นายชยะบูรณ์ ชวนไชยสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พรไพลิน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
เปิดเผยว่า กลุ่มพรไพลิน มีประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มานานกว่า 20 ปี โดยในระยะ
2-3 ปีที่ผ่านมาได้พยายามขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิงและธุรกิจสื่อ
ซึ่งปัจจุบันกลุ่มพรไพลินมีสัมปทานบริหารเซ็นเตอร์พอยท์ในสยามแสควร์ จากสำนักทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5 ปี และจะครบกำหนดในปลายปีนี้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมต่อสัญญา และมีแผนที่จะปรับปรุงพื้นที่เช่นสร้างหลังคา
และอื่นๆ โดยใช้งบ 7-10 ล้านบาท แต่มีพื้นที่ร้านค้าเช่าเท่าเดิม 32 ร้าน เฉลี่ยมีรายได้ประมาณ
1.5 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 18 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจวิทยุเสียงตามสายในสยามแสควร์ ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2544 ในชื่อว่า
“เอส โอ เอส” ในนามบริษัท เอ็กซ์ แท็กซี่ จำกัด และภายหลังเปลี่ยนเป็นบริษัท เซ็นเตอร์พอยท์
เน็ทเวิร์ค จำกัด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในสยามแสควร์รับทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวรวมทั้งกิจกรรม
โปรโมชั่น รายละเอียดของร้านค้าภายในสยามแสควร์ และขณะนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่
ด้วยการเปิดเพลงไทยและสากล ในสัดส่วนที่เท่ากัน จากเดิมจะเน้นเปิดเพลงสากลมากกว่า
ทั้งนี้รายได้จากเอส โอ เอส มาจากโฆษณาและสปอนเซอร์ โดยกำหนดค่าสปอทแบบลูสสปอท
ราคา 135 บาท ต่อ 30 วินาที แต่ถ้าเป็นแพคเกจ 1 (8 ครั้ง/วัน/1 เดือน) รวม 32,400
บาท แพคเกจ 2 ( 12 ครั้ง/วัน/1เดือน) รวม 48,600 บาท
นอกจากนี้เมื่อปลายปีที่ 2545 กลุ่มพรไพลินได้เปิดตัวสื่อตัวใหม่ที่สยามสแควร์อีก
ด้วยการร่วมทุนกับเจ้าของร้านมิลค์พลัส ตั้งบริษัท มีเดีย เชคเกอร์ จำกัด ทุนจดทะเบียน
5 ล้านบาท เพื่อทำสื่อมีเดียเชคเกอร์ ด้วยงบลงทุน 30 ล้านบาทเศษ ซึ่งมีเดียเชคเกอร์เป็นสื่ออีเลคทรอนิคส์
จอแอลอีดีกลางแจ้งพร้อมเสียงแบบอินเทอร์แอคทีฟรายแรกในไทย ตั้งอยู่หน้าร้านมิลค์พลัสสยามสแควร์
มีสัญญาสัมปทานจากจุฬาฯ 2 ปีครึ่ง
ล่าสุดบริษัทได้รับสัมปทานคลื่นวิทยุ คลื่น 103 เอฟเอ็ม จากกองทัพบก ตลอด 24 ชั่วโมง
เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2546 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บริษัทได้บริหารสื่ออย่างเต็มตัว
จากก่อนหน้านี้เคยรับช่วงบริหารคลื่น 103 ในช่วงเวลา 22.00-04.44 น. และคลื่น 97.5ของอ.ส.ม.ท.
เวลา 21.00-03.00 น. โดยคลื่นใหม่นี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นคลื่นที่มีสาระและความบันเทิงเจาะกลุ่มวัยรุ่น
“เหตุผลที่เราเข้าสู่วิทยุก็คือการขยายเครือข่ายของสื่อให้ครอบคลุมมากที่สุดในอนาคต
เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในลักษณะของการสร้างอิมแพคให้กับธุรกิจด้วย แต่สัมปทานวิทยุครั้งนี้เป็นช่วงสั้นๆเพียงแค่ปีต่อปี
มีค่าเช่ารวมค่าใช้จ่ายต่างๆ 3 ล้านบาทต่อเดือนโดยหวังว่าจะมีรายได้ 5 ล้านบาทต่อเดือน”