ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยยอดเงินฝาก-สินเชื่อ 10 เดือนของแบงก์ทั้งระบบมีความเคลื่อนไหวแค่เล็กน้อย โดยด้านสินเชื่อทั้งระบบเพิ่มจากเดือนก่อนแค่ 0.68% แบงก์ใหญ่ยอดปล่อยแผ่ว "กรุงเทพ-กรุงไทย" ยอดปล่อยกู้ตกร่วมหมื่นล้าน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางขยายตัวมากสุด แบงก์กรุงศรีฯนำโด่งเพิ่ม1.2 หมื่นล้าน ขณะที่เงินฝากทั้งระบบโต 0.51%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานตัวเลขสินเชื่อ เงินฝาก และสินทรัพย์ ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยตามฐานข้อมูลที่ปรากฏในแบบรายงาน ธ.พ. 1.1 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2549 ว่า ยอดคงค้างสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนตุลาคม 2549 มีจำนวน 4,837,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 32,821 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 0.68 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.63
โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีสินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 10,730 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ และกสิกรไทยจำนวน 15,033 และ 7,776 ล้านบาทตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มของสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน เงินให้กู้ยืม และ Term loans ขณะที่ธนาคารกรุงไทย และกรุงเทพ มียอดสินเชื่อรวมลดลง จำนวน 6,374 และ 5,705 ล้านบาทตามลำดับ จากสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้กับลูกค้านิติบุคคล ตั๋วเงิน และเงินเบิกเกินบัญชี แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยธนาคารกรุงเทพมีเพิ่มขึ้น 44,340.63 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.33 ธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้น 370.17 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.04 ธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้น 79,933.62 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.72 และธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้น 47,121.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.12
ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 13,202 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 1.12 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 12,344 ล้านบาท จากสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วเงิน ตามมาด้วยธนาคารนครหลวงไทย มีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1,652 ล้านบาท จากสินเชื่อประเภท Term loans ส่วนธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารเดียวในกลุ่มที่มีสินเชื่อลดลงเล็กน้อย 794 ล้านบาท จากสินเชื่อประเภทเงินเบิกเกินบัญชี เงินให้กู้ยืม และสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ
และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว จำนวน 8,889 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารธนชาต และธนาคารทิสโก้ จำนวน 8,223 และ 2,007 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่ธนาคารอื่นในกลุ่มไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ด้านเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนตุลาคม 2549 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 6,032,986 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 31,206 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 0.51 ในขณะที่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เงินฝากขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 9.02 สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พอสรุปได้ดังนี้
กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง เงินฝากปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 7,140 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.19 นำโดยธนาคารกรุงเทพ เงินฝากลดลง 14,210 ล้านบาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และประจำ ตามมาด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ และกรุงไทย มีเงินฝากรวมลดลงจำนวน 2,447 และ 116 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงของบัญชีออมทรัพย์ ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารเดียวในกลุ่มที่มียอดเงินฝากเพิ่มขึ้น 9,633 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และประจำ
กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้า 11,129 ล้านบาท นำโดยธนาคารทหารไทย และนครหลวงไทย มีเงินฝากลดลงจำนวน 5,529 และ 4,348 ล้านบาทตามลำดับ จากบัญชีเงินฝากของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตามมาด้วยธนาคารกรุงศรีอยุธยา เงินฝากลดลง 1,252 ล้านบาท
และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนที่แล้ว จำนวน 12,937 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 1.61 โดยเป็นการลดลงแทบทุกธนาคารในกลุ่ม นำโดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย 13,753 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ไทย ไทยธนาคาร สินเอเซีย และเกียรตินาคิน ซึ่งมีเงินฝากลดลงอยู่ในช่วง 1,800-6,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารธนชาติ มีเงินฝากเพิ่มขึ้นสวนทางธนาคารอื่นถึง 16,889 ล้านบาท ส่วนธนาคารทิสโก้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ด้านสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2549 มีจำนวนรวม 7,535,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 53,613 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.72 นำโดยธนาคารกสิกรไทย ธนชาต กรุงไทย และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 26,400 17,655 14,375 และ 13,819 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนธนาคารที่มีสินทรัพย์ลดลงต่ำสุด ได้แก่ ทหารไทย และนครหลวงไทย จำนวน 4,507 และ 4,009 ล้านบาทตามลำดับ
อนึ่ง เนื่องจากมีการรวมข้อมูลของ 3 ธนาคารใหม่ คือ ทิสโก้ เกียรตินาคิน และสินเอเซีย รวมถึงอีก 2 ธนาคาร คือ ธนชาต และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย ที่มีการโอนสินทรัพย์ตามนโยบายสถาบันการเงินเดียว ในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 จึงทำให้การเปรียบเทียบข้อมูลของทั้งระบบกับระยะเดียวกันปีก่อน ในกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ได้ตัวเลขสูงเกินแนวโน้มปกติ และกระทบถึงการเปรียบเทียบข้อมูลของทั้งระบบให้คลาดเคลื่อนจากธุรกรรม
|