"ผมคิดว่าต่อจากนี้ไป การเข้ามาสู่วงการหนังสือคนเดียวด้วยใจรักคงเป็นไปไม่ได้แล้ว
จะต้องเป็นค่าย เป็นบริษัทที่มีธุรกิจสิ่งตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์แบบครบวงจร
เพราะต้องใช้ทุนในการผลิตและการโปรโมตหนักมาก ฉะนั้นถ้าอยู่โดดๆ เดี่ยวๆ
จะถูกกลืน" นี่คือบทสรุปในวันนี้ของปกรณ์ พงศ์วราภา ผู้อำนวยการบริษัทจีเอ็ม
เอ็นเตอร์ไพร้ส์ ผู้ผ่านประสบการณ์การทำหนังสือมายาวนานเกือบ 20 ปี
ชายหนุ่มอดีตนักเขียนเรื่องสั้นมือดียุค 14 ตุลา ผู้ใช้นามปากกา "ปกรณ์
ไกรลาส" ตีแผ่ชีวิตหญิงบริการผ่านผลงานการประพันธ์ นับเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดนิตยสารหลายๆ
เล่มซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงคุณภาพในวงการสิ่งตีพิมพ์บ้านเรานับตั้งแต่ "หนุ่มสาว"
หนังสือที่ขายภาพนู้ดผสมกับเนื้อหาที่มีสาระสร้างสรรค์ ซึ่งมีอายุยาวนานถึง
10 ปี ก่อนที่จะปิดตัวเองลงหลังจากถูกตำรวจที่มองเห็นความอนาจารมากกว่าความเป็นศิลปะของหนังสือเล่มนี้
กวาดจับหลายครั้งหลายครา
หลังจาก 'หนุ่มสาว' ปกรณ์และหุ้นส่วนประมาณ 10 คนก่อตั้งนิตยสารเล่มใหม่ชื่อว่า
'ไฮคลาส' โดยวางตำแหน่งเป็นนิตยสารสำหรับผู้ชายที่มีรสนิยม
'ไฮคลาส' เกิดได้ 2 ปี ปกรณ์เห็นความผิดพลาดของการให้หัวหนังสือ 'ไฮคลาส'
ว่าเป็นชื่อที่จำกัดกลุ่มผู้อ่านเกินไป ทำให้ 'ไฮคลาส' ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
แต่ยังเชื่อมั่นในตลาดหนังสือสำหรับผู้ชายว่า ถึงแม้จะเป็นตลาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดนิตยสารสำหรับผู้หญิงก็ตาม
ทว่าในจำนวนเล็กนั้น ถ้าเขาสามารถเป็นผู้นำได้ ย่อมเป็นตลาดใหญ่สำหรับเขา
ปกรณ์จึงขาย 'ไฮคลาส' ทิ้งแล้วมาเปิดนิตยสารเล่มใหม่คือ 'จีเอ็ม' เมื่อ
7 ปีที่แล้วโดยวางคอนเซ็ปต์หนังสือเอาไว้ว่าเป็นนิตยสารเพื่อผู้อ่านผู้ชายทั่วไปที่มีความสนใจอ่านเนื้อหาสาระ
เช่น สารคดีและบทสัมภาษณ์หนักๆ ควบคู่กับความชอบแต่งเนื้อแต่งตัวและการพักผ่อนพร้อมกันด้วย
หลังจากออก 'จีเอ็ม' ได้ปีเดียว ปกรณ์เปิดตัวนิตยสาร 'บ้านและตกแต่ง' อีกเล่มหนึ่ง
จนถึงปัจจุบันนับได้ว่าจีเอ็มเป็นนิตยสารคุณภาพเล่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย
"คนทำหนังสือเท่าที่ผ่านมามี 2 กลุ่ม คือทำหนังสือเป็นแต่ไม่มีหัวธุรกิจ
อีกกลุ่มคือมีเงินแต่ไม่เคยทำหนังสือมาก่อน และทั้ง 2 ทีมจะมีปัญหาขัดแย้งกันเสมอ
คนทำหนังสือก็มักไม่ง้อโฆษณา ส่วนนักธุรกิจก็มักโอนเอียงเอาใจเอเจนซี สำหรับผมมี
2 ส่วนเท่าๆ กัน จึงไม่ค่อยทะเลาะขัดกับตัวเอง จะมีปัญหาอยู่เรื่องเดียวคือการบริหารเรื่องการเงิน"
ปกรณ์กล่าว
พูดง่ายๆ ก็คือมีปัญหาในเรื่องการหมุนเงินนั่นแหละ !
เกือบสองปีที่แล้ว ปกรณ์เคยวิ่งเต้นที่จะขายหนังสือให้กับธุรกิจสิ่งพิมพ์รายใหญ่แห่งหนึ่ง
แต่การเจรจาก็สะดุดหยุดลงเสียก่อนที่จะมีข้อสรุปที่แน่ชัด
จนกระทั่งต้นปีนี้ การเจรจากับผู้ซื้อรายใหม่ผ่านไปแล้วหลายรอบ เหลือเพียงกำหนดการเซ็นสัญญาซื้อขายกันอย่างเป็นทางการเท่านั้น
ผู้ที่จะเข้ามาปลดปล่อยภาระทางการเงินให้พ้นไปจากอกของปกรณ์ก็คือบริษัทเจฟิล์ม
โปรเซส ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งในวงการแยกสีและทำแม่พิมพ์ เจฟิล์มฯ
อยู่ในวงการนี้มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี สิ่งตีพิมพ์นับสิบๆ ฉบับบนแผงหนังสือล้วนแต่ใช้บริการแยกสี
ทำเพลทของเจฟิล์มฯ ทั้งนั้น รวมทั้งจีเอ็มและบ้านและตกแต่งของปกรณ์ด้วย
ปลายปี 2534 เจฟิล์มฯ ขยายธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการแยกสี ทำเพลทออกไปด้วยการเปิดโรงพิมพ์รับงานพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ความคิดที่จะทำหนังสือเองคือขั้นตอนสุดท้ายของการยกระดับกิจการขึ้นเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์แบบครบวงจร
แต่การทำหนังสือในยุคสมัยที่การแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น ใช่ว่าเพียงมีสตางค์แล้วก็จะเนรมิตขึ้นมาได้ดังต้องการ
โดยเฉพาะคนหน้าใหม่ที่ช่ำชองกับธุรกิจหนังสือในส่วนของเทคนิคการผลิต แต่ไม่ประสีประสากับขั้นตอนในส่วนของเนื้อหาและการตลาดอย่างเจฟิล์มฯ
ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการล้มเหลวหากคิดจะกระโดดลงไปนับหนึ่งด้วยตัวเอง
วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือซื้อหนังสือที่ติดลมบนแล้ว รวมทั้งทีมงานผู้ผลิตมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง
ความจำเป็นประการหนึ่งของเจฟิล์มฯ ที่จะต้องทำหนังสือเอง เกี่ยวพันอยู่กับแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งเคยยื่นไปครั้งหนึ่งแต่ถูก กลต. เบรกเอาไว้ เหตุผลนั้นไม่ชัดแจ้ง แต่การยกระดับขึ้นเป็นกิจการสิ่งตีพิมพ์ครบวงจรด้วยการซื้อหนังสือมาทำเองเช่นนี้
ก็น่าจะเอื้อต่อการยื่นขอเข้าตลาดหลักทรัพย์รอบใหม่ไม่น้อย
การซื้อขายจีเอ็ม บ้านและตกแต่งจึงเป็นทางออกที่สมประโยชน์กันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
หากไม่มีการพลิกล็อคเกิดขึ้น ปกรณ์ก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นหุ้นของเจฟิล์มฯ จำนวนหนึ่งแลกกับหัวหนังสือทั้งสองเล่มนี้
รวมทั้งพนักงานอีกราวๆ 60 คนก็จะโอนไปอยู่กับเจฟิล์มฯ ด้วย สำหรับตัวเขาเองนั้นก็จะอยู่ในฐานะผู้บริหารดูแลหนังสือทั้งสองเล่มนี้ต่อไปโดยไม่ต้องมาปวดหัวกับการหมุนเงินอีกต่อไป
และนอกจากจีเอ็ม บ้านและตกแต่งแล้ว ขณะนี้เจฟิล์มฯ กำลังเจรจาซื้อนิตยสารอีกประมาณ
5 ฉบับ ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับรถยนต์ การเมืองและเรื่องของแม่ๆ ลูกๆ มาเป็นของตัวเอง
ซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของปกรณ์เช่นกัน