แฉผู้ถือหุ้น MCOT กำไรวูบกว่า 30% หลังราคาหุ้นร่วงหนักสุด 12.25 บาท นับแต่ปฎิวัติรัฐประหาร ส่วนมาร์เกตแคปหดกว่า 8 พันล้าน เหตุนักลงทุนสับสนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเรียกร้องของพนักงานให้ปลดบอร์ดและรักษาการเอ็มดี ประกอบกับความขัดแย้งภายในทั้งพนักงานและสหภาพฯ โบรกเกอร์ประสานเสียงขายทิ้ง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมานอกเหนือจากภาพความรุนแรง ความไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างผู้บริหารของบริษัทกับกลุ่มพนักงานที่ออกมาเคลื่อนไหว ทั้งในเรื่องความต้องให้มีการถอดถอนคณะกรรมการของบริษัทจนถึงการล่ารายชื่อเพื่อให้มีการถอดถอนรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และคณะกรรมการของบริษัทต่อนายกรัฐมนตรี และความคิดที่สวนทางของกลุ่มพนักงานกับสหภาพแรงงานของบริษัทสะท้อนให้เห็นถึงความสั่นคลอนขององค์กรขนาดใหญ่ในประเทศ
ทั้งนี้ นอกเหนือจากบทบาทการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ของอสมท แล้วการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งทำให้สถานะการเป็นบริษัทที่มีประชาชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบริษัทไปโดยปริยาย
การปรับลดลงของราคาหุ้นบริษัทตั้งแต่การเข้ามายึดอำนาจการปกครองของคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในทันทีโดยราคา ณ วันดังกล่าวปิดที่ 40 บาทก่อนที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลังมีกระแสข่าวให้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ลาออกเพื่อรับผิดชอบในเรื่องการนำเสนอแถงการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังวันที่ 26 กันยายน นายมิ่งขวัญ และคณะกรรมการบริษัทประกาศแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 29.50 บาท ลดลง 10.50 บาท หรือ 26.25% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เกตแชร์ ปรับตัวลดลงจาก 27,483.97 ล้านบาท มาอยู่ที่ 20,269.43 ล้านบาท โดยปรับลดลงถึง 7,214.54 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการลาออกจากตำแหน่งของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อเข้ามากำหนดนโยบายและบริหารงาน รวมถึงการตั้งนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เข้ามาดำรงตำแหน่งรักษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท ซึ่งจากกรณีดังกล่าวกลุ่มพนักงานที่ไม่พอใจกับนโยบายการบริหารงานบางอย่างที่อาจจะต้องเปลี่ยนไปจึงแสดงจุดยืนและแสดงการต่อต้านโดยการเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายพงษ์ศักดิ์ และบอร์ดของบริษัทลาออกจากตำแหน่งทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่ไม่มั่นใจต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่างขายหุ้นออกมาจนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปต่ำสุดในช่วงที่ผ่านมาโดยราคาปิดเมื่อวันที่ 3 พ.ย.อยู่ที่ 27.75 บาท ลดลง 12.25 บาท หรือ 30.625% ซึ่งในวันดังกล่าวราคาปรับลดลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท ขณะที่มาร์เกตแคปของบริษัทลดลงไปต่ำสุดที่ 19,067 ล้านบาท ลดลง 8,416.97 ล้านบาท จากวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับข้อมูลการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ของอสมท โดยบริษัทเข้าจดทะเบียนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ทุนจดทะเบียน 3,835 ล้านบาท จำนวนหุ้นจดทะเบียนในตลท. 687,099,210 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนบริษัทกำหนดราคาขายที่ 22 บาทต่อหุ้น
นอกจากนี้บริษัทได้แบ่งจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขาย โดยแบ่งให้กับพนักงานและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจำนวน 17.1 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 5 บาท แต่ติดเกณฑ์การขายหุ้น (ไซเลนต์พีเรียด) ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ในส่วนของเกณฑ์ไซ่เลนต์กำหนดให้ผู้จองซื้อสามารถทยอยขายหุ้นที่สั่งห้ามซื้อขายได้ในจำนวน 25% ของจำนวนหุ้นที่ถูกสั่งห้ามขายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาทุกๆ 6 เดือนภายหลังจากวันที่หุ้นของบริษัทเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และจะสามารถขายหุ้นได้ครบทั้งจำนวนเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่วันซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
**โบรกฯประสานเสียงขายทิ้ง
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ซิกโก้ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าการกลับไปเป็นแดนสนธยาของอสมท ทำให้บริษัทแนะนำขายหุ้น โดยประเมินมูลค่าที่เหมาะสมที่ 25 บาทต่อหุ้น เนื่องจากบอร์ดชุดใหม่ยังไม่มีการแสดงนโยบายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นผลให้ภาพของบริษัทตอนนี้กำลังกลับเข้าไปสู่แดนสนธยาอีกครั้ง
นอกจากนี้ความไม่ชัดเจนของนโยบายและ Concept ของสถานี รวมไปถึงการตัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของภาครัฐอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในปีหน้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราคาดว่าจากผลกระทบข้างต้นจะส่งผลให้รายได้และกำไรสุทธิในปีหน้าจะลดลง 22.5% ทำให้บริษัทปรับ Prospective PE ในการประเมินราคาจาก 20 เท่าเป็น 17 เท่า ได้มูลค่าเหมาะสมใหม่ที่เท่ากับ 25 บ. เทียบกับราคาปัจจุบันยังมี Downside อีก9% ดังนั้นเราจึงแนะนำ “ขาย”
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/49 แม้ว่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจโทรทัศน์ที่คาดว่าจะเติบโตสูงถึง 45% เทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ลดลง 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาอันเป็นผลจากการเติบโตของทั้งงบภาคเอกขนและงบภาครัฐโดยในไตรมาส 3 มีโครงการใหญ่เช่นการประชาสัมพันธ์สนามบินสุวรรณภูมิมูลค่าสูงถึง 60 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะดีขึ้นแต่คงไม่สามารถชดเชยกับมุมมองในเชิงลบต่อมุมมองที่เกิดขึ้นได้
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) แนะนำขายหุ้นอสมท โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 30 บาทต่อหุ้น บทวิเคราะห์ระบุว่าความไม่ชัเจนในเรื่องนโยบายการบริหารงานของผู้บริหารชุดใหม่ ทั้งในเรื่องการปรับผังรายการ และการดำเนินธุรกิจ ถือว่าเป็นความเสี่ยงของหุ้น MCOT เนื่องจากผลกระทบในเรื่องรายได้ เพราะความมั่นใจของเอเจนซี่ลดลงตั้งแต่ 4Q49 อย่างแน่นอน
**ประชุมปรับผังสัปดาห์นี้
นายบุญปลูก ชายเกตุ ประธานคณะกรรมการ อสมท เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 พ.ย. คณะกรรมการบริษัทจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องผังรายการของสถานี โดยยืนยันว่าคณะกรรมการบริษัทจะไม่เข้าแทรกแซงการจัดทำผังรายการอย่างแน่นอน โดยจะยังคงใช้ผังรายการปัจจุบันไปจนถึง มี.ค. 2550 แต่ในระหว่างนี้อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบางรายการที่เป็นเวลาของบริษัทเอง เพื่อพัฒนารูปแบบรายการให้ดีขึ้น ในส่วนของนโยบายในการบริหาร คณะกรรมการจะยังคงนโยบายสังคมอุดมปัญญาเหมือนเดิม และจะเน้นรายการที่มีความหลากหลายมากขึ้น ขณะที่เรื่องการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ คาดว่าจะเรียบร้อยภายใน 2-3 เดือนนี้
|