ธปท.เผยดุลการชำระเงิน 8 เดือนแรกของปีนี้ มีเม็ดเงินจากต่างชาติทะลักเข้าไทยผ่านภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารถึง 3.6 แสนล้านบาท โดยเฉพาะเงินลงทุนโดยตรงในภาคเศรษฐกิจจริงกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ค่าเงินบาทเมื่อวานนี้แข็งค่าสูงสุดในรอบ 8 ปีแตะที่ 36.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุนักลงทุนต่างชาติแห่ลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดความกังวลจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้รายงานดุลการชำระเงิน ล่าสุด 8 เดือนแรกของปี 2549 พบว่า ยังคงมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องจากต่างประเทศต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในส่วนของภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารสูงถึง 9,726 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 359,862 ล้านบาท (37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยเป็นเงินลงทุนโดยตรงในภาคเศรษฐกิจจริง 4,106 ล้านเหรียญฯ หรือ 151,922 ล้านบาท เป็นเงินกู้เข้ามาลงทุน 890 ล้านเหรียญฯหรือ 32,930 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ 3,868 ล้านเหรียญฯ หรือ 143,166 ล้านบาท และเป็นเงินลงทุนอื่นๆ 862 ล้านเหรียญฯ หรือ 31,894 ล้านบาท
สำหรับค่าเงินบาทในช่วงเปิดตลาดของเมื่อวานนี้(14 พ.ย.) แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดตลาด ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 36.41บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปรับแข็งค่าขึ้นจากวันก่อนหน้า0.27% และเมื่อเทียบกับสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งค่าเงินบาทอยู่ที่ 37.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นแล้ว 3.05% หรือ 1.11 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ เกิดจากมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากนับตั้งแต่ต้นปี 2549ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันเมื่อเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินสกุลยูโรของสหภาพยุโรป พบว่า อยู่ที่ระดับ46.65 บาทต่อยูโร แข็งค่าขึ้นจากวันก่อนหน้า 0.68% และเมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น2.09% หรือ 0.98 บาทต่อยูโร ส่วนค่าเงินบาทเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่นต่อ 100 เยน พบว่าค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.95 บาทต่อ 100 เยน แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า 0.65% และเมื่อเทียบกับสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้น2.88% หรือ 0.89 บาทต่อ 100 เยน
ด้านนักค้าเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (14 พ.ย.) ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ โดยในช่วงเช้าเปิดอยู่ที่ระดับ 36.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในระหว่างวันมีการปรับตัวแข็งค่าสูงสุดอยู่ที่ 36.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 ปี และกระทั่งปิดตัวค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 36.41-36.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ ที่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตรยังคงมีมาก ขณะเดียวกันค่าเงินบาทได้รับผลมาจากปัจจัยนอกประเทศทั้งค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และการประกาศตัวเลขของญี่ปุ่นที่ออกมาไม่ดีนัก ทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในไทยมากขึ้น
|