้งเป้าจะมี 50 แห่งในสิ้นปีนี้ คาดหวังยอดขาย 77 ล้านบาท 2.ร้านค้าสมาชิก จะมีรายได้ประมาณ 900 ล้านบาท และ 3. ส่วนของสินค้าโอทอป คาดหวังรายได้ปีนี้ 75 ล้านบาท
ผู้บริหารของเออาร์ทีเคยกล่าวไว้ว่า ในระยะยาว 3 ปีนับจากนี้ ต้องการที่จะสร้างเครือข่ายสมาชิกของเออาร์ทีให้ได้ถึง 30,000 ร้านค้าทั่วประเทศ พร้อมกับผลักดันยอดขายให้สูงถึง 2,000 ล้านบาท จากเมื่อสิ้นปี 2548 ปีที่แล้วรายได้ของ เออาร์ทีมีการเติบโตที่สูงมากถึง 1,274% มียอดขายประมาณ 660 ล้านบาท ด้วยจำนวนเครือข่ายสมาชิกกว่า 15,000 ร้านค้า เทียบกับปี 2547 ปีแรกที่เปิดดำเนินการมียอดขายประมาณ 53 ล้านบาท
|
|
|
|
|