ภาพความชื่นมื่นในการบุกเข้าไปลงทุนในประเทศอินโดจีนของกลุ่มชินวัตร เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายการขยายอาณาจักรในต่างแดน
ยังไม่ทันจางหายดี
ชั่วเวลาเพียงไม่ถึง 2 ปี ไอบีซีเคเบิลทีวี กลับถอยทัพลงทุนกลับประเทศ บอกคืนสัมปทานให้บริการโทรทัศน์
แบบฟรีทีวีทั้งในกัมพูชาและลาว กลับคืนให้รัฐบาล และขายอุปกรณ์ทั้งหมดให้กับนักลงทุนรายอื่น
คงเหลือแต่ธุรกิจโทรคมนาคมที่ยังคงดำรงอยู่
เกิดอะไรขึ้นกับไอบีซี ?
ที่จริงเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เป็นเรื่องธรรมดาของการดำเนินธุรกิจ
เมื่อกิจการใดที่ขาดทุน หรือไม่มีอนาคต ก็ควรจะตัดทิ้ง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมการดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ ของไอบีซีจึงล้มเหลวทั้งสองประเทศ
ทั้งๆ ที่ไอบีซีในไทยก็มีทั้งความพร้อมในเรื่องของบุคลากร และซอฟท์แวร์ ที่สำคัญคือ
ประสบการณ์ในธุรกิจเคเบิลทีวี แม้จะไม่ใช่ฟรีทีวีโดยตรง แต่ก็อาศัยเทคนิคที่ไม่แตกต่างกันนัก
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอบีซี ในกัมพูชาและลาว แม้จะเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ
แต่ก็มีจุดจบที่คล้ายคลึงกัน
กัมพูชา นับได้ว่าเป็นประเทศแรกที่กลุ่มชินวัตรสามารถคว้าสิทธิ์เข้าไปลงทุน
ภาพการลงทุนของกลุ่มชินวัตรในเวลานั้น ดูยิ่งใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะกัมพูชาเป็นประเทศที่เพิ่งฟื้นจากสงครามไม่นาน
และเริ่มเปิดรับนักลงทุนจากต่างแดนและเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทุนสื่อสารไทย
กำลังมุ่งมั่นอยู่กับการแสวงหาธุรกิจในต่างประเทศเพื่อขยายแหล่งที่มาของรายได้
โทรศัพท์มือถือ และสถานีโทรทัศน์และวิทยุ คือ สองโครงการสำคัญที่ชินวัตรได้รับจากรัฐบาลกัมพูชา
ผู้บริหารของไอบีซีเคเบิลทีวีเล่าว่า การดำเนินงานของไอบีซีแคมโบเดีย ในช่วงแรกไปได้ดี
เพราะในเวลานั้น สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ของไอบีซีแคมโบเดียเกือบเป็นสถานีเดียวที่ถ่ายทอดรายการ
ในขณะที่ทีวีช่อง 7 หรือทีวีกัมพูชาที่เป็นของรัฐบาล มีกำลังส่งและรายการน้อยกว่า
ทำให้เรตติ้งคนดู 98% ตกเป็นของช่อง 5
"ในช่วงนั้นเรามีรายได้จาการขายโฆษณา ที่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ที่เข้าไปขายในกัมพูชาเดือนละ 6-7 ล้านบาทต่อเดือน เรียกว่า มีแนวโน้มที่สดใสมาก"
ผู้บริหารของไอบีซีเล่า
ไอบีซี แคมโบเดียนั้นทุ่มการลงทุนเต็มที่ นอกเหนือจากเงินทุนที่ใช้ในการจัดตั้งสถานีทีวี
และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ จำนวน 70 ล้านบาทแล้ว ไอบีซีแคมโบเดียได้ว่าจ้างพนักงานท้องถิ่นแบบเต็มอัตราศึก
"คนสัก 40-50 คนน่าจะเพียงพอกับการดำเนินธุรกิจทีวีในกัมพูชา แต่นี่เราจ้างเกือบ
200 คนเรียกว่า เต็มระบบของสถานีโทรทัศน์ของช่อง 7 สีของไทยเลยทีเดียว"
ผู้บริหารของไอบีซีเล่า
การเข้าไปลงทุนของไอบีซีในกัมพูชามาจากเงื่อนไขทางการเมือง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชาขึ้น
การลงทุนของไอบีซีย่อมได้รับผลกระทบได้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา
ไอบีซีแคมโบเดียได้ถูกกล่าวหาว่า ช่วยหาเสียงให้ฝ่ายฮุนเซ็น จนเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามคือ
เจ้ารณฤทธิ์เมื่อขึ้นเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก สั่งให้นำกลับมาทบทวนใหม่ อายุสัมปทานที่เคยคาดว่าจะได้ถึง
99 ปีถูกกำหนดลดลงเหลือเพียงแค่ 30 ปี
แต่ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบชัดเจนที่สุดคือ การที่ไอบีซีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นการก่อรัฐประหารในกัมพูชา
นับตั้งแต่นั้นสถานการณ์ของไอบีซีแคมโบเดีย เริ่มสั่นคลอนมาตลอด ตัวเลขรายได้เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
รายได้จากการขายโฆษณาที่เคยขายอยู่นาทีละ 600 เหรียญสหรัฐ ลดลงเหลือเพียง
13-30 เหรียญเท่านั้น เนื่องจากการชะงักงันของธุรกิจภายในประเทศ
ขณะเดียวกัน ในเชิงธุรกิจแล้วคู่แข่งขันของไอบีซีเพิ่มมากขึ้นอีกหลายสถานี
นอกจากช่อง 7 ที่เป็นของรัฐแล้ว รัฐได้ให้เอกชนเช่าเวลาของช่อง 3 และช่อง
9 ของพรรคฟุนซินเปค ช่อง 11 ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งเริ่มดำเนินการ
และช่อง 12 เป็นสถานีของกองทัพ ที่ได้ให้เอกชนเข้ามาเช่าเวลาออกอากาศ
"ในการแข่งขันนั้น เราต้องซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างจากผู้ผลิตรายการทั้งในและต่างประเทศมาแพร่ภาพ
ในขณะที่สถานีทีวีท้องถิ่น เขาไม่มีต้นทุนในส่วนนี้ เพราะเขามาเดินซื้อวิดีโอเทปราคาไม่กี่ร้อยบาทจากในไทยไปแพร่ภาพ
ซึ่งเราทำอย่างนั้นไม่ได้" ผู้บริหารของไอบีซีเล่า
นอกจากนี้รัฐบาลของกัมพูชาเริ่มเข้ามาควบคุมมากขึ้น โดยตั้งเงื่อนไขว่าหากเจ้าของสินค้าลงโฆษณาในไอบีซี
แคมโบเดีย จะต้องลงโฆษณากับสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลด้วย
เมื่อโอกาสทางธุรกิจไม่เอื้ออำนวย แถมยังโดนพิษการเมืองเล่นงาน คงไม่คุ้มแน่หากจะลงทุนต่อ
ทางออกที่ดีที่สุดคือ ปิดฉากการลงทุนโทรทัศน์ในกัมพูชา โดยอุปกรณ์สถานีทั้งหมดถูกขายไปให้กับบริษัทไทยนครพัฒนา
ที่ร่วมหุ้นกับกันตนาที่ได้สัมปทานโทรทัศน์จากกระทรวงกลาโหมกัมพูชาไปทั้งหมด
ในราคาที่ต่ำกว่าเป็นเท่าตัว ส่วนตัวสัมปทานอยู่ระหว่างการตกลงกับรัฐบาลกัมพูชา
ส่วนในเรื่องของราคาหุ้นที่จะขายคืนให้กับทางรัฐบาล คงเหลือไว้แต่โทรศัพท์พื้นฐานในนั้น
สำหรับลาวแล้ว การลงทุนธุรกิจทีวีของไอบีซี อาจเป็นเรื่องของความบังเอิญก็ว่าได้
เพราะเป้าหมายการลงทุนของชินวัตร คือ กิจการโทรคมนาคมตามแผนพัฒนาระบบโทรคมนาคม
ฉบับที่ 3 ที่ชินวัตรได้สิทธิ์ให้บริการโทรศัพท์มือถือ วิทยุติดตามตัว โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ
ภายใต้ข้อตกลงเหล่านี้ ครอบคลุมไปถึง การจัดสร้างสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน
หรือ อัพลิงค์-ดาวน์ลิงค์ เพื่อส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ ซึ่งชินวัตรเตรียมการเอาไว้ในกรณีที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะพ่วงด้วยธุรกิจสถานีโทรทัศน์ในนครเวียงจันทร์
เพราะในเวลานั้นไอบีซีก็เริ่มมีประสบการณ์ทำทีวีในกัมพูชาอยู่แล้ว
โครงการอัพลิงค์-ดาวลิงค์ และสถานีโทรทัศน์จึงมาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของไอบีซีทั้งหมด
ซึ่งไอบีซีได้ลงนามเซ็นสัญญากับ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ช่วงปลายปี 2536
จัดตั้งบริษัท ไอบีซี(ลาว) ถือหุ้นโดยไอบีซี 70% และรัฐบาลลาว 30% เพื่อดำเนินกิจการทั้งสอง
ที่มีอายุสัมปทาน 15 ปี
ส่วนธุรกิจโทรคมนาคม อยู่ภายใต้การดำเนินงานของชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนล
ซึ่งมีการแบ่งแยกการลงทุนออกอย่างชัดเจน
เม็ดเงินจำนวน 50 ล้านบาท ถูกใช้ไปกับการสร้างสถานีโทรทัศน์ ซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียงกับการลงทุนในกัมพูชา
แต่สัญญาณกลับครอบคลุมได้แค่นิดเดียว เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา
ที่สำคัญการที่ลาว สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์จากไทยได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่อง
7 ที่คนลาวติดหนังและละครอย่างเหนียวแน่น
ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินกิจการของไอบีซีลาว ถูกควบคุมโดยกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมทั้งหมด
ที่ต้องการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ เพราะอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบสังคมนิยม
ในขณะที่เป้าหมายของไอบีซีในลาว คือ การดำเนินกิจการในลักษณะของธุรกิจ
"พอทำไปสักพักก็เริ่มขัดแย้ง เพราะรัฐบาลลาวรับไม่ได้กับสิ่งที่เราทำออกไป
เช่น การทำรายการสืบสานวัฒนธรรมลาว ที่มีการเอาชุดประจำชาติของลาวมาแนะนำว่า
เป็นชุดอะไร อยู่ในยุคสมัยไหน จึงมีการรับสมัครผู้หญิงลาวมาเป็นแบบ เพื่ออธิบายชุดของเขา
แต่รัฐบาลเขาไม่ยอม และให้เหตุผลว่า กดขี่ทางเพศ เห็นผู้หญิงเป็นแค่หุ่น
จนเราต้องเอาชุดไปใส่ไม้แขวนเสื้อแทน ในขณะที่คนลาวดูแฟชั่นโชว์ชุดว่ายน้ำจากช่อง
7 ของไทยได้หมด" ผู้บริหารของไอบีซีเล่า
ในขณะที่โฆษณาก็ถูกควบคุมและตรวจสอบตลอดเวลาและไม่ค่อยมี ในช่วงหลังสถานการณ์ค่อนข้างแย่มาก
"โฆษณากุญแจล็อกกันขโมย ก็ถูกห้ามออกอากาศเพราะรัฐบาลกลัวว่าจะเพาะนิสัยลักขโมยให้กับประชาชน"
ผู้บริหารไอบีซีเล่า
ผลที่ตามมา คือ ไอบีซีลาวขาดทุนเดือนละเกือบ 1 ล้านบาทตั้งแต่ต้นปี ทำให้ไอบีซีต้องหันกลับมาทบทวนการลงทุน
"ปัญหาคือ เรามองความต้องการของรัฐบาลลาวผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น และไม่ได้ทำธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของเขาว่าจะเป็นธุรกิจ
หรือเป็นแค่บรรณาการ" ผู้บริหารกล่าว
ทางออกที่ดีที่สุดของไอบีซีคือ การโอนย้ายกิจการสถานีโทรทัศน์ให้กับรัฐบาล
และขอแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์อื่นๆ ในกิจการโทรคมนาคม ที่ชินวัตรได้สัมปทานอยู่ในเวลานี้
ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นเจรจา และยังไม่รู้ว่าจะสรุปลงตัว ณ จุดใด
ผลการล้มเหลวของการลงทุนลาว และเขมร คือบทเรียนที่ไอบีซีลืมไม่ลงและนับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ไอบีซีต้องตัดสินใจ