ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ คนใหม่ ของธนาคารกรุงเทพ โสภณพนิช
รุ่นที่ 3 ซึ่งเข้ามารั้งตำแหน่งหมายเลข 1 ของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ตั้งแต่เดือนนี้ ประกาศที่จะดำเนินนโยบายสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคเอเชียในปี
2540 ทำให้คนในวงการมีคำถามเกิดขึ้นว่าคือราคาคุย หรือธนาคารกรุงเทพ จะมีแผนลุยตลาดเอเซีย
อย่างจริงจัง เพราะการเป็น" ธนาคารแห่งภูมิภาค" หรือ " Regional
Bank" ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ๆ
การที่จะเป็นธนาคารแห่งภุมิภาคได้ ไม่ใช่การไปตั้งสาขาในต่างประเทศเท่านั้น
แต่ต้องมีการบริหาร การลบริการที่ดี เยี่ยมที่ลูกค้าระดับนานาชาติ ยอมรับได้
ที่แน่ ๆ ก็คือต้องเข้าไปแข่งกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ ระดับอินเตอร์ต่าง ๆ ที่วางรากฐานไปก่อนแล้ว
ธนาคารกรุงเทพ ถูกเรียกว่า เป็นธนาคารพาณิชย์อันดับหนึ่งของเมืองไทย นอกจากนี้
ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 65 โดยนิตยสารเเชียวีค ฉบับเดือน กันยายน
ปีนี้ โดยพิจารณาจากทรัพย์สินและผลประกอบการของธนาคาร
ผลการดำเนินงานในงวดแรกปี 2537 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 8,324 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวสูงถึง
19% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันในปีที่แล้ว สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารกรุงเทพ
อยู่ที่ระดับ 120 เท่า ซึ่งสูงกว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง
" ธนาคารกรุงเทพก้าวขึ้นสู่การเป็นธนาคารระดับแนวหน้าได้ก็เพราะจุดแข็งในเรื่องการมีฐานลูกค้าที่เก่าแก่ของธนาคาร"
แหล่งข่าวในวงการการเงินและการธนาคาร กล่าวกับ " ผู้จัดการ"
ธนาคารกรุงเทพ ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 50 ตลอดระยะเวลา ครึ่ง สู่ศตวรรษที่ผ่านมา
ผู้บริหารได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างดี โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน
ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่เข้ามาทำการค้าในเมืองไทยฝากเงินและกู้เงินกับเจ้าสัวชิน
โสภณพนิช มาตั้งแต่ยังไม่มีธุรกิจใหญ่โต จนกระทั่งเป็นเสี่ยในเมืองไทย ความสัมพันธ์นี้ได้สืบทอดมา
จนกระทั่งถึงรุ่นลูกและรุ่นหลานของลูกค้าและของตระกูลโสภณพนิช
กิจการของลูกค้าขยายไปในต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพก็ขยายกิจการไปตั้งสาขาเพื่อให้บริการลูกค้าชาวไทยในต่างประเทศด้วย
เรียกได้ว่า ทั้งในและนอกประเทศ ธนาคารกรุงเทพตามติดให้บริการลูกค้าที่มีอยู่มาโดยตลอด
ที่เห็นได้ชัด ก็คือประเทศอินโดจีน และจีนตอนใต้ ซึ่งนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนกันมากในช่วง
3-4 ปีที่ผ่านมา พลอยทำให้ธนาคารกรุงเทพและธนาคารอื่น ๆ ของไทยเ ขยายตัวตามเข้าไปให้บริการด้านการเงินในประเทศ
ดังกล่าวด้วย
การขยายกิจการธนาคารเป็นไปได้ง่ายกว่าเดิม ก้เพราะผลจาการเจรจาของสมาชิกว่า
120 ประเทศ เกี่ยวกับข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและบริการ ( General Agreement
on Trade and Service : GATS) ทำให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันการเงินในทุกประเทศ
ต้องเปิดตลาดให้สถาบันการเงินจากต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น
รวมทั้งต้องปฏิบัติต่อธุรกิจต่างชาติ เช่นเดียวกับที่ให้กับสถาบันการเงินในประเทศรวมทั้งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทำให้ระบบเครือข่ายสารสนเทศในส่วนต่าง
ๆ ของโลก เชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น ทำให้เกิดความสะดวกในการให้บริการกับบริษัทข้ามชาติที่ไปตั้งเครือข่ายสาขาในต่างประเทศ
และกระแสการย้ายทุนเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น เช่นกัน กระแสการเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง
ๆ ของนักลงทุนในไทย ได้ทำให้ธนาคารกรุงเทพ กระจายไปในประเทศต่าง ๆ เช่นกัน
จนเริ่มมีนโยบายในความพยายามที่จะเป็น ธนาคารแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค
" ธนาคารกรุงเทพได้ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2540 จะก้าวขึ้นสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคเอเชีย"
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของแบงค์บัวหลวง กล่าวเกี่ยวกับนโยบายของเขา
ณ สิ้นปี 2536 สาขาของธนาคารพาณิชย์ไทยในภูมิภาคเอเชียรวม 26 สาขา ในธนาคารกรุงเทพ
16 สาขา ใน 10 ประเทศ และยังจะขยายสาขาในมณฑล เสฉวน กวางโจว ในประเทศจีน
ขยายสาขาในเวียดนามในฮานอย หลังจากที่มีอยู่แล้วใน โอจิมินห์ ซิตี้ อีกทั้งยังจะขยายสาขาในพม่าอีกด้วย
แต่ในทางกลับกัน ธนาคารต่างชาติเข้ามาตั้งสาขาในไทยได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
ซิตี้ คอร์ป จากสหรัฐฯ ดอยซ์ แบงก์ จากเยอรมัน และซากุระ แบงค์จาก ญี่ปุ่น
เป็นต้น ซึ่งเมื่อเทียบกับความเป็นธนาคารระหว่างประเทศของธนาคารเหล่านี้
ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพทางด้านสินทรัพย์และความสามารถในการให้บริการ
" การตั้งสาขาในต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ คล้ายกับการตั้งสาขาในต่างจังหวัด
ในบางกรณีสาขาในต่างจังหวัด ยังมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าตรงที่สาขาในต่างจังหวัดยังสามารถปล่อยกู้
หรือระดมเงินฝากได้ดีกว่าสาขาในต่างประเทศเสียอีก" แหล่งข่าว กล่าวกับ
" ผู้จัดการ"
จะเห็นว่า การที่จะก้าวไปสู่การเป็น ธนาคารแห่งภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิค
ของธนาคารกรุงเทพ นั้นเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น
ไม่ว่าผู้บริหารธนาคารจะเป็นใคร ตั้งแต่ โสภณพนิช รุ่นที่หนึ่งถึงรุ่นที่สาม
อย่าง ชาติศิริ โสภณพนิช สโลแกนของธนาคารกรุงเทพก็ยังคงเป็น " เพื่อนคู่คิด
มิตรคู่บ้าน" ไม่เปลี่ยนแปลงแต่เมื่อธนาคารกรุงเทพหวังจะเป็นธนาคารระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค
นั้นคือตำแหน่งทางการแข่งขันของธนาคารย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การสนามการแข่งขันอีกระดับหนึ่ง
ยักษ์ใหญ่แห่งธนาคารพาณิชย์ไทยจะกลายเป้นยักษ์เล็กในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระดับภูมิภาคไปทันที
กลุ่มลูกค้าเดิมที่มีสินทรัพย์หลัก ๆ ปักฐานในไทย และที่หากินกันมานานร่วมสามรุ่นของโสภณพนิชนั้น
ไม่เพียงพอที่จะสร้างจุดแข็งของผลิตภัณฑ์อย่างธนาคารกรุงเทพได้
แม้สโลแกนจะไม่เคยเปลี่ยนแต่สำคัญที่น่าจะต้องเปลี่ยนไปสำหรับที่น่าจะต้องเปลี่ยนไปสำหรับธนาคารกรุงเทพ
หากหวังจะเป็นธนาคารระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค แล้วก็คือ การเพิ่มสินทรัพบ์ของตนเองในต่างประเทศให้สูงมากขึ้น
นั้นคือการสร้างลูกค้าใหม่ในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากหรือเงินให้กู้
ไม่ใช่ลงรากลึกอยู่เพียงในดินแดนสยามแล้วตามลูกค้าเก่าในนต่งประเทศเพื่อคอยเก็บค่าบริการเท่านั้น