กลุ่มเคมีภัณฑ์เครือซิเมนต์ไทยวางแผนรับมือราคาปิโตรเคมีทรุดปีหน้า เน้นผลิตเม็ดพลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1 /3ของกำลังการผลิตรวม มั่นใจรายได้กลุ่มเคมีภัณฑ์ปี2550 ไม่ต่ำกว่าปีนี้ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ยอมรับโครงการโรงโอเลฟินส์ แห่งที่ 2 และดาวน์สตรีม ต้นทุนค่าก่อสร้างพุ่งขึ้น 10% ทำให้มูลค่าการลงทุนรวมเฉียด 7หมื่นล้านบาท
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย จำกัด ในธุรกิจเคมีภัณฑ์เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทจะให้ความสำคัญในการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่ม (High value added ) เพื่อลดผลกระทบจากราคาพลาสติกที่จะปรับตัวลดลง เนื่องจากมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นจำนวน 5.8 ล้านตันในปี 2550 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตพลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 1/3 ของกำลังการผลิตรวม จากปีนี้ที่มีการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มเพียง 1/4 ของกำลังการผลิตรวม
โดยปีนี้กลุ่มเคมีภัณฑ์ซีเมนต์ไทยคาดว่าจะมีรายได้รวม 9 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมการรับรู้รายได้จากบมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์อีก 2 หมื่นล้านบาท) ซึ่งการพัฒนาเม็ดพลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มทำให้ลูกค้ายอมจ่ายพรีเมี่ยมในการซื้อเม็ดพลาสติกจากราคาปกติ 5%ขึ้นไป ดังนั้นในปี 2550 กลุ่มเคมีภัณฑ์ในเครือซิเมนต์ไทยคาดว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่าปีนี้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันด้านราคา แต่ก็มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขยายกำลังการผลิตแบบคอขวด (Debottle Neck)
ทั้งนี้ บริษัทฯได้มีการพัฒนาและสร้างนวตกรรมใหม่ (INNOVATION) ซึ่งช่วยเพิ่มค่าสินค้าและบริการ โดยมองความต้องการของลูกค้าในอนาคต และเร่งสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อSCG เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในตราสินค้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลาในการปลูกฝังความเชื่อมั่นในแบรนด์ แม้ว่าปัจจุบันเม็ดพลาสติกของปูนใหญ่ลูกค้าจะให้เชื่อมั่นก็ตาม
ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ว่าจ้างโซโลมอนเข้ามาวัดขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ผลปรากฎว่าโรงโอเลฟินส์ แครกเกอร์ของเครือซิเมนต์ไทยติดอันดับ 25%แรกของโลก ขณะที่โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกอยู่ที่อันดับ 25-50%ของโลก เนื่องจากเป็นโรงงานที่เปิดดำเนินการมานานแล้ว แต่ก็มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมาโดยตลอด
"โรงโอเลฟินส์แครกเกอร์ของปูนใหญ่ถือเป็นโรงงานแนฟธา แครกเกอร์ชั้นนำของโลก ซึ่งโรงโอเลฟินส์ใหม่ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบมากกว่าแนฟธา ส่วนโรงงานปิโตรเคมีของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กเน้นผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษหรือEngineering Plastic ที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากเสียเปรียบด้านโรงโอเลฟินส์ แต่ได้เปรียบด้านดาวน์สตรีม ซึ่งปูนใหญ่ก็มีนโยบายเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้กลุ่มปิโตรเคมีเครือซิเมนต์ไทยถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน"
นายชลณัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงโอเลฟินส์ แห่งที่ 2 ว่า จากการตึงตัวภาคก่อสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและค่าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงโอเลฟินส์แห่งที่ 2 เพิ่มสูงขึ้น 10% มาเฉียด 7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ โรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 45,600 ล้านบาท จะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.7 ล้านตันต่อปี ประกอบด้วยเอทิลีน 900,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 800,000 ตันต่อปี และจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกถึง 700,000 ตันต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จครึ่งแรกของปี 2553 ทั้งนี้จะใช้เทคโนโลยีซึ่งสามารถผลิตโพรพิลีนได้ปริมาณสูงสุด รองรับภาวะอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากส่วนใหญ่โรงงานผลิตโอเลฟินส์ที่สร้างใหม่จะมาจากตะวันออกกลาง และใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิตโพรพิลีนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ น้อย
ส่วนโครงการดาวน์สตรีม มีมูลค่าการลงทุน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ ประมาณ 17,100 ล้านบาท ประกอบด้วยเม็ดพลาสติก HDPE 400,000 ตันต่อปี และ PP 400,000 ตันต่อปี
|