|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
น้ำจิ้ม น้ำพริก รวมถึงซอสปรุงรสต่างๆ ในชื่อ “พันท้ายนรสิงห์” ภายใต้การนำของ “สมเกียรติ วัฒนาพร” ผู้ก่อตั้งธุรกิจเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เติบโตเป็นที่รู้จักของชาวไทยอย่างดี ตลอดเวลาในการนำพาธุรกิจ ผ่านร้อนหนาวกว่าจะมีวันนี้ ล้วนเป็นบทเรียนให้ “รัฐพงษ์ วัฒนาพร” ลูกชายซึมซับ และเก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ จนนำมาใช้สร้างธุรกิจของตัวเอง
หนุ่มวัย 28 ปี เผยว่า หลังจบการศึกษา และได้ทำงานธุรกิจครอบครัวระยะหนึ่ง มีแนวคิดอยากสร้างสินค้าแบรนด์ตัวเอง เพื่อเป็นประโยชน์ช่วยแตกไลน์ธุรกิจ เน้นตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะเดิม ด้านการส่งออกโรงงานจะเป็นแค่เพียงผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น อีกทั้ง การออกมทำธุรกิจเอง ถือเป็นโอกาสพิสูจน์ความสามารถตัวเองด้วย
รัฐพงษ์ เล่าต่อว่า เริ่มธุรกิจ ปี 2545 ในชื่อบริษัท ฟู้ดเด็กซ์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ผลิตสินค้าประเภทอาหารแปรรูป อาทิ น้ำจิ้ม ซอส และอาหารกระป๋อง แบรนด์ “ฟู้ดเด็กซ์”(FOODEX) เน้นเจาะลูกค้าคนไทย และคนในภูมิภาคใกล้เคียง อย่างชาวลาว ซึ่งออกไปทำงานต่างแดน เพราะเห็นว่า คนกลุ่มนี้ กำลังซื้อสูง ประกอบกับเวลานั้น คู่แข่งที่เน้นลูกค้าเดียวกันยังไม่มาก โดยสินค้าพระเอก ช่วยให้แบรนด์ติดตลาดสำเร็จ ได้แก่ ปลาร้ากระป๋อง และหน่อไม้กระป๋อง
“พ่อจะบอกผมตลอดว่า การผลิตสินค้าต้องยึดคุณภาพ กับราคาสมเหตุสมผล ถ้าทำสองข้อนี้ได้ สินค้าจะเป็นที่ยอมรับ อย่างปลาร้าส่งออกที่เราเป็นเจ้าตลาด กินส่วนแบ่งกว่า 40% จากมูลค่าตลาดรวม 200 ล้านบาท เพราะเราเป็นเจ้าแรกๆ ที่เริ่มทำตลาดจริงจัง และเป็นผู้ส่งออกเจ้าเดียวที่ได้ HACCP ทำให้ไม่มีปัญหาส่งเข้าแต่ละประเทศ”
แม้สินค้าฟู้ดเด็กซ์จะได้ผลตอบรับดี ทว่า รัฐพงษ์ วิเคราะห์ว่า วันหนึ่งข้างหน้า ตลาดเพื่อคนเอเชียในต่างแดนจะถึงจุดจำกัด เพราะตลาดที่มีอยู่ไม่ใหญ่นัก และลูกค้าจะไม่ขยายมากไปกว่าเดิม กล่าวคือ ผู้ใช้แรงงานในต่างแดนยุคใหม่ ไม่นิยมกินอาหารแปรรูปลักษณะดังกล่าวแล้ว เปลี่ยนไปกินแบบชาวตะวันตก ดังนั้น การสร้างให้ธุรกิจโตอย่างยั่งยืน ต้องเน้นไปจับกลุ่มคนท้องถิ่นแทน เป็นที่มาของพัฒนาซอสฟู้ดเด็กซ์ ทั้งรูปโฉม และความหลากหลาย อีกทั้ง ออกแบรนด์ใหม่ ชื่อ “มรดก” วางเป็นสินค้าพรีเมียม สู้กับซอสแบรนด์ใหญ่ต่างประเทศ
“ตลาดซอสส่งออก มีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ของเราแค่ 0.5% ขณะเดียวกัน ซอสของต่างประเทศ แบรนด์ใหญ่ ราคายังสูงกว่าเราหลายเท่าตัว ฉะนั้น มันยังมีช่องว่างอีกมาก ยิ่งตอนนี้ อาหารไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกแล้ว คิดว่า ถ้าเราทำให้คนท้องถิ่น นิยมสินค้าเราได้โอกาสจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
รัฐพงษ์ ระบุว่า บริษัทฯ มียอดขายประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี จากตลาดส่งออก 100% ขายในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จาก “ฟู้ดเด็กซ์” 60% และ “มรดก” 40% ทว่า เชื่อในระยะยาวแบรนด์ “มรดก” จะแซงมาเป็นรายได้หลักของบริษัท ดังเหตุผลที่กล่าวข้างต้น โดยผ่านช่องทางจำหน่าย ส่งเข้าดิสเคาวน์สโตนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ รายได้ของบริษัท หากจะเมื่อเทียบกับครั้งเน้นรับจ้างผลิตอย่างเดียว ต่ำลงกว่า 20 ล้านบาท/ปี ทว่า พอใจมากกว่า เพราะสิ่งที่ได้กลับมา คือ การเริ่มต้นนำแบรนด์ไปปักหลักในตลาดต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตจะเติบโตได้ยั่งยืนกว่า
ทายาทธุรกิจพันท้ายนรสิงห์ ระบุเหตุผลที่ไม่คิดนำสินค้ามาลงตลาดในประเทศ เพราะการแข่งขันสูง ตัดราคากันเอง ซึ่งเป็นสิ่งน่ากังวลมาก เนื่องจากขณะนี้ สินค้าจากเวียดนามมาแรงมาก และมีความพร้อมมากกว่าไทย ทั้งทรัพยากรที่สมบูรณ์ กับค่าแรงต่ำกว่า หากผู้ประกอบการไทยยังไม่ปรับตัว หันมาจับมือกัน เชื่อว่า อีกไม่นานจะถูกสินค้าเวียดนามแซงแน่นอน
“ผมไม่เคยสนใจเรื่องคู่แข่งในประเทศเลย เพราะวันนี้ เราต้องเลิกมองกันเองเป็นคู่แข่ง เปลี่ยนมาช่วยกันพาสินค้าไทยไปตลาดต่างประเทศ แข่งกับสินค้าของเวียดนาม โดยพัฒนาสินค้าเราให้เกรดสูงกว่า จับตลาดกลุ่มบน ที่ราคาถูกไม่ใช่ปัจจัยได้เปรียบ”
แม้จะเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ แต่จากประสบการณ์ผ่านงานธุรกิจทางบ้านมาก่อน ได้นำมาใช้ในการทำตลาด โดยต่อปีจะออกงานแสดงสินค้าอาหารระดับนานาชาติ 6 ครั้ง และเดินสายเยี่ยมลูกค้าทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ เพื่อรับรู้ถึงพฤติกรรม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ รวมถึงฟังความคิดเห็นลูกค้า นำกลับมาปรับปรุง และพัฒนาสินค้า โดยมีเป้าว่า จะออกสินค้าใหม่ 10 รายการต่อปี และมียอดขายเพิ่ม 10% ทุกๆ ปี
“การทำธุรกิจ ผมยอมรับว่า มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งเงินทุนไม่ต้องกู้ใครมา มีฐานโรงงานผลิตอยู่แล้ว และมีพ่อเป็นพี่เลี้ยง แต่ผมไม่เคยคิดว่า จะยึดธุรกิจครอบครัวเป็นของตัวเอง วันข้างหน้าที่ต้องไปสานต่อ ผมก็จะถือเป็นภาระต้องผิดชอบ ส่วนธุรกิจจริง ๆ คือ ที่ทำอยู่ในทุกวันนี้”
|
|
|
|
|