CPR เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน ยูชอน ไพพ์ (ไทยแลนด์) จาก 80.40% เป็น 99.99% เพื่อขยายกิจการในแนวตั้งและรับกำไรจากเงินปันผล พร้อมแจ้งงบการเงินไตรมาส 3 ปีนี้กำไรลด 39.12% เนื่องจากรายได้จากการขายลด ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายนพดล วณิชวิศิษฎ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีอาร์ โกมุ อินดัสเตรียล จำกัด(มหาชน) ( CPR ) แจ้งว่าตามที่บริษัทได้ลงทุนในบริษัท บริษัท ยูชอน ไพพ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (ทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท) ในสัดส่วนร้อยละ 80.40 นั้น บัดนี้ บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัทดังกล่าว โดยบริษัท ได้ซื้อหุ้นสามัญ บริษัท ยูชอน ไพพ์ (ไทยแลนด์)จำกัด จากผู้ร่วมทุนเดิม คือ บริษัท Yulchon Co., Ltd. (เกาหลี) จำนวน 1,959,999 หุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวม 19,599,990 บาท ในราคา 9,000,000 บาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 80.40 เป็นร้อยละ 99.99
จากการลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ CPR จะได้รับประโยชน์คือได้รับผลกำไรจากการลงทุนเป็นเงิน 6,807186 บาท ถึงแม้ว่ามูลค่าตามบัญชี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 จะเท่ากับ 8.06 บาทต่อหุ้น แต่เมื่อเทียบกับการใช้เงินลงทุน 9,000,000 บาท ในการซื้อหุ้น จำนวน 1,959,999 หุ้น (ราคาหุ้นละ 4.59 บาท) ประกอบกับ ยูชอน เป็นผู้ผลิตท่อเหล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ให้แก่ CPR จึงถือว่าเป็นการขยายกิจการในแนวตั้ง
การได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นของ CPR จากการคำนวณมูลค่าตามเกณฑ์มูลค่าสินทรัพย์สุทธินั้นไม่เข้าข่ายประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และการเปิดเผยเกี่ยวกับการได้มา/จำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และรายการที่เกี่ยวโยงกัน
พร้อมกันนี้ CPR ยังแจ้งผลการดำเนินงาน สำหรับงบการเงินไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ซึ่งบริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 8.14 ล้านบาท ลดลง 5.23 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันในปี 2548 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 13.37 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 39.12 เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าลดลงจาก 86.42 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของของปี 2548 เป็น 80.65 ล้านบาทในไตรมาสที่3 ของปี 2549 รายได้รวมจากการขายสินค้าในไตรมาสนี้ลดลง 5.77 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 6.68จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน
ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ มีต้นทุนขายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 จำนวน 53.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 56.71 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 หรือเพิ่มขึ้น 3.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.38 ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ อันได้แก่ เขม่าดำ ซิงค์ออกไซด์ และเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ มีต้นทุนสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 จำนวน 14.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจำนวน 13.63 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 0.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.01
|