แม้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน "เวิร์ลพูล" ของบริษัทเวิร์ลพูล
คอร์ปอเรชั่น แห่งสหรัฐอเมริกาจะมียอดการผลิตและจำหน่ายสูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ
นอกเหนือไปจากการมียอดขายเป็นอันดับ 3 ในตลาดยุโรป
แต่สำหรับในเอเชีย เนื่องจากเวิร์ลพูลเพิ่งเริ่มขยายธุรกิจเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้เมื่อปี
2532 ซึ่งเป็นช่วงที่แทบทุกประเทศถูกครอบครองตลาดโดยบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นแล้วทั้งสิ้น
จึงเป็นธรรมดาที่ส่วนแบ่งการตลาดหรือยอดขายของเวิร์ลพูลในเอเชียยังต่ำมาก
(ดูตารางยอดขายประกอบ)
สาเหตุที่ทำให้เวิร์ลพูลตัดสินใจรุกตลาดเอเชีย เนื่องมาจากผลการวิจัยตลาดของบริษัทที่ยืนยันว่า
ความสำเร็จระดับโลกของเวิร์ลพูลจะเป็นจริงได้ต้องมีความสามารถในเอเชียให้ได้ก่อน
เพราะเศรษฐกิจของอาเซียนมีแนวโน้มที่จะเติบโตถึงปีละ 6% ไปจนถึงปี 2000 รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้
จากปัจจุบันที่เป็นตลาดใหญ่อันดับสองของโลก
กลยุทธ์สำคัญในการก้าวสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกของเวิร์ลพูล เริ่มต้นเมื่อปี
2431 ด้วยการเข้าร่วมทุนกับบริษัท ฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่ของยุโรป ในส่วนของสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 53% และ 47% ตามลำดับ
การร่วมทุนกันครั้งนี้ทำให้เวิร์ลพูลก้าวขึ้นมามีบทบาทในระดับโลก เพราะได้อาศัยเครือข่ายของฟิลิปส์ที่มีอยู่ทั่วโลก
รวมทั้งได้แบรนด์ อิมเมจที่มีอยู่ในตลาดเป็นเวลานานและกระจายอยู่ทั่วโลกมาเป็นประโยชน์ในการทำตลาด
ภายใต้เครื่องหมายการค้า "ฟิลิปส์-เวิร์ลพูล"
หลังจากร่วมมือกันอยู่ 3 ปี เวิร์ลพูลได้เข้ามาเทคโอเวอร์หุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดจากฟิลิปส์
ซึ่งส่งผลให้เวิร์ลพูลกลายเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
(Home Appliance) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก คือ มีสินค้าจัดจำหน่ายอยู่ในกว่า
120 ประเทศ ด้วยยอดขายทั่วโลก 8,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 202,500 ล้านบาทในปี
2537
แม้ว่าจะแยกทางกับฟิลิปส์ แผนการรุกตลาดเอเชียของเวิร์ลพูลก็ยังดำเนินต่อไป
และถือว่าเป็นเป้าหมายหลักประการหนึ่งของวิชั่น 2000 ของบริษัทที่กำลังจะมาถึงในอีก
5 ปี อันเป็นขั้นตอนที่จะนำไปสู่เป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ การขึ้นมาเป็น TOP
3 ในภูมิภาคนี้ภายใน 7-8 ปีข้างหน้า และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวเวิร์ลพูลจะต้องลงทุนสร้างโรงงานในภูมิภาคนี้จำนวนทั้งสิ้น
14-15 โรงงาน
เวิร์ลพูลแบ่งตลาดเอเชียเป็น 3 เขตหลักคือ เขตที่ 1-จีน เขตที่2-อินเดีย
ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียและเอเชียเหนืออยู่ในในเขตที่ 3 โดยใน
2 เขตแรกเวิร์ลพูลได้เข้าไปตั้งโรงงานแล้ว 7 โรงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา อยู่ในจีน
5 โรง คือ โรงงานผลิตตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เตาอบ ไมโครเวฟ
และคอมเพรสเซอร์ ในอินเดียมีโรงงานผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น
700 ล้านดอลลาร์
นายดาลิป กุมาร ปาวา อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทเวิร์ลพูล (ประเทศไทย) ซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นประธานและกรรมการผู้จัดการเวิร์ลพูลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ออสเตรเลียและเอเชียเหนือ เมื่อต้นปีที่ผ่านมากล่าวถึงเหตุผลที่เวิร์ลพูลเลือกตั้งโรงงานในจีนและอินเดียว่า
เพราะทั้งสองประเทศเป็นตลาดใหญ่ มีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านสูง
ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณที่มาก ประกอบกับค่าจ้างแรงงานยังต่ำ ซึ่งยิ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
"ในทวีปเอเชียตัวแปรสำคัญอยู่ที่ประเทศจีน อินเดียและญี่ปุ่น ถ้าเราโตใน
3 ประเทศนี้ได้เร็วมาก โอกาสจะประสบความสำเร็จก็จะมีมาก"
ตามแผนการที่วางไว้ นอกจากจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้ว โรงงานในจีนและอินเดียจะเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนให้กับเวิร์ลพูลในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่นทั่วโลก
แต่ถ้ากำลังการผลิตไม่เพียงพอ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจที่สุดในการตั้งฐานผลิต
เพราะการเกิดขึ้นของเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะมีการลดภาษีกันอย่างมโหฬารในอนาคตอันใกล้
ซึ่งเรื่องนี้คงจะมีการพิจารณากันในอีก 2 ปีข้างหน้า
กล่าวสำหรับประเทศไทย แม้ว่าในแง่ยุทธศาสตร์อาจจะไม่สำคัญเท่า 3 ประเทศดังกล่าวข้างต้น
แต่ก็นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเวิร์ลพูลในประเทศไทยประสบความสำเร็จในการทำตลาดมากที่สุด
เมื่อเทียบกับเวิร์ลพูลประเทศอื่นในเอเชียด้วยกัน จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลกิจการเวิร์ลพูลตลาดอินโดจีนและพม่า
เวิร์ลพูล ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 2533 เริ่มจากยอดขาย 480 ล้านบาท
ก่อนที่จะขึ้นมาเป็น 1,252 ล้านบาทเมื่อปี 2537 และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น
1,500 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และ 2,000 ล้านบาทในปีนี้
ประยงค์ ตรีรัตนกุลชัย กรรมการผู้จัดการเวิร์ลพูล ประเทศไทย กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการทำตลาดประเทศไทยว่า
จะพยายามผลักดันสินค้าเวิร์ลพูลให้ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 ใน 3 ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
ซึ่งขณะนี้มีเพียงตู้เย็นเท่านั้นที่เข้าใกล้ตำแหน่งดังกล่าวมากที่สุด รองลงมา
คือ เตาอบไมโครเวฟ ส่วนเครื่องซักผ้าและเครื่องปรับอากาศนั้นคงต้องออกแรงมากกว่าเพื่อน
เพราะเป็นสินค้าที่ไม่มีจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน
ในปีที่ผ่านมาตู้เย็นเวิร์ลพูลมีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 20% คือ หรือ 30,000
ตู้ของตลาดรวม 1.7-1.8 แสนตู้ เตาอบไมโครเวฟมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10%
เครื่องซักผ้าเกือบ 10% ส่วนเครื่องปรับอากาศมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ไม่ถึง 5%
แผนการรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของเวิร์ลพูล นอกจากการแนะนำสินค้ารุ่นใหม่เข้าตลาดแล้ว
อีกสิ่งที่เวิร์ลพูลจะเร่งผลักดันก็คือ การสร้างแบรนด์เวิร์ลพูลให้ชัดเจน
เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภครู้จักแต่ตู้เย็นของเวิร์ลพูลเท่านั้น ส่วนสินค้าอื่นๆ
ยังเป็นที่รู้จักน้อย พร้อมกันนี้ยังจะสร้างภาพพจน์ของสินค้าให้เป็น USA
Image
นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะนำสินค้า Fighting Brand มาขยายตลาด โดยจะเริ่มจากการนำตู้เย็นยี่ห้อ
"Ignis" เข้ามาวางขายในดิสเคาน์สโตร์อย่างแม็คโคร ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง
และเป็นช่องทางการจำหน่ายที่เวิร์ลพูลยังไม่ได้เข้าไปเล่น เพราะไม่ต้องการให้มีการตัดราคากับสินค้ายี่ห้อเวิร์ลพูลที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าตัวแทนจำหน่าย
โดยคาดว่าจะเริ่มต้นในกลางปีนี้
กลยุทธ์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การรุกตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก
(Small Domestic Appliance) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกที่เวิร์ลพูลรุกเข้าสู่ตลาดนี้
ประยงค์กล่าวถึงสาเหตุที่ลงมาเล่นในตลาดนี้ว่า เนื่องจากเป็นตลาดน่าสนใจ
เพราะมีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านบาท สินค้าตัวแรกที่บริษัทแนะนำไปแล้วคือ
หม้อหุงข้าว ส่วนในปีนี้มีแผนจะแนะนำพัดลมและเตารีด โดยคาดว่าภายในปีนี้จะมีส่วนแบ่งตลาดนี้ประมาณ
5%
"นอกเหนือจากสินค้าญี่ปุ่นแล้ว เรามั่นใจว่าเวิร์ลพูลจะเป็นสินค้าอเมริกาที่บุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้มากกว่าใครในภูมิภาคนี้
เพราะเราพัฒนาทุกๆ อย่างควบคู่กันไป" ดาลิป กุมาร ปาวากล่าวทิ้งท้าย
เพราะคาดหมายว่า ความสำเร็จของประเทศไทยจะยิ่งทำให้ความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียของเวิร์ลพูลเป็นจริงขึ้น