"ประชัย" หวังราคาหุ้นเพิ่มทุน TPIPL อยู่ที่ 25 บาทเท่ากับราคามูลค่าตามบัญชี
มั่นใจขายหุ้นได้เกลี้ยง 180 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีกลุ่มผู้ผลิตปูน รายใหญ่ของโลกอย่างโฮลซิมและซีเม็กซ์จ้องซื้อผ่านโบรกเกอร์หรือกองทุน
ทำให้ต้องเข้มงวดในการจัดสรร โดยจะให้สิทธิ์เอเย่นต์ปูนทีพีไอก่อน พร้อมทั้งให้สิทธินำใบหุ้นทีพีไอโพลีนค้ำประกันซื้อปูน
ซีเมนต์แทนแบงก์การันตีได้
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน)
หรือ TPIPL เปิดเผยความคืบหน้าในการ ขายหุ้นเพิ่มทุนขั้นต่ำ 180 ล้านเหรียญสหรัฐว่า
บริษัทอยู่ระหว่างการทำหนังสือชี้ชวนคาดว่าจะเสร็จในเร็วๆนี้พร้อมทั้งทำโรดโชว์นักลงทุนไทยและต่างประเทศ
หลังจากนั้น จะเปิดจองซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนในวันที่ 19-25 มีนาคมศกนี้ โดยราคา Book
Build หุ้นเพิ่มทุน น่าจะใกล้เคียงกับมูลค่าตามบัญชี (Book Value) กล่าวคือหุ้นละ
25 บาท
ทั้งนี้ ราคามูลค่าตามบัญชีดังกล่าว ยังไม่ได้รวมสำรองหินปูน อีก 1 พันล้านตัน
ซึ่งบริษัทฯมีความมั่นใจว่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวจะขายได้หมด แม้ว่าที่ปรึกษาทางการเงินจะไม่ยอม
รับประกันการจำหน่ายหุ้นก็ตาม ทั้งนี้บริษัทฯได้กำหนดสัดส่วนการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนไทย
51% ที่เหลือจัดสรรต่างประเทศ โดยบริษัทฯคงต้องเข้มงวดในการจัดสรรหุ้นเพื่อให้ถึงมือประชาชนและนักลงทุนให้มากที่สุด
เพื่อป้องกันไม่ให้คู่แข่ง โดยเฉพาะผู้ผลิตปูนรายใหญ่ของโลก ทั้งกลุ่มโฮลซิมและซีเม็กซ์เข้ามาซื้อหุ้นในรูปแบบต่างๆแล้วเข้ามาถือหุ้นใหญ่
"ขณะนี้มีนักลงทุนสถาบันเข้ามาพูดคุยเรื่องหุ้นเพิ่มทุนบ้างแล้ว โดยเราจะขายต่างประเทศไม่เกิน
49% และในประเทศ 51% เชื่อว่าทางผู้ผลิตปูนรายใหญ่ของโลกทั้งโฮลซิม และซีเม็กซ์ต้อง
เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน TPIPL อย่างแน่นอน โดยผ่านทางโบรกเกอร์ หรือกองทุนต่างๆ
ซึ่งบริษัทฯจะต้อง ดูให้ละเอียดก่อนจัดสรรขายหุ้นไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง"
จูงใจเอเย่นต์ปูนซื้อหุ้น TPIPL
นายประชัยกล่าวต่อไปว่า การ จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนนั้น บริษัทฯจะให้สิทธิ แก่เอเย่นต์ปูนทีพีไอที่สนใจ
ก่อน เพราะขณะนี้เอเย่นต์ปูนส่วนใหญ่สนใจจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนTPIPL เนื่องจากเอเย่นต์
เกรงว่าหากปล่อย ให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่ทีพีไอโพลีนย่อมส่งผลกระทบต่อการเป็น
เอเย่นต์ปูนในภายหลังได้ เช่น หาก กลุ่มโฮลซิมเข้ามา ย่อมนำโรงปูนทีพีไอกับปูนกลางมาควบรวมกันแล้วผลิตปูนเป็นยี่ห้อนกอินทรีแทน
ส่งผลให้เอเย่นต์ปูนทีพีไอขาดแคลน ปูนที่จะขายได้หรืออาจจะถูกปลดจากการเป็นเอเย่นต์ได้
นอกจากนี้ บริษัทฯได้ให้สิทธิประโยชน์แก่เอเย่นต์ที่จองซื้อหุ้น TPIPL โดยนำหุ้นมาค้ำประกันในการซื้อปูนซีเมนต์ได้จากเดิมที่ต้องใช้แบงก์การันตี
ซึ่งเป็นแนวทางในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ก่อนหน้านี้นายมงคล ศิโรรัตนรังษี ผู้จัดการ หจก.วอลล่า ตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ปูนทีพีไอในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
(สปป.ลาว) ได้กล่าวว่าพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ทีพีไอโพลีน
จำกัด (มหาชน)อย่างเต็มที่ เพราะต้องการช่วยเหลือให้ธุรกิจปูนซิเมนต์ ซึ่งเป็นกิจการของคนไทยแท้ให้สามารถอยู่รอด
อย่างน้อยก็ให้ธุรกิจที่เป็นของคนไทยจริงๆหลงเหลืออยู่ในประเทศนี้บ้าง
"ผมเห็นใจคุณประชัย ที่สร้างธุรกิจขึ้นมาเองกับมือ ถือเป็นตัวอย่างของนักสู้โดยแท้
แม้จะ เผชิญปัญหาต่างๆมากมาย เป็นนักอุตสาหกรรม ที่ไม่ได้บริหารกิจการผิดพลาด ปัญหาสภาพคล่อง
ที่เกิดขึ้นกับทีพีไอ เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง" นายมงคลกล่าวและแสดงความเห็นอีกว่า
ตนเป็นเอเย่นต์ปูนทีพีไอในสปป.ลาวมานาน นับตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงงานผลิตปูนทีพีไอ
ยิ่งทำให้อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูบริษัททีพีไอ อยากให้คนไทยทั่วประเทศ
เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทดังกล่าวด้วย
นายประชัย กล่าวถึงราคาปูนซีเมนต์ที่ปรับขึ้นในช่วงนี้ เกิดจากปัญหาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น
เป็นผลจากมาตรการเข้มงวดด้านน้ำหนักรถบรรทุก ทำให้ปริมาณรถบรรทุกไม่เพียงพอ ผนวกกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้นด้วย
เนื่องจากภาครัฐมีโครงการบ้านคนจน ทำให้ความต้องการใช้ปูนในปีนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง
20% เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว ส่งผลให้จีดีพีในประเทศจะอยู่ที่ 6.5-7%
"โครงการเอื้ออาทรของรัฐถือเป็นนโยบายที่ดีและถูกต้องของรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ดังนั้น ตัวเลขการส่งออกปูนซีเมนต์ของ
ไทยในปีนี้น่าจะลดลง เพราะดีมานด์ในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 20%"
ส่วนผลกระทบรถบรรทุกขาดแคลนนั้น ทีพีไอโพลีนไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการซื้อรถบรรทุกเพิ่มเติมเพื่อรองรับ
กำลังการผลิตปูนโรงที่ 4 แต่ขณะนี้ได้เบรกแผน ผลิตในโรงปูนซีเมนต์ที่ 4 ออกไป ทำให้มีรถบรรทุกเกิน
ซึ่งมาตรการเข้มงวดการบรรทุกไม่เกิน 26 ตัน ทำให้รถบรรทุกปูนซีเมนต์ที่เกินอยู่เพียงพอกับความต้องการพอดี
อย่างไรก็ตาม แผนการตลาดในปีนี้ บริษัทฯ จะลดการส่งออกปูนจากเดิม 50% หรือ 4.5
ล้าน ตัน เหลือเพียง 30% หรือคิดเป็นจำนวน 2-3 ล้านตัน เนื่องจากบริษัทฯจะหันมาจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
เพราะมีมาร์จินสูงกว่าการส่งออก ทำให้ปีนี้ คาดว่าจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี
(EBITDA) 400 ล้านบาท/เดือน สูงกว่าปีที่แล้วที่มี EBITDA เพียง 250 ล้านบาท/เดือน
นายประชัยกล่าวถึงกรณีพิพาทกับผู้ผลิตเครื่องจักรปูนซีเมนต์ไลน์ 4 ว่า คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการตัดสินในอนุญาโตตุลาการ
โดยผู้ผลิต เครื่องจักรไม่ต้องการส่งมอบเครื่อง เนื่องจากได้รับการคำสั่งจาก KFW
เพราะ KFWได้รับคำสั่งจากผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของโลกอีกทอดหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้ผลิตเครื่องจักรต้องการ
ให้ทีพีไอโพลีนชำระเงินค่าเครื่องจักรที่เหลืออยู่อีก 90 ล้านเหรียญสหรัฐ
สุดท้ายเชื่อว่าศาลคงมีคำสั่งให้ทีพีไอโพลีนชำระเงินที่เหลือ และให้ผู้ผลิตเครื่องจักรส่งมอบสินค้าให้
ทำให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านตันเป็น 12 ล้านตันใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคดีดังกล่าวจะสรุปผลได้เมื่อใด เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนเท่านั้น
สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2545 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2545 บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ
1453 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ ต่อหุ้น 2.86 บาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ
2,522 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น 4.97 บาท ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายจำนวน
14,462 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มียอดขาย 15,542 ล้านบาท และในปี 2544 บริษัทฯมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท
คาโปรแลคตัมไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจำนวน 4,004 ล้าน บาท