การที่เทมาเส็กเข้าซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN (ชินคอร์ป) มีส่วนสำคัญทำให้เกิดกระแสต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในประเทศไทย จนไปสู่การทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของเขาในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เทมาเส็กในสิงคโปร์ เกี่ยวกับการเข้าไปซื้อกิจการบริษัทแม่ของกิจการสื่อสารใหญ่ที่สุดในเมืองไทยแห่งนี้ จนทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมากมาย
เมื่อถูกผู้ฟังถามว่า เธอคาดหมายว่าปัญหาชินคอร์ปจะได้รับการแก้ไขอย่างไร นางโฮชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของเทมาเส็กก็ตอบว่า "ในขณะเวลานี้ เรามองการณ์ในแง่ดีด้วยความระวังรอบคอบ"
นางโฮซึ่งไปกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมนักลงทุนที่จัดโดยวาณิชธนกิจ มอร์แกน สแตนลีย์ พูดต่อไปว่า เธอเข้าใจว่ารัฐบาลไทยชุดปัจจุบันต้องการนำประเทศกลับไปสู่เส้นทางแห่งการเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่เธอก็มิได้ขยายความมากไปกว่านี้
ตามการคำนวณของรอยเตอร์ กลุ่มร่วมทุนที่นำโดยเทมาเส็กเวลานี้ถือหุ้นชินคอร์ปอยู่ 96% แต่ราคาหุ้นตัวนี้ได้ตกลงจาก 49.25 บาทต่อหุ้น เมื่อตอนที่เทมาเส็กชำระเงิน จนเหลือเพียง 30 บาทแล้ว
ขณะเดียวกัน ธุรกิจอีกหลายอย่างซึ่งชินคอร์ปมีเอี่ยวอยู่ก็ยังเกิดปัญหามากมาย เมื่อวันศุกร์(10)ที่ผ่านมา ชินเพิ่งรายงานว่า ผลกำไรในรอบไตรมาสตกฮวบลง 54% จนอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี เนื่องจากธุรกิจหลักๆ ต่างมีผลประกอบการย่ำแย่
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยยังกำลังเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 9,400 ล้านบาท (2,600 ล้านดอลลาร์) จากบริษัทไอทีวี ซึ่งก็เป็นกิจการหนึ่งในเครือชินคอร์ป ในกรณีพิพาทเกี่ยวกับค่าสัมปทาน
การเข้าซื้อหุ้นชินที่นำโดยเทมาเส็กเอง ก็กำลังถูกทางการไทยสอบสวนเช่นกัน ว่ามีการละเมิดกฎหมายการถือครองของต่างชาติหรือไม่
ส.ส.สิงคโปร์ถามรัฐบาลเรื่องเทมาเส็กซื้อชิน
ทางด้านโทรทัศน์แชนเนลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์ รายงานในเว็บไซต์ของตนว่า ในรัฐสภาสิงคโปร์วานนี้ ก็ได้มีการตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับดีลเทมาเส็กซื้อชินคอร์ป และนายธาร์มาน ชันมูการัตนัม รัฐมนตรีคลังคนที่สองตอบยืนยันว่า ข้อตกลงนี้เป็นธุรกรรมทางการพาณิชย์ที่สะอาด และทำตามกฎหมายในประเทศไทยทุกอย่าง
ทั้งนี้ มี ส.ส.สิงคโปร์หลายคนแสดงความเป็นห่วงว่า การที่เทมาเส็กเข้าไปทำการลงทุนซึ่งมีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ เปรียบเหมือนการเอาไข่ทั้งหมดทุกฟองใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว
"ในตอนท้ายของการดำเนินการทั้งหมด ด้วยการที่เทมาเส็กกำลังถือครอง 96% ของทรัพย์สินซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ชิ้นหนึ่งของประเทศไทย เรื่องนี้ดูจะก่อให้เกิดความอ่อนไหวบางประการขึ้นในประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาลสิงคโปร์กำลังพยายามที่จะเข้าควบคุมทรัพย์สินยุทธศาสตร์เช่นนั้น ดังนั้น ควรหรือไม่ที่รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังจะให้คำชี้แนะบางประการแก่เทมาเส็กในเรื่องการเข้าไปถือครองกิจการ" เป็นกระทู้ถามของ ส.ส.อินเดอร์จิต ซิงห์
ทางด้านรัฐมนตรีคลังคนที่สองของสิงคโปร์ตอบว่า ทันทีที่เห็นกันว่ารัฐบาลเข้าไปเกี่ยวกับในกระบวนการตัดสินใจเรื่องการลงทุนแล้ว ทุกครั้งที่เกิดการทำธุรกรรมซึ่งผิดพลาดขึ้นมา ในการลงทุนขนาดใหญ่ๆ (ซึ่งจริงๆ ย่อมจะต้องเกิดธุรกรรมที่ผิดพลาดขึ้นได้เป็นระยะๆ อยู่แล้ว) ความผิดพลาดดังกล่าวย่อมส่งผลสะท้อนย้อนกลับมาที่รัฐบาลด้วย เช่นเดียวกันส่งผลสะท้อนย้อนกลับต่อเทมาเส็ก
อย่างไรก็ตาม นายธาร์มานก็อธิบายว่า การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงย่อมให้ผลตอบแทนดีกว่ามาก และในการทำข้อตกลงเรื่องชินคอร์ป ก็มิใช่การลงทุนอย่างสะเพร่าไม่รอบคอบ แต่เทมาเส็กมีการเสาะหาคำปรึกษาหารืออย่างดีที่สุดก่อนลงมือปฏิบัติการ
นายธาร์มานยังถูกถามว่า การครอบครองกิจการเช่นนี้ ควรจะต้องมีการประเมินผลทางการเมืองด้วยหรือไม่ เนื่องจากดีลชินคอร์ปได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาด้านลบในหมู่คนไทย
รัฐมนตรีคลังคนที่สองสิงคโปร์ตอบว่า ทันทีที่ทำเช่นนั้น ธุรกรรมต่อๆไปทุกอย่าง มิต้องถูกพิจารณากันไปหมดหรือว่า มันเข้ากับนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสิงคโปร์แค่ไหน
เขายืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงการติดสินใจเรื่องการลงทุน เป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว และเป็นผลประโยชน์ที่สุดทั้งแก่เทมาเส็กและแก่รัฐบาลเอง
ไตรมาส 3 ชินกำไรลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท
ล่าสุดบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ได้รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 855.43 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.27 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,876.56 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.63 บาท ลดลงจากปีก่อน 1,021.13 ล้านบาท คิดเป็น 54.42%
ขณะที่งวด 9 เดือนกำไรสุทธิ 4,680.32 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.51 บาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 6,583.06 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.20 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 1,902.74 ล้านบาท คิดเป็น 28.90%
โดยสาเหตุที่ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ลดลงกว่า 54.41% เกิดจากส่วนแบ่งผลกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียลดลง 978.26 ล้านบาท จากไตรมาส 3 ปี 2548 จำนวน 1,874.09 ล้านบาท เหลือ 895.83 ล้านบาท หรือลดลง 52.20%
ทั้งนี้ จากการพิจารณากำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียของ SHIN ปรากฏว่า ลดลงทุกบริษัท เช่น บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำนวน 1,561 ล้านบาท ลดลง 12.84% บมจ.ชิน แซทเทลไลท์ -309 ล้านบาท ลดลง 598.39% บมจ. ไอทีวี 26 ล้านบาท ลดลง 61.76% อื่นๆ -382 ล้านบาท ลดลง 712.77%
สำหรับสาเหตุที่กำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียของ SHIN ลดลง เกิดจากบริษัทย่อยที่ SHIN ถือหุ้นอยู่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ลดลงเกือบทุกบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน 4 แห่ง ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเกิดจากกลุ่มชินคอร์ปไม่ได้การเอื้อประโยชน์ทางการเมือง หลังจากหมดยุคสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC กำไรสุทธิ 3,653.31 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.24 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 4,178.48 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.42 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 525.17 ล้านบาท คิดเป็น 12.57% บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL กำไรสุทธิ 62.95 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.10 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 41.71 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท หรือเพิ่มขึ้น 50.92%
บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กำไรสุทธิ 88.75 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 168.46 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.14 บาท หรือลดลง 47.32% และบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL ขาดทุนสุทธิ 746.82 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.68 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 154.43 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.14 บาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า 583.60%
ขาดทุนมูลค่าหุ้น 6 หมื่นล้าน
ขณะเดียวกัน ผู้จัดการรายวัน ได้เปรียบเทียบราคาหุ้นในราคาที่กลุ่มเทมาเส็กเข้ามาซื้อหุ้น SHIN จากตระกูลชินวัตร และดามาพงษ์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 และรับซื้อหุ้นจากประชาชนทั่วไป (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมจำนวนหุ้น 3,076,762,064 หุ้น หรือคิดเป็น 96.29% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 151,531 ล้านบาท
ขณะที่ราคาหุ้นล่าสุด (14 พ.ย.) ปิดที่ 29.75 บาท ทำให้มูลค่าหุ้นทางบัญชีที่เทมาเส็กถืออยู่ลดเหลือประมาณ 91,534 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 59,997 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วน 39.59%
|