สยามอัลลอยวีล อุตสาหกรรม เจ้าของล้อแม็กน้องใหม่ "ASTON" เป็นผู้มาใหม่ในตลาดล้อแม็กที่มีมูลค่าสองพันล้านบาท
แต่ก็เป็นคนหน้าใหม่มีแบ็คอัพแข็งโดยอาศัยความชำนาญด้านช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทยางสยาม
จุดนี้ทำให้ล้อแม็ก ASTON แจ้งเกิดได้โดยไม่ต้องยำเกรงเจ้าตลาดอย่างเอนไกไทย
นอกจากนี้ภาพพจน์ยุคใหม่ที่ชุมพล ณ ลำเลียง มีนโยบายกระจายอำนาจให้ผู้บริหารบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยสามารถให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนได้
โดยไม่ต้องมารวมศูนย์ข่าวที่กรรมการผู้จัดการใหญ่แบบยุคเก่า ได้สร้างชีวิตชีวาให้กับกิจกรรมทางการตลาดที่สยามอัลลอยวีลผู้ผลิตล้อแม็กรายใหม่จะวางแผนได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
ปัจจัยทั้งสองส่วนได้มารวมอยู่ที่ตัวผู้บริหารคนๆ เดียวคือ อาทิตย์ ประทุมสุวรรณ
นักบริหารหนุ่มใหญ่หนวดงาม ซึ่งร่วมงานกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเป็นเวลา 19
ปีแล้ว หลังจากเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกลจากจุฬาฯ และปริญญาโทด้าน
INDUSTRIAL ENGINEER จาก WEST COAST UNIVERSITY อาทิตย์ เคยมีผลงานจากบริษัทไทยซีอาร์ที
ผู้ผลิตจอหลอดภาพโทรทัศน์มาก่อนจะย้ายมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทสยามอัลลอยวีลอุตสาหกรรม
หรือเรียกย่อๆ ว่า "SAW"
โครงการผลิตล้อแม็กนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ครบวงจร ซึ่งบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
2534 แต่กว่าจะลงตัวเริ่มก่อสร้างโรงงานที่หนองแคก็ประมาณเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
เวลาหนึ่งปีผ่านไป ล้อแม็ก "ASTON" ซึ่งเป็น LOCAL BRAND ใหม่
ก็จะสั่นสะเทือนตลาดล้อแม็กรายเก่าในราวเดือนพฤษภาคม ศกนี้ด้วยกำลังผลิตล็อตแรกประมาณ
100,000 วง กระจายไปตามช่องทางจัดจำหน่ายของยางสยามที่มีไม่ต่ำกว่า 570 แห่ง
ด้วยยุทธวิธีเจาะตลาดเหล่านี้ด้วย "คุณภาพ"
คุณภาพเช่นว่านี้เกิดขึ้นจากโนว์ฮาวที่ SAW ได้เซ็นสัญญาซื้อจาก LEMMERZ
แห่งเยอรมนี ซึ่งเป็น OEM ผลิตล้อแม็กให้กับรถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ LEMMERZ
ได้ใช้ระบบการผลิตแบบ LOW PRESSURE อันทำให้ล้อแม็ก ASTON แตกต่างกว่าล้อแม็กยี่ห้ออื่นๆ
ที่ผลิตด้วยระบบการผลิตแบบ GRAVITY
"ในสัญญาระหว่างเรา ทาง LEMMERZ จะไม่ได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทสยามอัลลอยวีลฯ
แต่จะมีออพชั่นว่า เขาสามารถจะจอยน์เวนเจอร์ได้ในอนาคต นอกจากนี้เราต้องเสียค่ารอยัลตี้อีกสิบปี
โดยคิดเป็นเปอร์เซนต์จากยอดขาย" อาทิตย์ ประทุมสุวรรณเล่าให้ฟัง
มูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทที่ทุ่มทุนไปกับการลงทุนก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรที่โรงงานผลิตล้อแม็กที่อำเภอหนองแค
จ. สระบุรี บนเนื้อที่ 30 ไร่ ได้ทำให้โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตล้อแม็กแห่งแรกในประเทศไทยที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพด้วยระบบการผลิตแบบ
LOW PRESSURE โดยให้คุณภาพงานเนื้อโลหะดีมากๆ ไม่มีรูพรุนหรือเรียกแบบชาวบ้านคือ
"ตามด" เกิดขึ้น นอกจากนี้การพ่นสีและเคลือบเงาที่จะไม่เกิด "ขี้เกลือ"
เกิดจากการลงทุนมหาศาลกว่า 30 ล้านสำหรับเครื่องพ่นสีอย่างเดียวและใช้เครื่องเอกซ์เรย์ตรวจสอบคุณภาพทุกชิ้น
"ค่าอุปกรณ์เครื่องจักรที่เราลงทุนไปทั้งหมด 300 กว่าล้านบาทนี่เป็นข้อเสียของระบบ
LOW PRESSURE ที่ต้องลงทุนสูงกว่าระบบ GRAVITY แต่ระบบนี้ให้คุณภาพชิ้นงานที่แตกต่างจากระบบ
GRAVITY อย่างเห็นได้ชัดเจน และนี่เป็นมาตรฐานที่เมอร์ซิเดสเบนซ์ซึ่ง "หิน"
ที่สุดกำหนดให้ LEMMERZ" น้ำเสียงที่แสดงความมั่นใจในโนว์ฮาวใหม่ระบบนี้ของอาทิตย์ได้ฉายออกมา
อย่างไรก็ตามแม้จะเอา "คุณภาพ" นำตลาด แต่โดยวงจรของสินค้าล้อแม็กซึ่งเป็นสินค้าแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบและรสนิยมตามพฤติกรรมเจ้าของรถ
ได้กลายเป็นข้อจำกัดที่ผู้บริหาร SAW ตระหนักดี ดังนั้นคอนเซปท์และดีไซน์ของล้อแม็ก
ASTON ในระยะแรกของการทำตลาดจะผลิตออกมาใน 4 รูปแบบขอบ 14-15 นิ้ว ที่มีพีซีดี
100 มม. เป็นส่วนใหญ่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายของตลาด AFTER MARKET เป็นล้อแม็กสำหรับรถยนต์และรถกระบะเป็นหลัก
"เราจะมีการนำเข้าล้อแม็กขอบ 16-17 นิ้วมาด้วย เพื่อให้มีออพชั่นสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับสูง
เพราะสินค้าล้อแม็กต่างประเทศนี้เราต้องเสียภาษี 60% ทำให้ราคาจำหน่ายสูง"
กรรมการผู้จัดการสยามอัลลอยวีลฯ กล่าวถึงตำแหน่งทางการตลาดของ LEMMERZ ที่นำเข้ามาขายเพราะไม่คุ้มกับการผลิตในปริมาณน้อย
ส่วนตลาดประเภท OEM เพื่อผลิตล้อแม็กป้อนสำหรับโรงงานประกอบรถยนต์ปรากฏว่า
ปลายปีนี้ SAW สามารถเสนอตัวเป็นผู้ผลิตล้อแม็กสำหรับรถเมอร์ซิเดส เบนซ์
ให้กับบริษัทธนบุรีพาณิชย์ได้สำเร็จเป็นรายแรก ทำให้ต้นทุนจำหน่ายรถหรูระดับสูงนี้สามารถลดได้ต่ำลง
จากเดิมที่เคยเสียภาษีนำเข้าล้อแม็ก 60%
ขณะที่โรงงานประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งมีเจ้าตลาดยักษ์ใหญ่อย่างเอนไกไทยปกป้องผลประโยชน์ตลาดส่วนนี้อยู่อย่างแน่นหนา
ก็ยังเป็นด่านปราการสำคัญที่ผู้บริหาร SAW ต้องฝ่าวงล้อมทางการตลาดเข้าไปเจาะให้ได้
"เราจะเจาะตลาด OEM ทุกยี่ห้อทั้งรถเก๋งและรถกระบะ ไม่เฉพาะแต่ของโตโยต้าเพราะว่าถ้าเราพร้อมและสามารถทำได้ดีมากทั้งแง่คุณภาพ
ราคา และการส่งมอบตรงเวลาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้โรงงานเชื่อถือเรา"
กรรมการผู้จัดการ SAW เน้นถึงคุณภาพที่มาแรง
แต่ความล่าช้าของโครงการที่เริ่มคิดมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2534 แต่เพิ่งจะก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม
2535 และเริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในเดือนมีนาคมปีนี้เอง ทำให้ SAW
ต้องพลาดโอกาสงามๆ ไป เช่นการที่โตโยต้าออกรุ่นโคโรน่าใหม่ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนล้อแม็กโฉมใหม่
แต่ SAW เพิ่งจะเริ่มโครงการจึงทำให้พลาดโอกาสนี้ไป
"สำหรับรุ่นโคโรน่าเราไม่ทัน เพราะกว่าจะทำตัวอย่างทดสอบผ่านก็ต้องใช้เวลาแต่ถ้ากรณีคนจองรถโตโยต้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ถ้าหากเอนไกไทยทำไม่ทัน เขาก็อาจจะให้เราทำส่วนนี้ก็ได้" อาทิตย์ กล่าว
แม้ว่าสยามอัลลอยวีลฯ จะเป็นน้องใหม่ในวงการล้อแม็กมูลค่าสองพันกว่าล้านบาทนี้
แต่ภายในต้นปีหน้า ก็จะมีการส่งออกไปยังแถบประเทศยุโรปเป็นครั้งแรก
"ตอนนี้เราได้ออเดอร์มาแล้ว โดยจะผลิตและส่งออกให้กับบริษัทเจเนอรัลมอเตอร์
(จีเอ็ม) ต้นปีหน้า ในส่วนการทำตลาดส่งออก เรามีเครือข่ายสามแห่งคือ บริษัทสยามอัลลอยวีลฯ
บริษัทแม่ของ LEMMERZ และบริษัทยางสยามซึ่งส่งออกยาง เราก็จะทำเป็นแพคเกจไปเจาะตลาดทั้ง
AFTER MARKET และ OEM ด้วย" กรรมการผู้จัดการ SAW เล่าให้ฟังถึงการขยายตลาดการส่งออกที่จะสร้างงานคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก
การเริ่มต้นด้วยดีก็เปรียบเสมือนความสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง วันนี้ของอาทิตย์
ประทุมสุวรรณกับงานใหม่ที่ท้าทายด้วยสไตล์การบริหารที่นิยมทำงานเป็น "ทีม"
ของเขาจะประสบความสำเร็จที่จะฝ่าวงล้อมของเอนไกไทยได้ตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นผู้นำด้านคุณภาพ
ยังต้องรอเวลาพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง!!