|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์กรุงเทพประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังขยับโตได้ต่อเนื่องจากในครึ่งแรกของปี โดยมีภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีและการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแรง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่องจากในครึ่งแรกของปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากภาคต่างประเทศและการใช้จ่ายของรัฐบาล เนื่องจากการการส่งออกที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐบาลมีการเร่งการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนั้น จากเครื่องชี้รายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยยังแสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 น่าจะขยายตัวได้สูงถึงประมาณร้อยละ 5-5.5
โดยอุปสงค์จากต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี โดยหากพิจารณาในด้านมูลค่า จะเห็นว่าการส่งออกยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งถึงร้อยละ 16.3 ซึ่งดีขึ้นจากร้อยละ 16 ในไตรมาสก่อน ซึ่งทำให้ดุลการค้าเกินดุลถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดีขึ้นมากจากที่ขาดดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพทางด้านมูลค่าอาจจะยังดูดีมาก แต่หากพิจารณาในด้านปริมาณ จะเริ่มเห็นถึงอาการอ่อนแรงของภาคการส่งออก เนื่องจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 4.9 ชะลอลงมากจากที่ขยายตัวเกินร้อยละ 10 ในไตรมาสก่อน แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทางสถิติเนื่องจากฐานที่สูงในระยะเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ากลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 จากที่หดตัวติดต่อกันสองไตรมาส ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าถึงแม้การส่งออกจะยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจเนื่องจากพลังในการขับเคลื่อนเริ่มอ่อนแรงลง
ทั้งนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแรงลงในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้รับการชดเชยจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลมีการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณกันเป็นพิเศษ เนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนได้พยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังจากที่พบว่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ การเบิกจ่ายยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผลก็คือทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวสูงถึงกว่าร้อยละ 15 และทำให้อัตราการเบิกจ่ายตลอดทั้งปีงบประมาณ 2549 สูงเกินเป้าหมายที่ร้อยละ 93.5 ของวงเงินงบประมาณ (เป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 93 ) การใช้จ่ายของภาครัฐจึงเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่ 3
สำหรับการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา หลังจากที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน จากผลของราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยทางการเมืองที่ในขณะนั้นยังมีความไม่แน่นอน พิจารณาจากเครื่องชี้ที่สำคัญคือ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนซึ่งขยายตัวได้ร้อยละ 2 ในไตรมาสที่ 3 ดีกว่าในไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 และ 0.8 ตามลำดับ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนซึ่งก็ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนเช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้เครื่องชี้จะแสดงถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า
ภาคเอกชนภายในประเทศฟื้นตัวขึ้นแล้ว เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเครื่องชี้ดังกล่าวยังต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบวัฏจักรขาขึ้นที่ผ่านมา (ช่วงปี 2546 – 2547) นอกจากนั้น หากพิจารณาเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนเป็นรายตัวแล้วจะพบว่าเครื่องชี้ที่สำคัญอย่างเช่น ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดขายรถจักรยานยนต์ มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ พบว่าเครื่องชี้เหล่านี้ยังแกว่งตัวไปมาระหว่างการขยายตัวกับการหดตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้อุปสงค์ของภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นมาบ้างในไตรมาสที่ 3 แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง และยังเป็นไปได้ที่อาจจะกลับไปชะลอตัวลงอีกหากถูกกระทบจากปัจจัยที่ไม่คาดฝัน เช่น ราคาน้ำมันกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ค่าเงินบาทที่ผันผวน หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทางที่อาจทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าภาวะการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศจะยังอ่อนแอก็ตาม แต่ด้วยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐบาลที่เร่งตัวขึ้นมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มเติบโตได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการคำนวณ GDP ยังมีส่วนของสินค้าคงเหลือและความคลาดเคลื่อนทางสถิติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ยากที่จะคาดการณ์ และอาจส่งผลให้การขยายตัวสูงขึ้นหรือลดลงจากส่วนที่เป็นอุปสงค์ปกติได้ ซึ่งทำให้เป็นการยากที่จะคาดการณ์อัตราการขยายตัวเป็นตัวเลขตัวเดียว ดังนั้น จึงคาดว่า GDP น่าจะขยายตัวในช่วงประมาณร้อยละ 5 – 5.5
|
|
|
|
|